มหาสกุลุทายิสูตร
เหตุที่พุทธสาวกเคารพในพระพุทธองค์อย่างยิ่ง
สมัยหนึ่งขณะที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวัน เช้าวันหนึ่งขณะที่เสด็จออกบิณฑบาต ทรงมีพระดำริว่า ยังเช้ามาก จึงทรงแวะไปเยี่ยมเยียนสกุลุทายิปริพาชก ณ อารามของเหล่าปริพาชก ซึ่งตั้งอยู่ในเส้นทางเสด็จผ่าน ณ จุดนี้ ท่านผู้อ่านย่อมเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงมีน้ำพระทัยผูกไมตรีกับนักบวชนอกศาสนา โดยไม่ถือพระองค์ ไม่มีทิฏฐิ มานะว่าทรงภูมิธรรมเหนือปริพาชก ซึ่งพระองค์ทรงทราบดีว่าเหล่า
ปริพาชกล้วนมีภูมิธรรมอยู่ในระดับต่ำกว่าพระองค์มากมาย พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติกับเหล่าปริพาชกทำนองเดียวกับคนที่เคยรู้จักกัน
เมื่อผ่านมาและมีเวลาพอ ก็ควรแวะไปทักทายสนทนาปราศรัย ตามประสาคนรู้จักกัน แต่แน่นอนสาระสำคัญแห่งการสนทนาย่อมไม่ใช่เรื่องมโนสาเร่ แต่เต็มเปี่ยมด้วยสาระแห่งธรรมที่กัลยาณมิตรจะพึงมอบ
ให้แก่คู่สนทนา ส่วนคู่สนทนาจะรับไว้ได้มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของเขาเอง
ทำไมพุทธสาวกจึงเคารพเทิดทูนพระพุทธองค์อย่างยิ่ง?
สกุลุทายิปริพาชก มีความสงสัยค้างใจมานานแล้วว่า อะไรหนอ เป็นเหตุให้พุทธสาวกมีความเคารพในพระพุทธองค์ยิ่งนัก จึงได้โอกาสทูลถามในเช้าวันนั้นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงเฉลยทันที แต่กลับทรงย้อนถามความเห็นของปริพาชก
สกุลุทายิปริพาชกได้กราบทูลว่า เขาคิดว่าธรรมที่เป็นเหตุให้พุทธสาวกทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาและอาศัยพระพุทธองค์อยู่นั้น มีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑) พระองค์เสวยพระกระยาหารน้อย
๒) ทรงสันโดษ (พอใจ) ด้วยจีวรตามมีตามได้
๓) ทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้
๔) ทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้
๕) ทรงเป็นผู้สงัด (ความวิเวก) และทรงกล่าวสรรเสริญความสงัด
เมื่อได้สดับความเห็นของปริพาชกจบลงแล้ว พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า สกุลุทายิยังจับประเด็นไม่ถูกต้อง แม้จะกล่าวสรรเสริญแต่ก็เป็นเสมือนหนึ่งสรรเสริญเหตุเพียงเล็กน้อยว่าเป็นความยิ่งใหญ่ เข้าทำนองชมจอมปลวกเล็ก ๆ ว่าเป็นภูเขาหินสูงตระหง่านนั่นเอง
ซึ่งคุณของสองสิ่งนี้เทียบกันไม่ได้เลย ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า ถ้าธรรมทั้ง ๕ ประการ ที่เขากล่าวแล้วนั้น เป็นเหตุให้สาวกเคารพนับถือพระองค์ สาวกจำนวนหนึ่งที่มีวัตรปฏิบัติทั้ง ๕ ประการนี้
คงจะไม่เคารพนับถือพระองค์อย่างแน่นอน ด้วยน้ำพระทัยแห่งความเป็นกัลยาณมิตรโดยแท้ พระพุทธองค์จึงต้องตรัสแสดงธรรม เพื่อพลิกความเข้าใจผิด ๆ ของสกุลุทายิให้ถูกต้องในบัดนั้นทันที
แท้ที่จริง ธรรมอันเป็นเหตุให้พุทธสาวก สักการะ เคารพนับถือ บูชา และอาศัยพระพุทธองค์อยู่นั้น มีอยู่มากมาย แต่ในเมื่อปริพาชกจับประเด็นมาเรียบเรียงได้เพียง ๕ ประการ ครั้นเมื่อ
ทรงเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง พระพุทธองค์ทรงแสดงเพียง ๕ ประการเท่านั้น ดังนี้
๑) อธิศีล (หาใช่เรื่องทรงเสวยพระกระยาหารน้อยไม่)
๒) ญาณทัสสนะ (หาใช่เรื่องสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ไม่)
๓) อธิปัญญา (หาใช่เรื่องทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ไม่)
๔) ทรงไขปัญหาอริยสัจ ๔ (หาใช่เรื่องทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ไม่)
๕) ทรงสอนวิธีปฏิบัติเพื่อบรรลุอรหัตผล (หาใช่เรื่องทรงเป็นผู้สงัด และทรงสรรเสริญความสงัดเท่านั้นไม่)
ณ จุดนี้ ท่านผู้อ่านคงจะพอมองเห็นแล้วว่า การที่บุคคลปราศจากญาณวิสัย จึงทำให้โยนิโสมนสิการของเขาไปไม่ถึงต้นเหตุ หรือไม่ลุ่มลึกอย่างแท้จริง แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้รับโทษอันใด แต่ก็จะไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจะได้
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงคุณวิเศษล้นเหลือ แต่ตราบใดที่ปริพาชกยังมองเห็นคุณงามความดีของพระองค์อยู่ในกรอบ ๕ ประการ ตามที่กล่าวแล้ว เขาย่อมไม่ขวนขวายพาตนเข้ามาเป็นสาวก ถ้าเช่นนั้นการบำเพ็ญบารมีในฐานะนักบวชของเหล่าปริพาชก ไม่ว่าจะกี่ร้อยกี่พันชาติ ย่อมไม่มีโอกาสบรรลุหนทางอันเกษมด้วยความหลุดพ้นได้เลย
" หากปราศจากญาณปัญญาที่แท้จริง
แม้จะไม่ได้รับโทษอันใด
แต่ก็จะไม่ได้รับประโยชน์
เท่าที่ควรจะได้ "
ถามว่า ทำไมสกุลุทายิปริพาชกจึงมองเห็นคุณวิเศษเพียงระดับที่เขากล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์ ? คำตอบง่าย ๆ สั้น ๆ คือ เขาไม่เคยมีครูบาอาจารย์ หรือกัลยาณมิตรที่มีคุณวิเศษเช่นพระพุทธองค์นั่นเอง
ความคิดของเขาจึงจำกัดอยู่ในประสบการณ์ที่เขาได้พบได้เห็นเพียง ๕ ประการ ดังที่เขากราบทูลพระพุทธองค์ อย่างไรก็ตาม นับเป็นโชคอย่างใหญ่หลวงของสกุลุทายิปริพาชก ที่พระพุทธองค์เสด็จแวะเข้าไปโปรดเขา ซึ่งย่อมจุดประกายให้ปัญญาของเขาสว่างขึ้นไม่มากก็น้อย
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก