กัณฑ์ที่ ๐๙ เบญจขันธ์

วันที่ 17 มค. พ.ศ.2561

กัณฑ์ที่ ๐๙
เบญจขันธ์

มรดกธรรม , พระมงคลเทพมุนี , ประวัติย่อ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี , สด จนฺทสโร , หลวงปู่วัดปากน้ำ , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , สด มีแก้วน้อย , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , วัดปากน้ำ , ธรรมกาย , วัดพระธรรมกาย , สมาธิ , กัณฑ์ , ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด , คำสอนหลวงปู่ , หลวงพ่อสดเทศน์ , เทศนาหลวงพ่อสด , พระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี , พระผู้ปราบมาร , ต้นธาตุต้นธรรม , พระเป็น , อานุภาพหลวงพ่อสด , เทปบันทึกเสียงหลวงพ่อวัดปากน้ำ , พระของขวัญ , เบญจขันธ์ , กัณฑ์ที่ ๐๙ เบญจขันธ์

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ (๓ ครั้ง)

อุปฺปชินฺติ นิรุชฌนฺติ

เอวํ หุตฺวา อภาวโต

เอเต ธมฺมา อนิจฺจาถ

ตาวกาลิกตทิโต

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ

ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ

อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข

เอส มคฺโค วิสุทฺธิยาติ ฯ

 

            ณ บัดนี้อาตมาภาพจักได้แสดงธรรมิกถา เป็นอนุสนธิในการเทศนาเนื่องจากวันอาทิตย์โน้นเทศนา วันนี้จะแสดงในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ ของเราท่านทั้งหลาย หญิงชายทุกถ้วนหน้า เบญจขันธ์ทั้ง ๕ นี้มีสภาพเกิดขึ้นตั้งอยู่แตกแล้วดับไป ตำรับตำราได้กล่าวไว้ว่า อุปฺปาท ฐิติ ภงฺค เกิดขึ้น ตั้งอยู่แตกสลายไป นี่เป็นใจความแท้ ๆ ถ้าจะกลั่นลงไปให้แน่แท้แล้วละก็ เกิดกับดับสองอย่างเท่านั้น เกิด ๆ ดับ ๆๆ อยู่อย่างนี้แหละทุกถ้วนหน้า ไม่ว่ามนุษย์คนได หญิงชายคนใด ท่านจึงได้ยืนยันเป็นตำรับตำราว่า
                 อุปฺปชฺชนฺติ นิรุชฺฌนฺติ            เอวํ หุตุวา อภาวโต
                 เอเต ธมฺมา อนิจฺจาถ            ตาวกาลิกตาทิโต
                แปลเนื้อความเป็นสยามว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นดับไป เพราะความเป็นอย่างนั้นแล้วก็หาไม่ที่ว่าเป็นของไม่เที่ยงเพราะมีเกิดขึ้น เพราะมีความเป็นไปชั่วคราว เป็นต้น

                 สพฺเพ สงฺขารา อนิจจฺาติ            ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
             เมื่อเห็นตามปํญญาว่า   สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงเมื่อใด  เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์นี้ เป็นหนทางบริสุทธิ์หรือเป็นหนทางหมดจดวิเศษ ความทุกข์ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่สัตว์โลก

                 ปุนปฺปุนฺ ปีฬิตตตา            อุปฺปาเทน วเยน จ
                 เต ทุกฺขาว อนิจฺจา            เย อถ สนฺตตฺตาทิโต
              สภาพอันไม่เที่ยงชื่อว่าเป็นทุกข์แท้    เพราะมีอันบังเกิดขึ้น  และเสื่อมไปบีบคั้นอยู่เนือง ๆ  เพราะว่าสภาพนั้นมีความเร่าร้อนเป็นต้น ถึงได้เป็นทุกข์เหลือทน ว่า

                 สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ            ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
                 อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข            เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
                เมื่อใดเห็นตามปัญญาว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เป็นนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางบริสุทธิ์หรือเป็นหนทางหมดจดวิเศษ เป็นมรรคาบริสุทธิ์

