สัมโมทมานชาดก ชาดกว่าด้วยโทษของการแตกสามัคคี

วันที่ 11 พย. พ.ศ.2565

ข้อคิดจากชาดก  สัมโมทมานชาดก  ชาดกว่าด้วยโทษของการแตกสามัคคี

ข้อคิดจากชาดก

สัมโมทมานชาดก

ชาดกว่าด้วยโทษของการแตกสามัคคี

 

สถานที่ตรัสชาดก

.....นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์



สาเหตุที่ตรัสชาดก

         กรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นดินแดนของพระญาติฝ่ายพระราชบิดา และกรุงเทวทหะซึ่งเป็นดินแดนของพระญาติฝ่ายพระราชมารดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีแม่น้ำใหญ่สายหนึ่งไหลผ่านและถือเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ชาวเมืองทั้งสองต่างอาศัยน้ำจากแม่น้ำสายนี้ทำการเกษตรกรรมเลี้ยงชีพด้วยความผาสุกตลอดมา

         ต่อมาในฤดูแล้งครั้งหนึ่ง น้ำในแม่น้ำได้งวดลงไปมากผิดปกติ ประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นต่างฝ่ายจึงพยายามหาวิธีกักเก็บน้ำเข้านาของตนให้มากที่สุด จนเกิดการทะเลาะวิวาทด่าทอซึ่งกันและกัน แล้วเลยลามปามถากถางไปถึงราชตระกูลของฝ่ายตรงข้าม เรื่องราวจึงขยายตัวลุกลามไปจนถึงขั้นมีการจับอาวุธเข้าต่อสู้ ความขัดแย้งได้ทวีขึ้นถึงขั้นมีการกะเกณฑ์ผู้คน จนในที่สุดกษัตริย์ของทั้งสองพระนครถึงกับยกทัพมาประชิดชายแดน เตรียมพร้อมที่จะทำสงครามกัน

         เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่าเหตุร้ายกำลังจะเกิดขึ้นกับพระญาติทั้งสองฝ่าย จึงเสด็จมายังชายแดนเพื่อจะทรงระงับศึก พระพุทธองค์ทรงซักถามถึงสาเหตุที่เกิดความขัดแย้งครั้งนี้พระประญาติทั้งสองฝ่ายต่างทูลถึงสาเหตุ เมื่อพระองค์ทรงฟังแล้วจึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสเล่าชาดกดังนี้

 

เนื้อหาชาดก

         ในอดีตกาล สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองกรุงพาราณสี มีพญานกกระจาบตัวหนึ่งคุมบริวารจำนวนนับพันตัว ท่องเที่ยวหากินอยู่ในป่าใหญ่ได้รับความผาสุกตลอดมา

         อยู่มาวันหนึ่ง พรานล่านกบังเอิญมาพบนกกระจาบฝูงนี้เข้า จึงเข้าไปแอบซุ่มอยู่หลังพุ่มไม้ แล้วทำเสียงร้องเลียนแบบนกกระจาบ เมื่อนกกระจาบได้ยินจึงหลงเข้าใจผิดคิดว่า พวกของตนร้องเรียกจึงบินลงมารวมกันข้างพุ่มไม้นั้น นายพรานซึ่งคอยทีอยู่แล้วก็ทอดตาข่ายลงอย่างรวดเร็ว จับนกกระจาบไปได้อย่างสบาย

         หลังจากวันนั้น นายพรานก็มาทอดตาข่ายจับนกไปได้ทุกวัน พญานกนกกระจาบพยายามอย่างยิ่งที่จะคิดหาทางช่วยเหลือบริวารของตน จนกระทั่งวันหนึ่งพญานกกระจาบเรียกประชุมบริวารที่เหลือและบอกอุบายว่า

         “ ครั้งต่อไป ถ้าพวกเราถูกนายพรานทอดตาข่ายอีกละก็ จงตั้งสติให้ดี ให้แต่ละตัวเอาหัวสอดเข้าในช่องตายข่ายตัวละตา แล้วบินขึ้นพร้อม ๆ กัน ยกเอาตาข่ายนั้นไปพาดทิ้งไว้บนยอดไผ่ที่อยู่ไกล ๆ แล้วปลดตัวเองออกมาก็จะหนีรอดได้ ”

         วันต่อ ๆ มา เมื่อพรานนกนำตาข่ายมาทอดอีก นกกระจาบก็พร้อมใจกันทำตามคำแนะนำของพญานกเสมอ พรานนกจึงจับนกกระจาบไม่ได้เลย

         ต่อมาไม่นาน มีนกกระจาบซุ่มซ่ามตัวหนึ่งโผลงมาบนพื้นดิน แต่บังเอิญพลาดไปเหยียบเอาหัวนกกระจาบอีกตัวเข้า นกกระจาบตัวนั้นโกรธมากร้องโวยวายขึ้นมา ถึงนกกระจาบซุ่มซ่ามจะอ้อนวอนขอโทษอย่างไร นกตัวที่ถูกเหยียบหัวก็ไม่ยอมให้อภัย จนเกิดทะเลาะวิวาทกันขึ้น กลายเป็นแบ่งพรรคแบ่งพวกกัน ต่างพูดจากระทบกระเทียบแดกดันกันต่าง ๆ นานา

         พญานกกระจาบเห็นดังนั้นจึงเข้าห้ามปราม แต่นกกระจาบเหล่านั้นไม่ยอมฟัง พญานกกระจาบจึงกล่าวว่า ต่อไปความพินาศจะเกิดขึ้นแก่นกกระจาบทั้งหลายเป็นแน่ จึงพานกบริวารที่เชื่อฟังแยกฝูงออกไปหากินที่อื่น

         เมื่อพรานมาดักนกกระจาบอีกครั้ง นกกระจาบเหล่านั้นเมื่อไม่มีความพร้อมเพรียงเพราะมัวแต่ทะเลาะกันเอง กำลังแรงจึงไม่พอที่จะนำเอาตาข่ายขึ้นไปได้ พรานนกจึงจับนกกระจาบเหล่านั้นไปอย่างง่ายดาย

 

ประชุมชาดก

.....เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่า สัมโมทมานชาดก จบแล้ว ทรงให้โอวาทแก่พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายว่า “ การทะเลาะวิวาทกันในระหว่างญาตินั้นไม่สมควรเลย เพราะการทะเลาะวิวาทเป็นมูลเหตุแห่งความพินาศสถานเดียว ” จากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประชุมชาดกว่า

 

นกกระจาบพาล ได้มาเป็น พระเทวทัต

พญานกกระจาบ ได้มาเป็น พระองค์เอง

 

ข้อคิดจากชาดก

         ๑ . คนพาล มักโกรธง่าย และผูกเวร ดังนั้น เราควรป้องกันการทะเลาะวิวาทเสียแต่ต้นมือด้วยการระมัดระวังตัว มีสติ ไม่ทำสิ่งใดให้กระทบกระเทือนบุคคลอื่น การฝึกสมาธิแผ่เมตตาเป็นประจำทำให้เป็นคนโกรธได้ยาก “ ผู้ที่ฆ่าความโกรธได้ ย่อมนอนหลับเป็นสุข ”

         ๒ . การคบบัณฑิตย่อมทำให้ห่างไกลจากภัยพาล ดังเช่นนกกระจาบที่เชื่อฟังจ่าฝูง

         ๓ . เมื่อมีการทะเลาะวิวาทกัน ควรวางตัวเป็นกลาง และหาทางไกล่เกลี่ยยุติเรื่องบาดหมางนั้นเสีย

 

 

นิทานชาดก สัมโมทมานชาดก ​ชาดกว่าด้วยโทษของการแตกสามัคคี

นิทานชาดก
สัมโมทมานชาดก
ชาดกว่าด้วยโทษของการแตกสามัคคี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012919346491496 Mins