คำบัญชาของหลวงพ่อวัดปากน้ำ
ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๗ ห้าปีก่อนที่หลวงพ่อวัดปากน้ำจะมรณภาพ คราวนั้นท่านเรียกประชุมลูกศิษย์ทั้งหมดทั้ง ในวัดและนอกวัด เพื่อประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่า อีก ๕ ปีท่านจะมรณภาพ ให้ลูกๆช่วยกันเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก เพราะสำคัญและมีประโยชน์มาก วิชชานี้ช่วยคนได้ทั้งโลก และ สั่งไม่ให้คุณยายไปไหน ให้อยู่ที่วัดปากน้ำ รอผู้ที่จะมา สืบทอด วิชชาธรรมกายในวันข้างหน้าต่อไป
๕ ปีต่อมา หลวงพ่อวัดปากน้ำอาพาธหนัก บรรดาพระภิกษุต่างห้อมล้อมท่านเต็มไปหมด คุณยายไม่สามารถขึ้นไปเยี่ยมท่านได้ ได้แต่สังเกตคอยฟังข่าวอยู่ห่างๆ เพราะวินัย ความเป็นอยู่ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำเข้มงวดตลอดมานั้นทำให้แม่ชีต้องสำรวมระวังตัวเองให้อยู่ห่างๆ พระภิกษุ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านก็มรณภาพ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๒ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ
หลังจากที่หลวงพ่อวัดปากน้ำมรณภาพแล้ว บรรดาลูกศิษย์นักทำวิชชาทั้งหลายต่างแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง บางคนก็ไปอยู่ที่อื่น บางคนก็ยังปักหลักสอนธรรมปฏิบัติอยู่ตาม กุฏิหรือตามบ้านของแต่ละคนในบริเวณวัดปากน้ำส่วนคุณยาย ท่านไม่ได้ย้ายไปไหนท่านมีความกตัญูกตเวทีอยู่คอยปรนนิบัติ ช่วยเหลือดูแลคุณยายทองสุก ผู้เป็นครูสอนธรรมะให้ท่านเป็น คนแรกที่บ้าน ๓ ชั้น ๓ ซึ่งอยู่ในบริเวณวัดปากน้ำ
ความจริง คุณยายย้ายมาพักกับคุณยายทองสุกตั้งแต่ ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งในสมัยนั้นท่านอยู่ร่วมกันเหมือนพี่กับน้อง บางครั้งก็เป็นครูบาอาจารย์ของกันและกันทั้งนี้เพราะคุณยายทองสุกท่านได้รับหน้าที่จากหลวงพ่อวัดปากน้ำ ให้ไปเผยแผ่วิชชาธรรมกายทั่วประเทศ ซึ่งท่านก็ทำหน้าที่ฝ่ายเผยแผ่นี้ได้อย่างดียิ่ง เมื่อต้องออกจากโรงงานทำวิชชาไปหลายๆ วัน ท่านกลัวว่าธรรมะจะไม่ทันคนอื่น เมื่อกลับมาจึงต้องมาถาม คุณยายว่าทำวิชชาไปถึงไหนแล้ว คุณยายก็จะแนะนำให้ คุณยายทองสุกจึงสามารถทำวิชชาและเผยแผ่ได้อย่างดีเยี่ยมทำให้วิชชาธรรมกายเผยแผ่กว้างไกลไปทั่วประเทศในทุกระดับชั้นท่านจึงมีลูกศิษย์มากมาย คราวใดที่ต้องเหน็ดเหนื่อย จากการทำงานแล้วกลับมาพักผ่อนที่บ้านท่านก็จะได้รับการอุปัฏฐากดูแลอย่างดียิ่งจากคุณยาย
ในราวปี พ.ศ.๒๕๐๓ คุณยายทองสุกก็ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งที่มดลูก ในระหว่างนั้น หากอาการของโรคกำเริบ ขึ้นท่านก็จะไปพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ครั้นพออาการดีขึ้นก็กลับมาพักที่บ้าน เข้าออกโรงพยาบาลอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งอาการหนัก หมดทางรักษาแล้วท่านจึงได้นอนพักอยู่แต่ที่บ้าน
แม้ในยามป่วยหนักเช่นนี้ คราวใดที่คุณยายทองสุกบ่นรำพึงต่างๆ นานาตามประสาคนมีไข้สูง คุณยายก็จะฟังด้วยใจที่สงบนิ่งอยู่ภายใน เมื่อท่านนำยาไปให้รับประทานตาม เวลาที่หมอสั่ง อย่างเช่นก่อนอาหารหรือหลังอาหาร ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถให้ได้ตามเวลานั้น หากต้องคอยดูทั้งเวลาและอารมณ์ควบคู่กันไปว่าคนไข้พร้อมที่จะรับยาหรือไม่มีอาการอย่างไรทั้งนี้เพราะคุณยายทองสุกได้รับความเจ็บปวด ทรมานจากมะเร็งที่มดลูก จนไม่อยากรับประทานยา
บางครั้งเวลาที่คุณยายรินยามาให้ตามหมอสั่ง คุณยายทองสุกก็จะพูดตามประสาคนป่วยหนักที่สิ้นหวังว่า "ไม่กินยาแล้ว"
คุณยายฟังแล้วก็รู้ว่าคุณยายทองสุกไม่ยอมรับประทานยาแน่ จึงถอยหลังออกมา แต่ด้วยเหตุแห่งความรักครูบาอาจารย์ และใจที่ประกอบด้วยเมตตาธรรม ปรารถนาที่จะให้คุณยายทองสุกบรรเทาทุกขเวทนาลงไปบ้างท่านก็จะคอยดู อีกครั้งหนึ่งว่า อารมณ์ของคุณยายทองสุกดีขึ้นหรือยัง หรือว่าไข้ลดลงบ้างหรือไม่ แล้วจึงจะนำยาไปให้ดื่มปรนนิบัติอยู่เช่นนี้ตลอดทุกวันคืน แม้จะรู้ว่าโรคนี้ไม่มีวันหายท่านก็ไม่เคยสิ้นเรี่ยวแรงในการดูแลคุณยายทองสุกเลยแม้แต่น้อย
มะเร็งมดลูกขั้นสุดท้ายนั้นมีอาการรุนแรงมาก นอกจากในสมัยก่อนจะไม่มียาดีที่สามารถรักษาให้หายได้แล้ว ยังส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงเป็นที่น่ารังเกียจ จึงไม่ค่อยมีใครมาดูแลท่าน นอกจากคุณยายที่อยู่คอยปรนนิบัติอย่างใกล้ชิด
คุณยายไม่เคยรู้สึก หรือแสดงท่าทีรังเกียจคุณยาย ทองสุกเลย กลับขยันหมั่นทำความสะอาด เช็ดถูตัว ซักเสื้อผ้า ให้เสียจนสะอาดสะอ้าน นำน้ำอบไทยหรือน้ำอบปรุงเจ้าคุณ มาพรมดับกลิ่นให้ เพื่อที่ว่าในเวลาที่บรรดาศิษยานุศิษย์ของ คุณยายทองสุกที่มีอยู่ทั่วประเทศมาเยี่ยม ซึ่งโดยปกติมักจะมา ขอพึ่งบารมีกันถึงในมุ้งตลอดทั้งวันทั้งคืน จะได้ไม่มีกลิ่นเหม็น อันอาจเป็นเหตุให้ศิษย์เหล่านั้นรังเกียจ
วันหนึ่งในระหว่างนั้น เมื่อคุณยายทองสุกไปเข้าห้องน้ำและกลับออกมาท่านพูดกับคุณยายด้วยน้ำเสียงปกติเหมือน ไม่ได้เป็นอะไรมาก
