เรื่อง บุรุษของพระราชา ตอน คดีความ (คามณิจันทชาดก)

วันที่ 28 มิย. พ.ศ.2562

28-6-62--1-b.jpg

นิทานก่อนนอน
เรื่อง บุรุษของพระราชา (คามณิจันทชาดก)

ตอน คดีความ

ในอดีตกาล พระเจ้าอาทาสมุขครองราชย์สมบัติในกรุงพาราณสี  บุรุษผู้หนึ่งชื่อคามณิจันท์ ผู้เคยเป็นบาทมูลิกาของพระเจ้าชนสันธะผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอาทาสมุข คิดอย่างนี้ว่าธรรมดาว่าความเป็นพระราชานี้ ย่อมจะงดงามกับคนผู้มีวัยเสมอกัน  ส่วนเราเป็นคนแก่คงไม่เหมาะที่จะบำรุงพระราชาหนุ่ม เราจักทำกสิกรรมเลี้ยงชีวิตอยู่ในชนบท. 
เขาจึงออกจากพระนครไปยังที่ไกลประมาณ ๓ โยชน์ เลี้ยงชีพอยู่ในบ้านแห่งหนึ่ง แต่เขาไม่มีแม้แต่โคที่จะทำกสิกรรม. เมื่อฝนตกเขาจึงขอยืมโค ๒ ตัว กับสหายคนหนึ่งไถนาอยู่ ตลอดทั้งวัน แล้วให้โคกินหญ้า จากนั้นได้ไปยังเรือนเพื่อจะมอบโคทั้ง ๒ ตัวให้กับเจ้าของ. 
ขณะนั้น เจ้าของโคกำลังนั่งบริโภคอาหารอยู่กลางบ้านพร้อมกับภรรยา. ส่วนโคทั้งสองตัวก็เข้าไปยังบ้านด้วยความคุ้นเคย. 
เมื่อโคเหล่านั้นเข้าไป สามียกถาด ภรรยาเอาถาดออกไป. นายคามณิจันท์มองดูด้วยคิดว่าสามีภรรยาทั้งสองนี้จะเชื้อเชิญเรารับประทานข้าว จึงยังไม่มอบโคให้รีบกลับไปเสีย. 
คืนนั้น พวกโจรตัดคอกลักโคเหล่านั้นแหละไปเสีย. เจ้าของโคเข้าไปยังคอกโคแต่เช้าตรู่ ไม่เห็นโค แม้จะรู้อยู่ว่าถูกพวกโจรลักไปก็เข้าไปหานายคามณิจันท์นั้นด้วยตั้งใจว่า จักปรับเอาสินไหมแก่นายคามณิจันท์จึงกล่าวว่า ผู้เจริญ ท่านจงมอบโคทั้งสองให้เรา.
นายคามณิจันท์กล่าวว่า โคเข้าบ้านไปแล้วมิใช่หรือ. 
ท่านมอบโคเหล่านั้นแก่เราแล้วหรือ.
ยังไม่ได้มอบ. 
ถ้าอย่างนั้นเรื่องนี้เป็นความอาญาสำหรับท่าน ๆ จงมา 
จริงอยู่ในชนบทเหล่านั้น เมื่อใคร ๆ ยกเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นจะเป็นก้อนกรวดหรือชิ้นกระเบื้องก็ตาม แล้วกล่าวว่า นี้เป็นความอาญาสำหรับท่านท่านจงมา ดังนี้ ผู้ใดไม่ไปก็ย่อมลงอาญาแก่ผู้นั้น เพราะฉะนั้นนายคามณิจันท์นั้น พอได้ฟังว่าเป็นความอาญา ก็ออกไปทันที. 
เขาไปยังราชสกุลกับเจ้าของโคนั้น ไปถึงบ้านอันเป็นที่อยู่ของสหาย เข้าบ้านหนึ่ง จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าหิวจัด ท่านจงรออยู่ที่นี้แหละจนกว่าจะเข้าไปยังบ้าน รับประทานอาหารแล้วกลับมา ว่าแล้วก็ได้ไปยังบ้านของสหาย. 
ส่วนสหายของเขาไม่อยู่บ้าน หญิงสหายเห็นเข้าก็กล่าวว่า นายอาหารที่หุงต้มสุกไม่มี ท่านจงรอสักครู่ดิฉันจักหุงให้ท่านเดี๋ยวนี้แหละ แล้วรีบขึ้นฉางข้าวสารทางพะอง จึงพลัดตกไปที่
พื้นดิน. ครรภ์ของนางพอดีได้ ๗ เดือนก็ตกไปในขณะนั้นนั่นเองขณะนั้น 
สามีของนางกลับมาเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า ท่านทำร้ายภรรยาของเราทำให้ครรภ์ตก นี้เป็นความอาญาของท่าน ท่านจงมา แล้วพานายคามณิจันท์นั้นออกไป. 
