ธรรม ๕ ประการ ที่ทำให้พุทธสาวกเคารพพระพุทธองค์อย่างยิ่ง
๒) ญาณทัสสนะ
ญาณทัสสนะ หมายถึง การเห็นและรู้อย่างแจ่มแจ้งตรงตามความเป็นจริง เป็นการเห็นด้วยญาณอันเกิดจากจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยสมาธิ มิใช่เห็นด้วยตาธรรมดา (มังสจักษุ) เพราะเห็นสภาพธรรมต่าง ๆ ตามความเป็นจริง จึงทำให้รู้ตามความเป็นจริง ยังผลให้พระพุทธองค์เกิดปัญญาเว้นขาดจากอกุศลกรรมทั้งปวง ญาณทัสสนะนี้มีชื่อเรียกหลายอย่างว่า มรรคญาณ
ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ ปัจจเวกขณญาณ หรือวิปัสสนาญาณก็ได้ แต่ญาณทัสสนะในพระสูตรนี้ ท่านหมายถึงเฉพาะพระสัพพัญญุตญาณ ซึ่งมีเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะสัพพัญญุตญาณย่อมรู้ชัดกิจที่ควรรู้ของญาณเหล่านั้นทั้งปวง และสิ่งอันยิ่งกว่ากิจที่ญาณเหล่านั้นรู้ด้วย
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จะขอยกตัวอย่างกิจหรือหน้าที่ของญาณทัสสนะ คือ วิชชา ๓ ซึ่งเป็นพระญาณสำคัญในการให้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่ญาณทัสสนะ คือ พระสัพพัญญุตญาณไปรู้ด้วย ดังที่พระพุทธองค์ ได้ตรัสอธิบายว่า๕ พระพุทธองค์เป็นผู้มีวิชชา ๓ ได้แก่
๑. ระลึกชาติได้ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ) ดังที่ตรัสว่า “เมื่อไรก็ตามที่เราต้องการจะรู้ เราย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติ บ้าง ๒ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ”
๒. มีตาทิพย์ (ทิพพจักขุ หรือ จุตูปปาตญาณ) ดังที่ตรัสว่า “เราเพียงต้องการจะรู้เท่านั้น เราก็จะเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ (ตาย) กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม”
๓. มีความรู้ที่ทำกิเลสให้หมดสิ้น (เจโตวิมุตติ หลุดพ้นจากราคะ และปัญญาวิมุตติ หลุดพ้นจากอวิชชา วิมุตติทั้งสองรวมกันเรียกว่า อาสวักขยญาณ) ดังที่ตรัสว่า “เราทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงญาณทัสสนะของพระองค์ย่อมหมายถึงพระสัพพัญญุตญาณนั่นเอง เมื่อทำหน้าที่รู้ในวิชชา ๓ จึงเป็นเหตุปัจจัยหรืออาจจะเรียกว่า เป็นเครื่องมือช่วยให้พระพุทธองค์ทรงเห็นทรงรู้สภาพที่แท้จริงทั่วอนันตจักรวาล ทรงเห็น ทรงรู้ถึงสภาพการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตกาล
ผ่านมาหลายอสงไขย ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันกาล และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกาลยาวไกลออกไปเป็นอสงไขย
ญาณทัสสนะ คือ พระสัพพัญญุตญาณนี้เอง ที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งรู้แจ้งในหน้าที่ของอาสวักขยญาณที่รู้ชัดอริยสัจ ๔ และทรงรู้ชัดว่า พระพุทธองค์ทรงหลุดพ้นคือบรรลุสัมมาวิมุตติ (พ้นชอบ ได้แก่ อรหัตผลวิมุตติ) จึงทรงยืนยันว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงอธิปัญญาเหนือสัตว์โลกตลอดทั่วอนันตจักรวาล
ญาณทัสสนะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งทรงรับนิมนต์ฉันภัตตาหาร ณ ปราสาทของโพธิราชกุมาร ณ กรุงสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ ได้ตรัสถึงประวัติการบำเพ็ญธรรมของพระองค์ตั้งแต่เสด็จออกบรรพชาจนกระทั่งถึงการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่โพธิราชกุมาร๖ ซึ่งมีสาระสำคัญอย่างละเอียด
แต่ในที่นี้จะขอกล่าวโดยสรุป เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพากเพียรบำเพ็ญธรรมชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันของพระพุทธองค์ ในช่วงเวลาที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ และมีพัฒนาการตามลำดับจนกระทั่งบังเกิดญาณทัสสนะสูงสุดอันเป็นปัจจัยให้พระองค์ตรัสรู้ และเชื่อมั่นว่าหลังจากวันตรัสรู้แล้ว ญาณทัสสนะของพระพุทธองค์ก็ย่อม
จะพัฒนาขึ้นอีกอย่างไร้ขอบเขตจำกัด
ออกผนวชเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้น
พระพุทธองค์ตรัสแสดงว่า คืนก่อนการตรัสรู้ ขณะที่ยังเป็นโพธิสัตว์ทรงมีความคิดอยู่เสมอว่า “บุคคลจะไม่ประสบความสุขด้วยความสุข แต่บุคคลจะประสบความสุขได้ด้วยความทุกข์เท่านั้น”ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกจากวัง บวชเป็นบรรพชิต แล้วแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล
ทรงศึกษาในสำนักของอาจารย์ทั้งสอง
ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐ กล่าวคือความสงบอันสูงสุด อันได้แก่พระนิพพานซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ก็ได้เข้าไปสมัครเป็นศิษย์ของอาฬารดาบสกาลามโคตร ผลของการประพฤติพรหมจรรย์ และการบำเพ็ญสมณธรรมในสำนักนี้ ทำให้พระโพธิสัตว์บรรลุอากิญจัญญายตนสมาบัติ (อรูปฌานที่กำหนดความไม่มีอะไรเหลือ
สักน้อยหนึ่งเป็นอารมณ์) เช่นเดียวกับอาฬารดาบสผู้เป็นอาจารย์
ท่านดาบสจึงชักชวนพระโพธิสัตว์ให้อยู่ร่วมเป็นผู้บริหารสำนักด้วยกันแต่พระโพธิสัตว์เห็นว่าสมาบัติที่บรรลุนี้ยังไม่ใช่ธรรมเพื่อสงบระงับเพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน จึงลาจากไป
ต่อมาพระโพธิสัตว์ไปมาสู่สำนักของอุทกดาบสรามบุตรผลของการประพฤติพรหมจรรย์และการบำเพ็ญสมณธรรมในสำนักนี้ทำให้พระโพธิสัตว์บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ (อรูปฌานซึ่งเป็นภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)
อุทกดาบสถึงกับยกย่องบูชาพระโพธิสัตว์ในฐานะอาจารย์ แต่พระโพธิสัตว์ก็มิได้พอใจแต่ประการใด เพราะเห็นว่า สมาบัติที่ได้บรรลุยังไม่ใช่ธรรมเพื่อตรัสรู้ และนิพพาน จึงลาจากไป และเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธโดยลำดับ จนกระทั่งถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิประเทศอันน่ารื่นรมย์ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร จึงหยุดอยู่ ณ ริมแม่น้ำในราวป่าแห่งหนึ่ง และเริ่มบำเพ็ญเพียรโดยไม่มีผู้ใดเป็นครูอาจารย์
ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
