สังฆคารวตา...สร้างเกราะป้องกันการจับผิด
ในกรณีของพระภิกษุเอง ความเคารพที่พึงมีในพระรัตนตรัยคือ ความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเคารพในพระสงฆ์นั้น มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเสื่อมและความเจริญของพระภิกษุสงฆ์ จนกระทั่งไปถึงความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาโดยรวม ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น ทั้งนี้เป็นเพราะความสัมพันธ์ที่เกี่ยวพันกันในแง่ของการถ่ายทอดคุณธรรม รวมไปถึงความสมัครสมานสามัคคีในหมู่สงฆ์
ในกรณีของพุทธศาสนิกชนก็เช่นเดียวกัน หากขาดซึ่งความเคารพในพระสงฆ์เสียแล้ว ย่อมส่งผล กระทบกับตนเองในแง่ของการศึกษาธรรมะ รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อไปยังพระพุทธศาสนาโดยรวมในแง่ของความสามัคคีในหมู่พุทธบริษัท เมื่อไม่มีความเคารพในพระสงฆ์ แม้ท่านจะมีคุณธรรมมากเพียงใดก็ตาม คงยากที่เราจะเข้าไปศึกษาและรองรับคุณธรรมจากท่าน อีกทั้งยังเป็นการเพาะนิสัยช่างจับผิดให้เกิดขึ้นอีกด้วย
เพราะไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ต่างก็ต้องฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ในรูปแบบและสิ่งแวดล้อมที่ตนจะสามารถฝึกหัดปฏิบัติได้ หากขาดเสียซึ่งต้นแบบหรือครูดีก็ยากที่จะเอาดีได้ เพราะการแสวงหาปัญญาในเบื้องต้น คือ ระดับความรู้ (knowledge) เป็นสิ่งที่เราสามารถหาได้ง่ายในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารไร้ขีดจำกัด แต่การแสวงหาปัญญาในเบื้องกลาง
คือ ระดับความเข้าใจ (understanding) เริ่มมีขีดจำกัด ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการรู้ว่า อริยสัจ ๔ คืออะไร แต่ละข้อมีความหมายอะไรเพียงเราพิมพ์คำว่า อริยสัจ เข้าไปในโปรแกรมค้นหาออนไลน์ (websearch engine) ใช้เวลาเพียง ๐.๓๒ วินาที ก็มีผลการค้นหาออกมาถึงกว่า ๔๗๓,๐๐๐ แห่ง๑ แต่จะนำไปฝึกหัดปฏิบัติอย่างไรนั้นยังคงไม่ชัดเจน ไม่ต้องกล่าวไปถึงปัญญาเบื้องสูง คือ ระดับบรรลุธรรม
(enlightenment) ดังนั้นต้นแบบหรือครูดีจึงมีความสำคัญสมกับชื่อหมวดธรรมที่ว่า ปัญญาวุฑฒิสูตร ว่าด้วยความเจริญด้วยปัญญา๒ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว มี ๔ ประการ อันประกอบด้วย
๑) สัปปุริสสังเสวะ (การคบหาสัตบุรุษ) หาครูดีให้พบ
๒) สัทธัมมัสสวนะ (การฟังสัทธรรม) ตั้งใจฟังคำครูให้ชัด
๓) โยนิโสมนสิการ (การมนสิการโดยแยบคาย) ตั้งใจไตร่ตรองคำครูให้ลึก
๔) ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม)ลงมือทำตามคำครูให้ครบ
แต่อย่างไรก็ตาม หากเราเป็นผู้ที่ขาดความเคารพ มีนิสัยชอบจับผิดติดตัวมามาก แม้มีต้นแบบหรือครูดีอยู่ต่อหน้า ก็ยากเหลือเกินที่จะได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่าน แม้เราจะบอกตนเองว่า ก็พระภิกษุสงฆ์ท่านยังเป็นเพียงสมมติสงฆ์ ไม่ได้ต่างอะไรกับเราเท่าใดนัก ไว้ถ้าพบพระอริยสงฆ์เมื่อใด ความเคารพในพระสงฆ์ก็จะเกิดขึ้นเอง เราจะมั่นใจในคำกล่าวนี้ได้เพียงใด ก็คงต้องย้อนกลับไปดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นในกรณีของพระปิลินทวัจฉเถระและพระมหากัปปินเถระอีกครั้งหนึ่ง จะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดจนเกิดผลเช่นเดียว
กับอดีตพระภิกษุที่ไปเกิดเป็นเปรต เพราะด่าทอพระสงฆ์ตามคำแนะนำของคนพาล ขาดการพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบดังที่ปรากฏใน คูถขาทกเปตวัตถุ
"เมื่อขาดความเคารพในพระสงฆ์แม้ท่านจะมีคุณธรรมมากเพียงใดก็ยากที่เราจะรองรับคุณธรรมจากท่านได้ทั้งยังเป็นการเพาะนิสัยจับผิดให้เกิดขึ้นอีกด้วย"
เชิงอรรถ อ้างอิง
๑ ค้นหาด้วยโปรแกรมค้นหาออนไลน์ของ Google ผ่าน Google Chrome Browser ซึ่งอาจมีค่าคลาด
เคลื่อนจากที่แสดงไว้บ้าง ทั้งนี้ขึ้นกับโปรแกรมค้นหาและความเร็วของการรับส่งสัญญาณ
๒ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๔๘/๓๖๗-๓๖๘ (แปล.มจร)
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3
โดยคุณครูไม่เล็ก