วันมาฆบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓) วันอัศจรรย์ของโลก

วันที่ 04 มีค. พ.ศ.2547

วันมาฆบูชา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓)  วันอัศจรรย์ของโลก

.....วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันบูชาพิเศษ เป็นวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกัน พระศาสดาทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ทรงปักหลักคำสอนและกำหนดแนวทางนโยบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และในวันนี้พุทธบริษัทนิยมน้อมรำลึกบูชาพระรัตนตรัย ทั้งอามิสและปฏิบัติบูชากันเป็นธรรมเนียมสืบทอดมา มีการจุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชา เป็นต้น

.....สมัยหนึ่ง เหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนักเกิดขึ้นในเวลาบ่ายของวันมาฆปุณณมี วันที่พระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์มาฆะ นั่นคือ หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ทีฆนขปริพาชกจบลงแล้ว เสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏไปยังพระเวฬุวันมหาวิหาร ทรงประชุมพระสาวก มีสันนิบาติประกอบด้วยองค์ ๔



.....ตามปกติตกในวันเพ็ญเดือน ๓ ตามวิธีนับอย่างไทยเรา และถ้าปีใดมีอธิกมาศ ในปีนั้นก็จะตกในเดือน ๔ วันมาฆบูชา จัดเป็นวันพิเศษของพระพุทธศาสนาเพราะมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นในวันนี้ ๒ ครั้ง โดยครั้งแรกนับเวลาแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือน หรือนับแต่วันที่ทรงเริ่มสั่งสอนประชาชนได้ ๗ เดือน อีกทั้งเป็นเวลาที่ทรงได้พระสาวกที่เป็นพระอรหันต์ประมาณ ๑,๓๔๐ องค์ โดยทรงส่งไปประกาศสัจธรรม ยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบใหม่ ในส่วนของพระองค์เองประทับอยู่ ณ วัดพระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เมื่อถึงวันนี้พระสาวกเหล่านั้น จะเห็นพวกพราหมณ์ทำพิธีดั้งเดิมของพราหมณ์ด้วยการบูชาในเทวสถานและประกอบพิธีศิวาราตรี ทำพิธีลอยบาปในแม่น้ำคงคา อันเป็นพิธีใหญ่ของพราหมณ์ เห็นดังนี้พระสาวกเหล่านั้นน่าจะคิดว่าจะทำโดยทำนองนั้นบ้าง จึงพากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า โดยมิได้นัดหมายกัน เหตุการณ์เช่นนี้ตลอดพระชนม์ พระพุทธเจ้ามีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และในวันนี้วันประชุมพิเศษประกอบด้วยองค์ ๔ คือ ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ได้แก่

 

.....๑.วันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ พระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์มาฆนักษัตร์

.....๒.พระอรหันตสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมที่เวฬุวันมหาวิหารในกรุงราชคฤห์

.....๓.พระสงฆ์พุทธสาวกทั้งหมดนั้นเป็นเอหิภิกขุ พระพุทธเจ้าประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง

.....๔.พระสงฆ์พุทธสาวกเหล่านั้น ไม่มีใครเชื้อเชิญบังเอิญมาเองโดยมิได้นัดหมาย

 

 

.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะ โปรดให้การมาของพุทธสาวกนั้นเป็นการประชุมใหญ่ การประชุมพิเศษ จึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งเป็นมหาสังฆสันนิบาต ทรงประกาศหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๓ ประการ อันเป็นหัวข้อในที่ประชุมนั้น สำหรับเป็นหลักการสั่งสอนต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

.....โอวาท หมายถึง คำสอน ปาติ คือ ผู้ทำตาม หรือผู้รักษา โมกข์ หมายถึงทำให้พ้น โอวาทปาติโมกข์ จึงหมายถึง หลักคำสอน (ที่รวมถึงพระธรรมและพระวินัย) ซึ่งทำให้ผู้ทำตามพ้นจากภัย คือ ทุคติใจความสำคัญในโอวาทปาติโมกข์มีดังนี้ คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งหมดมี ๓ ประการคือ

๑.ไม่ทำบาปทุกชนิด (สัพพปาปัสสะ อะกะระณัง)

๒.ทำกุศลตามสามารถ (กุสลัสสูปสัมปทา)

๓.ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว (สจิตตปริโยทปนัง)


.....แล้วยังทรงสรุปหลักคำสอนสำหรับการเผยแผ่ ทรงแสดงหลักของผู้สอน ที่อาจเรียกว่า หลักครูไว้ดังนี้

๑.ต้องมีขันติความอดทน (อดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง)
๒.ต้องมุ่งสอนความสงบ (การไม่กล่าวร้าย)
๓.ต้องไม่ร้ายต่อใคร (การไม่ทำร้าย)
๔.ต้องเอาดีต่อดี (ความสำรวมในพระปาติโมกข์)
๕.ต้องอยู่ในระเบียบวินัย (ที่นอน ที่นั่งอันสงัด)
๖.ต้องรู้ประมาณในการเป็นอยู่ (ความเป็นผู้ประมาณในภัตตาหาร)
๗.ต้องตั้งใจให้แน่วแน่ ทำแต่ที่ดีมีคุณมีประโยชน์เท่านั้น (การประกอบความเพียรในอธิจิต)
 

.....พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์คาถาด้วยพระองค์เอง พระพุทธเจ้าผู้มีพระชนมมายุยืนยาวนานทั้งหลาย จะทรงยกขึ้นแสดงจนถึงที่สุดแห่งพระศาสนา เช่น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงแสดง ๖ ปีต่อครั้ง แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระชนมายุน้อยทั้งหลาย ทรงยกพระคาถาขึ้นแสดงเฉพาะในปฐมโพธิกาลเท่านั้น (ด้วยว่าจำเดิมตั้งแต่เวลาทรงบัญญัติสิกขาบทมา พวกภิกษุเท่านั้นสวดแสดงอาณาปาติโมกข์ อันเป็นระเบียบวินัยของพระภิกษุอย่างเดียว พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงสวดเพราะมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทำอุโบสถพึงสวดปาติโมกข์ในบริษัทที่ไม่บริสุทธิ์)
 


