สังขาร
ปุญญาภิสังขาร สังขารตบแต่งให้เกิดเป็นบุญชั้นมนุษย์นี้ ในชมพูทวีป แสนโกฏิจักรวาลอนันตจักรวาล มนุษย์มีมากน้อยเท่าไรอยู่ในปุญญาภิสังขารทั้งนั้น ส่วนทิพย์ กายโอปปาติกะ กำเนิดเกิดเป็นกายทิพย์ในชั้นจาตุมหาราช ดาวดึงส์สา ยามา ดุสิตา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี สวรรค์ ๖ ชั้นนี้เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร สังขารอันบุญตบแต่งทั้งนั้น
รูปพรหมอีก ๑๖ ชั้น พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา อสัญญีสัตตา เวหัปผลา นี่ชั้น ๑๑
ส่วน อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา ทั้ง ๕ ชั้นนี้ เรียกว่า สุทธาวาส เป็นที่อยู่ของพระอริยบุคคล ชั้นพระอนาคามิผล-พระอนาคามิมรรค อยู่ในที่นี้ รูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้นนี้เป็นปุญญาภิสังขารทั้งนั้น
ส่วนอเนญชาภิสังขาร สังขารในอรูปพรหม อากาสานัญจายตน วิญญาณัญจายตน อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ในอรูปพรหมทั้ง ๔ นี้ ก็จัดเป็นอเนญชาภิสังขาร อีกเหมือนกัน ไม่ใช่อปุญญาภิสังขาร
อปุญญาภิสังขาร ต่ำกว่ามนุษย์ลงไป เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร เกิดเป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์นรก ๔๕๖ ชุมลุ่มลึก ทุกข์ยากลำบากนัก ในอบายภูมิทั้ง ๔ นี้เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร
ฝ่ายสัตว์เดรัจฉาน ก็เห็นปรากฏว่าตัวใหญ่ตัวเล็กน้อยน่าสมเพชเวทนา เปรต อสุรกาย เราไม่เห็นด้วยตา เป็นแต่เขาเขียนรูปไว้ให้ดู มีจริงๆ ไม่ต้องไปสงสัย สัตว์นรก เปรต อสุรกายเหล่านี้ สัตว์เดรัจฉานเห็นปรากฏชัด นี้ได้ชื่อว่า อปุญญาภิสังขาร
อเนญชาภิสังขาร สังขารที่ไม่หวั่นไหว ตั้งแต่อรูปสัตว์ อสัญญีสัตว์ ที่ชั่วคราวนะ ไม่หวั่นไหวชั่วคราวหนึ่ง นี่ตำรับตาราท่านยกเอาแค่นี้
แต่ว่าอเนญชาภิสังขาร สังขารที่ไม่หวั่นไหว สังขารที่ไม่หวั่นไหวควรจะจัดสังขารที่บุญตบแต่งไม่ได้ บาปตบแต่งไม่ได้ ควรจะเป็นอเนญชาภิสังขาร
ส่วนโลกันต์นรกก็ไปหมกไหม้อยู่ในนั้น ไปทนทุกข์เวทนาอยู่ในโลกันต์นรก นั่นจะจัดเป็นอเนญชาภิสังขารได้ไหมละ ก็มันยังไปเกิดมาเกิดอยู่ ถ้านิพพานก็ได้ เป็นอเนญชาภิสังขาร ที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้ง ๔ ทั้ง ๘ ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ นี้ เป็นอเนญชาภิสังขารได้
อเนญชาภิสังขารเหล่านี้ ก็มีหวั่นไหวอยู่ เคลื่อนไปมาอยู่ ดิน ฟ้า ลม อากาศ วิญญาณธาตุล้วนๆ ธาตุล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องอะไรนั่นแน่ควรจะเป็นอเนญชาภิสังขาร
แต่ว่าสังขารในที่นี้ท่านประสงค์เอาอสัญญีสัตว์ อรูปสัตว์ เป็นอเนญชาภิสังขาร ให้รู้จักหลักอันนี้
จากพระธรรมเทศนาเรื่อง "ติลักขณาทิคาถา"
๑ สิงหาคม ๒๔๙๗