วัฏฏกชาดก
ชาดกว่าด้วยอำนาจแห่งการตั้งสัตยาธิษฐาน
สถานที่ตรัสชาดก
ชนบทแห่งหนึ่งในแคว้นมคธ
สาเหตุที่ตรัสชาดก
ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังชนบทแห่งหนึ่งในแคว้นมคธ วันหนึ่ง ทรงนำหมู่สงฆ์เข้าไปในป่าลึกเพื่อแสวงหาที่สงบสำหรับเจริญภาวนา
ขณะนั้น พระภิกษุสงฆ์ได้กลิ่นควันไฟพร้อมกับเห็นไฟป่าลุกไหม้อยู่ไกลๆ ครั้นมองไปรอบๆ เพื่อจะหาทางหลบหนี กลับเห็นไฟล้อมไว้ทุกทิศแล้ว พระภิกษุกลุ่มหนึ่งจึงชวนกัน จุดไฟรับไฟป่า (เป็นการจุดไฟขึ้นดักไฟป่าที่กำลังลุกลามเข้ามา เมื่อไฟป่าลุกลามเข้ามาถึงบริเวณที่ไฟไหม้ไปแล้วก็จะไม่ลุกเข้ามาอีก) ในขณะที่กำลังใช้ไม้สีไฟอยู่นั้น เพื่อนพระภิกษุได้เข้ามากล่าวเตือนว่า เราไม่ควรทำสิ่งใดโดยพลการ พระพุทธองค์เป็นผู้มีบุญญาธิการยิ่ง เราควรไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกันเพื่อทูลปรึกษาในเรื่องนี้
ในขณะที่เปลวไฟกำลังโหมลุกลามอย่างรวดเร็วจนใกล้ตัวเข้ามาทุกทีๆ ช่วงเวลานั้น พระบรมศาสดาทรงประทับยืนอย่างสงบอยู่ท่ามกลางหมู่สงฆ์ทั้งหลาย มิปรากฏพระอาการหวาดหวั่นแต่ประการใด
ทันใดนั้น เปลวไฟที่ลุกโหมอย่างรวดเร็ว กลับหยุดสนิทดุจคบเพลิงที่จุ่มลงในน้ำ เป็นอาณาบริเวณโดยรอบในรัศมี ๑๖ กรีส (๑ กิโลเมตร) ยังความอัศจรรย์ใจแก่หมู่สงฆ์ยิ่งนัก
พระภิกษุทั้งหลายเห็นความอัศจรรย์เช่นนั้น ต่างพากันสรรเสริญพระพุทธคุณว่า
“พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีอานุภาพยิ่งนัก แม้ไฟป่าซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติไม่มีชีวิตจิตใจ ยังไม่อาจไหม้ลามมาถึงที่ที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ได้ ”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สดับถ้อยคำของพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายแล้ว จึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่ไฟป่าไหม้เข้ามาถึงบริเวณนี้แล้วดับลงเองนั้น มิใช่เป็นเพราะอานุภาพของตถาคตในบัดนี้ แต่เป็นเพราะอำนาจแห่งสัตยาธิษฐานของตถาคตในชาติก่อนโน้นและนับแต่ชาตินั้นมา ที่บริเวณนี้ไฟจักไม่ไหม้เป็นอันขาด และจะเป็นปาฏิหารย์เช่นนี้ตลอดกัป”
พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลอาราธนา พระบรมศาสดาจึงตรัสเล่า วัฏฏชาดก ดังต่อไปนี้
เนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล ณ ป่าใหญ่แห่งหนึ่งในแคว้นมคธ ได้เกิดไฟไหม้ป่ากินอาณาบริเวณกว้างขวาง บรรดานกที่มีกำลังน้อยต่างถูกควันไฟและไอร้อนตกลงในกองไฟราวกับใบไม้ร่วง
เช่นเดียวกับ ลูกนกคุ่ม ตัวหนึ่งซึ่งเพิ่งออกจากไข่ได้ไม่กี่วัน ลูกนกคุ่มชะเง้อคอขึ้นจากรังเห็นไฟกำลังไหม้ใกล้เข้ามาทุกทีๆ แต่ด้วยอานุภาพแห่งความดีที่ได้ตั้งใจทำมานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้จะเกิดเป็นนก ลูกนกคุ่มก็ยังคุมสติได้ สามารถระลึกถึงคุณแห่งศีลและสัจจะ ลูกนกคุ่มระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต แล้วอ้างถึงสภาวะธรรม คือ ความจริงที่ตนกำลังเผชิญอยู่ขณะนั้น กระทำสัตยาธิษฐานว่า
“ปีกของเรามีอยู่แต่บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเรามีอยู่แต่ก็เดินไม่ได้ พ่อแม่ของเรามีอยู่แต่ก็บินหนีเราไปเสียแล้ว ด้วยสัจวาจานี้ ไฟเอ๋ย แม้เจ้าจะไม่มีชีวิตจิตใจ ก็จงถอยกลับไปเสียเถิด อย่าได้ทำอันตรายแก่เราและสัตว์ทั้งหลายเลย”
ด้วยบุญญาบารมีที่ลูกนกคุ่มเคยบำเพ็ญมา และด้วยสัตยาธิษฐานนี้ เปลวไฟที่กำลังลุกไล่เข้ามาจึงดับสนิทดุจคบเพลิงที่จุ่มลงในน้ำ เป็นรัศมี ๑๖ กรีส จากรังของลูกนกคุ่มนั้นเอง
ประชุมชาดก
เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ด้วยสัตยาธิษฐานในครั้งนั้น ณ บริเวณในรัศมี ๑๖ กรีสนี้ จะไม่เกิดไฟไหม้ขึ้นเลยตลอดกัป จากนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจ ๔ โดยอเนกปริยาย เมื่อจบพระธรรมเทศนา เหล่าพระภิกษุสงฆ์ได้บรรลุธรรมไปตามลำดับ
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงประชุมชาดกว่า
พ่อแม่ของลูกนกคุ่ม ได้มาเป็นพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา
ลูกนกคุ่ม ได้มาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
๑. เมื่อคิดจะทำการใดต่อหน้าผู้ใหญ่ ควรขอคำปรึกษาจากท่านเสียก่อนเพื่อป้องกันข้อผิดพลาด และยังเป็นการแสดงความเคารพต่อท่าน เพราะผู้ใหญ่ย่อมมองการณ์ไกล และมีประสบการณ์มากกว่า
๒. ความสำเร็จในการกระทำสัตยาธิษฐาน จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐาน ๔ ประการ คือ
๑. ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง
๒. มีความเชื่อมั่นในศีล และสัจจะของตนที่ได้บำเพ็ญมาดีแล้ว
๓. ตั้งจิตอธิษฐานโดยยกสัจจะนั้นขึ้นอ้าง
๔. สิ่งที่ปรารถนานั้นต้องเป็นไปเพื่อความถูกต้อง ดีงาม
นิทานชาดก
วัฏฏกชาดก
ชาดกว่าด้วยอำนาจแห่งการตั้งสัตยาธิษฐาน