ในสมัยพุทธกาลมีธรรมเนียมการเคารพพระธรรมอย่างไร

วันที่ 11 กพ. พ.ศ.2563

ในสมัยพุทธกาลมีธรรมเนียมการเคารพพระธรรมอย่างไร

 

                  มีเรื่องเกี่ยวกับธรรมเนียมการเคารพพระธรรมในสมัยพุทธกาลปรากฏอยู่ในชาดก ซึ่งจะขอยกมาเป็นตัวอย่าง ๒ เรื่อง ดังนี้

 

                  เรื่องที่ ๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ตรัสเทศนาเรื่องนี้ โดยทรงปรารภ กุฎุมพีผู้หนึ่ง ซึ่งมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้นำจตุปัจจัยไทยธรรมมาสักการะ
พระตถาคตเจ้าและพระสงฆ์เนือง ๆ

 

                  อยู่มาวันหนึ่ง เขาเกิดความคิดว่าเขาได้ทำสักการะพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์อยู่เป็นประจำ  ถ้าเขาจะทำสักการะพระธรรมบ้าง เขาควรจะทำอย่างไร จึงได้กราบทูลถามขึ้นพระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เขาไปสักการะท่านพระอานนท์ ในฐานะที่ท่านเป็นคลังพระธรรม

 

                   ในวันรุ่งขึ้น กุฎุมพีนั้นนิมนต์พระเถระไปสู่เรือนของเขา บูชาพระอานนท์เถระด้วยของหอมและมาลา ถวายโภชนะรสเลิศต่าง ๆถวายผ้าไตรจีวรราคาแพง พระเถระมีความคิดว่า สักการะนี้ กุฎุมพีทำแก่พระธรรม ไม่สมควรแก่ตน สมควรแก่พระธรรมเสนาบดีมากกว่าคิดดังนั้นแล้วพระเถระจึงนำบิณฑบาตและผ้าไปสู่พระวิหาร ถวายแด่พระสารีบุตรเถระ

 

                   ฝ่ายท่านพระสารีบุตรก็มีความคิดว่า สักการะนี้เขาทำแก่พระธรรม สมควรแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นเจ้าของแห่งพระธรรมพระองค์เดียวโดยแท้ จึงนำไปถวายแก่พระตถาคตเจ้าพระบรมศาสดาไม่ทรงเห็นผู้ใดยิ่งกว่าพระองค์ จึงเสวยบิณฑบาตและทรงรับผ้าจีวร

 

                   เมื่อเรื่องราวนี้รู้ไปถึงพระภิกษุทั้งหลาย จึงกลายเป็นหัวข้อสนทนาของภิกษุทั่วไปในธรรมสภา ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบจึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น ที่บิณฑบาตถูกถวาย
ต่อ ๆ กันไปจนถึงผู้ที่สมควรได้รับ แม้ในกาลก่อน

 

                   เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ ก็มีเรื่องเช่นนี้เกิดมาแล้วเหมือนกัน เมื่อเหล่าภิกษุพากันกราบทูลอาราธนาให้ทรงนำอดีตนิทานมาแสดง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสแสดง ภิกขาปรัมปรชาดก ซึ่งมีใจความโดยย่อดังนี้

 

                  ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตทรงเสวยราชสมบัติโดยธรรม ณ กรุงพาราณสี เหตุการณ์บ้านเมืองภายในพระนครดำเนินไปโดยเรียบร้อยทุกประการ พระองค์จึงเสด็จไปตรวจชนบทด้วยการปลอม
พระองค์ไปกับปุโรหิต เมื่อเสด็จไปถึงนิคมแห่งหนึ่งในชายแดน จึงทรงประทับนั่งที่นอกประตูศาลา

 

                  ขณะนั้นมีกุฎุมพีคนหนึ่งมีฐานะร่ำรวยและมีบริวารมากมายสังเกตเห็นพระราชาที่ปลอมพระองค์มา มีบุคลิกลักษณะสง่างาม          

       

