กงกรรมชีวิต

วันที่ 13 มีค. พ.ศ.2563

กงกรรมชีวิต


                  ความจริงในระดับปรมัตถ์ คือความจริงแท้ๆ นั้นสรรพสิ่งทั้งปวง  แบ่งออกเป็นเพียง ๒สิ่ง คือ ธรรมชาติที่เรียกว่า รูป และธรรมชาติ ที่เรียกว่า นาม ไม่มีสิ่งใดที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล  ส่วนความจริงในระดับสมมติ เราใช้กันอยู่หลายระดับ ทั้งที่เห็นได้ชัดๆ และที่เห็นได้ไม่ชัด ที่เห็นได้ชัด เช่น เราสมมติตั้งชื่อให้สิ่งนั้นสิ่งนี้  ที่เห็นได้ไม่ชัด เช่นถือเอาว่า นี่เป็นคน นั่นเป็นสัตว์ โน่นเป็นสิ่งของ ความสมมติในประการหลังนี้ ผู้คนส่วนใหญ่มักยึดถือเอาเป็นจริงเป็นจัง มักไม่ใคร่ยอมเข้าใจ ถ้าจะมีใครพูดหรือ สอนว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่าสัตว์ บุคคล  เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขานั้น เป็นของไม่มีอยู่จริง
 

                  แต่ถ้าเราจะย้อนมาพิจารณาดูเรื่องเปรียบเทียบบางอย่าง อาจจะทำให้เห็นความจริงชัดเจนขึ้น เช่นสิ่งที่เราเรียกกันว่า บ้าน รถ ขนม  กับข้าว ถนน ฯลฯ  เมื่อจับแยกออกเป็นส่วน ๆ แล้ว จะพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีบ้าน เป็นเพียงสิ่งที่เอา อิฐ หิน ปูน ทราย ไม้ กระเบื้องสังกะสี  ตะปู อะลูมิเนียม ฯลฯ มาประกอบรวมกันไว้ ชี้ไปตรงจุดไหน ไม่มีส่วนที่เรียกว่า "บ้าน" แต่ถ้าเรียกรวมกันทั้งหมด จึงมีคำว่า บ้าน


                 ของอื่นๆ ก็ในทำนองเดียวกัน แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า คน หรือสัตว์  ก็เป็นเพียงส่วนต่างๆ มาประกอบรวมกัน คือ เอาทั้งรูป ทั้งนาม มารวมเข้าด้วยกัน จึงเกิดเป็นคนเป็นสัตว์ขึ้นมา 

 

                ยิ่งถ้าสามารถปฏิบัติธรรมให้เกิดญาณ โดยเฉพาะทิพยจักขุญาณ  จะสามารถแลเห็นการทำงานของรูปร่างกาย และการทำงานของจิตใจ  ว่ามีลักษณะเหมือนโรงงานที่ประกอบด้วยเครื่องจักรและกลไกต่างๆ มีเจ้าหน้าที่ควบคุมการทำงานเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นฝ่ายๆ ไป หน้าที่ของใครของมัน เจ้าหน้าที่เหล่านี้เองมี ภาพเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่แน่นอน  มันเสื่อม ภาพอยู่เรื่อยๆ มีตัวตายตัวแทน ตัวแทนที่เกิดทีหลังจะไม่แข็งแรงเท่าตัวเดิมที่หายไป ทั้งจำนวนที่เกิดมาแทนก็ยังน้อยกว่าจำนวนที่หายไป และนี่เองเป็นต้นเหตุให้ร่างกายยิ่งนับวันยิ่งอ่อนแอลงๆ ที่เราเรียกกันว่า ชรา


                 การได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งถ่องแท้ดังที่กล่าวนี้เอง จะทำให้มองเห็นภาพความไม่มีตัวตน จะเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นและดับไป มีสิ่งใหม่เกิดแทนแล้วก็ดับไปอีก เป็นแต่เพียงความต่อเนื่อง ความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกัน
และกัน เมื่อมีเหตุอย่างนี้ ผลอย่างนี้ก็ต้องเกิด เมื่อมีเหตุอย่างนั้น  ผลอย่างนั้นก็ต้องเกิด ไม่มีอะไรบังคับบัญชาให้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น  ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นเพียงธรรมชาติอย่างหนึ่งๆ ไม่มีความเป็นสัตว์  เป็นบุคคล ดังที่เรายึดถือกัน


                    เรื่องที่ข้าพเจ้าจะเล่าให้ท่านฟังต่อไปนี้ เป็นเรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะต้องพบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ข้าพเจ้าจะเล่าในระดับที่พวกเรายังยึดติดในสมมติ ยังเห็นว่าตนเองมีตัวตน ความมุ่งหมายเพื่อยกให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ตราบใดที่เรายังติดในสมมติ เห็นว่าตนเอง  มีตัวตนแล้ว ความทุกข์ในรูปแบบต่างๆ ก็จะครอบงำเราอยู่ตลอดไป


                   ในปี ๒๕๐๕ เมื่อข้าพเจ้าคลอดลูกคนที่สอง เด็กสาวอายุยี่สิบปีเศษ เป็นญาติห่างๆ ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงลูกชายคนโตขอลากลับไปช่วยพ่อแม่ทำนา มารดาของข้าพเจ้าจึงหาเด็กมาเป็นพี่เลี้ยงให้ใหม่

 

                พอข้าพเจ้าเห็นเข้าจึงออกปากทักเด็กทันทีว่า  "อ้าว.. แตงนี่เอง เรียนจบป.๔ แล้วเหรอ หนูยังเด็กกี่ขวบกันเนี่ย จะเลี้ยงน้องให้พี่ไหวเหรอ"


                ทักออกไปอย่างนี้ เพราะเด็กหญิงแตงอายุเพิ่ง ๑๒ ปีกับอีก  ๓-๔ เดือนเท่านั้น จะเลี้ยงเด็กและทำงานบ้านให้ข้าพเจ้าได้อย่างไรกัน   เด็กที่ชื่อแตงไม่ตอบ มารดาของข้าพเจ้าตอบแทน


"แตงมันเพิ่งสอบไล่เสร็จ ยังไม่ประกาศผลสอบเลย แม่ของแตงเดือดร้อนเรื่องเงินเรื่องทองน่ะ มาหยิบเอาที่แม่ไปก่อน และบอกว่าตอนนี้ยังไม่มีทางหาใช้หนี้ อยากจะให้ลูกมาเป็นพี่เลี้ยงลูกของหนู จะได้เอาค่าจ้างนั่นแหละหักใช้หนี้ แม้จะเด็กไปหน่อย แต่แม่จะหัดงานให้เลี้ยงน้อง ทำกับข้าว ซักผ้ารีดผ้า ก็ค่อยสอนเอา ก็คงจะทำเป็น  อีกอย่างค่าจ้างค่าออน แม่เค้าก็สุดแล้วแต่เรา"


                มารดาของข้าพเจ้าหัดเด็กหญิงแตงอยู่ไม่ถึง ๒สัปดาห์ เด็กก็สามารถทำงานบ้านได้เป็นอย่างดี ยกเว้นเรื่องกับข้าว ทำได้แต่อาหารทอดและผัดส่วนแกงที่ต้องปรุงยุ่งยากยังทำไม่ได้ ทำได้แต่แกงจืด
 

                ข้าพเจ้าไม่รู้สึกหนักใจแต่อย่างใด เพราะระยะนั้นมีมารดาเป็นครูฝึกงานบ้านให้เด็กของท่านอยู่แล้ว ทั้งแตงเองก็มีอัธยาศัยที่ข้าพเจ้าชอบหลายอย่าง เช่น เป็นคนพูดน้อย ยิ้มแย้มแจ่มใสข้อสำคัญที่สุดคือ ขยันมาก ตื่นแต่เช้ามืดทุกวัน พลอยให้น้องสาวคนเดียวของข้าพเจ้า  ซึ่งค่อนข้างเกียจคร้านแม้อายุอ่อน กว่าแตง ๓ ปี กลายเป็นคนขยันไปด้วยกัน


                   แตงอยู่กับข้าพเจ้าอย่างเป็นสุขมาถึง ๒ ปีเศษ ข้าพเจ้าตั้งเงินเดือนให้แตงเหมือนลูกจ้างคนโตๆ ของบ้านอื่นๆ คืออัตราเดือนละ ๑๕๐ บาท สมัยนั้น ( สมัยก๋วยเตี๋ยวชามละ ๑ บาท) คงประมาณพันกว่าบาท สมัยนี้ แต่ช่างเป็นที่น่าสงสารเสียจริง แตงไม่เคยเห็นเงินเลยแม้แต่สลึงเดียว เพราะแม่ของแตงจะเบิกเงินล่วงหน้าไปก่อนเสียทุกเดือน  เบิกกันเป็นปีๆ

 

                  แม้ทางบ้านของแตงจะพอมีรายได้ขึ้นบ้างแล้ว แม่ของแตงก็ยังไม่ยอมหยุดเบิก ข้าพเจ้าต้องเพิ่มเงินพิเศษให้เป็นส่วนตัวต่างหากอยู่บ่อยๆ แต่แตงก็มักเก็บออมไว้ พอได้เป็นก้อน ๒-๓ ร้อยบาทก็นำไปให้มารดาจนหมด

 

                เมื่อข้าพเจ้าถามว่า  "แตง หนูไม่อยากมีเงินซื้ออะไรๆส่วนตัวมั่งหรือ เงินเดือนแม่ก็เอาไปหมดแล้ว เงินพิเศษก็ยังเก็บให้แม่อีก เลยไม่มีซื้ออะไรตามใจชอบมั่งเลย"


"หนูก็ไม่รู้จะซื้ออะไรหรอกค่ะ อาหารการกินก็มีพร้อมอยู่แล้ว  เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว พี่ใหญ่ก็ตัดให้ ไปเที่ยวนอกบ้านก็ไม่จำเป็น เวลาว่างหนูดูโทรทัศน์ก็พอแล้ว"


                 แตงตอบอย่างคนมักน้อย เรียกข้าพเจ้าว่าพี่ใหญ่ตามอย่างน้องๆ ของข้าพเจ้า ฐานะของแตงมิได้อยู่อย่างลูกจ้างในบ้าน แต่อยู่เหมือนเป็นน้องสาวคนหนึ่ง อยู่กันอย่างญาติ ข้าพเจ้าให้สิ่งใดแก่น้อง แตงก็จะ
ได้โดยเท่าเทียมกัน

 

"แล้วหนูทำงานบ้านให้พี่เหนื่อยแทบแย่ ไม่เคยได้เงินเลย  ไม่เสียใจ คิดอยากได้เงินบ้างหรือ จะทำงานให้เงินแม่เรื่อยไปรึไง"  ข้าพเจ้าถามถึงความรู้สึกในใจของแตง


"เรื่องเงินหนูก็อยากมีค่ะพี่ใหญ่ ทำงานแล้วไม่ได้เงิน แรกๆหนูก็เสียใจเป็นทุกข์ แต่เมื่อหนูเห็นพี่ใหญ่ได้เงินเดือนมาก็ต้องให้แม่ของพี่ใหญ่เหมือนกัน หนูก็คิดว่าหน้าที่ของลูกคงต้องทำอย่างนั้น แล้วทางบ้านของหนูก็ไม่มีรายได้จากทางไหน ทำแต่นาอย่างเดียว บางปีก็ได้ข้าว  บางปีฝนแล้ง น้ำท่วมก็ไม่ได้เลย อดอยากกันทั้งบ้าน หนูอยู่บ้านพี่ไม่ต้องอดก็ดีแล้ว"


                ข้าพเจ้าเพิ่งถึงบางอ้อ คือเพิ่งเข้าใจว่าทำไมแตงจึงไม่เดือดร้อน ในการทำงานไม่ได้เงิน เป็นเพราะเห็นตัวอย่างที่ข้าพเจ้ายกซองเงินเดือนของตนเองให้มารดาหมดทั้งซองทุกเดือน เมื่อแม่ข้าพเจ้ารับเงินไปแล้ว ท่านก็จะให้ศีลให้พร แล้วก็ชักเงินส่วนที่ท่านต้องการออกไป บางเดือนมากบางเดือนน้อยตามความจำเป็นของท่าน แล้วจะวางซองเงินเดือนคืนไว้ในลิ้นชักส่วนตัวข้าพเจ้า

