มโหสถบัณฑิตตอน ที่ ๑ (ศุภนิมิต)

วันที่ 25 ตค. พ.ศ.2549

 .

.....เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงไม่ถึง ๑๐๐ ปี ล้วนต้องจากโลกนี้ไป เดี๋ยวก็วัน เดี๋ยวก็คืน เราต้องนับวันถอยหลังกันแล้ว เพื่อเตรียมตัวในการเดินทางไปสู่สัมปรายภพ แม้เวลาที่เหลืออยู่อาจจะเป็นระยะเวลาที่แสนสั้น แต่ก็เป็นช่วงที่มีคุณค่าและสำคัญที่สุด ที่เราจะได้สั่งสมบุญบารมี สั่งสมเสบียงในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ ชีวิตหลัง ความตายนั้นยาวนาน เราจึงต้องทำแต่กรรมดี เพื่อให้ปลอดภัยทั้งโลกนี้และโลกหน้า การประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกภายใน จะเป็นหลักประกันที่มั่นคงในการเดินทางไปสู่ สัมปรายภพ พระรัตนตรัยนั้นเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ที่ให้ความอบอุ่นใจ และปลอดภัยที่สุด ที่จะนำเราไปสู่สุคติทุกภพทุกชาติ จนเราจะหมดกิเลสเข้าสู่อายตนนิพพาน

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบทว่า
.....“ทุลฺลโภ ปุริสาชญฺโย น โส สพฺพตฺถ ชายติ ยตฺถ โส ชายตี ธีโร ตํ กุลํ สุขเมธติ บุรุษอาชาไนยเป็นบุคคลหาได้ยากในโลก ท่านย่อม ไม่เกิดในที่ทั่วไป ท่านเป็นนักปราชญ์ บังเกิดในสกุลใด สกุลนั้น ย่อมถึงความสุข”

 

.....บุรุษอาชาไนย คือ บุคคลผู้เป็นนักปราชญ์บัณฑิต เป็นพระโพธิสัตว์ผู้อุบัติขึ้นมาเพื่อฝึกฝนอบรมตนเอง บ่มบารมีให้แก่รอบ มีใจมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน เมื่อท่านเกิดมา ท่านจะตั้งใจสั่งสมบุญกุศล ทำแต่ความดีล้วนๆ ไม่ข้องเกี่ยวกับบาปอกุศลอันจะนำความทุกข์มาให้ ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และวงศ์ตระกูล บุคคลประเภทนี้ ใช่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ได้ ท่านไม่เกิดใน ที่ทั่วไป ด้วยท่านเคยสั่งสมบุญเก่ามาดี เมื่อเกิดทั้งที จะเลือกเกิดในปฏิรูปเทส ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะสมต่อการสร้างบารมี จะได้สั่งสมบุญบารมีให้แก่รอบยิ่งๆ ขึ้นไป ครอบครัวใดได้บุรุษอาชาไนย ผู้มีบุญบารมีมาเกิด ครอบครัวนั้นถือว่าโชคดี มีสิริมงคลเกิดขึ้น เหมือนอย่างเรื่องของมโหสถบัณฑิต

 

.....*เรื่องมีอยู่ว่า เย็นวันหนึ่ง พระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ได้ นั่งประชุมกันในธรรมสภา กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณของพระบรมศาสดาว่า พระองค์เป็นผู้มีพระปัญญายิ่งใหญ่ มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาลึกซึ้ง มีพระปัญญาดุจแผ่นดิน มีพระปัญญาหลักแหลม มีพระปัญญาว่องไว มีพระปัญญาแทงตลอดในสรรพสิ่ง สามารถครอบงำ วาทะของเจ้าลัทธิอื่นๆ ได้ ทรงทรมานพราหมณ์เจ้าทิฐิ มีกูฏ ทันตพราหมณ์ และเวรัญชพราหมณ์ เป็นต้น ทรงกลับใจพวก ปริพาชก นักบวชนอกศาสนาให้หันกลับมานับถือพระรัตนตรัย ทรงทรมานอมนุษย์ เช่น นาคหรือ ยักษ์ มีอาฬวกยักษ์ เป็นต้น ทรงเป็นครูของเหล่าพรหมและอรูปพรหม ด้วยพระปัญญาหาประมาณมิได้

(*มก. มโหสถบัณฑิต เล่ม ๖๓ หน้า ๓๒๘)

