วิธีทำทานอย่างสมบูรณ์แบบ

วันที่ 24 พค. พ.ศ.2560

วิธีทำทานอย่างสมบูรณ์แบบ
 

หลักการสร้างความสุขในครอบครัว , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , วิธีทำทานอย่างสมบูรณ์แบบ , ทำทาน , ศีล , ภาวนา

     ถึงแม้ว่ายุคนี้จะเป็นยุคที่คนเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าอื่น ๆ แต่วิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์ได้เฉพาะสิ่งที่ตาเห็นเท่านั้น หลายอย่างที่ตาไม่เห็นแต่มีอยู่ แล้ววิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ก็มีอยู่

      ยกตัวอย่างเช่น เรื่องใจของคนเรา กับใจที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจ จริง ๆ แล้วเป็นคนละอย่างกัน เวลาเรามีความรู้สึกโศกเศร้า เสียใจ ดีใจ อิ่มใจ ความรู้สึกของเราไม่ได้ออกมาจากกล้ามเนื้อหัวใจ แต่เรารู้สึกออกมาจากดวงใจของเรา ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่า อยู่ตรงไหนแต่เรารู้ว่ามีอยู่กับร่างกายของเรา

  ส่วนกล้ามเนื้อหัวใจเป็นอวัยวะอย่างหนึ่งของร่างกาย เวลาคนไข้โรคหัวใจทำการผ่าตัดสมัยนี้หมอเขาสามารถทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหยุดเต้นได้ ซึ่งถ้าดวงใจกับกล้ามเนื้อหัวใจเป็นอันเดียวกัน พอกล้ามเนื้อหัวใจหยุดเต้น คนไข้ก็คงตายไปแล้ว แต่พอผ่าตัดเสร็จหมอก็ทำให้กล้ามเนื้อกลับมาสูบฉีดได้อย่างเดิม นั่นก็หมายความว่ากล้ามเนื้อหัวใจกับดวงใจของคนเราเป็นคนละอันกัน

       ณ วันนี้ วิทยาศาสตร์จึงยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าดวงใจของมนุษย์มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และอยู่ที่ไหน แต่เรารู้ได้ว่า ดวงใจมีอยู่ เพราะถ้าไม่มีเมื่อไร แปลว่า เราตายแล้ว

      นอกจากนี้จากการศึกษาพระไตรปิฎกในเรื่องอื่น ๆ ทำให้พบว่า บางอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ก่อนนักวิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ได้ ก็มีอยู่หลายเรื่อง

       ยกตัวอย่างเช่น เรื่องจักรวาล พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นพัน ๆ ปีแล้วว่า ในอวกาศไม่ได้มีแค่จักรวาลเดียว แต่มีจักรวาลมากมายอยู่นับไม่ถ้วน เรียกว่า "อนันตจักรวาล"แต่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบอย่างจริงจังก็เมื่อไม่ถึงร้อยปีนี้เอง

      เรื่องของบุญก็เช่นกัน ใครรีบปฏิเสธว่าบุญไม่มีจริง ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายควรจะได้พิสูจน์ให้เห็นกันก่อน เพราะบุญเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเรา เป็นสิ่งที่ละเอียดซับซ้อนกว่าอวกาศเสียอีก เพราะอวกาศนั้น เห็นด้วยตา แต่บุญนั้น แม้ว่าเราจะยังไม่เห็น แต่เรารู้สึกได้ด้วยใจเพื่อความไม่ประมาท เราก็ควรตั้งใจทำทานบำรุงพระพุทธศาสนา มีเวลาก็ลองอ่านพระไตรปิฎกดูบ้าง เราคงจะได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาอีกมาก และไม่เป็นเพียงแค่ชาวพุทธในทะเบียนบ้าน

  ด้วยเหตุที่ผู้เขียนมีข้อคิดเห็นเช่นนี้ จึงไม่ปฏิเสธเรื่องการเชื่อว่าบุญบาปมีจริงเพราะบุญคือผลของการทำความดี ซึ่งเป็นหลักการที่มีเหตุผลอยู่บนพื้นฐานเรื่องกฎแห่งกรรมและที่สำคัญก็คือ เมื่อชีวิตของเราตกอยู่ในภาวะคับขันแล้วสิ่งที่เราพึ่งทางใจจริง ๆ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่มนุษยศาสตร์ ไม่ใช่รัฐศาสตร์ แต่เป็นการพึ่งพุทธศาสตร์ ซึ่งก็คือ การพึ่งความดีที่เราได้ทำไว้นั่นเอง

