การบวช คือ การประกาศสงครามกับกิเลส
ในหัวข้อที่ผ่านมา เป็นการพูดถึงการฝึกฝนอบรมตนเองและรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ทำให้เราได้ทราบถึงอานิสงส์ของความเป็นสมณะและข้อวัตรปฏิบัติของผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา เป็นการแสดงให้เห็นถึงเหตุและผลของการบวช ตั้งแต่ระดับเบื้องต้น ระดับกลาง และระดับสูง ผ่านพระสูตรที่ชื่อว่า สามัญญผลสูตร
เราจะเห็นได้ว่า การบวชนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นการบวชในระยะสั้นหรือระยะยาว เพราะเป็นการประกาศสงครามกับกิเลสอย่างกล้าหาญ โดยใช้ชีวิตของตนเองเป็นเดิมพัน ด้วยการ
๑) สละหมดจากความเป็นฆราวาส
๒) เว้นหมดจากความชั่ว
๓) หยุดความวุ่นวายทางกาย วาจา ใจ
ในกรอบของพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงวางรากฐานไว้เมื่อบวชแล้วต้องอาศัยอยู่ในวัด ปฏิบัติธรรมกับพระอุปัชฌาย์ หรือพระอาจารย์ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้ประกาศไว้ในท่ามกลาง
สงฆ์ คือ
กำจัดทุกข์ทั้งหลายให้สิ้น (สพฺพทุกฺขนิสฺสรณ) และ ทำพระนิพพานให้แจ้ง (นิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย) การบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา นอกจากจะเป็นการบำเพ็ญเนกขัมมบารมีแล้ว ยังเป็นการบำเพ็ญ สัจจบารมีและอธิษฐานบารมีอย่างหนักแน่นอีกด้วยดังนั้นเมื่อเราพิจารณาถึงหลักการบวชที่แท้จริง จะเห็นได้ว่า
๑) การบวชเป็นการกระทำของผู้มีปัญญามาก เพราะต้องอาศัยปัญญาในระดับที่รู้ เข้าใจ และมองเห็นทุกข์ได้ จึงปรารถนาที่จะออกจากทุกข์นั้น ๆ
๒) การบวชเป็นความกล้าหาญ เพราะสมัครใจที่จะทำสงครามกับกิเลส ด้วยการฝึกฝนอบรมตนเองตามพระธรรมวินัย
๓) การบวชมีวัตถุประสงค์ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวคือ เพื่อมุ่งกำจัดสรรพทุกข์ให้สิ้นไป และเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
๔) การบวชเป็นจุดเริ่มต้นของความเคารพในพระรัตนตรัยเพราะต้องกระทำให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
"การบวชเป็นการประกาศสงครามกับกิเลสอย่างกล้าหาญโดยใช้ชีวิตของตนเองเป็นเดิมพันด้วยการสละหมดจากความเป็นฆราวาสเว้นหมดจากความชั่วหยุดความวุ่นวายทางกาย วาจา ใจ"
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3
โดยคุณครูไม่เล็ก