ธรรมกายในหนังสือทิพยอำนาจ1
จากหนังสือ "ทิพยอำนาจ" เรียบเรียงโดย พระอริยคุณาธารผู้เชี่ยวชาญทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติแห่งวัดเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ในปีพุทธศักราช 2493 ท่านได้กล่าวถึงธรรมกาย ไว้ในหัวข้อ อินทรีย์แก้ว ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความเห็นในเรื่อง ธรรมกาย หรือพระธรรมกายนี้ เป็นความเห็นของฝ่ายเถรวาทมานานแล้ว ซึ่งท่านก็ยอมรับว่าเป็น "ความรู้ลึกลับในพระธรรมวินัย" คือรู้ว่ามีอยู่ แต่รายละเอียดยังไม่แจ่มชัด จัดเป็นหลักฐานที่กล่าวโดยพระสงฆ์เถรวาท ถึงเรื่อง ธรรมกาย ในแง่ของปริยัติที่ร่วมสมัยที่สุด นอกเหนือจากที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำและเหล่าศิษย์ได้อธิบายไว้
รายละเอียดทั้งหมดในหัวข้ออินทรีย์แก้ว มีดังนี้
"ก่อนจบบทนี้ จะพูดถึงอินทรีย์แก้ว ซึ่งได้พูดแย้มไว้หลายแห่งมาแล้ว พอเป็นแนวศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาพระพุทธศาสนา หวังว่าจะเป็นเรื่องที่สนใจอยากทราบเป็นแน่.
ปกรณ์ฝ่ายมหายานหรืออุตตรนิกาย เขาแบ่งภาคพระพุทธเจ้า เป็นหลายชั้น เช่น
(1) พระอาทิพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าเที่ยงแท้ มีพระรัศมีรุ่งเรืองที่สุดหาเขตจำกัดมิได้ไม่มีเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นอยู่ชั่วนิรันดร.
(2) พระฌานิพุทธเจ้า ได้แก่ พระนิรมานกายที่ทรงเนรมิตบิดเบือนขึ้นด้วยอำนาจฌานสมาบัติ มีพระรัศมีรุ่งเรือง มิใช่พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้โปรดสัตว์ในโลก.
(3) พระมานุสีพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธเจ้าซึ่งมาตรัสรู้โปรดสัตว์ในโลก มีพระกายในความเป็นมนุษย์อย่างสามัญมนุษย์ทั้งหลาย แต่เป็นพระกายดีวิเศษกว่าของมนุษย์สามัญมีพระฉัพพรรณรังสีรัศมีพระกายแผ่ซ่านออกข้างละวา.
ส่วนปกรณ์ของฝ่ายทักษิณนิกายหรือเถรวาท (คือฝ่ายเรา) ท่านโบราณาจารย์ ก็แบ่งพระกายของพระพุทธเจ้าเป็น 3 ภาค เช่นเดียวกัน แต่เรียงลำดับจากต่ำไปหาสูง เมื่อเทียบดูแล้วก็จะเห็นว่าคล้ายคลึงกันคือ.
(1) พระรูปกาย เป็นพระกายซึ่งเอากำเนิดจากพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา ที่เป็นมนุษย์ธรรมดา ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 เหมือนกายของสามัญมนุษย์ เป็นแต่บริสุทธิ์สะอาดสวยงาม พระฉวีวรรณเปล่งปลั่งเกลี้ยงเกลากว่ากายของมนุษย์สามัญ เป็นวิบากขันธ์สำเร็จแต่พระบุญญาบารมี.
(2) พระนามกาย ได้แก่ กายชั้นใน ปราชญ์บางท่านเรียกว่า กายทิพย์ และว่าเป็นกายที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนกายชั้นนอก เป็นแต่ว่องไวกว่า และสามารถกว่ากายชั้นนอกหลายร้อยเท่าสามารถออกจากร่างหยาบไปในที่ไหน ๆ ได้ตามต้องการ เมื่อกายหยาบ ลายแล้ว กายชั้นนี้ยังไม่ ลาย จึงออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่ต่อไป นามกายเป็นของมีทั่วไปแม้แต่สามัญมนุษย์แต่ดีเลวกว่ากันด้วยอำนาจกุศลากุศลที่ตนทำไว้ก่อนส่วนพระนามกายของพระพุทธเจ้า ท่านว่าดีวิเศษยิ่งกว่าของสามัญมนุษย์ด้วยอำนาจพระบุญญาบารมี ที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นเวลาหลายอสงไขยกัป.