 

.....เมื่อได้เวลาอันสมควร พระบรมศาสดาก็เสด็จมา และตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนาถึงเรื่องอะไรกันอยู่” เมื่อตัวแทนของภิกษุสงฆ์กราบทูลพระองค์แล้ว จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พระตถาคตมีปัญญาหาประมาณมิได้ แม้ในอดีตกาลเมื่อ ญาณยังไม่แก่กล้า ยังบำเพ็ญบุรพจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณอยู่นั้น ก็เป็นผู้มีปัญญามากเหมือนกัน” จากนั้นพระองค์ทรงนำเรื่องในอดีตสมัย ที่เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต ผู้กำลังบำเพ็ญปัญญาบารมีให้แก่รอบ มาตรัสเล่าให้เหล่าภิกษุสงฆ์ได้รับฟังกัน

 

.....เรื่องมโหสถบัณฑิตแห่งมิถิลานครนี้ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาว แต่มีเนื้อหาสาระ ที่น่ารู้น่าศึกษามาก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ปัญญา และปฏิภาณอันเฉียบแหลม ของพระบรมโพธิสัตว์ แม้บางครั้งจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน ขนาดเอาชีวิตเกือบ ไม่รอด แต่ท่านก็ยังมีจิตใจมั่นคง ใช้สติปัญญาเปลี่ยนวิกฤติมาเป็นโอกาส จนสามารถ เอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ ทำให้มนุษย์และเทวาทั้งหลายต่างแซ่ซ้องสรรเสริญ ภพชาติที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิตนี้ จึงเป็นภพชาติที่นักสร้างบารมี ทั้งหลายจะต้องศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ได้ทรงแสดงความสามารถทางด้านปัญญาไว้อย่างยอดเยี่ยม

 

.....เมืองมิถิลานคร เป็นราชธานีของแคว้นวิเทหรัฐ เป็นมหานครกว้างใหญ่ไพศาล มีความอุดมสมบูรณ์ และคับคั่งไปด้วยผู้คน มีพระเจ้าวิเทหราชเป็นจอมราชันย์ ทรงปกครองประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม มีพระทัยมุ่งที่จะอำนวยความสุข ความสงบร่มเย็นแก่พสกนิกรอย่างทั่วถึง พระองค์ทรงแต่งผู้ที่อุดมด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ มีความรู้ความสามารถให้เป็นที่ปรึกษาราชการบ้านเมือง มีปุโรหิตผู้ให้คำแนะนำปรึกษา ถึง ๔ ท่าน มีนามตามลำดับอาวุโส คือ อาจารย์เสนกะ อาจารย์ ปุกกุสะ อาจารย์กามินท์ และอาจารย์เทวินท์ อาจารย์ทั้งสี่นี้ เสมือนเป็นจตุสดมภ์แห่งปัญญา ที่คํ้าจุนวิเทหรัฐ และราชบัลลังก์ไว้เป็นอย่างดี ทำให้ปราศจากภัยทั้งภายนอกและภายใน ถึงกระนั้นพระเจ้าวิเทหราชก็ยังทรงใฝ่พระทัยที่จะแสวงหา ผู้รู้บัณฑิตนักปราชญ์ ผู้เชี่ยวชาญในการต่างๆ มาช่วยกันทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป

 

.....ใกล้รุ่งวันหนึ่งพระองค์ทรงพระสุบินว่า ที่ท้องพระลานหลวงมีกองเพลิงลุกขึ้น มุมละ ๑ กอง รวมเป็นกองเพลิง ๔ กอง แต่ละกองประมาณเท่าป้อมปราการของ พระราชนิเวศน์ เป็น กองเพลิงโชนแสงรุ่งโรจน์สว่างไสว พลันเกิดมีกองเพลิงอีก กองหนึ่งผุดพุ่งขึ้นมาท่ามกลางกองเพลิงทั้งสี่ กองเพลิงที่ห้านี้ มีจุดเริ่มต้นเป็นจุดเล็กๆ ประมาณเท่าแสงหิ่งห้อย ทว่าฉายแสงพวยพุ่งจากกลางพระลานหลวงไปจรด ถึงพรหมโลก แสงนั้นสว่างเจิดจ้าไปทั่วจักรวาล โชติช่วงรุ่งเรืองกว่าแสงสว่างใดๆ

 

