กัณฑ์ที่ ๐๖ สังคหวัตถุ

วันที่ 31 ธค. พ.ศ.2560

กัณฑ์ที่ ๐๖
สังคหวัตถุ
แสดง  ณ  วันที่  ๒๐  กันยายนพุทธศักราช  ๒๔๙๖

มรดกธรรม , พระมงคลเทพมุนี , ประวัติย่อ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี , สด จนฺทสโร , หลวงปู่วัดปากน้ำ , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , สด มีแก้วน้อย , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , วัดปากน้ำ , ธรรมกาย , วัดพระธรรมกาย , สมาธิ , กัณฑ์ , ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด , คำสอนหลวงปู่ , หลวงพ่อสดเทศน์ , เทศนาหลวงพ่อสด , พระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี , พระผู้ปราบมาร , ต้นธาตุต้นธรรม , พระเป็น , อานุภาพหลวงพ่อสด , เทปบันทึกเสียงหลวงพ่อวัดปากน้ำ , พระของขวัญ , สังคหวัตถุ , กัณฑ์ที่ ๐๖ สังคหวัตถุ

                                        นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสฺมพุทฺธสฺส ฯ  (๓ครั้ง)
                                    ทานญฺนจ เปยฺยวชฺชญฺจ                อตฺถจริยา จ ยา อิธ
                                    สมานตฺตตา จ ธมฺเมสุ                   ตตฺถ ตตฺถ ยถารหํ
                                    เอเต โช สงฺคหา โลเก                  รถสฺสาณีว ยายโต
                                    เอเต จ สงฺคหา นาสฺสุ                   น มาตา ปุตฺตการณา
                                    ลเภถ มานํ ปูชํ วา                         ปิตา วา ปุตฺตการณา
                                    ยสฺมา จ สงฺคหา เอเต                    สมเวกฺขนฺติ ปณฺฑิตา
                                    ยสฺมา มหตฺตํ ปปฺโปนุติ                  ปาสํสา จ ภวนุติ เตติ ฯ

              ณ บัดนี้อาตมาภาพจักได้แสดงธรรมิกถาว่าด้วย ภัตตานุโมทนากถา เฉลิมเพิ่มเติมศรัทธาของเจ้าภาพซึ่งเป็นผู้สมานฉันท์ พร้อมใจซึ่งกันและกันมาบริจาคทาน เวลาเช้าได้ถวายข้าวยาคูคือข้าวต้ม เวลาเพลได้ถวายโภชนาหาร พร้อมด้วยสูปะ พยัญชนะ ขณะนี้ให้มีพระสัทธรรมเทศนาน้อมนำปัจจัยทั้ง ๔ บูชาพระสัทธรรมเห็นสภาวะปานฉะนี้ ได้ชื่อว่าถวายทานแก่พระธรรมโดยแท้ กับได้ชื่อว่าเจ้าภาพได้ถวายทานครบทั้งพระรัตนตรัย คือถวายทานแด่พระพุทธเจ้า ถวายทานแด่พระธรรม ถวายทานแด่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นองค์คุณของพระพุทธศาสนา พุทฺโธ พระพุทธเจ้านั้นได้เป็นเนมิตกนาม เกิดขึ้นจากพระรัตนะ คำว่าพระพุทธรัตนะนั้นเป็นหลักประธานเดิม ธมฺโม เป็นเนมิตกนาม เกิดขึ้นจากธรรมรัตนะ พระธรรมรัตนะนั้นเป็นหลักเป็นธรรมที่ตั้งอยู่เดิม สงฺโฆ พระสงฆ์นั้นเป็นเนมิตกนามเกิดขึ้นจากสังฆรัตนะ สังฆรัตนะนั้นเป็นตัวยืนอยู่เดิม พุทธรัตนะ ธัมมรัตนะ สังฆรัตนะ เหล่านี้เรียกว่าพระรัตนะตรัย พระรัตนตรัยคือ พุทธรัตนะ ธัมมรัตนะ สังฆรัตนะ เหล่านี้เรียกว่าพระรัตนตรัย พระรัตนตรัยคือ พุทธรัตนะ ธัมมรัตนะ สังฆรัตนะ นี้เป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย สิ่งอื่นนอกจากพระรัตนตรัยนี้ไม่มี และสิ่งอื่นที่เราจะพึ่งสูงและดีขึ้นไปกว่านี้ไม่มี

                  เหตุนี้วาระพระบาลี ได้แสดงตำรับตำราเนติแบบแผนไว้ว่า
                         นตฺถิเม  สรณํ  อญฺญํ        สิ่งอื่นไม่ใช่ที่พึ่งของเรา
                         พุทฺโธ  เม  สรณํ  วรํ        พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา
                         นตฺถิเม  สรณํ  อญฺญํ        สิ่งอื่นไม่ใช่ที่พึ่งของเรา
                         พุทฺโธ  เม  สรณํ  วรํ        พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา
                         นตฺถิเม  สรณํ  อญฺญํ        สิ่งอื่นไม่ใช่ที่พึ่งของเรา
                         พุทฺโธ  เม  สรณํ  วรํ        พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเรา

                 ดังนั้นก็แน่นอนในใจว่า พระรัตนะทั้ง ๓ คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นเนมิตกนามเกิดขึ้น พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ว่านี้แหละเป็นที่พึ่งของเราจริงแท้แน่นอน โดยไม่ผิดเพี้ยนยักเยื้องแปรผันท่านจึงได้ตำรับตำราเป็นเนติแบบแผนไว้ว่า นานา โหนฺตมฺปิ วตฺถุโค ถ้าว่าโดยวัตถุแล้วแยกเป็นพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เอกีภูตมฺปนตฺถโต ถ้าว่าโดยอรรถประสงค์แล้วเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกจากกันไม่ได้ อญฺญมญฺญาวิโยคาว พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นของเนื่องซึ่งกันและกันแยกแตกจากกันไม่ได้ เมื่อรู้จักดังนี้แล้ว นี่แหละตัวพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ อยู่ในตัวของเรา มีทุกคนด้วยกัน

                 บัดนี้เจ้าภาพเป็นหัวหน้าประธาน  พรักพร้อมด้วยวงศาคณาญาติ  เพื่อนสนิท มิตรสหาย เนื่องด้วยสายโลหิตก็มี เนื่องด้วยความคุ้นเคยก็มี พากันมาบริจาคทานแก่พระภิกษุสามเณร ณ พระอารามวัดปากน้ำนี้ถูกท่านผู้เป็นทักขิไณยบุคคลหลายสิบด้วยกัน ทักขิไณยบุคคลมีกว่า ๘๐ คนเป็นพระบ้าง เป็นเณรบ้าง เป็นอุบาสกบ้าง เป็นอุบาสิกาบ้าง ของบริจาคทานวันนี้ถูกหลักถูกฐานในทางพุทธศาสนา ถูกทักขิไณยบุคคลการบริจาคทาน ถ้าถูกทักขิไณยบุคคล ก็เป็นผลยิ่งใหญ่ไพศาล ถ้าไม่ถูกทักขิไณยบุคคลแล้ว ผลนั้นก็ทรามต่ำลง ถ้าถูกทักขิไณยบุคคลก็ผลนั้นรุนแรงสูงขึ้นมีกำลังกล้าขึ้น

                  ทักขไณยบุคคลมี ๙ จำพวก
                          พระอรหัตผล           จำพวกที่ ๑ ขั้นสูง
                          พระอรหัตมรรค        เป็นขั้นที่ ๒ รองลงมา
                          พระอนาคามิผล        เป็นขั้นที่ ๓ ตามลำดับ
                          พระอนาคามิมรรค     เป็นขั้นที่ ๔
                          พระสกทาคามิผล      เป็นขั้นที่ ๕
                          พระสกทาคามิมรรค   เป็นขั้นที่ ๖
                          พระโสดาปัตติผล      เป็นขั้นที่ ๗
                          พระโสดาปัตติมรรค    เป็นขั้นที่ ๘

                โคตรภูบุคคลผู้ที่มีธรรมกาย เป็นหญิงเป็นผู้ชาย เป็นเด็กเป็นเล็ก เป็นพระเป็นเณร ไม่เข้าใจ เรียกว่าทักขิไณยบุคคลทั้งนั้น ทักขิไณยบุคคลนั้นแหละ เป็นบุคคลผู้ควรซึ่งทาน ทานสมบัติเป็นเครื่องเจริญผล

              บัดนี้เจ้าภาพมาพบทักขิไณยบุคคลแล้ว ได้บริจาคทานแด่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ในพระอารามวัดปากน้ำ สมด้วยบาลีที่ได้รับสมอ้างว่า

                  โภชนํ ภิกฺขเว ทกฺขมาโน ทายโก        เจ้าภาพได้เป็นทายกบริจาคโภชนาหารในเวลาวันนี้

                  ปฏิฆานํ ปญฺจถานา เทติ                    ชื่อว่าฐานะ ๕ ประการแก่ปฏิคาหก

                  กตมานิ ปยฺจ                                    ฐานะ ๕ ประการ”ฉน

                  อายุ เทติ                                         ให้อายุประการหนึ่ง

                  วัณฺณํ เทติ                                       ชื่อว่าให้วรรณะความสวยงามประการหนึ่ง

                  สุขํ เทติ                                          ชื่อว่าความสุขกายสบายใจประการหนึ่ง

                  พลํ เทติ                                          ชื่อว่ากำลังกาย กำลังวาจา กำลังใจ ประการหนึ่ง

                  ปฏิภาณํ เทติ                                   ชื่อว่าให้ปฏิภาณความเฉลียวฉลาดประการหนึ่ง เจ้าของทานให้โภชนะอย่างเดียวเท่านั้นเชื่อว่าให้ฐานะ ๕ ประการ แก่ปฏิคาหก คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ

                  อายุ โย ทตฺวา อายุตฺตภาคี โหติ         เจ้าของทานผู้ที่ให้อายุมีอายุยืนถ้วนอายุขัยนั่นแหละชื่อว่าให้อายุแก่ตัวเอง เพราะอายุนั้นจะกลับมาเป็นอายุของตัวเองผู้ที่ให้อายุย่อมมีอายุส่วนตอบ

                  วณฺณํ ฑตฺวา วณฺณสฺส ภาคี โหติ         เจ้าของทานที่ให้วรรณะความสวยงามแห่งร่างกายนั้นแหละ ได้ชื่อว่าให้วรรณะ    ความสวยงามแก่ตัวเอง ผู้ที่ให้ความสวยงามแก่บุคคลอื่นความสวยงามนั้นเป็นส่วนตอบแก่ตัวเอง

                  สุขํ ทตฺวา สุขสฺสภาคี โหติ                 ผู้ให้ความสุขกายสบายใจนั้นแหละได้ชื่อว่าให้ความสุขแก่ตัวเองได้ความสุขมาเป็นส่วนตอบ

                  พลํ ทตฺวา พลสฺสภาคี โหติ                ผู้ให้กำลังปฏิคาหก เมื่อปฏิคาหกอิ่มอาการแล้วมีกำลังลังนั้นแหล่ะจะมาเป็นส่วนตอบของเจ้าของทาน เจ้าของทานชื่อว่าให้กำลังแก่ตัวเอง

                  ปฏิภาณํ ทตฺวา ปฏิภาณสฺสภาคี โหติ ทิพฺพสฺส วา มนุสฺสสฺส วา               ผู้ให้ความเฉลียวฉลาดแก่ปฏิคาหกให้มีสติปัญญาขึ้นชื่อว่าให้ความเฉลียวฉลาดแก่ปฏิคาหกความเฉลียวฉลาดนั้นแหละย่อมกลับมาเป็นส่วนตอบแก่เจ้าของทานเจ้าของทานได้ชื่อว่าให้ความเฉลียวฉลาดแก่ตัวเอง คุณธรรม ๕ อย่างนี้เป็นเงาตามตัวอายุ วรรณะ สุข พละ ปฏิภาณ ทำทานในสถานที่ใดๆ ได้สำเร็จผลในมนุษย์บ้างในทิพย์บ้าง ตามความปรารถนาของตน ได้ชื่อว่าทานย่อมมีผล

 

                ทานการให้ไม่ใช่เป็นแต่ในพุทธศาสนา ก่อนพุทธกาลพระพุทธเจ้ายังไม่ได้อุบัติตรัสขึ้นในโลก การให้นี่เข้ามีกันอยู่แล้ว มีอย่างไร ? จำเดิมแต่มารดา บิดา เมื่ออยู่ร่วมกันก็ต้องให้กันแล้ว ต้องให้ความสุขกันให้เงินทองข้าวของเสื้อผ้าซึ่งกันและกัน มีอะไรก็แจกกันรับประทานไปใช้สอยไป นี่ก็ให้กัน ถ้าไม่ให้กันอยู่ด้วยกันไม่ได้ ต้องแยกจากกันทีเดียวแหละ ถ้าให้กันละก็ อยู่ด้วยกันได้ นี่ การให้นี้เป็นข้อสำคัญนักทานให้เป็นหลักสำคัญที่จะให้ความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ให้ ถ้าว่าไม่มีทานการให้แล้ว คนจีนที่มาจากเมืองนอกจะไม่รวยเร็วขนาดนี้ดอก เพราะทานการให้นี้แหละ จีนยิ้มทีเดียว เจอเถ้าโล่ใหญ่ๆที่เขาทำงานใหญ่ๆกัน เมื่ออยากจะทำงานกับเขาด้วย แต่เขาไม่ค่อยยอมให้ทำ เมื่อไม่ยอมให้ทำคนจีนก็ฉลาด ค่อยๆ ให้เล็ก จนกระทั่งถึงผูกภาษีอากรน่ะซี เพราะให้นั่นเป็นตัวสำคัญนัก คนจีนเขาจึงได้พูดยืนยันว่า ลูกไก่ยังกินข้าวสารตราบใดละก็ เขาอยู่ในเมืองไทยไม่จนแน่ จะไปให้อะไรใครก็ไม่ได้  ถ้าว่าให้อะไรใครไม่ได้จะหางานการอะไรได้ เพราะตนเป็นคนต่างบ้านต่างเมืองมา ดังนั้นการให้กันและกันเป็นสิ่งสำคัญนัก