      จากเหตุผลตรงนี้ จึงได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องการทำบุญต่อไปอีก และก็ได้พบคำตอบ "เรื่องการทำบุญอย่างถูกวิธี" จากหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "หลวงพ่อตอบปัญหา" เขียนโดยพระเดชพระคุณภาวนาวิริยคุณ (พระเผด็จ ทัตตชีโว) ซึ่งได้อธิบายหลักการทำบุญที่สมบูรณ์แบบไว้ดังนี้

     "ในเรื่องของการทำบุญในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ตรัสไว้โดยย่อว่ามี 3 วิธี คือการให้ทาน การรักษาศีล และเจริญภาวนา

     1. การให้ทาน ได้แก่ แบ่งปันทรัพย์สิ่งของที่เป็นประโยชน์ ให้แก่บุคคลที่สมควรได้รับทานนั้น โดยไม่ถึงกับทำให้ตนเองเดือดร้อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วชาวพุทธนิยมทำบุญด้วยการให้ทานกับพระภิกษุบ้าง ผู้มีศีลบ้าง เป็นประจำสม่ำเสมอ

     2. การรักษาศีล คือ การสำรวมกาย วาจา ไม่ให้ทำความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งอย่างน้อยต้องรักษาศีล 5 เป็นประจำทุกวัน

     หากมีโอกาสในวันโกน วันพระ หรือวันหยุดงานประจำสัปดาห์ ชาวพุทธนิยมรักษาศีล 8 เพื่อให้ได้บุญเพิ่มเป็นพิเศษขึ้นมาอีก บางท่านอาจจะปรับให้เหมาะสมกับธุรกิจการงานที่ทำอยู่ โดยรักษาศีล 8 เป็นประจำ ในวันใดวันหนึ่ง ทุก ๆ 7 วัน

     3. การเจริญภาวนา ได้แก่ การทำบุญด้วยการฝึกใจให้ผ่องใสเป็นสมาธิ ด้วยการศึกษาธรรมะ และสวดมนต์ไหว้พระ เพื่อทำใจให้สงบ ผ่องแผ้ว ปลอดโปร่ง แจ่มใสเป็นประจำทุกคืน ๆ ก่อนนอน อย่างน้อยคืนละ 20 นาทีถึง 1 ชั่วโมง

      โดยทั่วไปแล้ว การทำบุญ ทั้ง 3 วิธีนี้ ชาวพุทธถือหลักปฏิบัติง่าย ๆ ว่า

      เช้าใด...ยังไม่ได้ทำทาน เช้านั้นก็จะยังไม่รับประทานอาหาร

      วันใด...ยังไม่ตั้งใจรักษาศีล วันนั้นก็จะยังไม่ออกไปนอกบ้าน

      คืนใด...ยังไม่ได้สวดมนต์เจริญสมาธิภาวนา คืนนั้นก็จะยังไม่เข้านอน

     เมื่อได้สร้างบุญเป็นประจำอย่างนี้แล้ว เป็นอันหวังได้ว่าชีวิตจะไม่มีวันตกต่ำ อนาคตจะมีแต่ความก้าวหน้าสิ่งใดที่ตนปรารถนาก็จะได้สิ่งนั้นมาโดยง่าย ด้วยอำนาจของบุญที่ทำมาดีแล้วทั้ง 3 ประการข้างต้น

      ที่สำคัญ ก็คือ ทั้ง 3 วิธีนี้ เป็นการทำให้จิตใจผ่องใสอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

     ทำไมถึงต้องทำให้ใจผ่องใส เพราะว่า คนเราลองว่าถ้าใจผ่องใสเดี๋ยวก็อารมณ์ดีพออารมณ์ดี ก็อยากคิดดี พูดดี และทำดีตามมา