"อีก้างเอ๊ย ไส้กูทะลุแล้วว่ะ" พูดจบท่านก็ยิ้มแล้วกล่าวอีกว่า "เวลาตายนี่จะมีมึงอยู่กับกูเท่านั้นแหละ"
คุณยายฟังถ้อยคำเหล่านั้นด้วยใจสงบนิ่ง อันเป็น ภาวะปกติของผู้มีใจหยุดอย่างสมบูรณ์แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในวันสุดท้ายของชีวิตท่านอยู่ด้วยกันลำพังเพียงสองคน ถึงแม้ว่าในขณะนั้นโรคร้ายกำลังรุมเร้า อย่างแสนสาหัสคุณยายทองสุกท่านนอนหนุนตักคุณยายและ ลืมตาขึ้นมาพูดกับคุณยายเป็นครั้งสุดท้ายว่า
"กูไปแล้วนะ เห็นพระเต็มไปหมดเลย"
คุณยายท่านก็รับฟังด้วยอาการสงบนิ่งเป็นปกติเหมือน อย่างเคย แล้วพูดกลับไปด้วยถ้อยคำอันทรงคุณค่ายิ่งระหว่าง ผู้รู้ต่อผู้รู้ว่า
"พี่ พุ่งเข้าไปในนิพพานเลยนะ"
พอสิ้นสุดถ้อยคำนั้น คุณยายทองสุกก็ละจากโลกนี้ไป ด้วยอาการสงบ
เนื่องจากคุณยายทองสุกเป็นที่รักเคารพบูชาของคุณ ยายประดุจผู้บังเกิดเกล้าในทางธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นครูบาอาจารย์คนแรกที่สอนให้ท่านรู้จักวิชชาธรรมกาย จนสามารถเข้าถึงธรรมได้ และได้มีโอกาสศึกษาวิชชาธรรมกาย คุณยายจึงทดแทนพระคุณอันสูงส่งนี้ด้วยการจัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ
คุณยายบอกบุญบรรดาลูกศิษย์เก่าๆแก่ๆ ของคุณ ยายทองสุก ซึ่งในเวลานั้นมีพระมหาประยูรที่คุณยายทองสุกเคยเป็นเจ้าภาพบวชให้มาช่วยงาน พร้อมกับลูกศิษย์คนอื่นๆอีกหลายคน
ส่วนคุณยายเองเป็นแม่งาน ให้เขาไปเช่าเครื่องตั้งศพ ของพระนางเรือล่มมาใช้ และตกแต่งหน้าศพอย่างงดงามยิ่ง ด้วยดอกไม้สดจำนวนมาก ตั้งศพสวดพระอภิธรรมที่บริเวณด้านหน้าวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ แล้วนำไปเผาที่วัดหมู (วัดอัปสรสวรรค์) หลังจากนั้นจึงนำเศษเถ้าไปลอยอังคารตามประเพณีที่ทำ สืบต่อกันมา
หลังจากงานเสร็จสิ้นแล้ว ในระหว่างนั้นคุณยายมีโอกาสหวนระลึกถึงคำสั่งของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ที่ให้เผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลกท่านก็ทำตามมโนปณิธานนั้นทำหน้าที่สอนสมาธิ เผยแผ่วิชชาธรรมกาย และรอคอยผู้ที่จะมาทำหน้าที่ สืบทอดตามที่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสั่งไว้
ความหวังของคุณยายดูเหมือนจะเป็นจริงขึ้นมา เมื่อท่านได้พบกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่สนใจมาขอเรียนธรรมปฏิบัติกับท่าน และมีผลการปฏิบัติธรรมดีเยี่ยมในเวลาอันรวดเร็วเป็นผลให้ท่านมั่นใจว่า เด็กหนุ่มคนนี้คือ ผู้ที่จะมา สืบทอดงานของหลวงพ่อวัดปากน้ำให้สำเร็จลุล่วงได้