ข้อคิดจากชาดก
สุขวิหารีชาดก
ชาดกว่าด้วยสุขอันเกิดจากการบรรพชา
สถานที่ตรัสชาดก
อนุปิยอัมพวัน แขวงเมืองอนุปิยนคร
สาเหตุที่ตรัสชาดก
หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชแล้ว พระภัททิยะ พระอนุชา ได้เสด็จเสวยราชสมบัติกรุงกบิลพัสดุ์สืบต่อสันตติวงศ์ แวดล้อมอยู่ด้วยราชองครักษ์ผู้ถวายอารักขาอย่างแน่นหนาและใกล้ชิด แต่ยังพระปริวิตกต่อภยันตรายอันจะพึงเกิดจากการประทุษร้ายอยู่เนืองนิจ มิเคยมีความสงบและเป็นสุขเลย
เมื่อออกผนวชในพระพุทธศาสนา ได้บำเพ็ญเพียรจนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ พระเถระเดินทางภิกขาจารไปทุกหนทุกแห่งโดยลำพัง แต่มีปีติและสุข ด้วยไม่ข้องอยู่กับอิสริยยศและอันตราย จึงเปล่าอุทาน “สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ”
พระภิกษุทั้งหลายผ่านมาได้ยินเข้าจึงติเตียน และไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ได้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงระลึกชาติแต่หนหลัง ด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า
“ ท่านภัททิยะมิได้เปล่งวาจาออกมา เพราะอาลัยในราชสมบัติกรุงกบิลพัสดุ์ และก็มิใช่ต้องการอวดอ้างความเป็นพระอรหันต์ ดังที่พวกเธอทั้งหลายหลงเข้าใจหรอก นี่คือปกตินิสัยที่ท่านมีมาแต่ชาติปางก่อน ”
พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลอาราธนาให้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าเรื่องราวให้ฟัง
เนื้อหาชาดก
สมัยหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัต ครองกรุงพาราณสี มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ อุทิจจะ เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องมาก เป็นที่นับถือยกย่อง มีลูกศิษย์มาก ได้พิจารณาเห็นโทษของการครองเรือน และเห็นอานิสงส์ของการออกบวช จึงนำทรัพย์ออกแจกจ่ายเป็นทาน แล้วไปอยู่ในป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤาษี ฝึกสมาธิจนได้ณานโลกีย์บรรลุสมาบัติ ๘ มีลูกศิษย์ ๕๐๐ คน เป็นบริวาร
ในช่วงฤดูฝนไม่เหมาะแก่การเจริญภาวนา ฤาษีอาจารย์จึงพาศิษย์เข้ามาพำนักในเมือง พระเจ้ากรุงพาราณสี จึงพระราชทานพระราชอุทยานให้เป็นสถานที่บำเพ็ญภาวนา เมื่อสิ้นฤดูฝน พระเจ้าพาราณสีเห็นว่า พระฤาษีอาจารย์นั้นชราภาพมากแล้วจึงอาราธนาให้ท่านพำนักอยู่ต่อ ส่วนลูกศิษย์ก็ให้กลับไปบำเพ็ญเพียรในป่าหิมพานต์กันเองตามลำพัง
วันหนึ่งศิษย์คนโตรู้สึกคิดถึงอาจารย์ จึงเดินทางไปเยี่ยมเยียนอาจารย์ ขณะศิษย์คนโตลงนอนในสำนักพระอาจารย์ พระเจ้าพรหมทัตได้เสด็จมาถึงเพื่อกราบมนัสการฤาษีอาจารย์เช่นกัน ฤาษีผู้เป็นศิษย์แม้จะเห็นพระเจ้าพรหมทัต ก็มิได้ลุกขึ้นทำการต้อนรับตามมารยาทอันดีแต่ประการใด กลับนอนเฉยเสีย ซ้ำยังเปล่งอุทานออกมาอีกว่า “ สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ ”
พระเจ้าพรหมทัตทอดพระเนตรแล้ว รู้สึกขัดเคืองพระทัยจึงตรัสถามพระฤาษีอาจารย์ว่า “ ข้าแต่พระผู้เจริญ ดาบสผู้นี้ เห็นทีจะฉันจนอิ่มหนำสำราญมากเสียแล้ว จึงคร้านที่จะลุกขึ้น ได้แต่นอนเปล่งอุทานสบายอารมณ์อยู่อย่างนี้ ”
พระฤาษีอาจารย์จึงตอบว่า ศิษย์ผู้นี้เดิมก็เป็นกษัตริย์ แต่ที่อุทานออกมาเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะอิ่มจัด ไม่ใช่เพราะต้องการกลับไปแสวงหาความสุขจากราชสมบัติ แต่คิดว่าการออกบวชนั้นเป็นสุขจริง ๆ สุขยิ่งกว่าการเป็นกษัตริย์ เป็นสุขสองชั้น
กล่าวคือ สุขที่ไม่ต้องหวาดผวาจากการถูกปองร้าย สุขที่ไม่ต้องมีภาระดูแลราชการบ้านเมือง และไม่ตกเป็นภาระแก่ใคร ๆ ให้ต้องคอยปกป้องอารักขาความปลอดภัย นับเป็นสุขชั้นแรก อนึ่งสุขจากการบรรลุธรรมเป็นสุขอันเลิศ ที่ไม่ต้องอาศัยบุคคลและวัตถุใด ๆ นับเป็นสุขชั้นที่สอง เพราะเหตุนี้ จึงเปล่งอุทานอยู่เสมอ ๆ ว่า “สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ”
พระเจ้ากรุงพาราณสีสดับพระธรรมเทศนาด้วยใจที่เบิกบานแช่มชื่น เข้าพระทัยแล้วก็มิได้ถือโกรธดาบสผู้นั้น ดาบสผู้ศิษย์เองก็กราบลาพระอาจารย์กลับสู่ป่าหิมพานต์บำเพ็ญเพียรต่อไป ส่วนพระอาจารย์ได้พำนักอยู่ ณ พระราชอุทยานจนสิ้นอายุขัย เมื่อละโลกไปแล้วได้ไปบังเกิดในพรหมโลก ด้วยอำนาจณานสมาบัติ
ประชุมชาดก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า
ศิษย์ผู้เป็นหัวหน้า ได้เกิดมาเป็นภัททิยะพระฤาษีอาจารย์ ได้เกิดมาเป็นพระองค์เอง
ข้อคิดจากชาดก
บุคคลแม้มีจิตใจใสสะอาด แต่กิริยามารยาทยังสำรวมระวังไม่พอ ก็อาจมีผู้เข้าใจผิด คิดเป็นศัตรูได้ โบราณจึงเตือนว่า
“ อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา
อยู่ท่ามกลางปวงประชา ให้ระวังทั้ง กาย วาจา ใจ ”
ข้อคิดจากชาดก
สุขวิหารีชาดก
ชาดกว่าด้วยสุขอันเกิดจากการบรรพชา