ด้วยกรรมเก่าของพระโพธิสัตว์ที่เคยประพฤติตบะผิดในสมัยที่เป็นโลมหังสะอาชีวก๗ และกรรมที่ได้กล่าวกับพระสุคตเจ้าพระนามว่ากัสสปะในคราวนั้นว่า “จักมีโพธิมณฑลแต่ที่ไหน โพธิญาณท่านได้ยากอย่างยิ่ง” สมัยที่ท่านเป็นโชติปาละ๘ จึงเป็นผลให้พระองค์ แสวงหาโพธิญาณโดยทางที่ผิด และปฏิบัติทดลองผิด หรืออาจจะเทียบกับภาษาที่ใช้กันในปัจจุบันว่า วิจัย นั่นเอง แต่วิจัยผิด ด้วยการประพฤติกรรมที่ทำได้ยากมาก ที่เรียกว่า “ทุกรกิริยา”
คือการทรมานตนด้วยวิธีต่าง ๆ นับตั้งแต่กดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้เเน่นใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน ผลก็คือ ไม่สามารถสร้างความสงบระงับกายได้ มีแต่ความกระวนกระวาย หลังจากนั้นพระโพธิสัตว์จึงเปลี่ยนมาเป็นการบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณ โดยการกลั้นลมหายใจเข้าเเละออก ทั้งทางปากเเละจมูก
ผลที่่เกิดขึ้นก็คือ ลมออกหูทั้ง ๒ ข้าง กายกระวนกระวาย ไม่สงบระงับ ต่อมาพระโพธิสัตว์จึงเปลี่ยนเป็นกลั้นลมหายใจเข้าออกทางปาก จมูก เเละหูทั้ง ๒ ข้าง ผลก็คือ ลมแล่นขึ้นไปเสียดแทงศีรษะ เหมือนใช้เหล็กแทง หรือเหมือนใช้เชือกหนังเหนียวรัดศีรษะ กายก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ พระโพธิสัตว์ยังคงกลั้นลมหายใจเข้าออก ทางปาก จมูก และหู ต่อไปอีก คราวนี้เกิดผลแตกต่างไป คือ เกิดลมอันแรงกล้าบาดในช่องท้อง เหมือนถูกมีดคมกรีดท้อง พระโพธิสัตว์ยังคงกลั้นลมหายใจแบบเดิม ไม่เลิกรา คราวนีhรู้สึกเหมือนถูกคนแข็งแรง ๒ คน หิ้วแขนคนละข้างขึ้นย่างบนหลุมถ่านเพลิง กายก็ยิ่งกระวนกระวายมากขึ้น ไม่สงบระงับเลย
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระโพธิสัตว์ทุกขั้นตอนล้วนอยู่ในสายตาของเหล่าเทวดา เทวดาบางพวกจึงกล่าวว่า “พระสมณโคดมสิ้นพระชนม์แล้ว” บางพวกก็กล่าวว่า “พระสมณโคดมยังมิได้สิ้นพระชนม์ แต่กำลังจะสิ้นพระชนม์” บางพวกก็กล่าวว่า “พระสมณโคดมยังไม่สิ้นพระชนม์ ทั้งจะไม่สิ้นพระชนม์ พระสมณโคดมจะเป็นพระอรหันต์ การอยู่เช่นนี้นั้นเป็นวิหารธรรม (ธรรมเป็นเครื่องอยู่) ของท่านผู้เป็นพระอรหันต์”
ครั้งต่อมาพระโพธิสัตว์ทรงมีความคิดว่า “ควรอดอาหารทุกอย่าง” จึงเป็นเหตุให้เทวดาเข้ามาหา และห้ามพระโพธิสัตว์มิให้กระทำเช่นนั้น แต่ถ้าพระโพธิสัตว์ไม่เปลี่ยนใจ เหล่าเทวดาก็จะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขนของพระโพธิสัตว์ เพื่อให้พระโพธิสัตว์ยังชีพอยู่ได้ แต่พระโพธิสัตว์กลับห้ามเทวดาเหล่านั้น เพราะการยังอัตภาพด้วยโอชาเช่นนั้นจะทำให้การปฏิญญาของพระโพธิสัตว์เป็นมุสา