                 วเส อวตฺตตนาเยว อตฺตวิปกฺขภาวโต    สุญฺญตฺตสฺสามิกตฺตา จ อัตภาพเหล่านั้น
                 สุญฺญตฺตสฺส เต อนตฺตาติ            เต อนตฺตา ญายเร อัตภาพเหล่านั้นรู้จัก
แล้วว่าไม่ใช่ตัวเพราะไม่เป็นไปตามอำนาจของตัว เป็นปฏิปักษ์แก่ตัวด้วย เป็นสภาพว่างเปล่า เป็นสภาพไม่มีเจ้าของ อัตภาพนั้นน่ะคือร่างกายของเราหมดทุกคนนี้ไม่ใช่อื่น ที่ว่าอัตภาพนั้นรู้กันแล้วว่าไม่ใช่ตัว ใครลองนับเป็นตัวเข้าเดี๋ยวหายไปหมด ไม่มีใครรับว่าเป็นตัวหรอก รับว่าเป็นตัวเดี๋ยวก็หายไปหมด ไม่ใช่ตัวจริง ๆ อย่างนี้เรียกว่าอัตภาพไม่ใช่ตัว รู้กันแล้วว่าไม่ใช่ตัว อัตภาพนั้นรู้กันแล้วว่าไมใช่ตัว

                 วเส อวตฺตนาเยว        เพราะเป็นไปในอำนาจของตัว
                 อตฺตวิปกฺขภาวโต    เป็นข้าศึกแก่ตัวด้วย
               สุญฺญตฺตสฺสามิกตฺตา จ เพราะเป็นสภาพว่างเปล่า  และไม่มีเจ้าของด้วย  ใครจะเป็นเจ้าของเล่า รับรองดูซิ รับรองไม่ได้ เป็นอย่างนี้

                 สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ            ยทา ปญิญาย ปสฺสติ
                 อถ นิพฺพินฺทติ  ทุกฺเข            เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
            เมื่อใดเห็นตามปัญญาว่าธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี่เป็นหนทางหมดจดวิเศษ เป็นมรรคาอันบริสุทธิ์ นี่ประเด็นของธรรมนี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษ เป็นมรรคาอันบริสุทธิ์ นี่ประเด็นของธรรมนี้

              นี้แปลเนื้อความเป็นสยามภาษา ภิกษุ สามเณร เล่าเรียน พระธรรมวินัย ไตรปิฎก   แปลกันอย่างนี้นะ ถ้าเราไม่แปลกันอย่างนี้ เราแปลไม่ออกเลยนี่ มันเป็นภาษาเล่าเรียนของเขา ถ้าภาษาเทศน์จะต้องรู้อีกอย่างหนึ่ง ภาษาเทศน์ต้องอรรถาธิบายออกไป ประเด็นเทศน์ที่กล่าวมานี้ เป็นเทศนาเนื่องกับวันวานนี้ แสดงเรื่องปัญจขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

            เราท่านทั้งหมดด้วยกันนี้มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กันทั้งนั้น คำว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัวตนเรานี้แหละ ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกานี้แหละ มีอยู่ ๕ เท่านั้นแหละ รูป ๑ นาม ๔

                 รูป ๑ ก็คือ มหาภูตรูปทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประชุมเป็นร่างกายนี้ นี่เรียกว่ารูปขันธ์

                เวทนา ก็เวทนา ความรับอารมณ์ ความรู้อารมณ์ เวทนาก็แปลว่าความรู้อารมณ์หรือรู้อารมณ์ หรือรับอารมณ์ ทุกข์ สุข ไม่สุขไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เสื่อมยศเรียกว่าเวทนา

              สัญญา ตาจำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสัมผัส ที่เราจำหมดทุกคนนี่แหละที่เรียกว่าสัญญา

                สังขาร ความคิดดี คิดชั่ว คิดไม่ดี คิดไม่ชั่ว

            วิญญาณ ความรู้แจ้งทางทวารที่ ๖ รู้แจ้งทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ ประการนี้เรียกว่า เบญจขันธ์ทั้ง ๕

               เบญจขันธ์ทั้ง ๕ นี้เกิดกำเนิดของมันเกิดหลายประการ กำเนิดของมันเกิด ๔ เบญจขันธ์ทั้ง ๕ นี่ ที่จะแสดงวันนี้ กำเนิดเกิดขึ้น ๔ เกิดเป็น 

             อัณฑชะ  เกิดเป็นฟองไข่ เกิดเป็นฟองไข่เสียครั้งหนึ่ง แล้วมาฟักเป็นตัวอีกครั้งหนึ่ง นี่เขาเรียกว่า เทวชาติ เกิดสองครั้ง หรือทวิชาติ ทวิชาติแปลว่าเกิดสองครั้ง เกิดเป็นไขเสียครั้งหนึ่ง เกิดเป็นตัวเสียครั้งหนึ่งนี่เกิดสองครั้ง อย่างหนึ่งเรียกว่าทวิชาติ

                สังเสทชะ  เกิดด้วยเหงื่อไคล นี่เราไม่ค่อยเข้าใจเลยทีเดียว เรือดไร  เหา  เล็น  พวกนี้เกิดด้วยเหงื่อไคล  เกิดด้ยเหงื่อไคลน่ะ ไม่ใช่แต่ เรือด  ไร เหา เล็น มนุษย์เราก็เกิดด้วยเหงื่อไคลได้เหมือนกัน ลูกของนางปทุมวดี คลอดบุตรมาหนึ่งคนแล้ว ส่วนสัมภาวมลทินของศัพภ์นั้น ที่ออกกับลูกนั้น ก็เป็นเลือดออกมาเท่าไร ๆ ๆ ก็เป็นลูกทั้งนั้นถึง ๔๙๙ คน เป็น ๕๐๐ ทั้งออกมาคนแรก นั่นก็เรียกว่า สังเสทชะเหมือนกันเกิดด้วยมลทินของศัพภ์นั้นเกิดได้อย่างนี้ เขาเรียกว่าเกิดด้วยเหงื่อไคล สังเสทชะนี่อีกกำเนิดหนึ่ง

                 ชะลาพุชะ  เกิดด้วยน้ำ มนุษย์เกิดด้วยน้ำ สัตว์ต่าง ๆ ที่เกิดด้วยน้ำมีมาก

               อุปปาติกะ  ลอยขึ้นบังเกิด  ลอยขึ้นบังเกิดเป็นมนุษย์  เกิดได้หรือ  เกิดได้  มนุษย์เกิดได้มนุษย์เกิดได้ดีทีเดียวลอยขึ้นบังเกิดน่ะ ไม่มีพ่อแม่เหมือนนางอัมพปาลีเกิดที่ค่าคบมะม่วง โมคณสาทิกพรามณ์เกิดในดอกบัว ไม่ต้องอาศัยท้อง ลอยขึ้นบังเกิด เกิดขึ้นเป็นตัวเฉย ๆ ขึ้นที่ค่าคบมะม่วงอายุ ๑๔-๑๕ ทีเดียว นางอัมพปาลีนั่นเขาเรียกว่าลอยขึ้นบังเกิด หรือไม่เช่นนั้น กายของเทวดา ในชั้นตาวติงสา ยามา ดุสิต นิมมานรตี ปรนิม มิตวสัตตี กายเทวา กายรูปพรหม อรูปพรหม เป็นอุปปาติกะทั้งนั้น กายสัตว์นรกเป็นอุปปาติกะทั้งนั้นเปรตเป็นอุปปาติกะทั้งนั้น อสุรกายเป็นอุปปาติกะทั้งนั้น นี้ลอยขึ้นบังเกิดทั้งนั้น กำเนิดทั้ง ๔ อัณฑชะ สังเสทชะ ชลาพุชะ อุปปาติกะ

                กำเนิดนี้แหละล้วนแล้วด้วยขันธ์ทั้ง ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดในมนุษย์หมดทั้งกามภพนี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดในเทวดา ๖ ชั้นก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดังนี้แหละ จะเกิดในรูปพรหมก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดในอรูปพรหมก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ว่าต่างอยู่อีกพวกหนึ่งคือ เนวสัญญานาสัญญายตนะชั้นเบื้องบนสูงขึ้นไป เกิดแล้วก็สัญญาละเอียดเต็มที่ รู้ก็ใช่ ไม่รู้ก็ใช่ สนฺตเมตํ ปณีตเมตุ ไปเกิดในชั้นนั้นได้รับความสุขในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ๘,๔๐๐ กัลป์ มหากัลป์ ๘,๔๐๐ มหากัลป์ อยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั่น อ้ายนั่นแปลกไม่นับเข้าใน วิญญาณฐิติ แต่ว่ายังอยู่ในสัตตาวาส ๙ นั่นพวกหนึ่งเกิดแปลก อีกพวกหนึ่งเกิดแปลกอีกในชั้นพรหมที่ ๑๑ อสัญญีสัตว์ เบื่อนามติดรูป อ้ายนั่นเบื่อนามติดรูป เบื่อว่าอ้ายความรู้นี่แหละ มันได้รับทุกข์ร้อนลำบากนัก พอได้จตุตถฌานแล้ว ปล่อยรู้เสีย นั่งหัวโด่อยู่นั่น ปล่อยรู้เสียเป็นมนุษย์ก็นั่งหัวโด่ไปเขย่าตัวไม่รู้เรื่องกัน นาน ๆ แล้วรู้เสียทีหนึ่ง ฌานนั้นแหละไม่เสื่อม แตกกายทำลายขันธ์ เบื่อนามติดรูป ไปเกิดในชั้นพรหมที่ ๑๑ ไปนอนอืดอยู่ ที่เขาเรียกว่าพรหมลูกฟักเรียก ถ้าว่านั่งตายไปก็นั่งโด่อยู่นั้น นั่งโด่อยู่นั้น ๕๐๐ มหากัลป์ ไม่ครบ ๕๐๐ มหากัลป์มาไม่ได้ ติดคุกรูปพรหมแท้ ๆ ไม่ได้เป็นไรเลย สุขทุกข์ไม่เอาเรื่องกัน นอนอยู่นั่นแหละไม่รู้เนื้อรู้ตัวกันละ พระพุทธเจ้ามาตรัสสักกี่ร้อยองค์ก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ติดอยู่นั่น ๕๐๐ มหากัลป์ อยู่นั่น นี่อีกพวกหนึ่ง นี่พวกเบญจขันธ์ทั้งนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

               ถ้าจะกล่าวถึงเบญจขันธ์๕ ละก็ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ กว้างขวางออกไปกำเนิด ๔ ดังกล่าวแล้ว อัณฑชะ สังเสทชะ ชลาพุชะ อุปปาติกะ วิญญาณฐิติ๗ นี่ นานตฺตกายา นานาตฺตสญฺญี กายต่างกันสัญญาต่างกัน เหมือนมนุษย์นี่กายต่างกันสัญญาต่างกันไม่เหมือนกันสักคนเดียว สัญญาก็ต่างกัน จำก็ไม่เหมือนกัน นานตฺตกายา นานตฺตสญฺญี นานตฺตกายา เอกสตฺตสญฺญี เอกสตฺตกายา นานตฺตสญญี รูปพรหมอีกเหมือนกับ อรูปพรหม ๓ ชั้นข้างบนโน้นเข้าสมทบด้วย รวมเป็นวิญญาณฐิติ ๗ เว้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ และอสัญญีสัตว์เสีย นอกจากนั้นอยู่ในวิญญาณบิติทั้งนั้น นั่นเรียกว่าวิญญาณฐิติ ๗ ทั้งนั้นรวมเนวสัญญานาสัญญายตนะเข้ามาด้วย อสัญญีสัตว์เข้ามาด้วยเป็น นวสัตตาวาส ๙ เติมเข้ามาอีก ๒ นี่ที่มาเกิดไปเกิดของสัตว์โลกทั้งนั้น เราไม่พ้นจากพวกนี้ นี่ไปสู้สุคติ ถ้าทุกคติก็ อบายภูมิ ๔ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ตลอดกระทั่งถึงดลกันตร์ นอกภพออกไป คือภพอันหนึ่งของดลกันต์นั่นเวียนว่ายตายเกิดอยู่เหล่านั้น

               ทว่าทำชั่วที่สุด อ้ายขันธ์ ๕ นี้ ชั่วที่สุดน่ะเป็นอย่างไร ? มีดวงธรรมที่ทำให้มนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ ตั้งอยู่กลางมนุษย์นั่น ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสเท่าฟองไข่แดงของไก่ตั้งอยู่กลางกายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียดมีทั้งนั้น เป็นดวงให้เกิดทั้งนั้น ทำชั่วเกินส่วนเข้า ไม่มีดีเจือปนเลย วัดผ่าศูนย์กลางกลมรอบตัว ๒๐ วา มีชั่วฝ่ายเดียว ดีไม่มีเจือปนเลย แตกกายทำลายขันธ์ไปเกิดในโลกันตร์นั่นแน่ะ ถ้าว่าหย่อนกว่านั้นขึ้นมาก็อเวจี หย่อนกว่านั้นมาฝ่ายได้รับทุกข์เป็นลำดับขึ้นมาจนกระทั่งถึงอสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ฝ่ายชั่ว

             ฝ่ายดีตั้งแต่มนุษย์ขึ้นไปถึงอรูปพรหมโน่น นั่นทำดี ทำดีไม่มีชั่วเจือปนเลย วัดผ่าศูนย์กลาง ๒๐ วา กลมรอบตัว แตกกายทำลายขันธ์ไปนิพพานทีเดียว นี่ขันธ์ ๕ นี่แสดงถึงขันธ์ ๕ แต่ว่ากว้างออกมากนักฟังยาก

               ทีนี้จะแสดงเข้ามา ขันธ์ทั้ง ๕ นี่แหละมีเกิดดับ ๒ อย่าง เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไปมี ๒ อย่างเท่านี้แหละ จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้ มีเกิดแล้วก็ดับ ๆ นึกดูซีปุรพชนต้นตระกูล ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราเป็นอย่างไร ดับไปหมด ดับไปหมดแล้ว ไปเกิดหรือเปล่า ดับก็ต้องไปเกิด อยู่ไม่ได้ก็ต้องไปเกิด แล้วก็เกิดเป็นอะไรไม่รู้ ถ้าจะรู้เรื่องเกิดเรื่องดับเหล่านี้ วิชชาวัดปากน้ำมีเขาเรียนวิชชาธรรมกาย พอมีธรรมกายก็เห็นเกิดทีเดียว เป็นมนุษย์หมดทั้งสากลโลก ถ้าจะดูละก็เห็นเกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ มี อุปิชฺชนฺ ติ นิรุชฺฌนฺติ อย่างนี้แหละ ที่เกิดดับเหล่านี้น่ะ เพราะอะไรให้เกิดดับ เพราะธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นแหละธรรมที่ทำให้เป็นกายสัตว์ต่าง ๆ นั่นแหละ ด้วยนั่นแหละ ถ้ตั้งอยู่ละก็ปรากฏอยู่ ดวงนั้นดับไปมนุษย์ก็ดับไป เกิดดับไปนั้นแหละดวงนั้นแหละ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้นแหละ ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็ปรากฏอยู่ ถ้าดวงนั้นดับไปกายมนุษย์ก็ดับไป มันมีเกิดดับเพราะธรรมดวงนั้น เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายมีเกิดดับเท่านั้น พูดถึงธรรมก็มีเกิดดับเท่านั้น ส่วนขันธ์ทั้ง ๕ นี้ เกิดดับเพราะมันอาศัยธรรมต่างหากละ ธรรมดวงนั้นแหละเป็นสำคัญ

ธรรม        ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์        ก็มีเกิดดับ
ขันธ์ ๕     ของมนุษย์                         ก็มีเกิดดับ
ธรรม        ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด    ก็มีเกิดดับ
ขันธ์ ๕     ของกายมนุษย์ละเอียด        ก็มีเกิดดับ
ธรรม        ที่ทำให้เป็นกายทิพย์           ก็มีเกิดดับ
ขันธ์ ๕     ของกายทิพย์                      ก็มีเกิดดับ
ธรรม        ที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด     ก็มีเกิดดับ
ขันธ์ ๕     ของกายทิพย์ละเอียด          ก็มีเกิดดับ
ธรรม        ที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม      ก็มีเกิดดับ
ขันธ์ ๕     ของกายรูปพรหม                 ก็มีเกิดดับ
ธรรม        ที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด    ก็มีเกิดดับ
ขันธ์ ๕     ของกายรูปพรหมละเอียด      ก็มีเกิดดับ
ธรรม        ที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม     ก็มีเกิดดับ
ขันธ์ ๕     ของกายอรูปพรหม                ก็มีเกิดดับ
ธรรม        ที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด   ก็มีเกิดดับ
ขันธ์ ๕     ของกายอรูปพรหมละเอียด    ก็มีเกิดดับ

                 เกิดดับทั้งนั้นไม่เหลือเลย เกิดดับ ๆ ๆ อยู่อย่างนี้ อุปฺปชฺชนฺติ นิรุชฺฌนฺติ เกิดดับอยู่อย่างนี้