.....ความสว่างที่แผ่ขยายกว้าง ออกไปเป็นปริมณฑล ส่องกระจ่างยิ่งกว่าแสงดาว แสงจันทร์แสงอาทิตย์ หรือสิ่งใดๆ บนภาคพื้นดินในอาณาบริเวณโดยรอบ ทำให้ ของชิ้นเล็กชิ้นน้อยขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดก็สามารถมองเห็นได้กระจ่างชัด มหาชนชาวโลกพร้อมทั้งเทพยดา พรหม อรูปพรหม พากันน้อมนำของหอม และดอกไม้เข้ามาบูชากองเพลิงนั้น แสงสว่างที่พวยพุ่งนั้นเย็นฉํ่าเหมือนแสงแห่ง พระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ มหาชนพากันมาห้อมล้อมเปลวเพลิงนั้นอย่างผาสุก ไม่มีใครได้รับความร้อน แม้เพียงขุมขนหนึ่งก็หาได้เป็นอันตรายไม่ มีความเย็นอย่าง เป็นสุขน่าอัศจรรย์ทีเดียว

 

.....พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินแล้ว ก็สะดุ้งพระทัยตื่น พลางรำพึงถึงพระสุบิน ตามปกติวิสัยของผู้นำว่า จะเป็นนิมิตร้ายหรือดีประการใด พระองค์มิอาจจะทรง ทำนายได้ว่าจะเกิดอันตรายแก่บ้านเมืองพระราชสมบัติ หรือจะมีเหตุการณ์อันเป็น มหามงคลเกิดขึ้น

 

.....รุ่งเช้า ท่านราชบัณฑิตผู้เป็นจตุสดมภ์แห่งวิเทหรัฐ พากันมาเข้าเฝ้า ครั้นถวายบังคมแล้ว พระเจ้าวิเทหราชตรัสเล่าเรื่องพระสุบินให้ฟัง พลางรับสั่งว่า “ท่านอาจารย์โปรดทำนายนิมิตนี้ทีเถิดว่า จะดีหรือร้ายประการใด” ท่านเสนกะวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้ว ได้กราบทูลยืนยันมั่นเหมาะว่า “ขอเดชะ พระองค์ผู้สมมติเทพ กองเพลิงในพระสุบินที่ตรัสเล่าเป็นไฟเย็นปราศจากความร้อน ไม่มีลักษณะแผดเผาแต่ประการใด แม้บุคคล จะห้อมล้อมสัญจรไปมา ก็มิได้รู้สึกในอาการเร่าร้อนกระวน กระวาย เพลิงในพระสุบินจึงเป็นเพลิงที่ให้ ความร่มเย็น สงบสุขแก่มหาชน จึงเห็นด้วยเกล้าว่า กองเพลิงนั้นเป็นนิมิต แห่งผู้มีปรีชาญาณอันเจิดจรัส เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่มหาชนอย่างแน่นอน

 

.....กองเพลิงในท่ามกลางที่ปรากฏเริ่มเป็นจุดเล็กๆ นี้ เป็นนิมิตระบุถึงผู้มีบุญ มีปัญญาเอกอุดม ล่วงพ้นข้าพระพุทธเจ้า ทั้งสี่ ผู้เป็นประดุจกองเพลิงโดยรอบ คอยปรนนิบัติพระองค์ นับเป็นบัณฑิตคนที่ ๕ ผู้จะมาสู่พระบรมโพธิสมภารในวัยเยาว์ บัณฑิตท่านนี้จะเป็นที่นิยมเคารพบูชาของทวยเทพ และมนุษย์ทั้งหลาย หาผู้เสมอเหมือนมิได้ทีเดียว พระเจ้าข้า”

 

.....เป็นคำทำนายพระสุบินนิมิตของพระราชา ผู้จะได้บุรุษอาชาไนยมาเป็น บัณฑิต คู่บุญคู่บารมี ที่จะช่วยเสริมให้ราชธานีของพระองค์เจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งๆขึ้นไป บุรุษอาชาไนยท่านนี้คือใคร ให้ทุกท่านติดตามในตอนต่อไป และให้หมั่นประพฤติ ปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนาให้สม่ำเสมอทุกวัน อย่าให้ขาด เราจะได้มีดวงปัญญา บริสุทธิ์เกิดขึ้น เป็นบัณฑิต นักปราชญ์ทั้งทางโลก และทางธรรมกันทุกคน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011169036229451 Mins