แต่นั้น คนทั้งสองเดินไปให้นายคามณิจันท์อยู่กลาง. ครั้งนั้น ที่ประตูบ้านแห่งหนึ่ง คนเลี้ยงม้าผู้หนึ่งไม่สามารถต้อนม้าให้กลับบ้าน. 
ฝ่ายม้าก็เดินไปใกล้ๆคนเหล่านั้น คนเลี้ยงม้าเห็นนายคามณิจันท์จึงกล่าวว่า ลุงคามณิจันท์ช่วยเอาอะไร ๆ ปาม้าตัวนี้ให้กลับทีเถิด. 
นายคามณิจันท์จึงเอาหินก้อนหนึ่งขว้างไป ก้อนหินนั้นกระทบขาม้าหักเหมือนท่อนไม้ละหุ่งฉะนั้น. 
คนเลี้ยงม้าเห็นดังนั้น จึงกล่าวกะนายคามณิจันท์ว่า ท่านทำขาม้าของเราหัก นี้เป็นความอาญาสำหรับท่านแล้วจับตัวไป. 
ฝ่ายนายคามณิจันท์นั้น เมื่อถูกคนทั้ง ๓ นำไป จึงคิดว่า คนเหล่านี้จักแสดงเราแก่พระราชา แม้มูลค่าราคาโค เราก็ไม่อาจให้ได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงอาญาที่ทำให้ครรภ์ตก ก็เราจักได้มูลค่าม้ามาแต่ไหน เราตายเสียประเสริฐกว่า. เขาเดินไปได้เห็นภูเขาลูกหนึ่งซึ่งมีหน้าผาชันข้างหนึ่ง ณ ที่ใกล้ทางในดง ระหว่างทาง. 
ช่างสาน ๒ คนพ่อลูกสานเสื่อลำแพนอยู่ในร่มเงาของภูเขานั้น. 
นายคามณิจันท์กล่าวว่า ข้าพเจ้าจะถ่ายอุจจาระ ท่านทั้งหลายจงรออยู่ที่นี้แหละสักครู่จนกว่าข้าพเจ้าจะมา แล้วขึ้นไปยังภูเขานั้น กระโดดลงไปทางหน้าผา ตกลงไปบนหลัง
ช่างสานผู้เป็นพ่อ ช่างสานผู้เป็นพ่อนั้นถึงแก่ความตายทันที นายคามณิจันท์ไม่ตาย ลุกขึ้นได้ก็ไปเสีย. 
ช่างสานผู้บุตรกล่าวว่า ท่านเป็นโจรฆ่าพ่อฉัน นี้เป็นความอาญาสำหรับท่าน แล้วจับมือนายคามณิจันท์ลากออกจากพุ่มไม้ 
นายคามณิจันท์พูดว่า นี่อะไรกัน 
เจ้าเป็นโจรฆ่าพ่อของข้า. 
ตั้งแต่นั้นมา ชนทั้ง ๔ คน ให้นายคามณิจันท์อยู่กลางพากันห้อมล้อมไป.
ครั้นไปถึงประตูบ้านอีกแห่งหนึ่ง นายบ้านส่วยคนหนึ่งเห็นนายคามณิจันท์ จึงกล่าวว่า ลุงคามณิจันท์ ท่านจะไปไหน ? 
นายคามณิจันท์กล่าวว่า จะไปเฝ้าพระราชา 
ท่านจักไปเฝ้าพระราชาจริงหรือ ข้าพเจ้าประสงค์จะถวายสาสน์แด่พระราชา ท่านจักนำไปได้ไหม. 
ได้ฉันจักนำไปให้. 
นายบ้านส่วยกล่าวว่าเมื่อก่อนตามปกติ ข้าพเจ้ามีรูปงาม มีทรัพย์ สมบูรณ์ด้วยยศศักดิ์
ไม่มีโรค มาบัดนี้ ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ เกิดโรคผอมเหลือง ท่านจงทูลถามพระราชาว่าในเรื่องนั้นเป็นเพราะเหตุไร ? ได้ยินว่าพระราชาเป็นผู้ฉลาด พระองค์จักตรัสบอกแก่ท่าน ท่านจงบอกพระดำรัสของพระองค์แก่ข้าพเจ้าด้วย. 
นายคามณิจันท์รับว่าได้. 
ทีนั้น หญิงคณิกาคนหนึ่ง อยู่ที่ประตูบ้านแห่งหนึ่งข้างหน้า เห็นนายคามณิจันท์
นั้น จึงกล่าวว่า ลุงคามณิจันท์ ท่านจะไปไหน ? 
นายคามณิจันท์บอกว่าจะไปเฝ้าพระราชา 
เขาลือว่า พระราชาเป็นบัณฑิตผู้ฉลาด ท่านจงนำข่าวสาสน์ของเราไปด้วย แล้วกล่าวว่า เมื่อก่อน ข้าพเจ้าได้ค่าจ้างมาก มาบัดนี้ ไม่ได้แม้แต่หมากพลู ใคร ๆผู้จะมายังสำนักของเรา ไม่มีเลย ท่านจงทูลถามพระราชาว่า ในเรื่องนั้นเป็นเพราะเหตุไร ? แล้วพึงกลับมาบอกแก่ข้าพเจ้า. 