                เมื่อรู้จักเกิดดับอยู่อย่างนี้ เราจะทำอย่างไร  ถ้าไม่ฉลาด  เกิดดับนั้นมันสำคัญนัก  ถ้าเกิดขึ้นมันอยู่ในคุณสมบัติผู้ดีที่งดงาม ที่รุ่งโรจน์ ที่ร่ำรวย ที่เป็นเศรษฐี ที่เป็นคนดี หรือเป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาลถ้าเกิดในที่เช่นนั้นก็พอสบาย ถ้าดับไปมันจะไปเกิดในที่เลวทรามต่ำช้าเป็นอย่างไร มันจะเกิดในที่เลวทราม ถ้าเกิดในที่เลวทรามใคร ๆ ก็ไม่ชอบ เหตุนี้เราต้องประกอบความดีไว้เป็นเบื้องหน้าตำรับตำราได้ยืนยันไว้ดังนี้ มีเกิดดับเช่นนี้ เพราะว่าเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว หาเป็นอย่างนั้นไม่แปรไป เสียอีกเพราะไม่เที่ยง แปรไปอย่างนั้นอีกเพราะไม่เที่ยง เพราะสภาพความยักเยื้องแปรผันอยู่เป็นธรรมดา แก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้ ท่านถึงยืนยันเป็นตำรับตำราว่า เห็นจริงตามสังขารทั้งหลาย อ้ายสังขารทั้งหลายเราไม่รู้เสียอีกแล้วนะ สังขารทั้งหลายน่ะ จะเป็นบุญหรือเป็นบาป หรือจะไม่ใช่บุญใช่บาปก็ตาม ที่บอกแล้วในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ น่ะ อ้ายที่เกิดของมันน่ะ อ้ายที่เกิดเวลาใด ปรุงให้เกิดขึ้นเวลาใด ก็เป็นสังขารเวลานั้น ที่เรียกว่าสังขารน่ะปรุงให้เกิด ปรุงให้เกิดเป็นมุนษย์ เป็นอัณฑชะ สังเสทชะ ชลาพุชะ อุปปาติกะ ๔ กำเนิด ในสี่กำเนิดนี่แหละเรียกว่า สังขารทั้งนั้น ปรุงให้มีเป็นขึ้น

               สังขารทั้งหลายเหล่านั้นแหละ ถ้าเป็นตามปัญญา มดทั้งสากลโลกไม่เที่ยงเสียเลย เห็นว่าไม่เที่ยง เมื่อใดเห็นว่าไม่เที่ยง ก็เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ ว่าเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้เอาที่จบที่แล้วไม่ได้ เมื่อเห็นเช่นนั้นแล้วละก็ จิตมันก็ปล่อยหมด ความยึดถือหมั้นในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ มันก็ปล่อยไม่ห่วงไม่ใยไม่อาลัยเพราะเห็นจริงตามจริงเสียเช่นนั้น อ้ายเห็นจริงตามจริงเช่นนั้น อ้ายทางนั้นจำเอาไว้ จำเป็นรอยใจเอาไว้อย่าให้ลบเชียว นึกไว้ร่ำไป ค่ำมืดดึกดื่นเที่ยงคืนอย่างไร นึกไว้ร่ำไป นึกถึงความเกิดดับเหล่านั้น ก็เบื่อหน่ายจากทุกข์ อ้ายที่เบื่อหน่ายจากทุกข์นั่นแหล่ะ จิตบริสุทธิ์ ใจอยู่ในความบริสุทธิ์ที่เบื่อหน่ายจากทุกข์นั่นที่เบื่อหน่ายอยู่ในทุกข์นั่นแหละ ทุกข์คือความเกิด ความแก่ ความตาย เหล่านี้เบื่อหน่าย ใจก็ว่างจากความยึดถือในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ นั่นแหละที่เป็นทางบริสุทธิ์ เมื่อรู้จักหลักจริงดังนี้แล้ว สภาพอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ที่ยักเยื้องแปรผันไปนั่นแหละเป็นทุกข์ ชื่อว่าเป็นทุกข์แท้ ๆ เพราะเหตุใด เพราะเกิดขึ้นเสื่อมไปบีบคั้นอยู่อย่างเดียว เกิดขึ้นเสื่อมไป บีบคั้นอยู่อย่างเดียว เกิดขึ้นก็บีบคั้นอยู่ บีบคั้นให้สัตว์เดือดร้อนอยู่ด้วยชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้นบีบคั้นให้เดือดร้อนอยู่ร่ำไปทีเดียว เมื่อบีบคั้นให้เดือดร้อนอยู่อย่างนี้ เพราะว่าสภาพเหล่านั้น ๆ เป็นของทนได้ยาก เป็นของเดือดร้อน เป็นของเร่าร้อน เป็นของทุรนทุราย เป็นของไม่สบาย ท่านถึงได้ยืนยันว่า