ครั้นแล้ว พระโพธิสัตว์จึงมีความคิดใหม่ว่า จะกินอาหารให้น้อยลง ๆ เรื่อย ๆ ตั้งแต่ครั้งละ ๑ ฟายมือ จนถึงเท่าเยื่อในเมล็ดบัว กายจึงซูบผอมมาก อวัยวะน้อยใหญ่ของพระโพธิสัตว์เหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมาก หรือที่มีข้อดำ เนื้อสะโพกลีบเหมือนกีบเท้าอูฐ กระดูก สันหลังผุดเป็นหนามเหมือนเถาวัลย์ ซี่โครงทั้ง ๒ ข้างขึ้นสะพรั่งเหมือนกลอนศาลาเก่า ดวงตาทั้งสองก็ลึกเข้าไปในเบ้าตา เหมือนดวงดาวปรากฏอยู่ในบ่อลึก หนังบนศีรษะก็เหี่ยวหดเหมือนลูกน้ำเต้าที่เขาตัดมาขณะยังดิบ ต้องลมและแดดเข้าก็เหี่ยวหดไป เวลาที่ลูบท้องก็สัมผัสกระดูกสันหลัง เวลาลูบกระดูกสันหลังก็สัมผัสพื้นท้อง เวลาถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้น เมื่อใช้ฝ่ามือลูบผิวกาย ขนก็หลุดร่วงจากผิว เพราะรากของขนแต่ละเส้นเน่าไปแล้ว
แม้จะต้องเสวยทุกขเวทนาถึงปานนี้ พระโพธิสัตว์ก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะอันเป็นอริยะ พระโพธิสัตว์จึงหยุดการบำเพ็ญทุกรกิริยาและเริ่มฉันอาหารหยาบตามปกติ ซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุปัญจวัคคีย์จากไป ด้วยเห็นว่าพระโพธิสัตว์คลายความเพียร และกลับมาเป็นผู้มักมาก
เมื่อพระโพธิสัตว์กลับมาฉันอาหารหยาบ ไม่นานนักร่างกายก็มีกำลังแข็งแรง กลับมาบำเพ็ญเพียรตามแนวที่เคยปฏิบัติเมื่อครั้งที่ยังเป็นราชกุมาร ในวันวัปปมงคลของตระกูลศากยะ ทำใจสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ครั้นแล้วก็บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ไปตามลำดับ
พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงแก่โพธิราชกุมารว่า เมื่อจิตของพระองค์เป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อนโยนเหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว พระองค์ก็น้อมจิตไปเพื่อ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จึงระลึกชาติ ก่อนได้หลายชาติ และเพิ่มขึ้น ๆ เรื่อย ๆ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ พระองค์ได้บรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ซึ่งจัดเป็นวิชชาที่ ๑ ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น ความสว่างที่ทำให้เห็นและรู้ถึงชีวประวัติของตนนี้ ย่อมเป็นความสว่างสุดจะนับจะประมาณ อาจเปรียบได้ดังความสว่างของดวงตะวันเที่ยงหลายร้อยหลายพันดวงมาประชุมกันทีเดียว
ครั้นในมัชฌิมยามแห่งราตรีเดียวกันนั้นเอง เมื่อจิตของพระองค์เป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อนโยนเหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว พระองค์จึงน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ (ตาย) กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วย ตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ จุตูปปาตญาณนี้จัดเป็นวิชชาที่ ๒ เมื่อกำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างโพลงก็เกิดขึ้น
ครั้นในปัจฉิมยามแห่งราตรีเดียวกันนั้นเอง เมื่อจิตของพระองค์เป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อนโยน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว พระองค์ก็น้อมจิตไปเพื่อ
อาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา
เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากกามสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป อาสวักขยญาณ นี้จัดเป็นวิชชาที่ ๓
เมื่อกำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างโพลงก็เกิดขึ้น จากคำบอกเล่าที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่โพธิราชกุมารนี้ เป็นสภาวธรรมอันเป็นผลของการที่พระพุทธองค์ทรงพากเพียร
บำเพ็ญสัมมาสมาธิแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่เคยยอมแพ้ ไม่เคยหมดกำลังใจ ไม่เคยล้มเลิกปณิธานอันสูงสุด เมื่อทรงเห็นว่าวิธีที่กำลังปฏิบัติอยู่ไม่มีประสิทธิผล ก็ทรงคิดค้นหาวิธีใหม่ ครั้งแล้วครั้งเล่า ทรงยอมตกระกำลำบาก ชนิดตายเป็นตาย เพียงเพื่อการบรรลุปณิธานอันสูงสุด คือ พระสัมมาสัมโพธิญาณ อันเป็นทางหลุดพ้นอันเกษม อันเป็นอิสระเสรีอย่างสมบูรณ์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร บรรลุความเป็นอมตะชั่วนิรันดร
ทั้งหมดนี้คือการบังเกิดขึ้นและการบรรลุญาณทัสสนะที่พระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์ไปรู้กิจด้วย ที่ตรัสแสดงแก่โพธิราชกุมาร ญาณทัสสนะอันเป็นคุณวิเศษเหนือสัตว์โลกทั้งมวลนี้ มิใช่เป็นเรื่องที่พระองค์กล่าวอวดอ้างเพื่อข่มผู้อื่นก็หามิได้ แต่ยังทรงพระมหากรุณาพร่ำสอนสาวกทั้งปวงให้รู้จักวิธีปฏิบัติขัดเกลาอบรมตน เพื่อบรรลุคุณวิเศษอย่างพระองค์ แม้พุทธสาวกจำนวนมากจะบรรลุคุณวิเศษก็เพียงแค่อรหัตผล เป็นพระอรหันต์ผู้มีญาณทัสสนะเพียงระดับหนึ่ง ซึ่งห่างไกลกับพระองค์อย่างเทียบกันไม่ได้เลย
ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสแสดงแก่ปริพาชกว่า “สาวกทั้งหลายของเราย่อมสรรเสริญ (เรา) ในญาณทัสสนะอันยอดเยี่ยมว่า พระสมณโคดมเมื่อทรงรู้เอง ก็ตรัสว่า เรารู้ เมื่อทรงเห็นเองก็ตรัสว่า เราเห็น ทรงแสดงธรรม เพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่ทรงแสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง ทรงแสดง ธรรมมีเหตุ มิใช่ทรงแสดงธรรมไม่มีเหตุ ทรงแสดงธรรม มีปาฏิหาริย์ มิใช่ทรงแสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ นี่แลเป็น ธรรมประการที่ ๒ ซึ่งเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเรา สักการะ เคารพ นับถือบูชาเรา แล้วก็ยังอาศัยเราอยู่” ๙
อนึ่งโดยเหตุที่พระพุทธองค์ทรงมีญาณทัสสนะอันยอดเยี่ยม คือพระสัพพัญญุตญาณนี้ ซึ่งเป็นพระญาณทัสสนะที่รู้เห็นครอบคลุมญาณทั้งปวงและรู้อย่างไร้ขอบเขตจำกัด เหนือพระญาณทั้งหลายของพระปัจเจกพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกทั้งปวง พระองค์จึงทรงอยู่ในฐานะบรมครูของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย เป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของพระองค์สักการะ เคารพ นับถือบูชาพระองค์ แล้วก็ยังอาศัยพระองค์อยู่
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก
๕ ม.ม. จูฬวัจฉโคตตสูตร (ไทย) ๒๐/๒๔๒/๔๔๑
๖ ม.ม. โพธิราชกุมารสูตร (ไทย) ๒๑/๑๐๒-๑๓๓
๗ ขุ.ชา.อ. โลมหังสชาดกที่ ๔ ๕๖/๓๔๕
๘ ขุ.อป. ๗๑/๘๗๖
๙ ม.ม. มหาสกุลุทายิสูตร (ไทย) ๒๑/๓๓๐/๕๕๙