พระพุทธองค์ทรงแสดงความเคารพในธรรมอย่างไร

วันที่ 04 กพ. พ.ศ.2563

พระพุทธองค์ทรงแสดงความเคารพในธรรมอย่างไร


                  ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีความเคารพในธรรมที่ตรัสรู้ได้โดยพระองค์เอง ซึ่งสรุปโดยย่อ คือ ไตรสิกขาทั้งนี้ย่อมหมายถึง ทรงเคารพทั้งโลกุตตรธรรมและศาสนธรรม แล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงความเคารพในธรรมอย่างไร

 

                 ๑. ทรงแสดงธรรมด้วยความเคารพมีหลักฐานปรากฏใน สีหสูตร ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง
แสดงธรรมด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ไม่ว่าผู้ฟังจะเป็นใคร มีคุณธรรมสูงต่ำอย่างไร ก็ทรงแสดงด้วยความเคารพในธรรมอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ หวังจะให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ผู้ฟังทั้งมวล            ดังที่ตรัสว่า

 

                 “ภิกษุทั้งหลาย คำว่า สีหะ นี้เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อาการที่ตถาคตแสดงธรรมแก่บริษัทเป็นสีหนาท (สีหนาท หมายถึง คำพูดที่ตรัสด้วย ท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะทรงมั่นพระทัย ในอธิศีลอธิจิต และอธิปัญญาของพระองค์) ของตถาคตแท้ คือ ตถาคต


                ๑) แม้จะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ


                ๒) แม้จะแสดงธรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ


                ๓) แม้จะแสดงธรรมแก่อุบาสกทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ

 

               ๔) แม้จะแสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ


               ๕) แม้จะแสดงธรรมแก่ปุถุชนทั้งหลาย ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ โดยที่สุดแม้จะแสดงแก่  คนขอทาน และพรานนก ก็แสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพข้อนั้นเพราะอะไรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตเป็นผู้หนักในธรรม เคารพธรรม”

 

              เหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงอุปมาพระองค์ว่าเป็นพญาราชสีห์สาเหตุที่ทรงอุปมาเช่นนี้ ก็เพราะพญาราชสีห์นั้นต้องจับสัตว์กินเป็นอาหาร ถ้าจับพลาด นอกจากจะไม่ได้อาหารมากินแล้ว ยังถูกเย้ยหยันจากผู้เห็นเหตุการณ์อีกด้วย ดังนั้นพญาราชสีห์จึงมีความตั้งใจและความระมัดระวังอย่างยิ่ง

 

             จึงสามารถจับสัตว์ได้อย่างแม่นยำไม่มีพลาด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดคือช้าง ลงมาถึงสัตว์เล็ก ๆ เช่นกระต่ายและแมว ก็ไม่เคยพลาดเลย

 

             ในการแสดงธรรมของพระพุทธองค์ก็เช่นเดียวกัน พระองค์จะทรงแสดงด้วยความพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ นับตั้งแต่ทรงสำรวจดูว่าผู้ฟังเป็นใคร มีพื้นฐานความรู้ทางธรรมระดับไหน มีพื้นฐานนิสัยอย่างไร มีจริตประเภทใด มีปัญญาพอที่จะคิดหาเหตุผลได้มากน้อยเพียงใด

 

              แล้วทรงเลือกศาสนธรรมหมวดที่สอดคล้องกับภูมิธรรม พื้นนิสัย และจริตให้เหมาะสมกับบริษัทกลุ่มต่าง ๆ เช่น ในกลุ่มภิกษุซึ่งมีความรู้ด้านปริยัติสัทธรรมสูง มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติสัทธรรมพอ
สมควร ก็อาจจะทรงเลือกแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องสติปัฏฐาน ๔ หรือการเจริญสมาธิภาวนา

 

              แต่การแสดงธรรมแก่ปุถุชนหรือแม้กลุ่มขอทานและพรานนกผู้มีจิตใจมืดบอดด้วยกิเลสที่ห่อหุ้มอย่างหนา ก็อาจจะทรงเลือกศาสนธรรม เกี่ยวกับการทำทาน การรักษาศีล ในระดับที่ฟังเข้าใจได้ง่ายมา
แสดง เป็นต้น ทั้งนี้เพราะทรงมีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่ให้ผู้ฟัง เกิดปัญญาเข้าใจในสาระแห่งธรรม แล้วคิดปรับปรุงตนเอง ให้ละเลิกจากอกุศลกรรม หันมามุ่งมั่นสร้างกุศลกรรมอย่างจริงจัง 

 


 

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๙๙/๑๖๙ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.042275448640188 Mins