พระอริยสงฆ์...จุดมุ่งหมายที่พระพุทธองค์ทรงวางให้แก่พระสงฆ์

วันที่ 24 กพ. พ.ศ.2563

พระอริยสงฆ์...จุดมุ่งหมายที่พระพุทธองค์ทรงวางให้แก่พระสงฆ์

                   ในพระสุตตันตปิฎกและพระวินัยปิฎก เราจะพบคำคำหนึ่งอยู่เสมอ คือคำว่า อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ (อิธ อริยสาวโก) ซึ่งเป็นการกล่าวถึงสงฆ์โดยเจาะจงต่อ “อริยคุณ” หรือ “อริยภาวะ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมู่พระอริยบุคคล ๘ ประเภท โดยมี พระโสดาบันเป็นต้น ซึ่งคุณสมบัติของพระอริยสงฆ์นี้ ได้ถูกกล่าวสรุปลงใน สังฆคุณ ๙ ประการ ที่ปรากฏอยู่ในบทสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย อันได้แก่

 

                  ๑. สุปฏิปนฺโน แปลว่า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คือ ปฏิบัติไม่ท้อถอย ปฏิบัติสมควรแก่พระนิพพาน ฯลฯ รวมความคือ ปฏิบัติในทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ในธรรม วินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว

 

                  ๒. อุชุปฏิปนฺโน แปลว่า เป็นผู้ปฏิบัติตรง ต้องเป็นผู้ปฏิบัติจริงๆ ไม่ลวงชาวโลก ปฏิบัติตรงต่อพระศาสดาและเพื่อนสหธรรมิก

 

                 ๓. ญายปฏิปนฺโน แปลว่า เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาเป็นเครื่องรู้ คือ ปฏิบัติเพื่อความรู้ธรรม หรือแปลว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่พระนิพพานก็ได้

 

                ๔. สามีจิปฏิปนฺโน แปลว่า เป็นผู้ปฏิบัติสมควร คือ ปฏิบัติ น่านับถือ สมควรได้รับสามีจิกรรมจากเหล่าคนทุกพวกผู้ปฏิบัติเหล่านี้ ได้แก่ พระอริยบุคคล ๔ คู่ รวม ๘ บุคคลคือ

 

                 คู่ที่ ๑ ได้แก่
                 ๑) พระโสดาบัน (ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล)
                 ๒) ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล(ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค)
                 

                   คู่ที่ ๒ ได้แก่
                 ๓) พระสกทาคามี (ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล)
                 ๔) ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล(ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค)

 

                คู่ที่ ๓ ได้แก่

                 ๕) พระอนาคามี (ตั้งอยู่ในอนาคามิผล)
                 ๖) ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล (ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค)

 

                 คู่ที่ ๔ ได้แก่
                ๗) พระอรหันต์ (ตั้งอยู่ในอรหัตตผล)
                ๘) ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล (ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค)

 

                ๕. อาหุเนยฺโย แปลว่า เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ได้แก่ เป็น  ผู้ควรรับของที่เขานำมาบูชา วัตถุที่เขานำมาบูชา เรียกว่า อาหุนะหมายความว่า ของที่เขานำมาแต่ไกลแล้วถวายในท่ามกลางผู้มีศีลเพราะทำให้อาหุนะนั้น มีอานิสงส์มาก มีผลมาก

 

               ๖. ปาหุเนยฺโย แปลว่า เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ อาคันตุกทานที่เขาจัดแจงไว้อย่างดี เพื่อประโยชน์แก่ญาติและมิตรทั้งหลา

 

               ๗. ทกฺขิเณยฺโย แปลว่า เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ ทานที่บุคคลเชื่อปรโลกแล้วจึงให้ ชื่อว่า ทักขิณา พระสงฆ์ควรแก่ทักขิณานั้น หรือเกื้อกูลทักขิณานั้น เพราะทำทักขิณานั้นให้มีผลมากมีอานิสงส์มากพระสงฆ์จึงจัดว่า เป็นผู้ควรซึ่งทักขิณาหรือเกื้อกูลทักขิณา

 

              ๘. อญฺชลีกรณีโย แปลว่า เป็นผู้ควรทำซึ่งอัญชลี (ประนมมือไหว้) คือ ผู้ใดผู้หนึ่งนำเครื่องสักการะไปถวายถึงสำนักของท่าน ท่านสามารถทำความเลื่อมใสให้เกิดได้ โดยไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง
และท่านก็เป็นปฏิคาหกสมควรแก่การทำบุญ ควรแก่การยกมือขึ้นไหว้ เพราะท่านมีคุณความดีควรแก่การไหว้ โดยผู้ไหว้ไม่ต้องเก้อเขิน

 

            ๙. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส แปลว่า เป็นนาบุญอันเยี่ยมของชาวโลก ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า เพราะทักขิณาที่บุคคลเชื่อปรโลกแล้วถวายในพระสงฆ์ ผู้เป็นนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของชาวโลก ย่อม
จะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ดุจผืนนาที่มีดินดีสมบูรณ์ด้วยธาตุอินทรีย์พืชที่บุคคลหว่านหรือปลูกลงบนผืนดินนี้ ย่อมมีผลผลิตสมบูรณ์เต็มเม็ดเต็มหน่วย พระสงฆ์นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงเป็นนาบุญที่ควรแก่การหว่านพืชคือของทำบุญของชาวโลก ไม่มีนาบุญชนิดอื่นที่ยิ่งกว่า

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ ม.มู. ๑๒/๗๔/๖๖ (แปล.มจร)

                                                                                                      ๒ ที.ปา. ๑๑/๓๓๓/๓๔๑ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3

                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0074060002962748 Mins