บทสรุปสามัญญผลสูตร... คุณลักษณะของพระสงฆ์ที่ดีในพระพุทธศาสนา

วันที่ 04 มีค. พ.ศ.2563

บทสรุปสามัญญผลสูตร... คุณลักษณะของพระสงฆ์ที่ดีในพระพุทธศาสนา

 

                    สามัญญผลสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วย ผลของความเป็นสมณะ คือ ประโยชน์ที่จะได้จากการดำรงเพศเป็นสมณะ หรือบำเพ็ญสมณธรรม สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ระดับ และเพื่อให้ได้ผลของความเป็นสมณะทั้ง ๓ ระดับนี้ ผู้ที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาจะต้องฝึกฝนอบรมตนเองไปตามระดับด้วยเช่นกัน

 

                    ระดับที่ ๑ ทำให้ผู้บวชสามารถยกตนจากฐานะเดิม คือแม้แต่ผู้ที่มีฐานะเดิมต่ำต้อยในสังคม เช่น เป็นทาส เป็นกรรมกร หรือเป็นชาวนา ก็พ้นจากฐานะเดิมนั้น ได้รับการเคารพยกย่องปฏิบัติด้วยดีจากฆราวาสทั้งหลายซึ่ง สิ่งที่ผู้บวชเข้ามาในพระพทุธศาสนาพึ่งปฏิบัติ คือ 

 

                    ๑) บวชอย่างมีเป้าหมาย คือ ไม่ว่าจะบวชระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม ก็ตั้งใจบวชเพื่อฝึกฝนอบรมตนเอง ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ปฏิญาณในท่ามกลางสงฆ์ว่า จะบวชเพื่อกำจัดทุกข์ทั้งหลายให้สิ้น
และ ทำพระนิพพานให้แจ้ง ด้วยการศึกษาทั้งภาคทฤษฎีในพระไตรปิฎก และลงมือปฏิบัติตามธรรมที่ได้ศึกษา โดยได้รับการชี้แนะจากพระอุปัชฌาย์หรือพระอาจารย์

 

                    ๒) สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่เสมอ คือ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย และสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

 

                   ๓) มีอาชีพบริสุทธิ์ อาชีพของพระภิกษุตามพระพุทธบัญญัติคือ การบิณฑบาต ซึ่งเป็นการขอตามแบบอริยประเพณี

 

                ๔) ถึงพร้อมด้วยศีล อันได้แก่ ข้อควรปฏิบัติและข้อควรเว้นใน จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล เป็นต้น

               คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ย่อมสังเกตเห็นได้จากพฤติกรรมของพระภิกษุแต่ละรูป พระภิกษุรูปใดที่มีคุณสมบัติครบทั้ง ๔ ข้อดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นพระภิกษุที่มีคุณลักษณะของพระสงฆ์ที่ดีในพระพุทธศาสนาเบื้องต้น สมควรได้รับการเคารพนับถือ กราบไหว้และทำนุบำรุงจากฆราวาสโดยทั่วไป

 

               ระดับที่ ๒ ทำให้ผู้บวชมีโอกาสอบรมจิตใจให้สงบประณีตขึ้นไปตามระดับ จนกระทั่งบรรลุฌานสมาบัติ ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ถึง ๔ ตามลำดับ ซึ่งทำให้สามารถละกิเลสอย่างกลาง ที่เรียกว่า นิวรณ์ ได้เมื่อพระภิกษุสามารถฝึกฝนอบรมจิตได้เช่นนี้ ย่อมสมควรได้ชื่อว่าเป็นพระภิกษุที่มีคุณลักษณะของพระสงฆ์ที่ดีในพระพุทธศาสนาเบื้องกลาง ซึ่งการฝึกฝนอบรมจิตใจเพื่อให้สามารถละนิวรณ์ได้นั้น พระภิกษุพึงปฏิบัติดังต่อไปนี้     

 

               ๑) สำรวมอินทรีย์ ระมัดระวังในการดู การฟัง การลิ้มรส เหล่านี้เป็นต้น เพื่อมิให้มีสิ่งที่มากระทบใจ และเมื่อปรากฏตัวต่อหน้าผู้อื่นยิ่งจะต้องสำรวมระวังกิริยามารยาทและการพูดจาอย่เูสมอ ให้สมควรที่จะได้รับการเคารพกราบไหว้จากฆราวาส อย่างไรก็ตาม พระภิกษุที่สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่เสมอ ย่อมเป็นอุปการะเกื้อหนุนให้สามารถสำรวมอินทรีย์ได้ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่นเป็นปกติ

 

               ๒) ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ คือ ไม่ปล่อยใจเลื่อนลอยหรือเผลอสติ     

   

               ๓) เป็นผู้สันโดษ พระภิกษุผู้สันโดษจะต้องมีความพอใจตามมีตามได้ แม้เป็นโยมผู้ที่ปวารณาไว้ก็ตาม ก็ไม่ออกปากขอจนเกินความจำเป็น

 

                ๔) ละนิวรณ์ ๕ เข้าถึงฌานสมาบัติ คือ ตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ละนิวรณ์ทั้ง ๕ จนมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากความเศร้าหมอง นุ่มนวล ควรแก่คุณธรรมคุณวิเศษ
ที่สูงขึ้นไปตามลำดับ

 

                ระดับที่ ๓ ทำ ให้ผู้บวชสามารถบรรลุวิชชา ๘ เข้าถึงคุณธรรมคุณวิเศษที่ประณีตยิ่ง ๆ ขึ้นไป อันได้แก่

               ๑) วิปัสสนาญาณ ญาณรู้เห็นไปตามความเป็นจริง


               ๒) มโนมยิทธิญาณ เนรมิตกายที่เกิดแต่ใจ


               ๓) อิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง


               ๔) ทิพพโสตธาตุญาณ ได้ยินเสียงด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์


               ๕) เจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิต ของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน


               ๖) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ


               ๗) จุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติและกำลังเกิด


               ๘) อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำอาสวกิเลสให้สิ้น

 

                 จากคำตอบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใน ๓ ระดับดังกล่าวนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงผลของความเป็นสมณะหรืออานิสงส์ของการบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งข้อปฏิบัติของพระภิกษุที่จะต้องฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อให้ได้ตามอานิสงส์ของการบวชในแต่ละระดับ ตั้งแต่ระดับเบื้องต้นถึงระดับสูง นอกจากนี้เรา
ยังสามารถกล่าวได้ว่า ทั้งข้อปฏิบัติและอานิสงส์ทั้งหลายเหล่านี้คือ มาตรฐานในการดำเนินชีวิตบนเส้นทางบรรพชิต ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์เองเป็นสำคัญ แม้ตัวของพุทธศาสนิกชนเอง ก็จะได้มีมาตรฐานในการพิจารณาถึงคุณลักษณะที่ดีของพระภิกษุสงฆ์ด้วยเช่นกัน

 

                   อย่างไรก็ตาม อานิสงส์ในระดับกลางและระดับสูง ที่ว่าด้วยการเข้าถึงฌานสมาบัติและวิชชา ๘ นั้น เป็นเรื่องภายในจิตใจ เป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตัวพระภิกษุเอง จัดว่าเป็นอุตตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยอดยิ่งของมนุษย์ เป็นสิ่งยากที่บุคคล ใดจะสามารถล่วงรู้ได้ เมื่อพระภิกษุไม่เปิดเผยคุณวิเศษ เราก็ย่อมไม่มีโอกาสรู้ แต่เราท่านทั้งหลายก็พอจะสังเกตได้จากวัตรปฏิบัติ หรือการแสดงออกของท่าน เช่น ไม่แสดงความโกรธความเกลียดบุคคลอื่น ไม่แสดงความหดหู่ท้อแท้ หรือเบื่อหน่ายชีวิต ไม่แสดงความลังเลสงสัยใน
พระธรรมวินัย เป็นต้น ในทำนองตรงข้าม เป็นผู้ที่มีวัตรปฏิบัติ สงบสำรวม สามารถให้กำลังใจหรือชี้ทางสว่างให้แก่ฆราวาสได้

                 

                  "การศึกษาสามัญญผลสูตรทำให้พระภิกษุมีมาตรฐานในการดำเนินชีวิตบนเส้นทางบรรพชิตแม้ตัวของพุทธศาสนิกชนเองก็จะได้มีมาตรฐานในการพิจารณาถึงคุณลักษณะที่ดีของพระภิกษุสงฆ์"

 

 จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3 

โดยคุณครูไม่เล็ก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029935097694397 Mins