"ทำงานด้วยกันเราทะเลาะกันได้ แต่โกรธกันไม่ได้"

วันที่ 30 พค. พ.ศ.2560

"ทำงานด้วยกันเราทะเลาะกันได้ แต่โกรธกันไม่ได้"

 

พระครูสังฆรักษ์พิพัฒน์  ฐิตสุทฺโธ

อายุ ๕๒ ปี

เข้าวัด เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๐

การศึกษาทางธรรม  นักธรรมเอก

งานพระศาสนา  ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย

 

              อาตมาจะพูดถึงโอวาทที่คุณยายให้ไว้สมัยที่สร้างวัดใหม่ๆ คุณยายสอนไว้ว่า "เราทำงานด้วยกัน เราทะเลาะกันได้ แต่โกรธกันไม่ได้"

              ขอย้อนไปถึงสมัยที่ "บ้านธรรมประสิทธิ" ซึ่งตอนนั้นหลวงพ่อธัมมชโยได้อุปสมบทแล้ว มีคณะทำงานซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ๕๖ คนช่วยกันหาที่ดินสร้างวัดได้แล้ว

              หลวงพ่อธัมมชโยกับคุณยายก็ปรารภว่า คนที่ยังไม่ติดภารกิจมาก แต่มีความตั้งใจจะมาช่วยงานวัด อยากให้ทยอยบวช เพื่อจะได้ศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เมื่อเราพร้อมสร้างวัดเสร็จ บุคลากรของเราจะได้พร้อม ไม่ต้องมาฝึกกันใหม่ หลวงพ่อกับคุณยายจึงให้อาตมาบวชในปี พ.ศ. ๒๕๑๓

              สมัยที่บวชใหม่ๆทำกิจกรรมต่างๆ วัดปากน้ำ พอตอนเย็นทำวัตรเย็นเสร็จ ก็จะไปรวมกันที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ซึ่งคุณยายได้เตรียมน้ำปานะต่างๆ ถวาย ตอนค่ำนั่งสมาธิถึงประมาณ ๒ทุ่มก็แยกย้ายกันกลับ

              ตอนนั้นชุดทำงานก็มีหลวงพ่อทัตตชีโว ซึ่งยังไม่ได้บวช มาดูแลในพื้นที่ ๑๙๖ ไร่ งานชิ้นแรกที่ทำก็คือ งานขุดคันคูทำเขตพื้นที่ เพราะว่าสมัยนั้นแถวนี้เป็นท้องนาทั้งหมด อาจมีการล่วงล้ำเขตกันได้ ก็เลยขุดดินขึ้นมาทำคันให้ชัดเจน แล้วปลูกต้นไม้ แต่พื้นที่ภายในทั้งหมด ยังเป็นท้องนาอยู่ มีบ้านพักอยู่ใกล้ๆ ริมคลองสาม

             เมื่อหลวงพ่อมาอยู่ ก็เริ่มอบรมชาวบ้านสอน ให้รู้จักนั่งสมาธิสวดมนต์ส่วนใหญ่อาตมาอยู่ที่วัดปากน้ำ เรียนนักธรรมบาลีไป จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๔ หลวงพ่อทัตตะก็ได้บวช

             เมื่อหลวงพ่อทัตตะบวชประมาณปลายปีพ.ศ ๒๕๑๔ พอขึ้นปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ก็เริ่มมีโครงการอบรมธรรมทายาท ซึ่งช่วงการอบรมนั้น อาตมาก็มาช่วยงานอบรมบ้าง

             ปี พ.ศ. ๒๕๑  คุณยายกับหลวงพ่อให้บวชอีก ๓ รูปพร้อมกัน แต่บวชพรรษาแรก ให้จำพรรษาที่วัดปากน้ำ เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ของพระก่อน คณะแรกที่มาอยู่ที่ศูนย์พุทธจักร  (ปัจจุบันคือวัดพระธรรมกาย) ตอนนั้นมีหลวงพ่อทัตตะ ซึ่งบวชได้ ๒ พรรษา กับอาตมาซึ่งบวชได้ ๔ พรรษา งานต่างๆ มีหลวงพ่อทัตตะเป็นกำลังสำคัญ

             นอกจากงานประจำวันแล้ว ยังมีงานสำคัญคือ งานกฐินและผ้าป่า ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ สมัยอยู่วัดปากน้ำนั้น มีคุณยาย มีหลวงพ่อเป็นประธานปรึกษา ไม่ว่างานอะไรก็ตกลงกันง่าย แต่เมื่อมาอยู่ที่ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม ห่างหลวงพ่อ ห่างยาย งานที่ปรึกษากันบางครั้งต้องตัดสินร่วมกัน เรื่องที่ความเห็นตรงกันก็ไม่มีปัญหาอะไร หรือเรื่องที่ความเห็นไม่ตรงกันก็ฟังเหตุผล ใครที่มีเหตุผลดีก็ทำตามนั้น แต่งานบางงานมันถูกทั้ง ๒ ด้าน คือแต่ละคน แต่ละเหตุผล