                  มีผิว พรรณสะอาดผ่องใสสะดุดตา ประทับนั่งที่ศาลา มองแล้วก็เดาออกได้ทันทีว่าจะต้องเป็นพระราชามหากษัตริย์ จึงเข้าไปปฏิสันถารทักทายแล้วทูลเชิญให้ประทับนั่งอยู่ ณ ที่นั้น เพื่อว่าตนจะไปนำโภชนาหารรสเลิศต่าง ๆ มาถวาย เพียงสักครู่ต่อมา กุฎุมพีพร้อมด้วยบริวาร ก็ถือภาชนะใส่อาหารอย่างประณีตมาถวายพระราชา

 

                   ในบริเวณศาลานั้น ยังมีผู้อื่นนั่งพักอยู่อีกด้วยคือ ดาบสจากหิมวันตประเทศผู้ได้อภิญญา ๕ หนึ่งท่าน และมีพระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งเหาะมาจากเงื้อมเขานันทมูลกะอีก ๑ องค์

 

                   ครั้นเมื่อพระราชารับภัตตาหารจากกุฎุมพีแล้ว ก็มิได้เสวยเองแต่พระราชทานแก่ปุโรหิตเมื่อพราหมณ์ปุโรหิตรับถาดภัตตาหารแล้วก็นำไปถวายแด่ดาบส     

     

                    ส่วนดาบสเมื่อรับภัตตาหารแล้ว ก็นำภัตตาหารไปใส่ลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้าโดยมิได้เชื้อเชิญผู้หนึ่งผู้ใด พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ลงมือฉันภัตตาหารตามลำพัง

 

                    กุฎุมพีเห็นเหตุการณ์เหล่านั้นทั้งหมด ก็เกิดความสงสัยเป็นอย่างยิ่ง เพื่อคลี่คลายความสงสัยของตน จึงเข้าไปไหว้ แล้วถามแต่ละท่านว่า การกระทำของแต่ละท่านนั้นมีธรรมอะไรเป็นหลักยึดถือ โดย
เริ่มจากพระราชา ก็ได้คำตอบว่า

 

                    สาเหตุที่พระราชาพระราชทานภัตตาหารแก่พราหมณ์ปุโรหิตก็เพราะว่า พราหมณ์เป็นอาจารย์ เป็นผู้คอยตักเตือนในเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ พระราชาจึงได้พระราชทานอาหารนั้นแก่พราหมณ์ปุโรหิต

 

                    ต่อจากนั้นกุฎุมพีก็เข้าไปถามพราหมณ์ ก็ได้รับคำตอบจากพราหมณ์ปุโรหิตว่า ตนเองยังเป็นผู้ครองเรือน ยังเสวยกามอันเป็นของมนุษย์อยู่ จึงเห็นควรถวายภัตตาหารนั้นแก่ดาบส ผู้อยู่ป่าผู้เรืองด้วยตบะ เป็นวุฒิบุคคลผู้อบรมตนแล้ว

 

                    ครั้นแล้ว กุฎุมพีก็เข้าไปถามท่านดาบสผู้ซูบผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ซึ่งอยู่ป่าผู้เดียว เหตุไฉนจึงเห็นพระภิกษุดีกว่าท่าน ท่านดาบสจึงตอบว่า ท่านเองยังกังวลและถือมั่นอยู่กับการขุดเผือก
ขุดมัน และหุงต้มอยู่ จึงควรถวายโภชนะแก่ผู้ไม่มีความห่วงใยผู้ไม่มีความถือมั่น คือ พระภิกษุ   

         

                   ต่อจากนั้นกุฎุมพีก็เข้าไปถามพระภิกษุผู้นั่งนิ่ง มีวัตรอันดีว่าเมื่อรับภัตตาหารจากดาบสแล้วนั่งนิ่ง ฉันอยู่องค์เดียว โดยไม่เชื้อเชิญใคร ๆ นี้เป็นธรรมอะไรของพระคุณท่าน

 

                  พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า อาตมาไม่ได้หุงต้มเอง ไม่ได้ให้ใครหุงต้ม ดาบสรู้ว่า อาตมาไม่มีความกังวล เป็นผู้ห่างไกลจากบาปทั้งปวง จึงถวายภัตตาหารนั้นแก่อาตมา บุคคลเหล่านั้นยังมีความ
ห่วงใย ยังมีความยึดถือ จึงสมควรจะให้ทาน อาตมาเข้าใจเอาว่าการที่บุคคลเชื้อเชิญผู้ให้นั้นเป็นการผิด
               

                  กุฎุมพีได้ฟังคำของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วมีความรู้สึกดีใจ จึงกล่าวคาถาสุดท้าย ๒ คาถาว่า

 

                 “วันนี้พระราชาผู้ประเสริฐเสด็จมา ณ ที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้าหนอ ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบชัดวันนี้เองว่า ทานที่ให้ในท่านผู้ใดจักมีผลมาก พระราชาทั้ง หลายทรงกังวลอยู่ในแว่นแคว้น พราหมณ์ทั้ง หลายกังวลอยู่ในกิจน้อยกิจใหญ่ ดาบสกังวลอยู่ในเหง้ามันและผลไม้ ส่วนพวกภิกษุหลุดพ้นได้แล้ว”

 

                  พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่เขาแล้ว กลับไปสู่สถานแห่งตน ดาบสก็เช่นกัน ส่วนพระราชาทรงพักอยู่ในสำนักของกุฎุมพีสองสามวันแล้วเสด็จกลับกรุงพาราณสี

 

                  พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แล้วตรัสย้ำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่บิณฑบาตส่งต่อจนถึงผู้ที่สมควรได้รับ แม้ในกาลก่อน ก็มีเหตุการณ์แบบนี้เช่นกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า กุฎุมพีผู้บูชาธรรมครั้งนั้น ได้มาเป็นกุฎุมพีผู้นำสักการะธรรม พระราชาได้มาเป็นพระอานนท์ ปุโรหิตได้มาเป็นพระสารีบุตร พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ปรินิพพานแล้ว ส่วนดาบสจากหิมพานต์ได้มาเป็นพระตถาคต             

 

                 จากชาดกเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า บุคคลแต่ละท่านที่กล่าวถึงในชาดก ล้วนมีจิตใจสูง มีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องบูชาบุคคลที่ควรบูชา และมีปัญญาสูงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่า ผู้ใด
มีคุณธรรมสูงกว่าผู้ใด ซึ่งในที่สุดก็เห็นว่า พระภิกษุเป็นบุคคลที่ควรบูชาสูงสุด

 

                เนื่องจากเป็นผู้สละบ้านเรือน ทรัพย์สินและชีวิต เป็นผู้มุ่งแสวงหาความหลุดพ้นอย่างแท้จริง และก็นับเป็นโชคดีสำหรับทุกท่านที่ได้สร้างบุญกุศลอย่างยิ่งใหญ่โดยการถวายภัตตาหารต่อๆ กันไป จนถึงพระภิกษุรูปนั้น เพราะท่านเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นแล้ว

 

               ส่วนในพระธรรมเทศนานั้น ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระหทัยเปี่ยมบริบูรณ์ด้วยอุเบกขาธรรมอย่างแท้จริง ทรงหลุดพ้นจากอุปาทานยึดมั่นในพระองค์ เพราะมิได้ทรงคำนึงว่า พระองค์เป็นใหญ่กว่าใคร ๆ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ก็ทรงทราบแล้วว่า ไม่มีผู้ใดที่มีอธิศีล อธิจิต อธิปัญญายิ่งกว่าพระองค์ แต่ได้ทรงยกย่องพุทธสาวกที่เป็นเสมือนหนึ่งคลังแห่งพระธรรม คือ ท่านพระอานนท์ ขณะเดียวกันทั้งท่านพระอานนท์และท่านพระสารีบุตรต่างก็ทราบดีว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ธรรมรัตนะ ที่แท้จริง

 

              เรื่องที่ ๒ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ขณะแสดงธรรม นั่งอาสนะต่ำกว่าผู้ฟัง จึงรับสั่งให้เรียกพวกภิกษุฉัพพัคคีย์มาซักถาม เมื่อพวกภิกษุฉัพพัคคีย์กราบทูลว่า ทำเช่นนั้นจริง พระพุทธองค์จึงทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสว่า การกระทำเช่นนั้น

 

             ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เคารพในพระธรรมของพระองค์ เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เนื่องจากโบราณกาล บัณฑิตทั้งหลายได้ติเตียนอาจารย์ที่นั่งอาสนะต่ำบอกมนต์ แก่ชนที่นั่งอยู่บนอาสนะสูงกว่า ครั้นแล้วได้ตรัสแสดงเรื่องในอดีต ซึ่งปรากฏอยู่ใน ฉวชาดกซึ่งมีใจความโดยย่อดังนี้

 

             ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นคนจัณฑาล เมื่อตั้งตัวได้ก็มีภรรยา ครั้นเมื่อภรรยาแพ้ท้อง ต้องการกินมะม่วง แต่เนื่องจากไม่ใช่ฤดูกาลที่มีมะม่วง บุรุษจัณฑาลจึงอาสาจะหาผลไม้เปรี้ยวอย่างอื่นมาแทน แต่ภรรยาของเขาก็ไม่ยอม โดยอ้างว่าถ้าไม่ได้กินมะม่วงจะต้องตายอย่างแน่นอนด้วยความรักภรรยา บุรุษจัณฑาลจึงต้องคิดหาทางไปหามะม่วงมาให้ภรรยาให้ได้

 

              ในที่สุดเขาก็นึกได้ว่า ในพระราชอุทยานของพระเจ้าพาราณสี มีต้นมะม่วงที่ออกผลเป็นประจำ เขาจึงแอบเข้าไปยังพระราชอุทยานในเวลากลางคืน แล้วซ่อนตัวอยู่บนกิ่งต้นมะม่วงจนถึงรุ่งเช้า แต่ครั้นรุ่งเช้าแล้ว ก็ไม่กล้าลงจากต้นมะม่วง ด้วยเกรงว่าจะถูกคนเฝ้าพระราชอุทยานจับในข้อหาว่าเป็นโจร จึงคิดว่า จะแอบอยู่บนต้นมะม่วงจนถึงเวลากลางคืนจึงค่อยออกไป

 

              ในวันนั้นเอง พระเจ้ากรุงพาราณสีได้เสด็จเข้าไปยังพระราชอุทยาน เพื่อเรียนมนต์กับปุโรหิตท่านหนึ่ง ณ บริเวณโคนต้นมะม่วงนั้น พระองค์ประทับนั่งบนอาสนะสูงกว่าอาจารย์ ในขณะที่เรียนมนต์
พระโพธิสัตว์ซึ่งแอบอยู่ข้างบนต้นมะม่วงเห็นดังนั้น

 

               จึงคิดว่า พระราชาประทับนั่งบนอาสนะสูงเรียนมนต์ ไม่ทรงเคารพธรรม (ความรู้ที่กำลังเรียน) แม้พราหมณ์ผู้นั่งอาสนะต่ำสอนมนต์ก็ไม่เคารพธรรม (ความรู้ที่กำลังสอน) แม้ตนเองผู้ไม่คำนึงถึงชีวิต มาทำการขโมยมะม่วง ก็เป็นผู้ไม่เคารพธรรม (ศีล) พระโพธิสัตว์จึงตัดสินใจลงจากต้นมะม่วง มายืนอยู่ระหว่างพระราชาและปุโรหิต แล้วกราบทูลว่า

 

                “ข้าพระบาทเป็นคนฉิบหายแล้ว พระองค์ทรงเป็นผู้เขลา ปุโรหิตเป็นคนตายแล้ว”

                 พระราชาจึงตรัสถามถึงสาเหตุที่บุรุษจัณฑาลกล่าวเช่นนั้นพระโพธิสัตว์กล่าวตอบว่า

 

                 “กิจทั้งหลายที่เราทั้งหลาย (ทั้ง ๓) ทำแล้วนี้เป็นกิจลามก (ไร้มารยาท ไม่เป็นธรรม) คนทั้งสองไม่เห็นธรรมคนทั้งสองเคลื่อนจากปกติเดิม คือ อาจารย์นั่งบนอาสนะต่ำบอกมนต์ และศิษย์นั่งบนอาสนะสูงเรียนมนต์”

 

                  ส่วนกิจลามกของพระโพธิสัตว์ก็คือ การทำตนเป็นขโมย

                 

                  พราหมณ์ปุโรหิตได้ตอบพระโพธิสัตว์ว่า

 