              เมื่อรู้จักหลายอย่างนี้แล้ว อยู่ในสถานที่ใดก็อย่าลืมทานการให้กัน การให้กัน พ่อ แม่ ลูกหญิง ลูกชาย สามีภรรยาก็ต้องให้กัน เมื่อสามรภรรยาอยู่ร่วมกันแล้วมีลูกขึ้นมา ต้องให้ลูกกินนม นมนั้นแหละเป็นเงินเป็นทองเหมือนกัน นมน่ะกลั่นออกมาจากเงินทองเช่นกัน มารดาบริโภคอาหารเข้าไป อาหารก็ไปเป็นน้ำนม ลูกก็กินนมเข้าไปเป็นลำดับ พอวายนมแล้วก็ให้ลูกบริโภคอาหารต้องซื้อข้าวของลูกไม้ลูกไล่มาให้ลูกมัน ลูกจะอ้วนพีมีเนื้อดีหนังดี ให้เรื่อยทีเดียว ลูกจะกินอะไรจะต้องการอะไร พ่อแม่ให้ได้ทุกอย่างให้เรื่อย จนกระทั่งเติบโต แต่ว่าถ้าลูกต้องภัยได้ทุกข์หิวโหยโรยแรง แม่ก็เอาของอะไรมาให้รับประทานพอโตหนักขึ้น ๆ ๆ ลูกต้องการอะไรก็อยู่ที่แม่นี้อีกทั้งนั้น แม่ไม่ให้พ่อก็ก็ให้หรือให้ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่ายนี้แหละ ถ้าว่าพ่อแม่ไม่ให้ละก็ลูกตายหมดไม่เหลือเลย ลูกเป็นอยู่ได้นี้ก็เพราะอาศัยการให้ซึ่งกันและกันเพราะให้อย่างนี้แหละ ถึงได้นามระบือลือเลื่องไปทั้งเมืองว่า พ่อและแม่

              เมื่อรู้จักหลักเช่นนี้แล้ว เราจำหลักไว้ ค่อย ๆ ให้ บุคคลคนหนึ่งคนใดโกรธเคืองด่าว่าเรา เราก็หาอุบายแก้ไข ค่อย ๆ ให้เขาเถอะ คนที่เคยด่าพ่อด่าแม่ คนอิจฉาริษยานั้นแหละ ให้เสีย พอเขาเชื่องพอเขาเลื่อมใส เราจะใช้เขาทำอะไร เขาทำเอาทั้งนั้นแหละ นี้สำเร็จด้วยการให้นี้แหละเป็นข้อสำคัญนักโลกจะจงรักภักดีซึ่งกันและกันก็เพราะอาศัยให้ซึ่งกันและกัน เขาจึงยืนยันเป็นตำรับตำราว่า  หญิงชายที่เป็นสามีภรรยากัน ถ้าสามีไม่ชอบใจภรรยา หรือภรรยาไม่ชอบใจสามีละก็ เอาละ หาเสน่ห์เลห์ลมประการต่าง ๆ ช่างบ้าหลัง อะไรไม่เข้าใจ นี่เขาบอกไว้ชัด ๆ แล้วว่าผู้ปฏิบัติครองเรือนไม่ต้องมีเสน่ห์อะไรดอก เสน่ห์ปลายจวักนั้นแหละผัวรักจนตายเลยทีเดียว เพราะอะไรล่ะ จวักนี่ตักข้าวตักแกงหากินหาอยู่ให้สามีได้รับความสุข เพราะภรรยาเอากระจ่าตักแกงนั่นแหละ จวักก็คือทัพพีนั่นเองสำคัญนัก ไม่ต้องไปหาอื่นแก้ไข ว่าทำอย่างไรจะให้สามีได้รับความสุข ลูกก็เหมือนกันเมื่อกินอิ่มดุด่าเท่าไรก็ยอมทั้งนั้นแหละไม่โกรธไม่เคืองหรอก สามีก็เหมือนกันปรนนิบัติให้ดี ให้อิ่มนำสำราญเช่นนี้ เท่านั้นแหละ จะใช้ให้ไปทำอะไรก็ยอมทั้งนั้น นี้เสน่ห์สำคัญนัก ให้เข้าใจว่าการเป็นหลักสำคัญ ตระกูล ๆ หนึ่ง ถ้าว่าให้กันถึงขนาดเข้าแล้ว ตระกูลนั้นก็เจริญ ให้ถูกส่วนเข้าแล้วเจริญ

