การอุปสมบท ย่อมวิบัติด้วยเหตุ ๔ อย่าง

วันที่ 18 ตค. พ.ศ.2562

การอุปสมบท ย่อมวิบัติด้วยเหตุ ๔ อย่าง

การอุปสมบท ย่อมวิบัติด้วยเหตุ ๔ อย่าง

     วิบัติ ๔ ประการ มีนัยตรงกันข้ามจากสมบัติ ๔ ประการเหล่านี้ คือ

     วัตถุวิบัติ คือ คนมีกาลฝนหย่อน ๒๐ ปี ๑ บัณเฑาะก์ (กะเทย) ๑ อุภโตพยัญชนกคือคนมีเพศ ๒ ทั้งหญิงทั้งชาย ๑ ภิกษุณีทูสกคนทำร้ายภิกษุณี ได้แก่ คนผู้ข่มขืนภิกษุณีในอัธยาจาร ๑ เถยยสังวาสกะ คนลักเพศคือถือเพศเป็นภิกษุเอาเอง ๑ ติตถิยปักกันตกะ ภิกษุไปเข้าเดียรถีย์ มาตุฆาตกะคนฆ่ามารดา ๑ ปิตุฆาตกะ คนฆ่าบิดา ๑ อรหันตฆาตกะ คนฆ่าพระอรหันต์ ๑ โลหิตปปาทกะ คนทำร้ายพระศาสดาจนถึงทำพระโลหิตให้ห้อขึ้น ๑ สังฆเภทกะ คนทำลายสงฆ์ ๑ ภิกษุต้องปาราชิกละเพศไปแล้ว ๑ คน ๑๒ จำพวก นี้เรียกว่า วัตถุวิบัติห้ามอุปสมบท แม้อุปสมบทแล้วรู้ภายหลังก็พึงนาสนะเสีย ฯ

     ยกคนมีกาลฝนหย่อน ๒๐ ปี เสียจำพวกหนึ่ง นอกนั้นอีก ๑๑ จำพวก ห้ามอุปสมบทอย่างเด็ดขาด ส่วนที่มีกาลฝนหย่อน ๒๐ ปี จำพวกเดียวบรรพชาเป็นสามเณรได้ นอกนั้นไม่ควรให้บรรพชา เพราะการบรรพชาเป็นบุรพภาคแห่งอุปสัมปทา ผู้บรรพชาก็เป็นเหล่ากอสมณะ คนที่ไม่ควรเป็นสมณะก็ไม่ควรบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งแปลว่าลูกพระ

     นอกจากที่กล่าวมานี้ ยังมีจำพวกคนถูกห้ามไม่ได้รับบรรพชาอุปสมบทอีก 4 จำพวก คือ

     ๑. คนมีโรคอันจะติดต่อกัน โรคไม่รู้จักหาย โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรค ๕ อย่าง คือ กุฏฺธํ โรคเรื้อน คุณโท โรคฝี กิลาโส โรคกลาก โสโส โรคมงคร่อหรือโรคหืดอันมีอาการคล้ายกัน อปมาโร โรคลมบ้าหมู ๆ
     ๒. คนมีอวัยวะบกพร่อง คือ มีมือขาด มีเท้าขาด มีนิ้วมือนิ้วเท้าขาดมีหูขาด มีจมูกขาด เป็นต้น ๆ
     ๓. คนมีอวัยวะไม่สมประกอบ คนมีมือเป็นแผ่น คือ นิ้วมือไม่ได้จักเป็นง่าม คนค่อม คนเตี้ย คนตีนปุก เป็นต้น ฯ
     ๔. คนพิการ คือ คนตาบอดตาใส คนง่อย คนมีมือหงิก เท้าหงิกคนกระจอก คนไม่ปกติ และคนหูหนวก เป็นต้น ๆ
     ๕. คนทุรพล คือ คนแก่ง่อนแง่น คนมีกำลังน้อย ชั้นแต่จะทำกิจมีย้อมจีวรของตนเป็นต้นก็ไม่ไหวฯ
     ๖. คนมีเกี่ยวข้อง คือ คนที่บิดามารดาไม่ได้อนุญาต และคนมีหนี้สินเป็นต้น ฯ
     ๗. คนเคยถูกลงอาชญาหลวง, มีหมายปรากฏอยู่ คือ คนถูกเฆี่ยนหลังลาย คนถูกสักหมายโทษ (เช่น คนถูกเนรเทศ) ฯ
     ๘. คนประทุษร้ายความสงบ คือ โจรผู้ร้ายที่ขึ้นชื่อโด่งดัง -ฯ 

     ในคน ๘ จำพวกนี้ ห้ามไม่ให้บรรพชาอุปสมบท แต่ไม่ได้ห้ามเป็นเด็ดขาด เพราะท่านไม่จัดเป็นจำพวกอภัพพบุคคล ห้ามแต่โดยอาการไม่สมควร เมื่อบวชแล้วไม่ต้องนาสนะ แต่ปรับอาบัติทุกกฎแก่ผู้บวชให้ฯ เท่านั้น ๆ (มหาวัคค์ภาค ๑ หน้า ๑๕๐-๑๕๖ มหาขันธ์แปล หน้า ๓๐)

     คนนอกจากนี้ เช่น คนไม่มีอุปัชฌายะ คนไม่มีบาตร คนไม่มีจีวรคนไม่มีทั้งบาตรทั้งจีวร ท่านก็ห้ามไม่ให้อุปสมบท และชื่อว่าห้ามบรรพชาโดยนัยด้วย

     นอกจากนี้ ตามระเบียบบริหารคณะสงฆ์ พระอุปัชฌายะต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้าม ตามที่บัญญัติไว้ในสังฆาณัติระเบียบพระอุปัชฌายะ พุทธศักราช ๒๔๘๗ มาตรา ๑๕ ดังนี้

     (๑) คนทำความผิดหลบนี้อาญาแผ่นดิน
     (๒) คนหลบหนีราชการ
     (๓) คนมีคดีค้างในศาล
     (๔) คนเคยถูกตัดสินจำคุก โดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ
     (๕) คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระพุทธศาสนา
     (๖) คนมีโรคติดต่อ
     (๗) คนมีอวัยวะพิการ จนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้สะดวก

     ปริสวิบัติ คือ การอุปสมบท ชุมนุมภิกษุไม่ครบองค์กำหนดตามที่กล่าวแล้วข้างต้นในปริสสมบัตินั้น ฯ

     สีมาวิบัติ คือ การอุปสมบทไม่สันนิบาตกันในเขตชุมนุมซึ่งเรียกว่าสีมาหรือสันนิบาตกันในเขตสีมาที่เล็กนัก และสีมาที่ใหญ่นักเป็นต้น ฯ

     กรรมวาจาวิบัติ คือ กรรมวาจาไม่สวดประกาศชื่อวัตถุ คือบุคคลผู้เพ่งอุปสมบทไม่ออกชื่อบุคคล คืออุปัชฌายะไม่ออกชื่อสงฆ์ผู้เป็นเจ้าการ ไม่สวดกรรมวาจา สวดแต่ญัตติ ๔ หน หรือสวดผิดระเบียบ หรือทำตกหล่น ไม่ตั้งญัตติเสียก่อนแล้วสวดอนุสาวนา เหล่านี้เรียกว่า "กรรมวาจาวิบัติ"
 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.058292003472646 Mins