             เมื่อถูกทั้งสอง ก็ตกลงกันไม่ได้ เพราะไม่มีคนกลางตัดสิน มีแค่ ๒ คน ๒ เสียง ไม่มีเสียงส่วนใหญ่ ก็มักจะมีปัญหาถกเถียงกัน

             ตอนนี้แหละ โอวาทที่คุณยายให้ว่า "ทำงานด้วยกันทะเลาะกันได้ แต่โกรธกันไม่ได้ "ชัดเจนขึ้น

             การทำงานในยุคนั้นมีคนแค่ ๒ คนที่รับผิดชอบงานทั้งงานเตรียมสถานที่ต่างๆ ก็ดี ต้องพร้อมหมดสำหรับรองรับคนให้ได้พันคน ยุคนั้นคนมาทอดกฐินทอดผ้าป่าประมาณ ๒ พันกว่าคน ซึ่งพื้นที่ตอนนั้นไม่เหมือนปัจจุบัน มองไปรอบด้าน ร่มไม้ไม่มี อาคารไม่มี ต้องอาศัยเต็นท์เช่า การกางเต็นท์ยุคนั้น ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งมีลมจัดมาก บางครั้ง เต็นท์ที่กางไว้เรียบร้อยแล้ว ถึงวันงานปรากฏว่าลมพายุมา หอบเต็นท์ลอยข้ามรถไปเลย ลอยไปทั้งหลัง การเตรียมสถานที่ในยุคนั้นลำบากมาก

            นอกจากเตรียมสถานที่แล้ว อาหารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ อาหารต้องพอรองรับคนที่มาร่วมงาน เราจะหุงข้าวสักครั้งหนึ่ง ต้องอาศัยแรงงานชาวบ้านมาช่วยกันหุงข้าวด้วยกระทะใบบัว ต้องช่วยกันทำเตา

            มีอยู่งานหนึ่ง ก่อนจะถึงวันบุญใหญ่ ๓ วันชาวบ้านที่เราขอแรงไว้ยังไม่มา หลวงพ่อทัตตะปรึกษาว่าไม่มีคน

            ทำเตาหุงข้าว ต้องทำกันเอง ก็มองหาว่าในกลุ่มพวกเรา มีใครบ้างที่ทำเตาหุงข้าวเป็น ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เคยทำทั้งนั้น อาตมาก็รับอาสา ที่รับอาสาไม่ใช่เพราะเคยทำ แต่สมัยเป็นฆราวาส ยังไม่บวช เคยเห็นลุงทำ อาตมาช่วยส่งอิฐให้ งานที่ไม่เคยทำทั้งหลาย มาทำเป็นที่นี่ แล้วงานนั้นก็ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย

            ในยุคนั้นงานแต่ละงานที่ทำก็เหมือนปัจจุบันนี้ คือ งานเร่งเหมือนกัน ยุคนั้นคนน้อย แต่ต้องทำงานให้เสร็จ เมื่องานมากกว่าคน ความเห็นไม่ตรงกันก็มีตลอด ถ้าไม่ยึดมั่นในโอวาทของคุณยาย ก็คงไม่ได้สร้างผืนแผ่นดินนี้ มาถึงปัจจุบัน คงต้องทะเลาะกัน โกรธกัน แล้วก็แยกย้ายกันไป แต่นี่เพราะเคารพและเชื่อฟังคุณยาย ไม่ว่างานจะลำบากอย่างไรก็ตาม ก็ทำไม่เคยบ่น ไม่เคยท้อกันจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๘  หลวงพ่อกับคุณยาย และคณะทั้งหมด จึงย้ายจากวัดปากน้ำมาอยู่ที่นี่ หลังจากนั้นก็มีการแบ่งงานกันชัดเจนขึ้น เพราะมีคนบวชเข้ามาช่วยงานหลายรูป แต่ทุกรูปก็ปฏิบัติตามโอวาท ที่คุณยายให้ไว้ทุกอย่าง คือ "ทำงานด้วยกันทะเลาะกันได้ แต่โกรธกันไม่ได้" ถ้าจะพูดถึงพระที่อยู่มาถึงปัจจุบันนี้ทุกรูปต่าง ให้ความเคารพคุณยาย เชื่อฟังคุณยายปฏิบัติตามโอวาท ที่คุณยายสั่งสอนอบรม ไม่อยู่นอกโอวาท เราจึงอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปึกแผ่น มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน ช่วยกันสร้างวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.053400218486786 Mins