     สำหรับก้าวแรกของการทำบุญ หลวงพ่อก็ขอแนะนำให้เริ่มต้นที่การทำทานก่อนเป็นอันดับแรกพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า การให้ทานที่จะได้บุญมาก จะต้องทำให้ทานนั้นครบองค์ประกอบ 4 ประการดังนี้ คือ

      1. วัตถุบริสุทธิ์ ได้แก่สิ่งที่จะให้ทานต้องเป็นของที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเราเองไม่ได้คดโกงใครเขา

    2. เจตนาบริสุทธิ์ ได้แก่ มีความตั้งใจที่จะให้ทาน เพื่อกำจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวฆ่าความโลภให้สิ้นไป ไม่ได้หวังลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นเครื่องตอบแทน แต่มีความตั้งใจที่จะเสียสละให้เกิดเป็นบุญกุศลจริง ๆ และการหวังได้บุญ ไม่ใช่เป็นความโลภ ขอให้พิจารณาแยกแยะกันให้ดีเพราะว่าเอาความตระหนี่ออกจากใจ แล้วเอาบุญมาแทนที่ความตระหนี่ในใจ

   3. ผู้ให้บริสุทธิ์ คือตัวผู้ให้ทานเอง ต้องมีศีล 5 เป็นอย่างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนให้ก็มีใจผ่องใสชื่นบาน เมื่อกำลังให้จิตใจก็ผ่องใสอยู่ หลังจากให้แล้ว ก็มีความยินดีไม่นึกเสียดายเลย

     4. ผู้รับบริสุทธิ์ เช่น ถ้าเป็นพระภิกษุ ก็เป็นพระภิกษุที่หมดกิเลสหรือเป็นพระอรหันต์แล้ว  ซึ่งจะทำให้ได้บุญมากเป็นพิเศษ และได้บุญทันตาเห็น คือ ได้รับผลของทาน

   คือบุญในชาตินี้ ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า หรืออย่างน้อยแม้ท่านยังไม่หมดกิเลสก็ต้องเป็นพระภิกษุที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ เพื่อความหมดกิเลสถ้าผู้รับเป็นคฤหัสถ์ ก็ต้องเป็นคฤหัสถ์ที่มีศีลอันดี

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางหลักในการให้ทานไว้อย่างรอบคอบ และยังมีส่วนที่ลุ่มลึกไปตามลำดับอีกด้วย

     กรณีตัวอย่างของผลการให้ทานของบางคน ที่ทรงเล่าประทานแก่พระสงฆ์สาวกของพระองค์อยู่บ่อย ๆ เราพบว่าบุญที่เกิดจากการถวายทานจะมีผลมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของการทำทานทั้ง 4 ส่วน ว่าบริสุทธิ์มากน้อยแตกต่างกันอย่างไร

     ถ้าบริสุทธิ์มาก ก็ได้บุญมาก โดยเฉพาะถ้าบริสุทธิ์มั่นคง ชนิดที่จะมุ่งตรงต่อมรรคผลนิพพานแล้ว จะได้ผลเป็นบุญพิเศษ ชนิดได้ผลทันตาเห็นทีเดียว อยากให้พวกเราไปหาพระไตรปิฎกมาอ่าน ในส่วนที่เป็นพระสุตตันตปิฎก เช่น ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เป็นต้น แล้วลองสังเกตดูว่า เป็นอย่างที่หลวงพ่อตั้งข้อสังเกตไว้หรือไม่"

     การที่นำข้อมูลจากหนังสือ "หลวงพ่อตอบปัญหา" มาเขียนเล่าในที่นี้ ก็หวังเพียงว่าผู้อ่านจะได้ตระหนักในการทำบุญบ้าง อย่างน้อยเราก็จะได้ไม่ประมาทในเรื่องการสั่งสมบุญและจะได้ปลูกฝังลูกหลานของเรา ให้รู้จักสั่งสมบุญตั้งแต่เล็ก เพราะเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงไม่ว่าเราจะมีความรู้เพียงใด จะจบปริญญากี่ใบก็ตาม แต่สุดท้าย เราก็ต้องพึ่งบุญที่เราได้สั่ง มไว้ด้วยตนเองเท่านั้น

      "บุญไม่มีขาย อยากจะได้ต้องทำเอง"

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033169615268707 Mins