แม้พระพุทธองค์ยังทรงเคารพในธรรม
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระองค์ได้ทรงตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อแรกตรัสรู้ ขณะหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความรำพึงว่า
“บุคคลผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงย่อมอยู่เป็นทกุข์ เราพึงสักการะ เคารพอาศัย สมณะหรือพราหมณ์ คนไหนหนอแลอยู่” ๑
ครั้นแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงมีพระดำริว่า พระองค์พึงสักการะเคารพ อาศัยสมณะหรือพราหมณ์อื่นอยู่ เพื่อความบริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นแห่งอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญาของพระองค์ แต่เมื่อทรงตรวจด้วยญาณทัสสนะแล้ว ก็ไม่พบว่ามีสมณะหรือพราหมณ์อื่นในมนุษย์โลกเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่มีศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์กว่าพระองค์ที่พระองค์จะพึงสักการะ เคารพ และอาศัยอยู่ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงมีพระดำริว่า ทางที่ดีพระองค์ควรจะสักการะเคารพอาศัยธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วนั่นเอง
สำหรับนัยที่ว่าด้วยการสักการะ เคารพ อาศัยธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วมีความหมายหลายนัย แต่หากจะกล่าวโดยสรุปหมายถึงธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสักการะ เคารพ และอาศัย อันพระพุทธองค์
ได้ตรัสรู้แล้ว ย่อมย่นย่อลงได้ใน ไตรสิกขา คือ
อธิศีลสิกขา (ศีล) อธิจิตตสิกขา (สมาธิ) และอธิปัญญาสิกขา (ปัญญา) ซึ่งนับตั้งแต่ตรัสรู้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มิได้ทรงหยุดยั้งการปฏิบัติไตรสิกขาดังกล่าว ยังทรงทุ่มชีวิตบำเพ็ญเพียรเรื่อยไป แต่เป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นแห่งปฏิเวธสัทธรรมและเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับพุทธสาวกทั้งปวง
มีข้อสังเกตอยู่ว่าการบำเพ็ญเพียรของพระสาวกทั้งหลายนั้นแม้จะทุ่มชีวิตปฏิบัติตามศาสนธรรม ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาว่าเป็นเสมือนจำนวนใบไม้ ๒-๓ ใบในมือได้สมบูรณ์ จนกระทั่งหมดกิเลสบรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์แล้ว
แต่การเห็นธรรมของพระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ยังอยู่ในขอบเขตจำกัด ไม่กว้างไกลเท่ากับของพระพุทธองค์ ด้วยเหตุนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงยังคงทุ่มชีวิตบำเพ็ญไตรสิกขาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เพื่อความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมในส่วนที่พระองค์ไม่ได้นำมาตรัสสอน ซึ่งอุปมาเหมือนจำนวนใบไม้ที่อยู่บนต้น
ดังกรณีท่านพระสารีบุตร แม้ท่านปฏิบัติธรรมโดยบริสุทธิ์บริบูรณ์ บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ยังบำเพ็ญไตรสิกขาเรื่อยไป อยู่มาวันหนึ่งขณะที่ท่านหลีกออกเร้นเพื่อบำเพ็ญเพียรอยู่ในที่สงัด
ได้ค้นพบความจริง ๗ ประการ๒ คือ พระภิกษุจะละอกุศลให้หมดไปได้ และเจริญกุศลให้เกิดขึ้นได้ เพราะภิกษุสักการะเคารพ และอาศัย ๑. พระศาสดา ๒. พระธรรม ๓. พระสงฆ์ ๔. สิกขา ๕. สมาธิ ๖. ความไม่ประมาท ๗. ปฏิสันถาร