 

                 ข้าพเจ้าก็จะนำเงินที่เหลือมาบวกลบคูณหาร ให้พอใช้ตลอดเดือน และยังเห็นว่าแต่ละเดือนข้าพเจ้าไม่เคยมีเงินเหลือเก็บ พอมีบ้างก็ยังใช้ทำบุญเรื่องโน้นเรื่องนี้ ยังให้ทำอาหารใส่บาตรทุกวัน ใส่บาตรพระภิกษุสามเณรที่บิณฑบาตผ่านหน้าบ้านทุกรูป ไม่มีเว้น ระยะต้นๆ เพียง ๗-๘ รูป แต่ในระยะหลังถึง ๑๗ รูป

 

                  ข้าพเจ้าก็ให้ใส่จนครบ โดยตนเองเป็นผู้ใส่ในตอนเช้าตรู่แล้วรีบไปทำงาน ปล่อยให้แตงและลูกข้าพเจ้า ซึ่งยังเล็กๆ ใส่แทนต่อไป นี่การกระทำของข้าพเจ้า เป็นวิธีสอนที่ดีที่สุดให้แตงเห็นเป็นตัวอย่าง
 

                   เมื่อทราบถึงความคิดของแตงดังนั้น ข้าพเจ้าก็ถือโอกาสอบรมสั่งสอนแตงไปในตัว


"แตงเอ๊ย พ่อแม่น่ะ.. เป็นคนมีบุญคุณที่สุดในชีวิตของเรา ท่านต้องดูแลเรามาตั้งแต่เราเกิดอยู่ในท้องของท่าน แล้วก็ต้องหาเลี้ยงลูกด้วยความยากลำบากมาตลอดเวลา ท่านต้องอดอยากอยู่เสมอ ขอให้ลูกมีกินให้อิ่มก็พอใจแล้ว หนูอุตส่าห์ทำงานให้เงินแม่ใช้จ่ายเลี้ยงครอบครัว ยังได้ส่งน้องเรียนด้วย หนูก็ได้บุญแยะทีเดียว เพราะเป็นลูกกตัญญู"


                    สอนเด็กไปแล้ว ข้าพเจ้าก็คิดดู โดยความจริงตามวิสัยปุถุชนความโลภในทรัพย์สินเงินทองย่อมมีกันอยู่ทุกคน แตงกับข้าพเจ้าทำงาน  เราต่างก็อยากทำแล้วได้เงินเป็นของตนเอง แต่กลับต้องพบกับสภาพ
ทำเงินได้แล้วต้องให้ผู้อื่นหมด ก็ทำให้ไม่ชุ่มชื่นใจเท่าที่ควร ทรัพย์แปลว่าสิ่งที่ทำให้เจ้าของปลื้มใจ เมื่อทำงานแล้วไม่ได้ทรัพย์ จึงไม่มีความดีใจสุขใจอะไรเกิดขึ้น แต่ที่ไม่เป็นทุกข์มาก เพราะได้จ่ายทรัพย์เหล่านั้นให้แก่คนอันเป็นที่รัก ทั้งยังนิยมกันว่าเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ เป็นความดีงาม จึงพอเต็มใจกระทำ

 

                    ต่อมา เมื่อครอบครัวของแตงเปลี่ยนจากการทำนาเป็นทำอ้อย  มีรายได้ดีกว่าเดิมมาก ข้าพเจ้าจึงปรึกษากับมารดาว่า 

 

"แม่คะ หนูอยากให้แม่พูดกับแม่ของแตงหน่อยเถอะค่ะ ตอนนี้ทางบ้านเค้าพอมีรายได้ดีแล้ว งดเอาเงินเดือนของแตงสักพัก"  มารดาของข้าพเจ้าเห็นด้วย


                     ต่อมาภายหลังมารดาของข้าพเจ้าได้มาส่งข่าวว่า "แม่พูดกับเขาแล้วจ้ะ เขาตอบตกลง แต่แม่ก็อยากจะให้ความเห็นต่อลูกสักหน่อย  พ่อแม่ของแตงน่ะเป็นคนใช้เงินเก่งทั้งคู่ มีเท่าไรก็หาเรื่องจับจ่ายใช้สอย
อยู่เสมอ โดยเฉพาะพ่อแตงชอบเล่นล็อตเตอรี่เป็นชีวิตจิตใจ เดือนหนึ่งๆเสียเงินซื้อหลายๆ ร้อย ซื้อทุกงวดเลย ใครห้ามไม่ฟัง ลูกถามแตงดูซี  เอาไปฝากธนาคารดีมั้ย"


"หนูว่าฝากธนาคารก็ไม่ปลอดภัยนักหรอกค่ะ ยิ่งเห็นตัวเลขเพิ่มขึ้น เดี๋ยวก็อยากได้เงินของลูกไปถลุงเรื่องโน้นเรื่องนี้หมดจนได้  แตงก็เป็นสาวรุ่น อายุ ๑๖-๑๗ แล้ว หนูจะซื้อสร้อยคอให้ใส่สัก ๒ บาท  ดีไหมคะ ทองสองบาทก็ราคา ๘๐๐ เท่านั้นเอง"


                      แม่ข้าพเจ้าชอบเรื่องเครื่องทองรูปพรรณอยู่แล้ว ท่านเห็นดีด้วยทันที ยิ่งตัวของแตงเองเมื่อได้สวมใส่ สร้อยคอ ก็ดีอกดีใจยิ้มน้อย  ยิ้มใหญ่อยู่หลายวัน ข้าพเจ้าซื้อเครื่องประดับดังกล่าวให้เด็กในราว  เดือนกันยายน พอเดือนเมษายนของปีต่อมา ขณะที่ข้าพเจ้าได้หยุดงานพักร้อน (ขณะนั้นทำงานอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ) แตงขอลาข้าพเจ้า ไปเยี่ยมบ้าน ๒-๓ วัน

 

                        กลับมาข้าพเจ้าร้องทักว่า    "อ้าว.. แตงสายสร้อยหายไปไหนล่ะเนี่ย.."


"แม่ขอยืมหนูไปจำนำเสียแล้วค่ะ บอกว่าไม่มีเงินใช้ หนูก็ไม่รู้จะปฏิเสธยังไง" อีกฝ่ายตอบพร้อมกับทำตาแดงๆ เหมือนจะร้องไห้และราวกับจะรู้ว่าคงได้คืนยาก


"ขอยืมรึ..ไม่มีทาง..สูญแน่ๆ เอาไปจำนำ เดี๋ยวต้นก็ไม่มีไถ่ดอกก็ไม่มีให้ ของก็ถูกยึด อยากได้เงินใช้ทำไมไม่เอาที่แม่พี่ไปก่อน  มาถอดสร้อยคอลูกไปได้ยังไง เด็กกำลังเป็นสาว ก็อยากสวยอยากงามมั่ง"


                    ข้าพเจ้าบ่นด้วยความไม่พอใจนัก ยิ่งเห็นแตงทำตาแดงๆ ก็รู้สึกสงสาร จึงไปหยิบสายสร้อยหนัก ๑ บาทของลูกชายคนโตให้ยืมใส่ไปก่อน  แตงกล่าวปฏิเสธไม่ยอมสวมใส่เพราะเกรงใจ แต่เมื่อถูกข้าพเจ้าท้วงว่า


                "ใส่ไปเถอะ เส้นนั้นหนูใส่มาหลายเดือนแล้ว จนเพื่อนบ้านแถวนี้เห็นกันอยู่ทุกคน มันหายไป เดี๋ยวใครถามเข้า หนูจะตอบว่ายังไง  ตอบความจริงก็เหมือนประจานความยากจนครอบครัวเราเอง แต่ถ้ามีเส้นนี้ใส่แทนไปก่อน ไม่มีใครสงสัย"   แตงฟังเหตุผลแล้วเห็นด้วยจึงสวมใส่สีหน้าแช่มชื่นขึ้น


หลายเดือนต่อมาแตงกลับไปเยี่ยมบ้านอีก เมื่อกลับมาได้นั่งเศร้าซึมผิดสังเกต


"แตงเป็นอะไรไปฮึ หน้าตาไม่สบายใจเลย แม่เอาทองของหนูไปขายซะแล้วเหรอ" ข้าพเจ้าถามถูกความจริงเข้า แตงถึงกับน้ำตาไหล  อ้อมแอ้มตอบว่า


"ขายไปแล้วค่ะพี่ใหญ่"  แตงไม่ต้องการพบกับความสูญเสียสายสร้อยเส้นนั้น เมื่อเลือกไม่ได้ต้องประสบเข้า ย่อมเกิดทุกข์เป็นธรรมดา ข้าพเจ้าต้องช่วยปลอบโยนด้วยถ้อยคำว่า


"ช่างมันเถอะ ยังไงมันก็เสียไปแล้ว หนูเอาเส้นใหม่ที่ใส่อยู่นั่น แทนก็แล้วกัน พี่จะซื้อให้น้อง (หมายถึงลูกข้าพเจ้า) ใหม่ก็แล้วกัน  น้องน่ะ ยังเล็กอยู่ ไม่จำเป็นต้องใส่ ซื้อให้เมื่อไรก็ได้"


                       แตงอยู่เป็นปกติสุขกับข้าพเจ้ามาได้อีกไม่กี่เดือน แม่ของแตงก็ขอลูกสาวคืน เพื่อให้ไปทำงานที่ร้านทำผมของญาติทางตลาดพลู  มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณเดือนละ ๓๐ บาท ข้าพเจ้ามิได้คัดค้าน
หรือคิดเพิ่มค่าจ้างให้สูงเท่ากัน เพราะแม่ของแตงไปตกลงกับทางโน้นไว้เรียบร้อย พร้อมกับรับเงินล่วงหน้าไปใช้แล้ว แตงจากไปพร้อมกับทำตาแดงๆ

 

                      ข้าพเจ้าพูดว่า  "ตลาดพลู แค่นี้เอง วันไหนว่างก็ขึ้นรถมาเที่ยวบ้านพี่ซี รถสาย  ๖๖ ทอดเดียวถึงเลย"


"พี่ใหญ่ หนูไม่อยากไปเลย คิดถึงน้องจัง"


น้องหมายถึงลูก ๒ คนของข้าพเจ้า เวลานั้นทั้งคู่น่ารักมาก  ทั้งพี่ทั้งน้องถูกแตงเลี้ยงอย่างดี อ้วนตัวกลมทีเดียว ใครเห็นก็ต้องหยอกเย้า เป็นเด็กหน้าเป็น คือยิ้มเก่งทั้งคู่


                       แตงจากครอบครัวข้าพเจ้าไปแล้ว มารดาข้าพเจ้าหาเด็กลูกจ้างมาให้ใหม่คนหนึ่ง ท่านเสียเวลาฝึกงานให้ใหม่ ฝึกไปท่านก็บ่นไป


"ไม่ไหวเลย แม่นิดนี่ฝึกยากสู้แตงไม่ได้ สอนแตงได้อย่างใจไปทุกอย่าง คิดถึงเจ้าแตงมันเสียจริงๆ"

 

ในที่สุดมารดาของข้าพเจ้า  ทนคิดถึงเด็กแตงของท่านไม่ได้ จึงแอบไปเยี่ยมในวันหนึ่ง  เย็นวันนั้นเมื่อข้าพเจ้ากลับจากทำงาน ก็ต้องประหลาดใจปนกับความดีใจ เมื่อลูกคนโตวิ่งออกมาบอกว่า


"แม่ครับ .. น้าแตงกลับมาอยู่บ้านเราแล้วครับ .. "


"วันนี้แม่แอบไปเยี่ยมแตงมันจ้ะ แม่คิดถึงทุกวันจนทนไม่ไหว  พอแม่เดินเข้าไปในบ้านเท่านั้น แตงก็วิ่งออกมากอดแม่ไว้แน่น ร้องไห้ด้วย  บอกว่าคิดถึงยาย คิดถึงทุกคนที่บ้านเรา" มารดาข้าพเจ้าอธิบาย


"แล้วนี่แตงมาเที่ยวบ้านเรารึไงคะแม่" ข้าพเจ้าถาม พร้อมทั้งมองห่อเสื้อผ้าห่อใหญ่ของแตง


"เปล่าลูก ไม่ใช่เที่ยว มาอยู่เลย แม่ห้ามยังไงๆ แตงไม่ยอมฟังเลย พอแม่ขึ้นนั่งบนสามล้อ แตงก็ถือห่อผ้าปีนขึ้นมานั่งด้วย ใครๆ ห้ามไม่มีฟัง พูดแต่ว่า ไม่อยู่ที่นั่นแล้ว ไม่อยู่แล้ว จะกลับบ้านพี่ใหญ่"


"ตายจริง.. เดี๋ยวป้านวลกะลูกสาวเค้าว่าเราไปแย่งเด็กของเค้ามา ก็แย่กัน.."


"ว่าไม่ได้หรอก เค้าก็เห็นอยู่ว่าเด็กมันร้องไห้วิ่งตามแม่ แม่ไล่ให้ลงรถเท่าไหร่ ก็ไม่ยอมลง พวกเค้ามาช่วยกันพูดยังไงๆ แตงก็ไม่ยอมลงจากรถสามล้อ แถมกอดแม่ไว้แน่น ยืนยันแต่ว่า จะมากับยาย มากับยาย"
ข้าพเจ้านิ่งฟัง และเพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจจึงพูดว่า


"ก็ดี มีเด็ก ๒ คน แม่จะได้ไม่ต้องเป็นห่วงหนู คนหนึ่งทำกับข้าว ซักผ้า ถูบ้าน อีกคนดูแลน้อง"


                     เมื่ออยู่กันตามลำพัง ข้าพเจ้าซักถามถึงความเป็นอยู่ของแตง  ที่บ้านญาติแห่งนั้น จึงทราบว่า แม้แตงจะมีฐานะเป็นญาติ แต่กลับต้องอยู่ในสภาพเหมือนทาส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การวางตัว
การใช้คำพูดจา น้ำใจไมตรีอะไรต่างๆ บางครั้งผู้เป็นนายต้องการน้ำแข็งเพียง ๑ สลึง ให้แตงเดินตากแดดตอนเที่ยงไปซื้อระยะทางเป็นกิโลเมตรถึงเป็นไข้


                       ข้าพเจ้าฟังแล้วรู้สึกเห็นใจเด็ก อยู่กับญาติแต่ถูกบีบบังคับเหมือนเป็นคนรับใช้ อยู่กับข้าพเจ้า ซึ่งเป็นคนอื่นแต่กลับได้รับความอบอุ่นเหมือนเป็นญาติ เด็กจึงเลือกข้าพเจ้าส่วนข้าพเจ้าเองก็คงมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง แต่คิดว่าคงพอแก้ปัญหาได้  อีกไม่ถึงเดือนเมื่อแม่ของเด็กสาวที่ชื่อนิดมาเยี่ยม เด็กก็ขอ
ลาข้าพเจ้ากลับบ้าน เมื่อข้าพเจ้าซักถามด้วยความแปลกใจว่ามีความไม่สบายใจสิ่งใด แม่ของเด็กนิดได้ตอบแทนว่า


"นิดเค้าบอกว่า เค้าอึดอัดใจค่ะ อยู่กับคุณไม่ได้ทำงานอะไรเลย  พี่แตงเค้าแย่งทำหมดทุกอย่าง ตื่นแต่เช้ามืดหุงข้าวทำกับข้าวใส่บาตร  และให้คนในบ้านทาน อาบน้ำป้อนข้าวน้อง พอน้องนอนหลับ ก็ซักผ้า  ถูบ้าน ตอนบ่ายรีดผ้าแล้วไปตลาด กลับมาก็ทำกับข้าว ทำงานทุกอย่างคนเดียวหมดเลย นิดไม่มีอะไรทำ ก็จะกลับ"


                       ข้าพเจ้าอนุญาต และก็พิจารณาดูถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น  สาเหตุจากการต้องพบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทั้งสิ้น


แม่ของแตงไม่ชอบใจที่ข้าพเจ้าให้เงินเดือนลูกสาวน้อยไปจึงให้ไปอยู่ที่อื่น


แม่ของข้าพเจ้าต้องพบกับเด็กใหม่ที่ไม่ถูกใจ ทำให้คิดถึง เด็กแตงคนเก่าของท่าน จนต้องไปเยี่ยม


เด็กแตงไปพบสภาพความเป็นอยู่ไม่สบายใจ ทำให้ต้องหนีกลับเอาซึ่งๆ หน้า


เด็กแตงเห็นเด็กนิดทำงานสิ่งใดไม่เป็น รู้สึกรำคาญจึงแย่งทำเองหมดทุกอย่าง


เด็กนิดพบกับสภาพความไม่มีงานทำ ก็เป็นทุกข์ใจอยู่ไม่ได้


                     เหตุการณ์ที่เล่านี้ แม้จะเป็นเรื่องทุกข์เล็กน้อย แต่ก็พอเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ความประสบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจนำทุกข์มาให้ 

 

                   จากนี้ไปข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องทุกข์ของแตงที่ต้องพบกับสิ่งไม่ถูกใจ  ที่เป็นเรื่องยุ่งยากมากขึ้นๆ ต่อไป   แตงทำงานบ้านให้ข้าพเจ้าอย่างดีเยี่ยมต่อมาปีแล้วปีเล่า จะกล่าวว่าเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของข้าพเจ้าก็ไม่มีผิด รวมทั้งเป็นคนเกื้อหนุนการสร้างบารมีของข้าพเจ้าเป็นอย่างดีที่สุด
 

                  เมื่อข้าพเจ้าหันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม ตลอดจนร่วมอยู่ในหมู่คณะบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกาย คนที่ใกล้ชิดที่สุดคือสามี  กลับกลายเป็นผู้ต่อต้าน ไม่ร่วมมือ และยังทำตนเสมือนเป็นคนขัดขวาง
เสียเอง ตรงข้ามกับแตงซึ่งมีอายุมากขึ้น กลับเป็นคนช่วยเหลือดูแลความเป็นอยู่ในบ้าน แทนหูแทนตาข้าพเจ้าไปหมดทุกอย่าง ให้ข้าพเจ้าออกไปประกอบอาชีพนอกบ้านและช่วยเหลืองานพระศาสนาอย่างเต็มที่
แตงอยู่กับข้าพเจ้ามาตั้งแต่ปี ๒๕๐๕ จนกระทั่งปี ๒๕๒๐ เป็นเวลาถึง ๑๕ ปี กระทั่งลูกๆ ทั้ง ๓ คนของข้าพเจ้าเติบโต เด็กๆ ช่วยตนเองได้


                   แตงจึงมีเวลาว่างมากขึ้น ข้าพเจ้าให้ไปเรียนตัดเสื้อเพิ่มเติมทั้งจากทางโรงเรียนการช่างของรัฐบาล และจากร้านตัดเสื้อที่รู้จักกันดีอีก ๒ แห่ง  แตงพอทำได้ แต่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จะเรียกว่าเป็นเพราะไม่มี "หัว"  (ความสามารถพิเศษ) ทางนี้ก็ได้ ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกหนักใจ เพราะตนเองกำลังคิดลาออกจากราชการ เพื่อไปอยู่ดูแลบิดาซึ่งเจ็บป่วยและแก่ชรามากแล้วที่ต่างจังหวัด รายได้ของข้าพเจ้าเมื่อออกจากงานจะลดลงมาก
 

                     ถ้ายังให้แตงอยู่กับข้าพเจ้าตลอดไป จะทำให้เป็นคนไม่มีอาชีพ และพลอยมีรายได้น้อยไปด้วย แตงมีบุญคุณต่อข้าพเจ้ามาก ข้าพเจ้าต้องหาอาชีพถาวรมั่นคงให้เธอ
 

                    เมื่อคิดให้เป็นช่างตัดเสื้อ แตงก็ทำไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าจึงให้แตงสมัครเป็นลูกจ้างประจำในโรงเรียนที่ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าสถานศึกษาอยู่  เรียกง่ายๆ ว่าเป็นตำแหน่งภารโรงผู้หญิง เงินเดือนขั้นแรก ๓๐๐ บาท  เท่ากับค่าจ้างที่ข้าพเจ้าให้แตงในเวลานั้น มีบ้านพักอยู่ภายในโรงเรียน


                     เวลาเดียวกับที่แตงเริ่มไปทำงานนั่นเอง แม่ของชายหนุ่มซึ่งอยู่ไม่ห่างจากบ้านข้าพเจ้านักได้มาพูดจาสู่ขอแตงให้ลูกชายของเขา  ชายหนุ่มผู้นั้นข้าพเจ้าเห็นมาตั้งแต่อายุ ๗-๘ ขวบ เป็นเด็กดีมาตลอด
มีอาชีพขับรถสองแถวรับจ้าง เก็บหอมรอมริบจนสามารถซื้อรถเป็นของตนเอง ปลูกบ้านไม้สองชั้นของตนเองได้ โดยเฉพาะนิสัยใจคอดีมาก  ยิ้มแย้มแจ่มใสโอบอ้อมอารี ข้าพเจ้าถามความสมัครใจของแตง


"แล้วพี่ใหญ่ มีความเห็นยังไงเรื่องนี้ล่ะคะ" แตงย้อนถามข้าพเจ้า


"ถ้าเป็นเมื่อก่อน เมื่อสมัยพี่ยังไม่สนใจหลักธรรมทางศาสนา  พี่ต้องเชียร์ให้หนูแต่งงานกับรายนี้แน่นอน แม้อาชีพของเค้าไม่มีเกียรติ  แต่คนนิสัยดีๆ ไม่กินเหล้า เจ้าชู้สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ อย่างนี้หายากนะแตง  แต่ตอนนี้พี่เข้าวัดแล้ว การแต่งงานน่ะ ไม่ว่าจะแต่งกับคนดีๆ หรือ คนเลวๆ ก็ทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์ไปคนละแบบ กับคนเลว เราก็ทุกข์เพราะความเลวของเค้า แต่ถ้าเป็นคนดีมาก เราก็จะต้องเกรงใจเป็นห่วงเป็นใย  เราก็สูญเสียอิสรภาพ ตัดทอนการสร้างบารมีไปอีกแบบหนึ่งจ้ะ"


ข้าพเจ้าอธิบายย่อๆ แตงก็เข้าใจ


"หนูอยู่กับพี่มานาน นานกว่าที่อยู่กับพ่อแม่เสียอีก น้องก็เลี้ยงมาแล้วตั้ง ๗ คน ยังมาเลี้ยงลูกของพี่อีก ๓ คน ถ้าหนูต้องแต่งงาน  เดี๋ยวก็มีลูก ต้องเลี้ยงเด็กอีก เบื่อแย่แล้ว หนูไม่แต่งดีกว่า อีกอย่างนะผู้ชายคนนั้นอายุน้อยกว่าหนูตั้ง ๔ ปี หนูไม่อยากได้สามีเป็นเด็กกว่าค่ะพี่  และก็อย่างที่บอก แต่งแล้วไม่มีอิสระ"


ปฏิเสธรายนี้ไปแล้ว ในตอนปิดภาคเรียนปีนั้น มีชายหนุ่มใหญ่สูงอายุ แก่กว่าแตงหลายปี เป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมาชอบพอแตงอีกรายหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าถาม แตงตอบว่า


"รายนี้ก็ไม่ไหวหรอกค่ะ กลิ่นเหล้าฟุ้งออกจากตัวทีเดียว  ขืนแต่งกับคนขี้เมา หนูต้องแย่แน่ๆ"


ข้าพเจ้าดีใจที่แตงเป็นคนไม่สนใจการมีครอบครัว ชีวิตคงไม่ต้องพบความทุกข์จากการมีสามีและลูกๆ

 

