ความเป็นผู้กระทำความดีไว้ในปางก่อน
ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์อย่างนี้น่ะ ชาติก่อนที่เรามาได้อุตสาห์ให้ทานตามความสามารถและตามกำลังของตน ตามส่วนที่จะพึ่งให้ได้ บำเพ็ญทานไปดังนี้แหละ ของนอกกายมีเท่าไหร่ๆ ให้ไปให้หมด ไม่เหลือไว้เลยดังนี้เรียกว่า ทานบารมี เนื้อและเลือดก็ให้ได้ เว้นแต่ชีวิตเท่านั้น ให้ดังนี้เรียกว่า ทานอุปบารมี ให้ชีวิตเป็นทานก็ได้ นี้เรียกว่า ทานปรมัตถบารมี
มาให้ของนอกกายได้ตลอดถึงชีวิต และเลือดเนื้อเช่นนี้ได้ชื่อว่าตนได้บำเพ็ญทานของตน ไม่ใช่แต่ให้เท่านั้น ให้สูงยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ครบปัญจมหาบริจาค ทานบารมี ทานอุปบารมี ทานปรมัตถบารมี ให้ได้เกินกว่านั้น เรียกว่า ปุตตบริจาค ให้ลูกเป็นทานก็ได้ ให้ผัวเป็นทานก็ได้
การให้อย่างนี้สูงไม่ใช่ให้ง่ายๆ ไม่ใช่สละง่ายๆ สละยากนะ คนใจไม่มั่นหมายในทานให้ไม่ได้ ถ้ามั่นหมายในทานจึงจะให้ได้ เพราะฉะนั้น ปุพฺเพ กตปุญฺญา ต้องทำความดีไว้ในปางก่อน ต้องบำเพ็ญทานให้มั่นหมาย ไม่ใช่บำเพ็ญง่อนแง่น คลอนแคลน ให้ทานเป็นของนอกกายให้ตลอดจนชีวิตและเลือดเนื้อ
อย่างนี้เรียกว่าให้ทานจริงจัง คนที่สร้างบารมีต้องสร้างกันอย่างนี้ เรียกว่าทำความดีไว้ในชาติปางก่อน เรียกว่า ทานบารมี
ศีลบารมีอีกดุจเดียวกัน การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่มีเศร้าหมองด่างพร้อยอย่างหนึ่งอย่างใด ศีลบริสุทธิ์แท้ๆ แน่วแน่ทีเดียว แม้สมบัตินอกกายจะวอดวายอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ยอมให้ศีลเป็นอันตรายเรียกว่า ศีลบารมี
แม้เลือดเนื้อจะเป็นอันตรายไม่ยอมให้ศีลขาดเรียกว่า ศีลอุปบารมี แม้ชีวิตจะดับไปเดี๋ยวนี้ก็ไม่ยอมให้ศีลขาด เรียกว่า ศีลปรมัตถบารมี เมื่อสมบูรณ์ด้วยศีลเท่าเช่นนี้เรียกว่า ปุพเพ กตปุญฺญตา ความดีที่ทำไว้ในชาติก่อน
เจริญภาวนาเล่าก็ดุจเดียวกัน เสียสมบัติภายนอกกาย เว้นไว้แต่ชีวิตและเลือดเนื้อ ไม่ยอมให้เสียทางภาวนา เนื้อและเลือดจะแห้งเหือดหมดไปก็ไม่ว่า ไม่ยอมให้เสียทางภาวนา แม้ชีวิตจะดับไปก็ไม่ยอมให้เสียทางภาวนา มันมายังภาวนาทีเดียวอย่างนี้ เรียกว่า ภาวนาบารมี ภาวนาอุปบารมี ภาวนาปรมัตถบารมี ดุจเดียวกัน บำเพ็ญให้มั่นหมายในขันธสันดาน เรียกว่า ปุพเพ กตปุญฺญตา ความเป็นผู้ได้กระทำความดีไว้ในชาติปางก่อน
จากพระธรรมเทศนาเรื่อง "มงคลกถา"
๒๐ กันยายน ๒๔๙๖