              เมื่อใดเห็นตามความจริงว่า ความเกิดนั่นแหละเป็นทุกข์ไม่ใช่เป็นสุข เมื่อรู้ว่าความเกิดนั่นเป็นทุกข์แล้วเมื่อใด เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ เมื่อเหนื่อยหน่ายในทุกข์เบื่อในทุกข์แล้วไม่อยากได้ในเบญจขันธ์เหล่านั้น ปล่อยเบญจขันธ์เหล่านั้นนั่นแหละ ได้ชื่อว่าเป็นหนทางหมดจดวิเศษ

            ปล่อยเสียไม่ยึดถือ สบายด้วย หน้าที่เราปล่อยเสียได้นะ ลูกหญิงก็ดี ลูกชายก็ดี ภรรยาก็ดี สามีก็ดี ใจว่างวางเสีย เอาธุระแต่ความบริสุทธิ์ของใจเท่านั้น เท่านั้นใจก็เย็นเป็นสุขร่างกายก็อ้วน ร่างกายก็สบาย เพราะว่าทอดธุระเสียได้ นี่เป็นทางหมดจดขั้นที่สอง 

           ทางหมดจดชั้นที่สามตามลำดับลงไป ความหมดจดขั้นที่สามว่า อัตภาพร่างกายอันนี้รู้กันอยู่แล้วว่าไม่ใช่ตัว เราก็เป็นไปในอำนาจ จะว่าสักเท่าไดก็ไม่เป็นไปในอำนาจ กายมนุษย์ไม่เป็นไปในอำนาจ กายมนุษย์ละเอียดก็ไม่เป็นไปในอำนาจ กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด ไม่เป็นไปในอำนาจทั้งนั้น ใครจะมีฤทธิ์มีเดชสักเท่าใดก็ตามเถอะไม่เป็นไปในอำนาจ พระพุทธเจ้าจะมีฤทธิ์มีเดชสักเท่าไรก็มีไป แต่ว่าอ้ายอัตภาพร่างกายไม่เป็นไปในอำนาจแตกสลายไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอัตภาพอันนี้รู้กันอยู่แล้วว่าไม่ใช่ตัว เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ เพราะเป็นปฏิปักษ์แก่ตัวเสียด้วย เป็นข้าศึกแก่ตัวเสียด้วย ไม่เป็นไปในอำนาจอย่างไร ? จะห้ามปรามสักเท่าหนึ่งเท่าใดไม่เชื่อ จะแก้ไขสักเท่าไรไม่เป็นไปตามแก้ไข และเป็นข้าศึกแก่ตัวเสียด้วย ถ้ายุ่ง ๆ หนักเข้าก็ได้รับทุกข์ยากลำบากจิตใจ ไม่ใช่พอดีพอร้ายทีเดียว ถ้าไปแก้หนักก็เดือดร้อนหนักเข้า ลองไปแกเข้าซิ แก้แก่ แก้เจ็บ แก้ตาย แก้กันอย่างไรนะ แก้ไม่ได้ เป็นข้าสึกแก่ตัวแท้ ๆ เพราะเป็นสภาพว่างเปล่า อัตภาพนี้น่ะเป็นสภาพว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลยไม่มีอย่างไรก็บิดามารดาปู่ย่าตายายเล่านั้น ไปไหน? เหลือแต่กระดูก หรือกระดูกอยู่ที่ไหนล่ะ ได้ร้อยปีพันปีหายไปไหนหมดแล้ว ไม่มีเลยหายไปหมด นี่เป็นสภาพว่างอย่างนี้นะ เป็นของว่างอย่างนี้ เมื่อเป็นของว่างเช่นนี้แล้ว ถามว่าใครล่ะเป็นเจ้าของอัตภาพเหล่านี้ กายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด ใครเป็นเจ้าของ ไม่มีเจ้าของ ถามหาเจ้าของสักคนเดียวไม่ได้ ใครจะรับว่าของข้าละ เอ้า รับดูซิ แตกสลายหมด อ้ายคำรับน่ะไม่จริง แตกสลายหายหมด เมื่อรู้ความจริงอันนี้แล้ว ท่านถึงสอนแนะนำไว้เป็นหลักฐานแน่นอนว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมที่ทำให้เป็นกายนั้น ๆ  ธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหมทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ตัว สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหมดนั้นไม่ใช่ตัว เมื่อใดเมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นี่เป็นทางหมดจดวิเศษ เป็นทางบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นจะแสดงทางบริสุทธิ์ให้ฟังในวันนี้นะ เวลาไม่เพียงพอเสียแล้ว ไม่ฉะนั้นแล้วละก็ตรงนี้จะได้ฟังทางบริสุทธิ์ทีเดียว ทางบริสุทธิ์เป็นสำคัญนะ ทางบริสุทธิ์นะ ทางบริสุทธิ์เฉพาะต้องไปเส้นเดียว สายเดียว รอยเดียวเท่านั้น จะไปทางอื่นไม่ได้ จะเอาไปจดอื่นไม่ได้ จะบอกต้นทางให้