.....จากเหตุการณ์อัศจรรย์อันบังเกิดขึ้น ในวันที่นับว่าเป็นวันที่พระบรมศาสดทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก และการที่ทรงเลือกเอากรุงราชคฤห์ น่าจะเห็นว่าเพราะพระองค์ทรงเห็นความมั่นคงของพระศาสนาแล้ว เนื่องด้วยพระเจ้าพิมพิสารทรงเลื่อมใสแล้วก็มั่นใจว่าน่าเจริญ เพราะการตั้งสมาคมต้องอาศัยความนิยมนับถือของประชาชนเป็นใหญ่ สมาคมที่ตั้งขึ้นก็เจริญ หากไม่มีผู้นิยมนับถือก็ย่อมเสื่อมไปในที่สุด อีกประการหนึ่ง ก็ต้องการจะอาศัยกำลังของพระเจ้าพิมพิสารด้วย เพราะสมาคมที่ตั้งขึ้นแล้วจะดำรงยั่งยืนอยู่ได้ ต้องได้รับความอุปถัมภ์บำรุงเพียงพอ เมื่อกษัตริย์ทรงเลื่อมใสแล้ว ก็เป็นอันได้รับความอุปถัมภ์ที่แข็งแรง ซึ่งพอไว้ใจได้ว่าจะไม่ล้ม ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมานี้



.....นอกจากนี้นับเป็นเหตุการณ์พิเศษอีกอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาเป็นอันกำหนดไว้ว่า วันมาฆบูชามีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น ๒ ครั้งคือ

๑.วันจาตุรงคสันนิบาต
๒. วันปลงอายุสังขาร


.....นับเป็นเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งคือ นับจากเวลาแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๔๕ พรรษา ในวันนั้นพระพุทธเจ้าประทับ ณ ปาวาลเจดีย์ นครเวสาลี แคว้นวัชชี วันนั้นได้ทรงแสดงอิทธิบาทธรรม ๔ แก่ท่านพระอานนท์ ที่อานิสงส์มากนัก ผู้ที่เจริญให้มีในตนได้แล้ว โดยที่สุดแม้หมดอายุแล้วก็ยังต่ออายุได้ เมื่อพระอานนท์ออกจากที่เฝ้าแล้ว พระยามารได้โอกาสจึงเข้าไปเฝ้าทูลให้เสด็จนิพพานอ้างความหลังครั้งตั้งพระทัยทรงแสดงธรรมว่า บัดนี้หลักสัจธรรมของพระองค์แพร่หลายแน่นหนาเป็นไปมากในพุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งบริษัท ๔ ก็มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมนั้น ทั้งสามารถนำสืบได้แล้ว จึงเป็นการสมควรแล้วที่พระองค์จะเสด็จนิพพาน ขอเชิญเสด็จนิพพานเถิด เมื่อได้ทรงฟังดังนั้น จึงทรงพิจารณาขณะสังขารร่างกายของพระองค์ซึ่งมีพรรษา ๘๐ นั้น จึงปลงพระทัยว่าจะเสด็จนิพพาน จึงตรัสแต่พระยามารว่า “ดูกรมาร อีกสามเดือนนับแต่นี้ ตถาคตจักนิพพาน “



.....ด้วยเหตุการณ์พิเศษทั้ง ๒ ครั้งอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนามาประมวลลงในวันนี้ จึงถือว่าวันเพ็ญเดือนมาฆะเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา ชาวพุทธทั่วโลกจึงพากันทำการบูชาใหญ่ เพื่อน้อมรำลึกสำนึกในพระคุณแห่งองค์พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ได้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงถาวรตลอดมาถึงทุกวันนี้ น้อมรำลึกพระธรรมโดยเฉพาะพระโอวาทปาฏิโมกข์ น้อมรำลึกถึงคุณแห่งพระอริยสงฆ์สาวกผู้ประเสริฐด้วยธรรม

.....ทั้งพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ ต่างพากันประกอบการกุศลเป็นพิเศษ ถือว่าถิ่นใดเหมาะแก่การบำเพ็ญกุศลอย่างใดก็ให้เหมาะแก่ถิ่นอีกด้วย ทั้งพิธีกรรมในภาคกลางวัน มีการทำบุญให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม ต่อด้วยเวลากลางคืน คือการประชุมพร้อมจุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชา ล้วนเป็นอามิสบูชาใหญ่แก่ตน

.....ส่วนปฏิบัติบูชานี้ คือการบูชาด้วยการน้อมนำพระธรรมคำสอนมาประพฤติปฏิบัติตามกำลังปัญญา โดยต้องมีความเข้าใจถูกต้องในธรรมนั้น ๆ เป็นพื้นฐานด้วยการศึกษาจากพระพุทธวจนะให้เข้าใจเสียก่อนแล้วจึงปฏิบัติให้ถูกตรงตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์

.....การประพฤติเป็นประเพณีเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ และจัดเป็นส่วนหนึ่งแห่งวัฒนธรรมซึ่งได้จากพระพุทธศาสนา หากพุทธศาสนิกชนยังประกอบพิธีกรรมนี้อยู่ ชื่อว่าตามรักษาและยังความมั่นคงแก่พระพุทธศาสนาให้ยิ่งยาวนานสืบไป.

 

สุ. พูนพิพัฒน์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03305721282959 Mins