จริงหรือ...ที่พระอริยเจ้าเป็นผู้ไม่ถูกติเตียน

วันที่ 16 มีค. พ.ศ.2563

จริงหรือ...ที่พระอริยเจ้าเป็นผู้ไม่ถูกติเตียน

 

                  เราอาจจะมีความคิดว่า ถ้าพระภิกษุสงฆ์ทานมีข้อวัตรปฏิบัติ ที่ดีงดงาม น่าเลื่อมใส พุทธศาสนิกชนก็คงจะหันมามีทัศนคติที่ดีต่อ พระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนา แต่ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ใช่ว่าทุกคนจะมีทัศนคติที่ดีเช่นนี้ เรื่องราวเหล่านี้ได้มีตัวอย่างปรากฏ ให้เห็นแม้ในสมัยพุทธกาล ไม่เว้นแม้แต่พระอริยเจ้าผู้บรรลุอรหัตตผล ดังเรื่องราวของพระปิลินทวัจฉเถระ ที่ปรากฏใน ปิลินทวัจฉสูตร ดังนี้

 

                  สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตกรุงราชคฤห์       สมัยนั้น   ท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย ครั้งนั้น ภิกษุ จำนวนมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุ ทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย พระพุทธเจ้าข้า” 

 

                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่ง มาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงไปเรียกพระปิลินทวัจฉะมาหาเราว่า ท่านปิลินทวัจฉะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน” ภิกษุรูปนั้นทูล รับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่าน พระปิลินทวัจฉะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกับท่านพระปิลินทวัจฉะว่า “ท่านปิลินทวัจฉะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน”

 

                ท่านพระปิลินทวัจฉะรับคำของภิกษุรูปนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้ มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามท่าน ดังนี้ว่า “ปิลินทวัจฉะ ทราบว่า เธอ ร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย จริงหรือ”

 

                 ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

 

               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงระลึกถึงอดีตชาติของ ท่านพระปิลินทวัจฉะแล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าถือโทษวัจฉะเลย วัจฉะ หาได้มุ่งร้ายร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อยไม่ วัจฉะเกิดในตระกูลพราหมณ์ติดต่อกันไม่มีช่วงคั่นถึง ๕๐๐ ชาติ การใช้วาทะว่าคนถ่อยนั่น เธอก็ประพฤติมานานแล้ว เพราะฉะนั้น วัจฉะนี้จึงร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า คนถ่อย”

 

             พระปิลินทวัจฉะบรรลุธรรมเป็นถึงพระอรหันต์หมดกิเลส แต่เพราะเหตุที่ภพชาติที่ท่านเคยไปบังเกิดเป็นพราหมณ์ยาวนานถึง  ๕๐๐ ชาติ ทำให้เวลาเรียกผู้อื่นท่านใช้สรรพนามว่า คนถ่อย จึงเป็น เรื่องที่พระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นปุถุชนจะกล่าวโทษก็หาควรไม่ แต่ก็ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดี ที่ทำให้เราเห็นว่าแม้พระอริยสงฆ์ผู้เป็นถึง พระอรหันต์เอง ก็ยังมีโอกาสถูกตำหนิติเตียน และถูกมองในด้านลบ จากผู้อื่นได้เช่นกัน

 

              ในกรณีของพระปิลินทวัจฉเถระที่ถูกตำหนิและถูกมอง ในแง่ลบ อาจมีสาเหตุมาจากการมีบุคคลที่ ๒ และ ๓ เป็นผู้เสีย หาย เพราะถูกร้องเรียกด้วยถ้อยคำที่ไม่สู้ดีนัก แต่ในกรณีของพระ มหากัปปินเถระ ท่านถูกเข้าใจผิดและถูกตำหนิ เพราะเหตุที่รำพึงถึง ความเอิบอิ่มในธรรมที่เกิดจากการปรารภอมตมหานิพพาน ซึ่งไม่มีผู้ ใดเป็นผู้เสียหายเลยแม้แต่น้อย

 

             ได้ยินว่า ในภิกษุเหล่านั้น ท่านพระมหากัปปินะเที่ยว เปล่งอุทานในที่ทั้งหลายมีที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันว่า “สุขหนอ สุขหนอ” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลแด่พระผู้มีพระ ภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหากัปปินะเที่ยวเปล่ง อุทานว่า “สุขหนอ สุขหนอ” ท่านเห็นจะกล่าวปรารภความสุข ในราชสมบัติของตน” 

 

              พระศาสดารับสั่งให้เรียกพระมหากัปปินะนั่นมาแล้ว ตรัสถามว่า “กัปปินะ ได้ยินว่า เธอเปล่งอุทานปรารภสุขใน กาม สุขในราชสมบัติจริงหรือ ?” 

 

              พระมหากัปปินะทูลว่า “ข้าแตะพระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบการเปล่งหรือไม่เปล่งปรารภ กามสุขและรัชสุขนั้นของข้าพระองค์” 

 

              พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราย่อมเปล่งอุทาน ปรารภสุขในกามสุขในราชสมบัติหามิได้ ก็แต่ว่าความเอิบอิ่มในธรรม ย่อมเกิดขึ้นแก่บุตรของเรา บุตรของเรานั้นย่อมเปล่งอุทานอย่างนั้น เพราะปรารภอมตมหานิพพาน”

 

             ขึ้นชื่อว่ามนุษย์มักจะมีเรื่องที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เสมอในเรื่องที่คิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องขึ้นมาได้ แต่ก็กลับเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ดังเรื่องของพระมหากัปปินเถระ ที่ถูกตำหนิและเข้าใจผิดด้วยเหตุแห่งการเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ สุขหนอ” เพราะปรารภอมตมหานิพพาน จริงอยู่ หากเราพิจารณาด้วยสติปัญญา เราก็อาจคิดเหมือน


             กับพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นปุถุชนทั้งหลายเหล่านั้นว่า ก่อนที่พระมหากัปปินเถระจะออกบวช ท่านเองเป็นถึงพระราชามหากษัตริย์ ย่อมเอิบอิ่มด้วยราชสมบัติอันไพบูลย์ มาในบัดนี้ การที่ท่านเปล่งอุทานเช่นนี้ คงจะเป็นการกล่าวปรารภถึงความสุขในราชสมบัติของตนเป็นแน่แต่อย่างไรก็ตาม แม้ตัวท่านเองจะไม่กล่าวโทษ หรือให้อโหสิกรรมก็ตาม แต่ผลกรรมอันเกิดขึ้นจากการกล่าวโทษพระผู้ทรงคุณนั้น ไม่อาจละเว้นได้ ดังตัว อย่างที่มีปรากฏอยู่ใน คูถขาทกเปตวัตถุอดีตพระภิกษุไปเกิดเป็นเปรตเพราะด่าทอพระสงฆ์

     

               พระมหาโมคคัลลานเถระถามเปรตตนหนึ่งว่า“ท่านเป็นใครหนอ โผล่ขึ้นจากหลุมคูถ ยืนเศร้าสร้อยอยู่ท่านคงทำกรรมชั่วไว้โดยไม่ต้องสงสัย จะร้องครวญครางอื้ออึงไปทำไมเล่า”

 

               เปรตนั้นตอบว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญข้าพเจ้าเกิด เป็นเปรตในยมโลก ได้รับความลำบาก เพราะทำกรรมชั่วไว้ จึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก”   

   

              พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า “ท่านได้ทำกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจอะไรไว้หรือ เพราะผลกรรมอะไรท่านจึงได้รับทุกข์เช่นนี้”       

 

              เปรตนั้นตอบว่า “ได้มีภิกษุรูป หนึ่งอยู่ประจำ ในวัดของข้าพเจ้า มักริษยา ตระหนี่ตระกูล ผูกขาดในเรือนของข้าพเจ้ามีใจกระด้าง มักด่าว่า (ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย) ข้าพเจ้าเชื่อคำของท่าน ได้ด่าว่าภิกษุทั้งหลาย เพราะผลกรรมนั้นข้าพเจ้าจึงต้องจากโลกนี้ไปยังเปตโลก”

 

              พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า “ภิกษุผู้คุ้นเคยกับตระกูลของท่านไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม มีปัญญาทรามมรณภาพแล้วไปสู่คติไหนหนอ”

 

             เปรตนั้นตอบว่า “ข้าพเจ้ายืนอยู่บนกระหม่อมศีรษะของเปรต ซึ่งเคยเป็นภิกษุผู้ทำกรรมชั่วนั้นแหละ
และภิกษุนั้นไปเกิดเป็นเปรตผู้ปรนนิบัติของข้าพเจ้าเองพระคุณเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าอื่นถ่ายสิ่งใดลงไป สิ่งนั้นเป็นอาหารของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าเองถ่ายสิ่งใดลงไป เปรตซึ่งเคยเป็นภิกษุนั้นก็อาศัยสิ่งนั้นเลี้ยงชีพ”

 

             จากตัวอย่างที่ยกมานี้ พอเป็นอุทาหรณ์ให้เราได้ระลึกอยู่ในใจเสมอว่า แม้พระอริยสงฆ์ผู้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีโอกาสถูก ตำหนิและเข้าใจผิดได้ จะกล่าวไปไยกับ สมมุติสงฆ์ผู้กำลังฝึกฝนอบรม    ตนเองอยู่เล่าว่าจะไม่มีโอกาสถูกตำหนิ เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรน่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยอุดช่องโหว่ในความเข้าใจผิดเหล่านี้ ไม่ให้เรามีทัศนคติที่ไม่ดี หรือไปตำหนิติเตียนพระภิกษุสงฆ์ ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ได้เป็นเช่นที่เรานึกคิดด้นเดาไปเอง เพราะขึ้นชื่อว่าไฟนั้น มีคุณต่อการดำรงชีวิตของเราอย่างอเนกอนันต์ แต่ถ้าคนเราไม่ระมัดระวัง ประมาท สะเพร่า

 

           ไฟก็สามารถก่อให้เกิดโทษภัยแก่เราอย่างมหันต์ได้เหมือนกัน สำหรับพระภิกษุสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราล่วงเกินท่านด้วยกาย วาจา ใจภัยพิบัติก็จะมาถึงตัวเราได้ ยิ่งถ้าท่านมีภูมิรู้ภูมิธรรมสูง ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ตั้งอยู่ในคุณธรรมสูงส่งเพียงใด โทษภัยที่จะเกิดแก่ผู้ล่วงเกินท่านก็มากขึ้นเพียงนั้น ดังตัวอย่างที่ยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์

 

           "ไฟให้โทษมหันต์ได้ฉันใดการขาดความเคารพและล่วงเกินในพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีก็ย่อมนำภัยมาสู่ตนได้ฉันนั้น"

 

            

เชิงอรรถ อ้างอิง

๔๕ ขุ.อุ. ๒๕/๒๖/๒๒๐-๒๒๑ (แปล.มจร)

๔๖ ขุ.ธ.ว. ๔๑/๑๖/๓๑๕-๓๑๖ (แปล.มมร)

๔๗ ขุ.เปต. ๒๖/๗๖๖-๗๗๓/๒๙๒-๒๙๓ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3 

โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.046227248509725 Mins