(3) พระธรรมกาย ได้แก่ พระกายธรรมอันบริสุทธิ์ ไม่สาธารณะทั่วไปแก่เทวาและมนุษย์ หมายถึงพระจิตที่พ้นจากกิเลสอาสวะแล้ว เป็นพระจิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีพระรัศมีแจ่มจ้าเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์อุทัยไขแสงในนภากาศฉะนั้น พระธรรมกายนี้ เป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริง เป็นพระกายที่พ้นเกิด แก่ เจ็บ ตาย และทุกข์โศกทั้งหลายได้จริง เป็นพระกายที่เที่ยงแท้ถาวรไม่สูญสลาย เป็นอยู่ชั่วนิรันดร เป็นที่รวมแห่งธรรมทั้งปวง แต่ท่านมิได้บอกให้แจ้งชัดว่า พระธรรมกายนี้ มีรูปพรรณสัณฐานเช่นไรหรือไม่.
ความเชื่อว่าพระอรหันต์นิพพานแล้วยังมีอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระอรหันต์แท้ไม่สลายไปตามกาย คือ ความเป็นพระอรหันต์ไม่สูญ (หมายเหตุผู้เขียน ถึงตรงนี้มีเชิงอรรถต่อท้ายด้านล่างว่า "พระยมกะ เมื่อยังไม่บรรลุอรหัตผล ได้แสดงความเห็นว่า พระอรหันต์ตายสูญ ถูกพระสารีบุตรสอบสวน เมื่อบรรลุพระอรหัตผลแล้วจึงเห็นตามความจริงว่าสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งย่อมเป็นไปตามปัจจัย คือ ลายไปส่วนพระอรหันต์มิใช่สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่สลายไปแปลว่าไม่ตาย.") ความเป็นพระอรหันต์นี้ ท่านก็จัดเป็นอินทรีย์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า อัญญินทรีย์ท่านพระผู้มีพระภาคเจ้า คงหมายเอาอินทรีย์นี้เอง บัญญัติเรียกว่า วิสุทธิเทพ เป็น ภาพที่คล้ายคลึง วิสุทธาพรหมในสุทธาวา ชั้นสูง เป็นแต่บริสุทธิ์ยิ่งกว่าเท่านั้น เมื่อมีอินทรีย์อยู่ก็ย่อมจะบำเพ็ญประโยชน์ได้ แต่ผู้จะรับประโยชน์จากท่านได้ ก็จะต้องมีอินทรีย์ผ่องแผ้วเพียงพอที่จะรับรู้รับเห็นได้ เพราะอินทรีย์ของพระอรหันต์ประณีตสุขุมที่สุด แม้แต่ตาทิพย์ของเทวดาสามัญก็มองไม่เห็น (หมายเหตุผู้เขียน ถึงตรงนี้มีเชิงอรรถต่อท้ายด้านล่างว่า "โดยปกติ เทวดาสามัญและมนุษย์ไม่เห็นวิสุทธิเทพ แต่ถ้าท่านเนรมิตให้เห็นอาจเห็นได้ บาลีว่า
"มารานํ อทสฺสน" หมายถึง พระนิพพานประณีตที่สุด มารจึงไม่เห็นพระนิพพาน ทั้งไม่เห็นผู้บรรลุพระนิพพานด้วย") มนุษย์สามัญซึ่งมีตาหยาบๆ จะเห็นได้อย่างไร อินทรีย์ของพระอรหันต์นั้นแหละ เรียกว่าอินทรีย์แก้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของท่านเป็นแก้ว คือ ใส บริสุทธิ์ดุจแก้วมณีโชติ ผู้บรรลุถึงภูมิแก้วแล้ว ย่อมสามารถพบเห็นพระแก้ว คือ พระอรหันต์ที่นิพพานแล้วได้.
ความรู้เรื่องนี้ เป็นความรู้ลึกลับในพระธรรมวินัย ผู้สนใจพึงศึกษาค้นคว้าต่อไป ถ้ายังรู้ไม่ถึงอย่าพึงค้าน อย่าพึงอนุโมทนา เป็นแต่จดจำเอาไว้ เมื่อใดตนเองได้ศึกษาค้นคว้าแล้ว ได้ความรู้ ได้เหตุผลที่ถูกต้องดีกว่า เมื่อนั้นจึงค้าน ถ้าได้เหตุผลลงกัน จึงอนุโมทนา ถ้ารู้ไม่ถึงแล้วด่วนวิพากษ์ วิจารณ์ ติเตียน ผู้พูดเรื่องเช่นนี้ จะเป็นไปเพื่อบอดตาบอดญาณตนเอง ปกติตาไม่ดีญาณไม่โปร่งอยู่แล้ว ถ้าด่วนติเตียนในเมื่อตนเองรู้ไม่ถึง ก็ชื่อว่าบอดตาบอดญาณตนเอง ยิ่งจะซ้ำร้ายใหญ่ ข้าพเจ้านำเรื่องนี้มาพูดไว้ ด้วยมีความประสงค์จะให้นักศึกษาพระพุทธศาสนาช่วยกันค้นคว้าความรู้ส่วนลึกลับของพระพุทธศาสนาต่อไป"
1 พระอริยคุณาธาร (ปุสฺโส เส็ง) ทิพยอำนาจ. (หน้า 507512) มหามกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ 8 พุทธศักราช 2527.
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 003 พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree