ข้อวัตรปฏิบัติที่ทำให้พระสงฆ์ เป็นเนื้อนำบุญของชาวโลก

วันที่ 27 กพ. พ.ศ.2563

ข้อวัตรปฏิบัติที่ทำให้พระสงฆ์ เป็นเนื้อนำบุญของชาวโลก

 

           ความหมายของสามัญญผล

                เมื่อเราทราบแล้วว่า พระสงฆ์คือใครและมีความสำคัญต่อความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาอย่างไร ต่อไปเราจะได้เข้าสู่ ข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้เป็นมรดกธรรม และอานิสงส์หรือผลที่จะได้รับเมื่อพระสงฆ์ได้ลงมือปฏิบัติข้อวัตรทั้งหลายเหล่านั้น ไม่เพียงแต่พุทธศาสนิกชนเท่านั้นที่พึงทราบ แม้แต่ตัวของพระสงฆ์เองยิ่งต้องตระหนักทราบเป็นอย่างยิ่ง

 

               เป็นบุญลาภของพวกเราอย่างยิ่ง ที่พระสงฆ์ในกาลก่อนได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาทรงจำพระธรรมวินัย ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม รักษาและสืบทอดพระสัทธรรมโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันจนกระทั่งทำให้พระสัทธรรมคำสอนมาถึงมือของพวกเราในวันนี้ ซึ่งพระสูตรสำคัญที่กล่าวถึง ข้อวัตรปฏิบัติและอานิสงส์ที่จะได้รับนี้คือ สามัญญผลสูตร นั่นเอง

 

               คำว่า สามัญญผล ในสามัญญผลสูตร หมายถึง ผลหรืออานิสงส์ของความเป็นสมณะ หรือ ผลดีของการเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา       

           

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงผลดีหรืออานิสงส์ของการบวชในพระพุทธศาสนา ที่พระภิกษุสงฆ์จะพึงได้รับว่า มีเป็นขั้น ๆ ตามลำดับ เริ่มจากอานิสงส์ที่เห็นประจักษ์ได้ในปัจจุบันคือ ได้รับการ
ยกย่องเคารพนับถือจากบุคคลโดยทั่วไป มีความสงบกาย วาจา ใจมีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องต่าง ๆ รอบคอบขึ้น มีความเข้าใจเรื่องโลกและชีวิตอย่างแท้จริง

 

               อันเป็นเหตุปัจจัยให้สามารถเป็นกัลยาณมิตรให้ตนเอง ครองชีวิตโดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส และสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้ผู้อื่น คือ เป็นผู้ชี้ทางถูกให้แก่บุคคลใกล้ชิดรอบข้างและชาวโลกได้ตลอดไป จนบรรลุถึงขั้นสูงสุด คือ มรรคผลนิพพานในที่สุด 

 

               หากยังไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานในชาตินี้ได้ ประสบการณ์และบุญกุศลทั้งปวงที่นักบวชได้บำเพ็ญไว้ในปัจจุบันชาติก็ไม่สูญเปล่า ย่อมสั่งสมไว้เป็นรากฐานหรือกองทุนเพื่อรอเวลาออกผลในชาติภพต่อ ๆ ไป

 

                สมดังพุทธภาษิตที่ว่า “บุคคลอย่าสำคัญว่าบุญเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ๆ ได้ ฉันใด คนมีปัญญา เมื่อสั่งสมบุญแม้ทีละเล็กทีละน้อยก็เต็มด้วยบุญได้ ฉันนั้น”  เมื่อบุญเต็มเปี่ยมแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

         

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ ขุ.ธ. ๒๕/๑๒๒/๖๙ (แปล.มจร)

                                                         จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3   

โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037700084845225 Mins