นักขัตตชาดก ชาดกว่าด้วยโทษของการถือฤกษ์ยาม

วันที่ 09 ธค. พ.ศ.2565

ข้อคิดจากชาดก  นักขัตตชาดก  ชาดกว่าด้วยโทษของการถือฤกษ์ยาม

 

ข้อคิดจากชาดก

นักขัตตชาดก

ชาดกว่าด้วยโทษของการถือฤกษ์ยาม

 

สถานที่ตรัสชาดก

.....เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี



สาเหตุที่ตรัสชาดก

       คหบดีบ้านนอกผู้หนึ่ง ได้ไปสู่ขอหญิงสาวชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่งให้บุตรชาย โดยตกลงนัดวันไปรับตัวเจ้าสาวกับทางครอบครัวของฝ่ายหญิงเป็นอย่างดี

       ครอบครัวทั้งสองฝ่าย ต่างจัดเตรียมงานมงคล เป็นที่ครึกครื้นจนกระทั่งถึงกำหนดวันที่จะออกเดินทางไปรับตัวลูกสะใภ้ คหบดีนึกขึ้นได้ว่า ตนไม่ได้ดูฤกษ์ยาม จึงไปถามอาชีวกผู้หนึ่ง ซึ่งตนคุ้นเคย

       อาชีวกผู้นั้นรู้สึกขัดเคืองใจอยู่แล้ว คิดว่าคหบดีไม่นับถือตนเหมือนก่อน ไม่รีบมาปรึกษาหารือแต่เนิ่นๆ จึงแสร้งตอบไปว่า วันที่ยกขันหมากไปนี้ เป็นวัน อัปมงคล ควรรออีกสักวันหนึ่ง คหบดีก็เชื่อ

       เมื่อถึงวันนัด ครอบครัวของเจ้าสาวรู้สึกไม่พอใจยิ่งนักที่ฝ่ายเจ้าบ่าวไม่มาตามนัด จึงยกเจ้าสาวให้แต่งงานกับชายคนอื่นเสียในวันนั้น วันรุ่งขึ้น เมื่อขบวนขันหมากของลูกชายคหบดีบ้านนอกมาถึง จึงถูกตำหนิติเตียนและถูกขับไล่ เรื่องนี้เป็นที่โจษจันกันทั่วไป แม้ในหมู่พระภิกษุสงฆ์

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมายังธรรมสภา ทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุสงฆ์สนทนากันอยู่ ครั้งทรงสอบถามทราบความแล้ว จึงตรัสว่า

       “ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นหรอก ที่อาชีวกได้ทำลายงานมงคลของตระกูลนี้ แม้ในกาลก่อนก็ได้ทำลายงานมงคลของเขามาแล้วเช่นกัน ”

       จากนั้น พระพุทธองค์ทรงนำ นักขัตตชาดก มาตรัสเล่าดังนี้

 

เนื้อหาชาดก

       ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองกรุงพาราณสี คหบดีชาวพระนครผู้หนึ่งมีความพอใจหญิงสาวชาวชนบทนางหนึ่ง จึงไปตกลงสู่ขอนางให้บุตรชายของตน โดยกำหนดวันมารับตัวเจ้าสาวเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้น ต่างฝ่ายต่างเตรียมจัดงาน ทั้งตระเตรียมอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อที่จะมาร่วมงาน

       เมื่อถึงกำหนดวันรับตัวเจ้าสาว คหบดีคิดว่า

       “… เราจะไปสู่ขอลูกสะใภ้ทั้งที่ ฤกษ์ยามก็ไม่ได้ดู เห็นว่านางเป็นคนดี มีกิริยามารยาทเรียบร้อย สมเป็นแม่บ้านแม่เรือน … แต่ถ้าต่อไปมีเหตุเป็นไปล่ะ อย่าเลย เราควรไปปรึกษาอาจารย์สักหน่อยดีกว่า …”

       คหบดีจึงรีบไปกราบอาชีวกผู้หนึ่ง ซึ่งตนสนิทสนมคุ้ยเคยกันอย่างดี แจ้งเรื่องที่ตนจะไปสู่ขอหญิงชาวชนบท มาให้ลูกชายพร้อมกับถามถึงฤกษ์ยาม แต่อาชีวกผู้นี้ มีความขุ่นเคืองใจเป็นทุนอยู่ คิดว่า

       “… เจ้าคนนี้ มันคิดว่ามันแน่ ไม่ปรึกษาเราก็ได้ นี่พอจะไปจริงๆ คงเกิดปอดขึ้นมาล่ะซิ เราต้องสั่งสอนให้สำนึกเสียบ้าง ….” จึงกล่าวว่า

       “ อะไรกัน …. วันนี้มีฤกษ์ที่ไหน เป็นวันมหาวินาศแท้ๆ ผู้ใดจัดงานมงคลในวันนี้ จะต้องถึงความวิบัติทำกินไม่ขึ้น ฐานะจะล่มจม ครอบครัว ลูก หลาน เหลน โหลน จะต้องล้มหายตายจากเดือนร้อนกันไปหมดทั้งตระกูลเลยทีเดียว ”

       “ แล้วฉันจะทำอย่างไรกันดีละ ” คหบดีวิตกกังวลขึ้นมาทันที

       “ ถ้าพ้นจากวันนี้ไปแล้ว ก็นับว่าใช้ได้ ฤกษ์จะดีขึ้น แหมทีหน้าทีหลังจะทำอะไรล่ะก็ ควรจะรีบมาปรึกษากันเสียแต่เนิ่นๆ มีอะไรจะได้แก้ไขได้ทัน มาถามกันกระทันหันอย่างนี้ แก้ไขลำบาก” อาชีวกพูดสำทับเข้าให้อีก

       คหบดีชาวพระนคร หลงกลของอาชีวก จึงไม่กล้าไปสู่ขอหญิงสาวตามนัด

       ฝ่ายทางบ้านของเจ้าสาว เฝ้ารอขบวนขันหมากทั้งวัน เมื่อไม่เห็นฝ่ายเจ้าบ่าวมาตามที่นัดไว้ จึงรู้สึกเสียหน้าและแค้นเคืองใจยิ่งนัก บิดาของนางจึงบอกยกนางให้กับชายหนุ่ม ลูกของเพื่อนบ้านไป

       ครั้นวันรุ่งขึ้น ขบวนขันหมากของฝ่ายเจ้าบ่าวยกมาถึง และถามหาเจ้าสาว จึงถูกชี้หน้าด่าว่า

       “ อะไรกัน นัดว่าจะมาแล้วไม่มา เห็นว่าพวกข้าเป็นคนบ้านนอก จะทำอย่างไรก็ได้งั้นรึ ทำอย่างนี้ไม่สมกับเป็นผู้ดีเสียเลย คนไม่รักษาคำพูด พวกข้าไม่มีเจ้าสาวจะให้แล้วละ กลับไปเสียเถอะไป๊ ”

       ฝ่ายเจ้าบ่าวพยายามชี้แจ้งว่า

       “ ขอโทษเถิดพ่อ ที่จริงพวกฉันก็เตรียมเดินทางกันมาแล้ว แต่เผอิญอาจารย์ดูฤกษ์ แล้วบอกว่าฤกษ์ไม่ดี พวกฉันจึงไม่กล้ามา กลัวว่าจะมีเหตุ มีอันเป็นไป ขอให้พ่อพาเจ้าสาวมาให้ฉันเถอะ ”

       “ โธ่เอ๋ย มัวแต่รอฤกษ์อยู่ เชอะ แต่ข้ารออย่างเจ้าไม่ได้หรอก ถึงเวลานัดแล้วไม่มา ก็ถือว่าเจ้าไม่ต้องการ ข้ายกลูกสาวให้คนอื่นไปแล้ว … ชะ … ช้า … นี่ถ้าเกิดมีฤกษ์ดีอีก ๒๐ ปีข้างหน้า ลูกสาวข้ามิต้องรอเจ้าจนแก่เรอะ ”

       ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันไปมา จนเกิดเป็นเรื่องราวทะเลาะกัน บังเอิญบัณฑิตชาวเมืองคนหนึ่ง ไปทำกิจธุระในละแวกนั้น ได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงกล่าวเป็นคาถาว่า

       “ ประโยชน์ ผ่านพ้นคนโง่ ผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้ ”

       เมื่อขบวนขันหมากของฝ่ายชาย ไม่ได้เจ้าสาว ซ้ำยังเสียไมตรีกับครอบครัวของฝ่ายหญิงอีกด้วย จึงได้แต่เดินทางกลับไปด้วยความผิดหวัง

 

ประชุมชาดก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประชุมชาดกว่า

อาชีวก     ในครั้งนั้น       ได้มาเป็นอาชีวกในครั้งนี้

      ตระกูลทั้งสอง     ในครั้งนั้น    ได้มาเป็นตระกูลทั้งสองในครั้งนี้   

      บัณฑิตชาวเมือง              ได้มาเป็นพระองค์เอง           

 

ข้อคิดจากชาดก

       ๑ . การประกอบกิจการงานใด ควรคำนึงถึงเหตุผล ประโยชน์ความเหมาะสม และกาลเวลาที่สมควร ไม่ควรถือฤกษ์ยา เพราะเมื่อใดที่เราคิดดี พูดดี ทำดี เมื่อนั้น ฤกษ์งามยามดีก็มีอยู่ในตัวเราเอง

       ๒ . คนพาล มักคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เป็นปรกติ และพอใจที่จะเห็นความพินาศฉิบหาย ของผู้อื่น

       ๓ . ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นประโยชน์แล้ว ย่อมไม่ผัดวันประกันพรุ่งเป็นอันขาด ต้องรีบทำประโยชน์นั้นให้สำเร็จ เพราะประโยชน์เป็นฤกษ์ ของประโยชน์เอง

 

นิทานชาดก  นักขัตตชาดก ชาดกว่าด้วยโทษของการถือฤกษ์ยาม

ข้อคิดจากชาดก
นักขัตตชาดก
ชาดกว่าด้วยโทษของการถือฤกษ์ยาม

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03387336730957 Mins