                ทางบริสุทธิ์นะ ก็ต้องเอาใจหยุด นั่นแหละเป็นทางบริสุทธิ์ เอาใจหยุดนึกที่ไหน ? ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ หยุดอยู่กลางดวงนั่นแหละ หยุดทีเดียว หยุดที่นั่นแหละ เป็นทางบริสุทธิ์ละ ถูกละ หยุดนะ หยุดในหยุด พอรู้ว่าใจหยุดกึก ใจหยุดก็กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง กลางของกลาง หยุดเรื่อยไปนั่นแหละ นั่ง นอน ยืน เดิน ทำให้หยุดอยู่อย่างนี้แหละ นั่งแหละบริสุทธิ์ละ ราคะไม่มี อภิชฌาความเพ่งเพราะอยากได้ไม่มี พยาบาทปองร้ายไม่มี เห็นผิดไม่มี โลภะความอยากได้ไม่มี โทสะความประทุษร้ายไม่มี โมหะความหลงงมงายไม่มี ราคะความกำหนัดยินดีไม่มี โทสะความขุ่นเคืองไม่มี โมโหความหลงงมงายไม่มี กามราคานุสัยไม่มี ปฏิฆานุสัยไม่มี หยุดเข้าเถอะ หยุดนั่นแหละตั้งแต่ต้นจนพระอรหัตทีเดียว นี่แหละเขาเรียกว่าหนทางบริสุทธิ์ละ ให้ไปทางนี้

             วันนี้ที่ชี้แจงแสดงมาปริยาย  ต้องการจะให้รู้ว่าหนทางบริสุทธิ์ที่ใจหยุดนี้  ภิกษุสามเณรถ้าทำให้หยุดตรงนี้ไม่ได้ละก็ ไม่พบทางบริสุทธิ์เลย อุบาสก อุบาสิกา ปฏิบัติในสาสนา ทำใจหยุดไม่ได้ก็ไม้พบทางบริสุทธิ์เลย เข้าทางบริสุทธิ์ไม่ถูกเลย หยุดนั่นแหละเป็นเป้าหมายใจดำของพุทธสาสนา เป็นโอวาทของพระบรมศาสดาที่ทรงให้นัยแก่องคุลิมาล เมื่อทรมานพระองคุลิมาลจำนนแล้ว เห็นว่าสู้ไม่ได้แล้วเปล่งวาจาว่า สมณะหยุด สมณะหยุด พระองค์ทรงเหลียวพระพักตร์มา สมณะหยุดแล้วท่านไม่หยุด นั่นแน่โอวาทอันนี้นะ หยุดนั่นแหละถูกโอวาทของพระศาสดา ออกจากพระโอษฐ์ถอดมาทีเดียว ถ้าเราเป็นพุทธศาสนานิกชน เชื่อพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าละก็ ต้องทำใจให้หยุด หยุดอยู่ที่กลางของธรรมที่ทำให้กายมนุษย์นั่นแหล่ะ หยุด นั่ง นอน ยืน เดิน ให้หยุดอยู่ร่ำไป ทำได้จริง ๆ อย่างนั้นไม่ได้หรือ วัดปากน้ำเขาทำกันได้มาก มีที่อยู่ในวัดเวลานี้เห็นจะถึง ๑๐๐ คน ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาเขาทำใจหยุดได้ นั่นแหละถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ นั่นแหละทางบริสุทธิ์ละ เมื่อรู้จักทางบริสุทธิ์ดังนี้ละก็ เมื่อเป็นมนุษย์แล้วอย่าให้เคลื่อนนะ ถ้าว่าเคลื่อนละก็เสียทีที่มาประสบพบพุทธศาสนา

             ที่ได้ชี้แจงแสดงมาตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัจที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทาโสตฺถี ถวนฺตุ เต ความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลายบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมาภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมุติว่า ยุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0521648645401 Mins