กาไม่รู้ประมาณตน

วันที่ 01 พค. พ.ศ.2562

กาไม่รู้ประมาณตน

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีกาน้ำตัวหนึ่งชื่อว่า วีรกะอาศัยสระแห่งหนึ่ง อยู่ในหิมวันตประเทศ
ในครั้งนั้นได้เกิดข้าวยากหมากแพงขึ้นในแคว้นกาสี  พวกมนุษย์ไม่สามารถให้อาหารกา หรือกระทำการบวงสรวงยักษ์และนาคได้  

กาทั้งหลายจึงออกจากแคว้นที่อดอยาก เข้าป่าไปโดยมาก บรรดากาเหล่านั้น มีกาตัวหนึ่งชื่อ สวิษฐกะอยู่เมืองพาราณสี พานางกาไปยังที่อยู่ของกาวีรกะ อาศัยสระนั้นอยู่ส่วนหนึ่ง  อยู่มาวันหนึ่งกาสวิษฐกะหาเหยื่ออยู่ในสระนั้น เห็นกาวีรกะลงสระกินปลาแล้วขึ้นมาตากตัวให้แห้ง จึงคิดว่า เราอาศัยกาตัวนี้แล้วสามารถหาปลาได้มาก เราจักปรนนิบัติกาตัวนี้ แล้วเข้าไปหากาวีรกะ 
กาวีรกะถามว่า อะไรล่ะสหาย 
" นาย ข้าพเจ้าอยากจะปรนนิบัติท่าน "
กาสวิษฐกะรับว่า " ดีแล้ว "
ตั้งแต่นั้นมากาสวิษฐกะก็ปรนนิบัติกาวีรกะ
ฝ่ายกาวีรกะกินปลาพออิ่มสำหรับตนแล้วก็คาบปลามาให้แก่สวิษฐกะ. 
ฝ่ายกาสวิษฐกะกินพออิ่มสำหรับตนแล้วก็ให้ปลาที่เหลือแก่นางกา 
ต่อมากาสวิษฐกะเกิดความทะนงตนขึ้นมาว่า แม้กาน้ำตัวนี้ก็เป็นกาดำ แม้เราก็เป็นกาดำ แม้ตาจะงอยปาก และเท้าของกาวีรกะนั้น และของเราก็ไม่ต่างกัน ตั้งแต่นี้ไปเราไม่ต้องการปลาที่กาตัวนี้จับมาให้เรา  เราจักจับเสียเอง  
กาสวิษฐกะจึงเข้าไปหากาวีรกะนั้นกล่าวว่า สหาย
" ตั้งแต่นี้ไป เราจะลงสระจับปลากินเอง "
แม้กาวีรกะจะห้ามอยู่ว่า "สหาย เจ้ามิได้เกิดในตระกูลกาที่ลงน้ำจับปลากิน เจ้าอย่าพินาศเสียเลย."
แม้กาวีรกะจะห้ามแล้วก็มิได้เชื่อฟังคำ ลงสระดำน้ำแล้วก็โผล่ขึ้น ไม่สามารถจะแหวกสาหร่ายออกมาได้ ติดอยู่ภายในสาหร่าย โผล่แต่ปลายจะงอยปากเท่านั้น. กาสวิษฐกะหายใจไม่ออกถึงแก่ความตายในน้ำนั่นเอง 
ครั้งนั้นนางกา ภรรยาของกาสวิษฐกะไม่เห็นกาสวิษฐกะกลับมา จึงไปหากาวีรกะเพื่อจะรู้ความเป็นไป เพื่อจะถามว่า " นาย กาสวิษฐกะไม่ปรากฏ เขาหายไปเสียที่ไหนเล่า "
กาวีรกะฟังดังนั้นแล้วจึงกล่าวว่า " กาสวิษฐกะ ไม่ฟังคำของเรา ลงน้ำจับปลา ถูกสาหร่ายพันคอตายเสียแล้ว "
นางกาได้ฟังดังนั้น ก็โศกเศร้าเสียใจกลับไปกรุงพาราณสีตามเดิม

จบเรื่อง กาไม่รู้ประมาณตน

ประเด็นน่าสนใจ
การทำสิ่งที่ตนอยากทำ ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีเสมอไป ดูอย่างกา อยากจับปลากินเอง ไม่รู้ว่าตนไม่ได้มีความถนัดด้านนี้ จึงต้องจมน้ำตายในที่สุด
การตัดสินใจทำสิ่งใด ควรอยู่บนเงื่อนไข ในลำดับความสำคัญ คือ
๑ เป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ว่าเราจะอยากทำหรือไม่อยากทำ มีความถนัดหรือไม่มีก็ตาม หากไม่ทำอาจเกิดความเสียหายต่อตนเอง หรือต่อส่วนรวมได้ ฉะนั้นควรเลือกทำในสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก
๒ มีความถนัด ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม หากงานนั้นๆ เป็นสิ่งที่เราถนัดกว่าคนอื่น ก็สมควรที่จะทำ
๓ มีใจรักที่จะทำสิ่งนั้น หากเลือกได้ การทำในสิ่งที่ตนอยากจะทำ รักที่จะทำ งานนั้นมักจะออกมาดี
งานใด ที่มีเงื่อนไขครบทั้งสามข้อ งานนั้นทำแล้วมักมีผลที่ดี มีความสำเร็จได้ง่าย

Cr.ขุนพลไร้เงา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00894908507665 Mins