                 “เราบริโภคข้าวสุกแห่งข้าวสาลีอันสะอาด ปรุงด้วยเนื้อเพราะเหตุนั้น เราจึงไม่ซ่องเสพธรรม (ห่วงท้องไม่ห่วงธรรม) ที่พวกฤๅษีทั้งหลายผู้แสวงหาคุณเสพแล้ว”

 

                   พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงตอบว่า  “ท่านจงหลีกไปเสียเถิด โลกยังกว้างใหญ่ แม้คนอื่น ๆ ก็ยังหุงต้มกิน เพราะเหตุนั้น อธรรมที่ท่านประพฤติมาแล้ว อย่าได้ทำลายท่านเสียเลย เหมือนก้อนหินต่อยหม้อให้แตกฉะนั้น    ดูก่อนพราหมณ์ เราติเตียนการได้ยศ ได้ทรัพย์ และการเลี้ยงชีวิตด้วยการทำตนให้ตกต่ำ หรือด้วยการประพฤติไม่เป็นธรรม”

 

                  ในระหว่างที่สดับการโต้ตอบอยู่นั้น พระราชาทรงเลื่อมใสคำพูดของพระโพธิสัตว์มาก จึงตรัสถามว่า “บุรุษผู้เจริญ เธอเป็นชาติอะไร” พระโพธิสัตว์ได้กราบทูลว่า ตนเป็นจัณฑาล

 

                  ในที่สุด พระราชาจึงเสนอแต่งตั้งให้พระโพธิสัตว์เป็นพระราชาในตอนกลางคืน ส่วนพระองค์เป็นพระราชาตอนกลางวัน แล้วประทานพวงดอกไม้ เครื่องประดับพระศอของพระองค์ ให้ประดับพระศอของพระโพธิสัตว์ นับแต่นั้นมา พระราชาทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทรงทำความเคารพในฐานะอาจารย์ ประทับนั่งบนอาสนะต่ำกว่าแล้วทรงเรียนมนต์

 

                 เมื่อจบพระธรรมเทศนา ทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้เป็นพระอานนท์ ส่วนบุรุษจัณฑาล คือพระตถาคตเอง

 

                จากพระธรรมเทศนาและชาดกที่พระพุทธองค์ทรงยกมาแสดงประกอบนี้ ย่อมแสดงอย่างชัดเจนว่า บัณฑิตในสมัยโบราณกาลมีความเคารพในพระธรรมเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือผู้แสดงธรรมก็ต้องเคารพธรรม ผู้ฟังธรรมก็ต้องเคารพธรรม และผู้ฟังธรรมในฐานะที่เป็นศิษย์

 

                ถ้าเป็นฆราวาสแม้จะมีฐานันดรศักดิ์สูงกว่าครูอาจารย์ผู้แสดงธรรม ก็จำเป็นต้องแสดงความเคารพครูอาจารย์ โดยการนั่งในที่ต่ำกว่าครูอาจารย์ จะมีแต่ครูอาจารย์ที่ไม่เคารพธรรมเท่านั้นที่ยอมนั่ง
ต่ำกว่าศิษย์ ยิ่งถ้าครูอาจารย์เป็นพระภิกษุสงฆ์ด้วยแล้ว จะต้องนั่งสูงกว่าศิษย์เสมอ พระภิกษุสงฆ์ถึงแม้ไม่ได้เป็นครูอาจารย์ ฆราวาสผู้มีศีลน้อยกว่าก็ต้องกราบไหว้อยู่แล้ว ถ้าศิษย์นั่งสูงกว่าพระภิกษุสงฆ์จะเป็นไปได้หรือที่ศิษย์จะให้ความเคารพกราบไหว้พระภิกษุสงฆ์

 

             " ดูก่อนพราหมณ์ เราติเตียนการได้ยศได้ทรัพย์ และการเลี้ยงชีวิตด้วยการทำตนให้ตกต่ำหรือด้วยการประพฤติไม่เป็นธรรม"

 

 

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ ขุ.ชา.อ. ๖๐/๕๓๓-๕๔๐ (แปล.มมร)

๒ ขุ.ธ.อ. ๔๓/๒๙/๗๔-๗๕ (แปล.มมร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

ฟังหนังสือเสียง   shorturl.at/hitvF

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014254049460093 Mins