จากนั้นหญิงสาวคนหนึ่งที่ประตูบ้านแห่งหนึ่งข้างหน้า เห็นนายคามณิจันท์นั้น แล้วได้ถามเหมือนอย่างนั้น แล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่อาจอยู่ในเรือนของสามี ทั้งไม่อาจอยู่ในเรือนของตระกูล ท่านจงทูลถามพระราชาว่าในเรื่องนั้น เป็นเพราะเหตุอะไร ? แล้วพึงบอกแก่ข้าพเจ้า. 
จากนั้น มีงูอยู่ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง ใกล้ทางใหญ่ เห็นนายคามณิจันท์นั้นจึงถามว่า ท่านคามณิจันท์ จะไปไหน ? 
จะไปเฝ้าพระราชา 
ข่าวว่า พระราชาเป็นบัณฑิตท่านจงนำข่าวสาสน์ของข้าพเจ้าไปด้วย แล้วกล่าวว่า ในเวลาไปหากินข้าพเจ้าถูกความหิวแผดเผา มีร่างกายเหี่ยวแห้ง เมื่อจะออกจากจอม
ปลวก ร่างกายเต็มคับปล่อง เคลื่อนตัวออกด้วยความยากลำบาก แต่ครั้นเที่ยวหากินแล้วกลับมา เป็นผู้อิ่มหนำ มีร่างกายอ้วนพี เมื่อจะเข้าไป ไม่กระทบกระเทือนข้างปล่องเลย เข้าไปอย่างง่ายดาย ท่านจงทูลถามพระราชาว่า ในเรื่องนั้น เป็นเพราะเหตุไร ? แล้วพึงบอกแก่
ข้าพเจ้า. 
จากนั้น เนื้อตัวหนึ่งข้างหน้ากล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่อาจไปกินหญ้าในที่อื่นได้สามารถกินอยู่ในที่โคนต้นไม้แห่งเดียวเท่านั้น ท่านพึงทูลถามพระราชาว่าในเรื่องนั้น เป็นเพราะเหตุไร ? 
ครั้นต่อมา มีนกกระทาตัวหนึ่งข้างหน้า กล่าวว่า ข้าพเจ้าจับอยู่ที่จอมปลวกแห่งเดียวเท่านั้น สามารถอยู่ได้อย่างสบายใจ จับอยู่ที่อื่น ไม่สามารถจะอยู่ได้ ท่านพึงทูลถามพระราชาว่า ในเรื่องนั้นเป็นเพราะเหตุไร ? 
จากนั้น รุกขเทวดาตนหนึ่งข้างหน้า กล่าวว่า เมื่อก่อนเราได้สักการะ มาบัดนี้ แม้มาตรว่าใบไม้อ่อนสักกำมือก็ยังไม่ได้ ท่านช่วยทูลถามพระราชาว่า ในเรื่องนั้น เป็นเพราะเหตุไร ? 
จากนั้น พระยานาคตัวหนึ่งกล่าวว่า เมื่อก่อนน้ำในสระนี้ใส มีสีเหมือนแก้วมณี บัดนี้ ขุ่นมัว มีแหนปกคลุม ท่านพึงทูลถามพระราชาว่า ในเรื่องนั้น เป็นเพราะเหตุไร ?
ที่นั้น ดาบสทั้งหลายผู้อยู่ในอารามแห่งหนึ่ง ในที่ใกล้พระนคร กล่าวว่า เมื่อก่อนผลาผลทั้งหลายในอารามนี้ อร่อย บัดนี้เฝื่อนฝาด ไม่อร่อย ไม่เป็นรส ท่านช่วยทูลถามพระราชาว่า ในเรื่องนี้เป็นเพราะเหตุไร ? 
ข้างหน้าแต่นั้นไป มีพราหมณ์มาณพอยู่ในศาลาแห่งหนึ่ง ในที่ใกล้ประตูพระนคร กล่าวว่าคามณิจันท์ผู้เจริญ ท่านจะไปไหน 
เขากล่าวว่า จะไปเฝ้าพระราชา
ถ้าอย่างนั้น ท่านช่วยถือเอาข่าวสาสน์ของพวกเราไปด้วย เพราะว่า เมื่อก่อน ที่ที่พวกเราร่ำเรียนเอาแล้ว ย่อมปรากฏแต่มาบัดนี้ ไม่ทรงจำอยู่ เหมือนน้ำในหม้อทะลุ ย่อมปรากฏเป็นเหมือนความมืดมนอนธการ ท่านพึงทูลถามพระราชาว่า ในเรื่องนี้เป็นเพราะเหตุไร ? 
นายคามณิจันท์รับเอาข่าวสาสน์นั้น ๑๐ ข้อนี้แล้วได้ไปเฝ้าพระราชา. 
พระราชาได้เสด็จประทับนั่ง ณ สถานที่ที่วินิจฉัย

เจ้าของโคได้พานายคามณิจันท์เข้าเฝ้าพระราชา.
พระราชาพอทรงเห็นนายคามณิจันท์ก็จำได้ ทรงพระดำริว่า นายคามณิจันท์เป็นอุปัฏฐากแห่งพระชนกของเรา พอยกเราขึ้นแล้วก็หลีกไป เวลาที่ผ่านมา เขาอยู่ที่ไหนหนอ จึงตรัสถาม ท่านคามณิจันท์ผู้เจริญ ที่ผ่านมา ท่านอยู่ที่ไหน ? นานแล้ว ไม่ข่าวคราว ท่านมาด้วยประสงค์สิ่งใด 
นายคามณิจันท์กราบทูลว่า ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า จำเดิมแต่พระชนกของพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว ข้าพระองค์ไปอยู่ชนบทกระทำกสิกรรมเลี้ยงชีพ แต่นั้น บุรุษผู้นี้ได้แสดงความอาญาเพราะเหตุเกี่ยวกับคดีเรื่องโค จึงคร่าตัวข้าพระองค์มาเฝ้าพระองค์พระเจ้าข้า. 
พระราชาตรัสว่า ท่านไม่ถูกคร่าตัวมาก็คงไม่มา เพราะเหตุนั้น การที่ท่านถูกคร่าตัว
มานั่นแหละเป็นเรื่องดี บัดนี้ เราจะเห็นบุรุษผู้นั้น บุรุษผู้นั้นอยู่ที่ไหน. 
นายคามณิจันท์กราบทูลว่า คนนี้พระเจ้าข้า. 
พระราชาตรัสถามว่า ผู้เจริญ ได้ยินว่า ท่านฟ้องความอาญาแก่นายคามณิจันท์ของเราจริงหรือ. 
เจ้าของโคทูลว่า จริงพระเจ้าข้า. 
เพราะเหตุไร. 
เพราะนายคามณิจันท์นี้ ไม่คืนโค ๒ ตัวให้แก่ข้าพระองค์พระเจ้าข้า. 
พระราชาตรัสว่า ที่เขาว่านั้น จริงหรือ จันทะ ? 
นายคามณิจันท์ทูลว่า ขอเดชะ ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์โปรดทรงสดับต่อข้าพระองค์เถิดแล้วกราบทูลเรื่องราวทั้งปวงให้ทรงทราบ. 

จบตอน คดีความ

ประเด็นน่าสนใจ
    คดีความของนายคามณิจัน เรื่องขาม้าหัก เรื่องหญิงสหายครรภ์ตกไป กับเรื่องการตายของช่างสาน นับเป็นเรื่องสุดวิสัย ถือเป็นคราวเคราะห์ของเขา แต่เรื่อง โค ๒ ตัว อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของความประมาท เป็นความไว้ใจกัน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหา ความไว้ใจกันก็มิได้มีส่วนช่วยแต่อย่างใด 
    การหยิบยืมวัตถุ ส่งคืนสิ่งของ สมควรบอกกล่าว ตรวจตราให้เรียบร้อย หากคุ้นเคยกันอาจเพียงบอกกล่าว หากเพียงรู้จักไม่คุ้นเคยกันสมควรบันทึกเป็นหลักฐาน เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น หรือเมื่อมีความผิดพลาดยังสามารถตรวจสอบจุดที่เป็นปัญหาได้ 
    ฉะนั้น ไว้ใจกันได้ แต่ไม่ควรวางใจกันนัก

Cr.ขุนพลไร้เงา
พบกันใหม่โอกาสหน้า
ราตรีสวัสดิ์พระรัตนตรัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015649481614431 Mins