เนื่องจากท่านพระสารีบุตรไม่เคยฟังความจริง ๗ ประการนี้จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน แม้ท่านจะค้นพบความจริงนี้ด้วยญาณทัสสนะที่บริสุทธิ์ผุดผ่องของท่านเองก็ตาม ท่านก็ต้องเข้าไปกราบทูลถามพระพุทธองค์เพื่อขอคำยืนยันว่า การค้นพบนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ครั้นเมื่อ พระพุทธองค์ได้ทรงสดับคำกราบทูลของท่านพระสารีบุตรจบลงแล้ว ก็ทรงชมเชย พระสารีบุตรและทรงยืนยันว่า การค้นพบความจริง ๗ ประการนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
ท่านพระสารีบุตร เมื่อได้รับการยืนยันจากพระพุทธองค์เช่นนั้น จึงกราบทูลต่อไปอีกว่า แม้พระพุทธองค์จะตรัสยืนยันแต่โดยย่อแต่ท่านพระสารีบุตรก็รู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตที่พระองค์ตรัสว่ามีความหมายลึกซึ้งพิสดาร จึงกราบทูลต่อไปอีกว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา จะมีความเคารพในพระธรรมภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา จึงชื่อว่าไม่มีความเคารพในพระธรรมด้วย
คำกราบทูลของท่านพระสารีบุตรในครั้งนี้ สรุปได้ว่า ภิกษุที่ไม่มีความเคารพในพระศาสดา ย่อมไม่เคารพในพระธรรม พระสงฆ์สิกขา สมาธิ ความไม่ประมาท และปฏิสันถาร ย่อมละอกุศลไม่ได้ ย่อมไม่สามารถเจริญกุศลให้เกิดขึ้นได้ ในทางกลับกัน ภิกษุที่มีความเคารพในพระศาสดา ย่อมเคารพในพระธรรม พระสงฆ์ สิกขาสมาธิ ความไม่ประมาท และปฏิสันถาร ย่อมละอกุศลได้ ย่อมเจริญกุศลให้เกิดขึ้นได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา จะมีความเคารพในพระธรรมภิกษุผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดาจึงชื่อว่าไม่มีความเคารพในพระธรรมด้วย
เมื่อท่านพระสารีบุตรกราบทูลเนื้อความโดยพิสดารจบลงแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสรับรองยืนยันความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง
จากกรณีของท่านพระสารีบุตรที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า อธิปัญญาของพระอรหันต์สาวกนั้น ยังมีขอบเขตจำกัดอยู่ เหมือนใบไม้ในมือ ท่านจึงยังต้องพากเพียรปฏิบัติสัทธรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้แจ้งเห็นแจ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
เมื่อค้นพบสัจธรรมที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคมาก่อน แม้จะมั่นใจในความรู้แจ้งเห็นแจ้งของตนอย่างยิ่ง ก็จำต้องนำมากราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบ ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการขอคำรับรองยืนยันว่าถูกต้องแล้ว ยังแสดงถึงความเคารพในพระบรมครูอีกด้วย
การตรัสรับรองยืนยันของพระพุทธองค์ ย่อมแสดงว่าอธิปัญญาของพระองค์นั้นไร้ขอบเขต สมดังที่พระองค์ได้เนมิตกนามว่า สัพพัญญูแม้กระนั้นก็ตาม พระองค์ก็ยังทรงแสวงหาสมณะหรือพราหมณ์ไว้เป็น
ที่สักการะ เคารพ และอาศัย ด้วยทรงเกรงว่าจะอยู่เป็นทุกข์ แต่หลัง
จากที่ทรงตรวจดูด้วยพระสัพพัญญุตญาณแล้ว หาผู้ที่มี ไตรสิกขา คืออธิศีลสิกขา (ศีล) อธิจิตตสิกขา (สมาธิ) และอธิปัญญาสิกขา (ปัญญา)เหนือไปกว่าพระองค์เป็นไม่มี ดังนั้นพระองค์จึงทรงยึดธรรมที่พระองค์
ตรัสรู้เองนั้นไว้เป็นที่เคารพ เป็นที่อาศัย เพื่อความอยู่เป็นสุขของพระองค์เอง พุทธปฏิบัตินี้สมควรอย่างยิ่ง ที่พุทธบริษัททั้งหลายจะได้นำมาพิจารณาไตร่ตรอง และยึดถือเป็นตัวอย่างอันประเสริฐสุด
เชิงอรรถ อ้างอิง
๑ ที.ม. ๑๓/๘๖/๒๖๐ (แปล.มมร)
๒. องฺ.สตฺตก. ๒๓/๗๐/๑๕๐ (แปล.มจร)
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
โดยคุณครูไม่เล็ก