                ศาสนาพุทธนี้อยู่ได้ด้วยการให้ ถ้าเลิกให้เสียสักเดือนแล้ว ข้าวปลาอาหารไม่ให้กันละ หยุดกันหมดทั้งประเทศ ทุกบ้านทุกเรือนไม่ให้กันละ ศาสนาดับ พระเณรสึกหมดหายหมดไม่เหลือเลย นี้เพราะอะไร เพราะการให้นี้เองการให้สำคัญนัก เพราะทุกคนอยู่ได้ด้วยการให้ทั้งนั้น ท่านจึงได้ยืนยันตามตำรับตำราว่าโภชนาหารอิ่มเดียว ได้ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ เป็นที่ปรารถนาของมหาชนคนทั้งหลาย ฝ่ายคฤหัสถ์บรรพชิตปรารถนาเหมือนกันหมด อายุ อายุยืนใคร ๆ ก็ชอบใจทั้งนั้น สุขะ มีความสบายกายสบายใจใคร ๆ ก็ชอบใจทั้งนั้น พละ กำลังกาย กำลังวาจา กำลังใจ เวลาจะใช้กำลังใจความคิดก็ได้สมความปรารถนา ไม่ต้องรอเวลาอย่างหนึ่งอย่างใด กำลังทั้ง ๓ นี่แหละสำคัญ กำลังกาย เวลาจะใช้การด้วยกาย กำลังวาจา ที่ต้องใช้วาจาโต้ตอบระหว่างประเทศต่อประเทศนั้น หรือเวลาพูดคนต่อคนกันก็ใช้วาจา กำลังใจที่จะต้องคิดการงานใหญ่โตกว้างขวางออกไป นี่กำลังใจ กำลังเหล่านี้ใคร ๆ ๆก็ชอบ ใคร ๆ ก็ปรารถนา ปฏิภาณ ความเฉลียวฉลาดในทุกสิ่งทุกอย่าง ในหน้าที่ของตัว หรือในหมู่มนุษย์ฉลาดในหน้าที่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ขัดขวางอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ใคร ๆ ก็ชอบใคร ๆ ก็ปรารถนา สิ่งทั้ง ๕ นี้แหละเป็นที่ปรารถนาของมหาชนคนทั้งหลาย

           เมื่อเป็นดังนี้ท่านเจ้าภาพได้มาบริจาคทานในวันนี้ได้ชื่อว่า  การให้ ให้กับภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนเด็กเล็กซึ่งอยู่ในวัด ได้รับความสุขกันหมด มาบริจาคทานก็ได้รับความสุขตลอดกันหมดไม่เดือดร้อน อิ่มหนำสำราญ นี่ก็เพราะการให้ การให้อย่างนี้ไม่ใช่แต่ในมนุษย์นี้เท่านั้นพระพุทธเจ้าท่านอยู่นิพพาน มาให้ทานอย่างนี้ ท่านก็มามากเหมือนกัน เต็มหมดในศาลา ในหมู่พระก็เต็มหมดในหมู่อุบาสกอุบาสิกาก็เต็มหมด ท่านก็รู้ตลอดสาย ก็การให้อย่างนี้แหละ ถูกต้องร่องรอยของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เมื่อมีพระชนม์อยู่ก็มีการให้อย่างนี้ จึงเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ ถ้าปราศจากการให้อย่างนี้แล้วเจริญรุ่งเรืองอยู่ไม่ได้ เมื่อให้ความเจริญแก่พระพุทธศาสนาแล้วความเจริญก็หันเข้าสู่ตัว ไม่ต้องไปสงสัย ได้ชื่อว่าให้ความเจริญแก่ตัวนั่นเองทีหลัง คนที่พากันมาบริจาคทาน เป็นเจ้าภาพหรือเป็นหัวหน้า เป็นที่สองรองลำดับลงไป หรือว่าหมู่พวกนั้นๆ บริจาคทาน พระพุทธเจ้าท่านก็คอยดู สอดญาณ ส่องญาณคอยดู ได้รับความสุขแค่ไหน ได้รับความทุกข์แค่ไหน ท่านก็ช่วยเหลือเผื่อแผ่ คอยแก้ไข บำบัดความทุกข์ บำรุงความสุข ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป นี้ก็เพราะอาศัยพระพุทธเจ้าอยู่ลับ ๆ เรานับได้ ในประเทศไทย พระพุทธเจ้ามีจริง ๆ  ในที่ลับ ๆ ประเทศนิดเดียวเท่านี้แหละเป็นเอกราชอยู่ได้ ปืนผาหน้าไม้ทำกับเขาไม่เป็น เรือแพนาวา เรือยนต์กลไฟต่อไม่ได้ทั้งนั้น แต่ว่าเป็นเอกราชได้แปลกเหลือเกิน เป็นเอกราชได้ด้วยอะไร นี่เป็นเอกราชได้ด้วยพุทธศาสนาด้วยพระพุทธเจ้าท่านคอยดูแลแก้ไขรักษาชาติศาสนาของท่านไว้ ให้ศาสนาดำรงอยู่ เพราะหมดทั้งชมพูทวีป ศาสนาเดียวนี้มาแน่นอนหนาอยู่ในเมืองไทยนั้น ศาสนาฝ่ายเขมรในปกครองของฝรั่งเศส การประพฤติผิดธรรมผิดวินัยมากแล้ว พม่าอยู่ในปกครองของอังกฤษ ประพฤติผิดธรรมผิดวินัยมากแล้ว เขาไม่ได้เป็นศาสนูปถัมภกทีเดียว เพียงแต่เขาไม่ได้ทำลายเท่านั้น ส่วนพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นเอกราชอยู่ร่ำไป รักษาพุทธศาสนาให้ถาวรดำรงคงที่ ดีขึ้นเป็นลำดับไป

