สุดยอดแห่งธรรมคือ อริยสัจ ๔

วันที่ 01 กพ. พ.ศ.2563

สุดยอดแห่งธรรมคือ อริยสัจ ๔

                   อริยสัจ ๔ นี้เป็นทั้ง โลกุตตรธรรม และ ศาสนธรรมที่กล่าวว่า อริยสัจ ๔ เป็นโลกุตตรธรรม เพราะเป็นความจริงอันประเสริฐสูงสุด ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบ และเป็นเหตุให้พระองค์ทรงหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง แล้วตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

                  ที่กล่าวว่า อริยสัจ ๔ เป็นศาสนธรรม เพราะเป็นคำสอนที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงความประเสริฐ คือสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา พ้นจากกิเลสอาสวะ สิ้นทุกข์ทั้งปวง และเข้าถึงบรมสุขได้อย่างแท้จริง

 

                   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องอริยสัจ ๔ ว่า เป็นสุดยอดแห่งธรรม เพราะสามารถตัดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้โดยเด็ดขาด ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ท่านผู้อ่านจะเกิดความเข้าใจคุณค่าของ   อริยสัจ ๔ อย่างถ่องแท้และเกิดความเคารพในพระธรรมมากยิ่งขึ้น ถ้าได้ติดตามศึกษาเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ใน มหาปรินิพพานสูตร ว่า

 

                   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะมิได้ตรัสรู้ เพราะมิได้แทงตลอดอริยสัจ ๔ เราตถาคตและเธอทั้งหลายด้วยจึงโลดแล่นไปเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้ ”

 

                   ครั้นแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแสดง เพื่อเป็นการขยายความและเป็นการตอกย้ำให้พระภิกษุทั้งหลาย เห็นคุณค่าของอริยสัจ ๔ ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีก โดยทรงกล่าวถึงอริยสัจ แต่ละข้อ ๆ ว่าเพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ คือ ๑.ทุกข์  ๒.เหตุแห่งทุกข์  ๓.ความดับทุกข์  ๔.ทางปฏิบัติไปสู่ความดับทุกข์ เราตถาคตและเธอทั้งหลายด้วย จึงโลดแล่นไป เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้


                   แต่เพราะเราตถาคตตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้วซึ่งอริยสัจ ๔ เราตถาคตจึงถอนตัณหาในภพขึ้นแล้ว (ความอยากเกิด ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่)ตัณหานำไปสู่ภพใหม่ สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก เมื่อตรัสเทศนาจบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า         

 

                  “เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง เราตถาคตและเธอทั้งหลายด้วย จึงเร่ร่อนไปในชาติทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแล ตลอดกาลยาวนาน

 

                  บัดนี้ อริยสัจ ๔ นั้น เราตถาคตเห็นแล้ว ตัณหานำไปสู่ภพ เราก็ถอนได้แล้ว รากเหง้าของทุกข์เราก็ถอนทิ้งแล้ว บัดนี้จะไม่มีเกิดอีกต่อไป”

 

                  การรักษาศีลได้บริสุทธิ์ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก และเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งสำหรับการเจริญสมาธิภาวนา           

                  การเจริญสมาธิภาวนามีผลมาก มีอานิสงส์มาก และเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งที่ให้เกิดปัญญา

 

            ปัญญาอันเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา (ภาวนามยปัญญา) มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะเป็นปัจจัยให้จิตของบุคคลผู้ปฏิบัติ หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ได้แก่

 

                  กามาสวะ (กิเลสที่แฝงในจิตใจ ก่อให้เกิดสันดานแห่งความใคร่)

 

                  ภวาสวะ (กิเลสที่แฝงอยู่ในจิตใจ ก่อให้เกิดความสืบสานแห่งความอยากเกิดใหม่ อยากเป็นโน่นเป็นนี่อยู่ตลอดไป)

 

                 อวิชชาสวะ (กิเลสที่แฝงอยู่ในจิตใจสืบสานความโง่เขลา คือความไม่รู้ตามความเป็นจริง) แน่นอนเหลือเกินว่าปัญญาดังที่พระพุทธองค์ตรัสนี้ ต้องเป็นอธิปัญญา จึงเห็นแจ้งรู้แจ้งอริยสัจ ๔         

 

                 จากธรรมบรรยายทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า การรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔ อันเป็นสุดยอดแห่งธรรมนั้น บุคคลจะต้องมีความเคารพอย่างยิ่ง ๒ ประการ ในเบื้องต้น คือ เคารพในพระพุทธเจ้าและเคารพในพระธรรม เพราะการเคารพพระพุทธเจ้าจะเป็นปัจจัยให้เคารพในพระธรรม การเคารพในพระธรรมจะเป็นปัจจัยให้บุคคลขวนขวายศึกษาหาความรู้โดยวิธีการที่สะดวกและเหมาะสมกับตน


                 ซึ่งจะเกิดผลเป็นความเข้าใจและศรัทธาในปริยัติสัทธรรม ทั้งจะเป็นปัจจัยนำไปสู่ปฏิบัติสัทธรรม และก่อให้เกิดสัมฤทธิผลเป็นปฏิเวธสัทธรรม ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะแตกต่างกันไปแต่ละคน อย่างไรก็ตาม      สัมฤทธิผลสูงสุดก็คือ ความรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔ นั่นเอง 

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑. ที.ม. ๑๓/๘๖/๒๖๐ (แปล.มมร)

๒. ที.ม. ๑๓/๘๗/๒๖๑ (แปล.มมร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 

 

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0026953339576721 Mins