ความมั่นคงของชีวิตขึ้นกับความเคารพ

วันที่ 06 สค. พ.ศ.2562

ความมั่นคงของชีวิตขึ้นกับความเคารพ

เนื่องจากคนแต่ละคนต่างก็มีคุณงามความดีอยู่ในตัวมากน้อยไม่เท่ากัน และคุณงามความดีที่ตนมีก็ไปเกิดประโยชน์ในแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น คุณงามความดีของพ่อแม่ เกิดประโยชน์โดยตรงต่อลูกมาก แต่อาจไม่เกิดประโยชน์ต่อเพื่อนบ้าน คุณงามความดีของครู เกิดประโยชน์โดยตรงต่อลูกศิษย์มาก แต่อาจเกิดประโยชน์ต่อครอบครัวไม่มาก
 

โดยเหตุที่ความเคารพเป็นเรื่องของคนมีปัญญา เป็นเรื่องของการจับจ้องค้นหาความดี ใจของเขาจึงผ่องใสเป็นปกติ เพราะฉะนั้นความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ จึงไหลออกมาจากคนที่มีความเคารพกราบไหว้ผู้มีคุณความดี ความเคารพจึงมีอานิสงส์ทำให้บุคคลเจริญด้วยคุณ ๔ ประการ ได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
 

เนื่องจากสิ่งที่เป็นคุณความดีในโลกนี้มีหลายอย่างมากมาย แต่สิ่งที่มีคุณงามความดีมาก ๆ จนกระทั่งใคร ๆ ก็ต้องไม่มองข้ามนั้น  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า มีอยู่ ๗ ประการ คือ

๑) ความเคารพในพระพุทธ
๒) ความเคารพในพระธรรม
๓) ความเคารพในพระสงฆ์
๔) ความเคารพในการศึกษา
๕) ความเคารพในสมาธิ
๖) ความเคารพในความไม่ประมาท
๗) ความเคารพในการปฏิสันถาร

 

ผู้มีความเคารพใจจะผ่องใสเป็นปกติเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ ความเคารพจึงมีอานิสงส์
ให้บุคคลเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ

ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ถ้ารู้จักแต่ทำมาหากินอย่างเดียว รู้จักแต่หาความสนุกสนานเที่ยวไปในทางโลกอย่างเดียว แน่นอน มนุษยชาติก็จะถึงความพินาศ เพราะว่าจะทำให้โลกนี้ตั้งอยู่ในท่ามกลางกระแสกิเลส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราลืมหน้าที่หลักของการเกิดมาในชาตินี้ว่า แท้จริงแล้ว เราเกิดมาเพื่อ
๑) แก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง
๒) บำเพ็ญบารมีให้เต็มที่ หรือทำความดีให้ถึงพร้อม
๓) กำจัดทุกข์ให้หมดไป ทั้งทุกข์ที่เกิดจากอำนาจกิเลสบีบบังคับใจ และทุกข์ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม บุคคลแวดล้อมบีบบังคับใจ เพื่อจะได้มีโอกาสบรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นยอดบรมสุข

 

มนุษย์เกิดมาเพื่อ
แก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง
ทำความดีให้ถึงพร้อม
และกำจัดทุกข์ให้หมดไป

เพราะฉะนั้น การที่ใครจะมีความเจริญได้ ก็ต้องสนใจศึกษาเรื่องความเคารพทั้ง ๗ นี้ แต่ถ้าไม่สนใจ ก็จะเป็นได้แค่
๑) ผู้เจริญทางโลก แต่เสื่อมทางธรรม
๒) ผู้เสื่อมทั้งทางโลกและทางธรรม ๑๐*
เพราะแม้อยู่จนกระทั่งตายไป ก็ไม่รู้เลยว่า ศัตรูที่แท้จริงของตนเองคือ กิเลส

 

เรื่องความเคารพ ๗ ประการนี้ จึงจำเป็นต้องศึกษา เพราะถ้าไม่รู้ก็จะ

๑) ห้ำหั่นกันเอง กลายเป็นสร้างศัตรูระหว่างกัน

๒) ลืมเลือนเป้าหมายการเกิดมาเป็นมนุษย์ของตนเอง ครั้นแล้วตัวเองก็จะมีแต่ความเสื่อม เพราะความดีเลอะเลือนไปหมดแล้ว กลายเป็นศัตรูแก่ตนเอง
 

คนเราจะเจริญได้ ต้องสนใจศึกษาเรื่องความเคารพทั้ง ๗ ประการ ไม่เช่นนั้นจะห้ำหั่นกันเอง
ลืมเลือนเป้าหมายการเกิดมาเป็นมนุษย์แม้อยู่จนกระทั่งตายไปก็ไม่รู้เลยว่าศัตรูที่แท้จริงของตน คือ กิเลส

เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ พระองค์ก็จะทรงตามเตือนให้ระลึกนึกถึงความเคารพ ๗ ประการนี้เสมอ แต่มาบัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว โลกใบนี้จะได้ใครมาเตือน
พระองค์จึงตรัสรับสั่งไว้ก่อนเสด็จปรินิพพานว่า พระธรรมวินัย ซึ่งหมายถึง คำสั่งสอนของพระองค์นั่นแหละ คือตัวแทนของพระองค์

เพราะฉะนั้นแม้พระพุทธองค์จะปรินิพพานไปแล้ว แต่ถ้าชาวพุทธยังมีความเคารพในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อยู่ โลกนีก็จะยังมีความเจริญตลอดไป จะไม่มีการทำลายล้างกันเอง มีแต่สร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่กัน ดังตัวอย่างของชาววัชชีที่มีความเคารพในอปริหานิยธรรม ๗ ประการ เห็นความสำคัญของอปริหานิยธรรมนี้ จึงยังผลให้วัชชีซึ่งเป็นแคว้นเล็ก ๆ เกิดความมั่นคงถึงขั้นแคว้นมหาอำนาจในยุคนั้น อย่างแคว้นมคธรุกรานไม่ได้ แต่เมื่อชาววัชชีไม่มีความเคารพในอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ไม่เห็นความสำคัญของอปริหานิยธรรม ก็ทำให้แคว้นล่มสลายไปในที่สุด

แม้พระพุทธองค์
จะปรินิพพานไปแล้ว
แต่หากชาวพุทธยังมี
ความเคารพในพระธรรม
โลกนี้ก็จะมีแต่ความเจริญตลอดไป

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก

*๑๐ อัง.ติก. อันธสูตร (ไทย) ๓๔/๔๖๘/๙๔

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.016693834463755 Mins