        ท่านเจ้าภาพได้มาบริจาคทานแก่พระภิกษุในประเทศไทย เวลานี้ก็ยังได้ชื่อว่าถูกทักขิไณยบุคคลทักขิไณยบุคคลมี ๙ จำพวก พวกธรรมการ ๘๐ กว่าคน เจ้าภาพได้บริจาคทานถูกทักขิไณยบุคคล ๘๐ กว่าคน ได้ชื่อว่าเป็นบุญใหญ่กุศลใหญ่ เมื่อเจ้าภาพสละไทยธรรมเสร็จขาดลงไป มอบให้แก่พระภิกษุ พระภิกษุรับเป็นสิทธิ์ใช้ได้ บริโภคได้ ให้เด็กให้เล็ก ให้ใครก็ได้ เป็นสิทธิ์ของผู้รับ ขาดจากสิทธิ์ของผู้ให้ขณะใดขณะนั้นแหละ ปุญฺญาภิสนฺทา บุญไหลมาจากสายธาตุสายธรรมของตัวเอง โดยอัตโนมัติเข้าสู้อัตโนมัติ คือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์เท่าฟองของไข่แดงของไก่ ในกลางกายมนุษย์นี้ กลางดวงนั้นแหละเป็นที่ตั้งของบุญ บุญไหลมาติดอยู่กลางดวงนั้น เหมือนยังกับไฟที่ติดอยู่ในหลอดไฟฟ้ากี่ร้อยแรงเทียน กี่พันแรงเทียนก็ช่างเถิด แล้วแต่หลอดเดขาดีกรีไว้เท่าไร จุไฟได้เท่านั้น ส่วนอัตโนมัติของธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นี้ บุญมากเท่าไรก็ใส่เข้าไปไม่เต็ม เท่าไร ๆ ก็ไม่เต็ม วันนี้เจ้าของทานหัวหน้าและเป็นลำดับมาได้บุญวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑,๐๐๐ วาเป็นดวงกลมอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้กายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ ๑,๐๐๐วา แทบทุกคน เจ้าภาพที่ร่วมบริจาคกันวันนี้ ก็เพราะทักขิไณยบุคคลจึงได้บุญใหญ่กุศลใหญ่ให้เอาใจนึกอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่หยุดตรงนั้นหยุดอยู่กลางนั้น เมื่อนึกอยู่กลางนั้น ตั้งใจอยู่กลางนั้น ให้นึกถึงบุญของตัวไว้ ที่ตัวได้วันนี้ ว่าใหญ่วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๑,๐๐๐ วาใจจดอยู่ตรงนั้นแหละว่าเราได้บริจาคทานวันนี้ได้ดวงบุญใหญ่ขนาดนี้ใจเราก็จดอยู่กับดวงบุญนั้น

             เมื่อต้องภัยได้ทุกข์อะไร ? จรดอยู่ดวงบุญนั้น ให้ดวงบุญนั้นช่วย อย่าไปนึกถึงสิ่งอื่นนะ นึกถึงบุญกุศลที่ตนกระทำนั่นแหละ เป็นที่พึ่งของตัวจริง ช่วยตัวได้จริง ๆ พระพุทธเมื่อเข้าที่ขับขันท่านยังนึกถึงบุญของท่าน ที่ท่านได้บำเพ็ญบารมีของท่านมา แน่วแน่ทีเดียวมั่นคงทีเดียว เมื่อมั่นคงเช่นนั้น นางธรณีผุดขึ้นมา บำบัดพญามารให้พ่ายแพ้ ด้วยน้ำที่พระองค์ทรงหลั่งให้ตกลงเหนือพื้นปฐพี นางธรณีรับไว้รูดปราดเดียวเป็นทะเลท่วมพญามารป่นปี้หมด ยับเยิน แพ้พระพุทธเจ้าด้วยน้ำที่พระองค์ทรงกรวดนั่นแหละ นี้พระองค์ทรงนึกถึง ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ให้เป็นอาวุธ ผจญพญามารให้อันตรธานพ่ายแพ้พระองค์ไป เราก็เหมือนกันต้องภัยได้ทุกข์ก็นึกถึงบุญบารมีที่เราสั่งสมอบรมมานี้ นิ่งอยู่ตรงนั้นแหละกลางดวงนั้นแหละ ถูกดวงบุญพอดี ทานการให้สำเร็จเป็นบุญดังนี้ เมื่อสำเร็จเป็นบุญแล้วอก็เป็นที่ระลึกดังนี้เรียกว่า ทานญฺจ

