ข้อคิดจากชาดก
เวฬุกชาดก
ชาดกแสดงโทษของการเป็นผู้ดื้อดึง ว่ายากสอนยาก
สถานที่ตรัสชาดก
เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี
สาเหตุที่ตรัสชาดก
.....ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่งมีนิสัยดื้อรั้น เอาแต่ใจตัวเอง ว่ายากสอนยาก เพื่อนภิกษุจะว่ากล่าวตักเตือนอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงสอบถามภิกษุรูปนั้น เมื่อได้ความตามจริงแล้วจึงทรงตักเตือนแล้วทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า
....." ดูก่อนภิกษุ มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้นที่เธอเป็นผู้ว่ายากสอนยาก แม้ในชาติก่อน เธอก็มีนิสัยเช่นนี้ ไม่ยอมเชื่อฟังคำตักเตือนของบัณฑิต จึงถูกงูกัดตาย "
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงนำ เวฬุกชาดก มาตรัสเล่าดังนี้
.....เนื้อหาชาดก
.....ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี มีบุตรเศรษฐีผู้หนึ่ง มีความรู้ ความสามารถดีมาก ครั้งต่อมาเมื่อบิดามารดาสิ้นชีวิตลง ชายหนุ่มได้พิจารณาเห็นว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ทวด ของตนต่างก็ครอบครองทรัพย์สินสมบัติของตระกูล สืบต่อกันมาลายชั่วคนแล้ว แต่ในที่สุดก็ต้องตายจากสิ่งเหล่านั้นไป ไม่มีใครสามารถนำทรัพย์สมบัติอันมีค่านั้นติดตัวไปได้เลย แม้แต่สักชิ้นเดียว
.....เมื่อพิจารณาดังนี้ จึงนำทรัพย์สมบัติทั้งหลายออกแจกจ่ายทำทานจนหมดสิ้น แล้วออกบวชเป็นฤาษี ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในป่าหิมพานต์ จนสำเร็จฌานโลกีย์ บรรลุอภิญญา ๕ สมาบัติ ๗ และมีผู้เลื่อมใสออกบวชเป็นศิษย์ถึง ๕๐๐ คน
......อยู่มาวันหนึ่ง มีงูพิษตัวหนึ่งเลื้อยผ่านอาศรมที่พักของศิษย์ผู้หนึ่ง ทันทีที่เห็นลูกงูพิษ ศิษย์ผู้นั้นก็บังเกิดความรักลูกงูขึ้นมาจับใจ จึงจับมันใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ทำฝาปิดเรียบร้อย เมื่อถึงเวลาก็นำอาหารมาป้อน ให้ความรักความเอาใจใส่ราวกับมันเป็นลูกของตน จนงูนั้นเชื่อง นำมาพันแขนพันคอได้ เพื่อนร่วมสำนักอาจารย์ต่างเรียงงูพิษนั้นว่า "เวฬุกะ" เพราะว่ามันอาศัยอยู่ในกระบอกไม่ไผ่
.....เมื่อฤาษีอาจารย์ทราบว่าศิษย์ของตนนำงูพิษมาเลี้ยงไว้จึงเรียกมาสอบถามแล้วเตือนว่า "ขึ้นชื่อว่างูพิษ ย่อมไว้ใจไม่ได้ มันอาจแว้งกัดเธอเข้าสักวันหนึ่ง จงปล่อยมันไปเสียเถอะอย่าเลี้ยงมันไว้เลย"
.....แต่ศิษย์นั้นกลับตอบอาจารย์ว่า "กระผมรักเวฬุกะเหมือนลูก มันเชื่องน่ารักเหลือเกิน กระผมไม่อาจปล่อยมันไปหากินตามยถากรรมได้ ขอกระผมเลี้ยงมันไว้เถอะครับ"
.....ไม่ว่าอาจารย์จะพูดอย่างไร ศิษย์นั้นก็โต้แย้งยืนยันตามเหตุผลของตัว ฤาษีอาจารย์เห็นว่าลูกศิษย์ไม่เปลี่ยนใจแน่แล้ว จึงพูดทิ้งท้ายว่า
....."ถ้าอย่างนั้นขอให้เธอระวังตัวให้ดีก็แล้วกัน วันหนึ่งเธออาจต้องตายเพราะลูกเวฬุกะของเธอ…."
จากนั้นมาอีก ๒ - ๓ วัน ฤาษีทั้งหลายต่างพากันไปหาผลไม้ซึ่งมีอยู่มากมายในป่าลึกไกลจากอาศรมแล้วพักอยู่สองสามวัน งูเวฬุกะจึงถูกทิ้งไว้ที่อาศรมนั่นเอง เมื่อกลับจากหาผลไม้ ศิษย์นั้นรีบมาหาเวฬุกะทันที "ลูกเอ๋ย หิวมั้ย พ่อเอาของกินมาให้แล้ว"
.....พูดพลางก็เอามือสอดเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ หมายจะอุ้มลูกงูน้อยให้ชื่นใจ แต่งูพิษนั้นกำลังโกรธเพราะอดอาหารมาหลายวันจึงฉกเข้าที่มือทันที ศิษย์หัวดื้อจึงถึงแก่ความตายอยู่ตรงนั้นเอง ครั้งฤาษีอาจารย์ทราบเรื่อง จึงให้ลูกศิษย์ช่วยกันทำศพแล้วสอนว่า
....." ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมถึงแก่ความพินาศ เหมือนบิดาของเวฬุกะนอนตายอยู่ ฉะนั้น "
.....ประชุมชาดก
.....เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่า เวฬุกชาดก จบลงแล้วทรงประชุมชาดกว่า
.....ศิษย์หัวดื้อ ได้มาเป็นภิกษุผู้ว่ายาก
......ฤาษีบริวาร ได้มาเป็นพุทธบริษัท
.....ฤาษีอาจารย์ ได้มาเป็นพระองค์เอง
.....ข้อคิดที่ได้จากชาดก
.....๑. โบราณว่าอย่าเลี้ยงงูพิษ เพราะมันอาจแว้งกัดเราได้ทุกเมื่อ เช่นเดียวกันคนพาลซึ่งอาจทำร้ายผู้มีพระคุณได้ตลอดเวลา
.....๒. ไม่ควรเพิกเฉยต่อคำตักเตือนของผู้หวังดีที่มีประสบการณ์มองเห็นการณ์ไกล เช่น บิดามารดา หรือครูอาจารย์
นิทานชาดก
เวฬุกชาดก
ชาดกแสดงโทษของการเป็นผู้ดื้อดึง ว่ายากสอนยาก