               เปยฺยวัชฺชญฺจ  เมื่อเรามีบุญเช่นนี้ไปอยู่ในสถานที่ใด ลูกก็มาก หลานก็มาก พวกพ้องวงศาคณาญาติก็มากทั้งนั้น เมื่อมีพวกมากเช่นนี้เราจะทำอย่างไร ? เราต้องอาศัยวาจาที่ไพเราะเสนาะโสต เมื่อกล่าววาจาอันใดออกไปแล้ว เป็นที่ดึงดูดใจ เหนี่ยวรั้งใจเป็นที่สมัครสมานในกันและกัน ไม่เป็นที่กระทบกระเทือนในกันและกัน ต้องใช้วาจาอย่างนั้นเป็นคนชั้นสูงเป็นคนชั้นผู้ใหญ่ เป็นคนชั้นพวกมากไม่ใช่พวกน้อย ถ้ามีวาจาเช่นนั้นเรียกว่าเป็นคนสุภาพ เป็นคนมีมารยาท เป็นคนที่มีถ้อยคำวาจาเป็นหลักเป็นประธาน วาจาไพเราะอ่อนหวาน ไม่กระทบกระเทือนผู้หนึ่งผู้ใด กล่าวออกไปแล้วไม่กระเทือนตัวเองด้วย ไม่กระเทือนบุคคลอื่นด้วย ไม่กระเทือนทั้งตนและบุคคลอื่นด้วย กล่าววาจาใดออกไปแล้ว วาจานั้นไพเราะเสนาะโสตดึงดูดอยากจะฟังแล้วอยากจะฟังอีกอยู่ร่ำไป ดังนี้เรียกว่า ปิยวาจา วาจาไพเราะ วาจาอย่างนี้แหละเป็นของสำคัญนักในหมู่มนุษย์ จำเป็นจะต้องใช้

           อตฺถจริยา จ ยา อิธ ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนในโลกนี้ มีพวกเท่าไหร่ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่กันและกันเท่านั้น อย่าเอาแต่ความสุขส่วนตัวผู้เดียว ให้ความสุขเสมอทั่วหน้ากัน เรียกว่า อตฺถจริยา จ ยา อิธ ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกันน่ะประพฤติอย่างไร ? มีลูกต้องแก้ไขลูกเป็นปริญญา หญิงก็ให้เป็นปริญญาชั้นหญิง ชายก็ให้เป็นปริญญาชั้นชาย ทุก ๆ คนไปสมมุติว่ามีลูก ๑๐ คน หญิง ๕ ตน ชาย ๕ คน เป็นปริญญาหมดทุกคน มีการงานชั้นสูงทั้งนั้นพ่อแม่สองคนจะมีความสุขแค่ไหน ไม่ต้องมากหรอก ลูกกตัญญูคนเดียวเท่านั้นแหละ เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ให้เป็นสุขเหมือนเทวดาได้ เป็นปริญญาขึ้นแล้วเลี้ยงได้อย่างดิบอย่างดีเลยดีเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นมีลูกเท่าไรต้องแก้ลูกให้เป็นปริญญาขึ้น นี้ได้ชื่อว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ ลูกหลานก่อน คนใกล้เคียงเข้ามาวงศาคณาญาติประพฤติเช่นนั้น ให้เป็นประโยชน์เช่นนั้น ให้เลี้ยงตัวเองได้ แก้ไขให้เลี้ยงตัวของตัวได้เหมือนเด็กเล็กเลี้ยงตัวของตัวไม่ได้ แก้ไขให้เลี้ยงตัวของตัวได้ ผู้หญิงก็ให้เลี้ยงตัวของตัวได้ ผู้ชายก็ให้เลี้ยงตัวของผู้ชายได้ ไม่ต้องพึ่งใครทีเดียว แก้ไขให้ฉลาดออกไปอย่างนั้นได้ชื่อว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน หรือให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหลานของตัวประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่บ้านใกล้เรือนเคียงกันมีวิชาความรู้ ให้ความสุขแก่เพื่อนบ้านมนุษย์ด้วยกัน เขาจะรุ่งเรืองเจริญได้อย่างไร แก้ไขอย่างนั้นชื่อว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน ลักษณะที่ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกันนี่แหละเป็นประโยชน์นัก ทางพุทธศาสนาต้องการนัก ภิกษุบวชก่อน ประพฤติตัวให้เป็นตำรับตำราต่อภิกษุบวชหลังเป็นลำดับไป นี้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกันอย่างนี้เรียกว่า อตฺถจริยา จ ยา อิธ ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกันในโลกนี้หรือในหมู่นี้ก็ตาม คงได้ความว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนกัน

               สมานตฺตตา จ ธมฺเมสุ ตตฺถ ตตฺถ ยถารหํ ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมนั้น ๆ ในบุคคลนั้น ๆ ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมนั้น ๆ ในบุคคลนั้นๆ น่ะ เราจะไปทางไหนเป็นหญิงก็ดีเป็นชายก็ดีเข้าไปในหมู่ไหน พวกไหน ชาติไหน ภาษาไหน ไม่กระทบกระเทือนเลยด้วยกายของเรา ไม่กระทบกระเทือนเลยด้วยวาจาของเราเลย ไม่กระทบกระเทือนเลยด้วยใจของเรา เราเข้าไปในหมู่ไหนพวกไหนเป็นหมู่นั้นพวกนั้นไปหมด ปรากฏแบบเดียวกัน เรามีพวกมากเท่าไร ก็เป็นคนเดียวกันไปหมด ไม่แยกแตกจากกัน นี้ความเป็นผู้มีตนเสมอเขา พอเหมาะพอดีกับเขา เข้าใกล้ใครคนนั้นก็บอกว่าเป็นพวกเขา เป็นพี่เป็นน้องเขาเป็นพี่เขาเป็นน้องเขาตามชันษาอายุของตน ประพฤติเสมอในธรรมนั้น ๆ ในบุคคลนั้น ๆ ไม่ขาดตกบกพร่องทุกชาติทุกภาษาไป เมื่อประพฤติได้ดังนี้ได้ชื่อว่า เป็นประโยชน์ในโลกแท้ๆ

                โลกจะได้รับความสุขก็เพราะอาศัยความประพฤติทั้ง ๔ อย่างคือ ให้ทานกล่าววาจาไพเราะประพฤติให้เป็นประโยชน์ในกันและกันความประพฤติตนให้สม่ำเสมอในธรรมนั้น ๆ ในบุคคลนั้น ๆ ไม่ขาดตกบกพร่องใด ๆ เมื่อประพฤติดังนี้แล้ว

                  เอเต โข สงฺคหา โลเก ความสงเคราะห์ในโลกเรานี้แล

                 รถสฺสณีว ยายโต   เหมือนลิ่มสลักเพลารถที่แล่นไปอยู่ฉะนั้น  ความสงเคราะห์ในโลกทั้งหลายนี้แลเหลือลิ่มสลักเพลารถที่แล่นไปอยู่ฉันนั้น ทว่ารถที่จะแล่นไปในถนนหนทางน้องใหญ่ ถ้าลิ่มสลักเพลาไม่มีเสียแล้ว กงรถก็หลุดจากเพลา แล่นไปไม่ได้ ถ้าลิ่มสลักเพลาอยู่แล้วกงรถก็ไปสะดวก ไม่ขัดข้องอย่างหนึ่งอย่างใด นี้ฉันใด โลกที่ขับขันจะได้ความร่มเย็นเป็นสุข ก็ด้วยอาศัยความเกื้อกูลสงเคราะห์ซึ่งกันและกันอย่างนี้แหละ เหมือนลิ่มสลักเพลารถอย่างนี้

                  เอเต จ สงฺคหา นาสฺสุ ถ้าความสงเคราะห์เหล่านี้ไม่มีแล้ว

               น มาตา ปุตฺตาการณาลเภถ มานํ ปูชํ วา ปิตา วา ปุตฺตการณา มารนดาบิดาย่อมไม่ได้ความนับถือและบูชา เพราะเหตุที่ตนมีบุตร

           ยสฺมา จ สงฺคหา เอเต สมเวกฺขนฺติ ปณฺฑิตา เพราะเหตุใดบัณฑิตพิจารณาเห็นชอบซึ่งความสงเคราะห์ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมเป็นผู้น่าสรรเสริญ เพราะดำเนินด้วยคติของปัญญา น่าไหว้บูชา

                ท่านเจ้าภาพได้ประพฤติสงเคราะห์เช่นนี้  ก็เพราะดำเนินด้วยคติของปัญญา  จึงได้ความสุขแก่คนมากขนาดนี้ เมื่อให้ความสุขแก่คนมากขนาดนี้ ก็เป็นผู้น่าสรรเสริญน่าชมเชย น่าเลื่อมใส เป็นตัวอย่างที่ดีในยุคนี้และต่อไปภายหน้า จงอุตส่าห์รักษาความคิดอันนี้ ให้ดำรงคงที่แบะทวีขึ้นเป็นลำดับไป จะไม่ได้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา เมื่อได้บุญสมมาดปรารถนาเช่นนี้ วันนี้มีโอกาสน้อย จะมรกานสอนในทางปรมัตถปิฏกกัน เพราะฉะนั้นการเทศน์ให้กว้างขวางไปกว่านี้ขอยกเอาไว้ก่อน

                ที่ได้ชี้แจงมานี้ใน สังคะวัตถุกถา ตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษาตามมตยาอธิบายพอสมแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัจที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทาโสตฺถี ภวานฺตุ เต ด้วยอานุภาพรัตนะทั้งสาม คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ทั้งสามประการนี้จงดลบันดาลความสุขสวัสดิ์ให้อุบัติบังเกิดมี เป็นปรากฏในขันธบรรจบแห่งท่านผู้เป็นเจ้าภาพและสาธุชนทั้งหลายบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมาภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแด่เวลา สมมุติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.049828783671061 Mins