                       ก่อนข้าพเจ้าออกจากงานจึงสั่งเสียไว้ว่า  "ต่อจากนี้ พี่ไม่ได้อยู่ดูแลหนูแล้ว หนูต้องระวังรักษาตัวเอง  ไม่มีพี่อยู่ด้วย คนบางคนทั้งครูและภารโรงคนอื่นๆ อาจไม่เกรงใจ  พี่ไม่ห่วงหนูเรื่องการทำงาน เพราะหนูเป็นคนขยัน ใครก็เอาผิดไม่ได้  แต่พี่ห่วงเรื่องชู้สาวน่ะจ้ะ กลัวคนรังแก เพราะพี่ดูออกว่ามีครูและคนงานบางคนสนใจแตงอยู่ พี่เกรงเขาจะใช้วิธีรังแกเอา เพราะใครๆ  ก็รู้ว่าหนูไม่สนใจเรื่องการมีครอบครัว พี่ให้ครูผู้หญิงคนหนึ่งพักอยู่กับหนู  แม้จะได้เป็นเพื่อนกันก็จริง แต่เวลาที่ครูเค้ากลับบ้าน แตงต้องกลับมาค้างบ้านพี่ อย่าพักอยู่ในโรงเรียนตามลำพัง อันตรายมีทั้งจากครูและภารโรงหนุ่มโสดที่พักอยู่ในโรงเรียนหลายคน" แตงรับคำข้าพเจ้า

 

                         เนื่องจากบ้านพักของข้าพเจ้าอยู่ทางฝั่งธนบุรี ที่ทำงานของแตง  อยู่ทางคลองเตย การเดินทางไม่สะดวก ระยะต้นๆ แตงก็ทำตามคำสั่งของข้าพเจ้า ต่อมาภายหลังเกิดความประมาท เรื่องที่ไม่ต้องการพบจำต้องพบความทุกข์หลายๆ อย่างจึงเกิดขึ้น


                       แตงถูกครูหนุ่มโสดขี้เมาคนหนึ่งรังแกจนได้ เหมือนที่ข้าพเจ้า สังหรณ์ใจทุกประการ ข้าพเจ้าได้ยื่นคำขาดต่อครูผู้นั้นว่า


"พี่ไม่อยากบังคับฝืนใจคุณเรื่องแต่งงาน เพราะตามค่านิยมของคนทั่วไปแล้ว ตำแหน่งภารโรงของแตงก็ไม่คู่ควรกับตำแหน่งอาจารย์ของคุณหรอก แต่ความผิดทั้งหมดคุณก็ก่อขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่ใช้การแต่งงานเป็นทางออก ก็ต้องฟ้องร้องกันทางวินัย เพราะเรื่องนี้ปิดไม่มิด  อื้อฉาวด้วย และแตงก็มีความทุกข์แทบอยากฆ่าตัวตายอยู่แล้ว"

 

                     ข้าพเจ้ายังใช้สรรพนามแทนตนเองว่าพี่ เพราะฝ่ายนั้นก็เคยเป็นอดีตลูกน้อง


"ผมแล้วแต่อาจารย์ครับ ยินดีทำตามทุกอย่าง มันผิดไปแล้วครับ  แต่ผมไม่อยากมีความผิดทางวินัย เพราะคงถึงกับต้องถูกไล่ออก งานสมัยนี้หายากครับ" ครูชื่อวิชัยผู้สร้างปัญหาก้มหน้าตอบข้าพเจ้าต่อหน้าแตง


                    ข้าพเจ้าจึงพูดว่า  "งั้นแต่งงานก็แล้วกัน แตงเป็นเด็กของพี่เลี้ยงมา คุณก็เคยเป็นลูกน้องเก่า พี่จะเป็นเจ้าภาพให้ทั้งสองฝ่าย ทั้งค่าสินสอดค่าจัดงาน พี่จะจัดการให้หมด อยู่กันสักเดือนสองเดือน หรืออาทิตย์ สองอาทิตย์ก็ตามใจ  แล้วก็จดทะเบียนหย่าให้เป็นเรื่องเป็นราวเสีย ต่างคนต่างอยู่เพราะไม่ได้รักกันมาก่อน ขืนอยู่กันไปเดี๋ยวมีลูกด้วยกัน จะทำให้เด็กมีปัญหาตามไปด้วย พี่พูดยังงี้เพราะวิชัยกับแตงมีนิสัยคนละอย่าง แตงถูกพี่อบรมสั่งสอนมา เป็นคนมีคุณธรรม อยู่ในศีลในธรรมส่วนเธอเป็นคนกินเหล้า  เจ้าชู้ อยู่กันไปจะทำให้เด็กแตงของพี่ทุกข์ยากไปด้วย เกิดเรื่องขึ้นแค่นี้  ก็ทุกข์มากนักแล้ว อย่าให้ต้องยืดเยื้อเรื้อรังนานต่อไปเลย"


                     ข้าพเจ้าหมดเงินไปเป็นเรือนหมื่น ในสมัยปี ๒๕๒๓ โน้น แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขผลกรรมเก่าของแตงได้ แตงไม่อยากแต่งงาน ก็ต้องแต่ง  ไม่ต้องการคนอายุน้อยกว่า ก็ได้สามีอ่อนกว่า ๔ ปีเหมือนผู้ชายที่ให้แม่มาขอ ไม่ชอบคนกินเหล้าเจ้าชู้ก็ต้องได้พบ  ยังไม่หมดสิ่งที่ไม่ปรารถนาคือไม่ต้องการมีลูก ก็ต้องมีลูก
มีคนแรกได้ไม่นาน เจ็บป่วยต้องผ่าตัดมดลูกทิ้งไปข้างหนึ่ง ต่อมายังมีลูกคนที่สองขึ้นมาอีก

 

                   การหย่าร้างจึงเป็นอันต้องหยุดพูดถึง มาเวลานี้ แตงผู้มีจิตใจอ่อนโยนบริสุทธิ์ได้เปลี่ยนแปลงแทบไม่มีร่องรอยเดิมเหลืออยู่ หงุดหงิด  เกรี้ยวกราด จู้จี้ขี้บ่น เพราะความทุกข์หลายอย่างประดังเข้ามา เรื่องการไปวัด ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างที่เคยได้กระทำสมัยเมื่ออยู่กับข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้ทำเลย ต้องเลี้ยงลูกแสนซน และรบกับสามีขี้เหล้าเจ้าชู้เจ้าเล่ห์ไม่เลิกรา 

 

                         การพบสิ่งใดๆ เรื่องราวเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม บางเรื่องเป็นทุกข์แสนสาหัสแต่ถ้าผู้พบรู้จักใช้เหตุการณ์นั้นสั่งสอนตนเอง ให้ได้เป็นความดีเป็นบุญกุศลขึ้นมา ชีวิตย่อมได้กำไร ตัวอย่างเช่น ถ้าพบกับคน
นิสัยเลวทราม ชอบดุว่าตำหนิติเตียนโดยปราศจากเหตุผล หากเราถือว่าถ้าเราอดทนได้ จะทำให้เราเกิดขันติบารมี

 

                         ถ้าทำสิ่งของมีค่าสูญหายก็ทำใจว่า นึกว่าให้คนที่เก็บได้เป็นทานไป เขาจะได้ดีอกดีใจ
นำทรัพย์นั้นไปใช้ประโยชน์ให้มีความสุข ให้ความรู้สึกเสียดายลดกำลังลง  หัดคิดให้ได้คิดให้เป็นเสียบ้าง เวลาของชีวิตย่อมไม่เสียไปเปล่า  แต่ถ้าต้องพบกับสิ่งใดแล้วสิ่งนั้นทำให้เราสูญเสียโอกาสสร้างความดีอันเป็นบุญกุศลไป นับว่าเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ เสียเวลาในชีวิตไปเปล่า ชีวิตเป็นโมฆะ   ฉะนั้น ขอให้คิดให้ได้อยู่เสมอว่า จะเสียอะไรก็ให้เสียไปเถิด  แต่อย่าให้เสียโอกาสร้างความดี


                           แตงของข้าพเจ้าได้การงานอาชีพที่มั่นคง ได้สามีที่มีเกียรติทางโลก เป็นอาจารย์ มีความรู้ มีหน้าที่การงานและท้ายที่สุดได้ลูกน่ารัก ๒ คน เป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง แต่แตงเสียโอกาสในการสร้างคุณงามความดี   เคยใจกว้างก็กลายเป็นใจแคบตระหนี่ เคยอารมณ์เยือกเย็นอดทน  กลายเป็นขี้หงุดหงิดหวาดระแวง เรื่องให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา  แตงลืมเสียสนิทเหมือนชีวิตไม่เคยทำมาก่อน กลับยึดถือเอาสามีเป็น
ของตน ต้องการให้เขาเป็นคนดีตามที่ตนต้องการ   แตงไปแสวงหาในสิ่งที่ไม่มี เหมือนต้องการบีบหาน้ำจาก
ก้อนหิน หาแผ่นดินกลางทะเลอันเวิ้งว้าง หาช้างมีเขา หาเต่ามีหนวด  อะไรในทำนองนั้น แตงจะหาความซื่อสัตย์จากสามีเจ้าชู้ หาความมัธยัสถ์  จากคนขี้เหล้า คือการหาสิ่งที่ไม่มี แล้วจะหาพบได้อย่างไรกัน

 

                         วิชัยเองเป็นคนเสพสุรามึนเมาอยู่เสมอ สติปัญญาจึงมีน้อยกว่าคนปกติ เมื่อมีเพื่อนครูยุยงเรื่องความไม่เหมาะสม อ้างว่าเขาควรมีภรรยาที่มีอายุน้อยกว่าตน มีความรู้พอๆ กัน จึงจะสมเกียรติสมศักดิ์ศรี
วิชัยก็เห็นคล้อยตามและเริ่มรังเกียจ ดูถูกดูหมิ่นภรรยาของตน


                      นี่คือการขาดปัญญาของคนจำนวนไม่น้อย การศึกษาระดับต่างๆ ที่เราสมมติกันอยู่ทางโลกในทุกสาขาวิชา ความมุ่งหมายที่แท้จริง  คือเพื่อพัฒนาจิตใจผู้เรียนให้สูงขึ้น ให้รู้ว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดควรเว้น
ให้เป็นคนมีคุณธรรมควรค่าต่อความเป็นคน และใช้ความรู้เหล่านั้น  เป็นผลพลอยได้ในการประกอบอาชีพ หาเลี้ยงตนเองและครอบครัว

 

                      ค่าของความเป็นคนอยู่ที่คุณงามความดี อยู่ที่การมีทั้งศีลและมีทั้งธรรม  ไม่ใช่ค่าของคนอยู่ที่ใบกระดาษเพียงแผ่นเดียวที่ประกาศรับรองว่า  เรียนจบชั้นอะไรมา
 

                       ใครก็ตามที่หลงใหลยึดถือแผ่นกระดาษดังกล่าว บ้าในความสมมติว่าตนเองมีตำแหน่ง ได้รับเกียรติ เป็นตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้  เท่ากับประกาศว่าตนเองมิได้มีจิตใจเจริญขึ้นตามระดับการศึกษาที่เล่า
เรียนมาสักนิดเดียว

 

                    คนมีปัญญา ย่อมรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า เกียรติยศชื่อเสียงเป็นเพียงของสมมติแต่งตั้งกันให้คนใช้เป็นอุบายในการทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้น  ไม่ใช่เอามาหลงยึดข่มคนอื่น หลงตนเองว่าวิเศษกว่าใคร อันกลายเป็น
ความโง่หนักขึ้นไปอีก ยิ่งเกียรติยศและตำแหน่งหน้าที่ในอาชีพการงาน  ยิ่งเป็นของชั่วคราวอย่างยิ่ง เมื่อใดต้องออกจากตำแหน่งนั้นด้วยเหตุใดๆก็ตาม ผู้นั้นก็จะกลายเป็นตาแก่ ยายแก่ธรรมดาๆ เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป
ไม่มีอะไรวิเศษกว่าคนปกติ 

 

                     แต่ถ้าเป็นคนมีคุณธรรม คุณธรรมนั่นเองทำให้เกิดเกียรติยศที่แท้จริง ใครก็ถอดถอนทิ้งไปไม่ได้ เป็นของติดตัว ให้ผลดีงามข้ามภพ ข้ามชาติ เพราะคุณธรรมนั้นเมื่อมีอยู่แล้ว ทำให้เป็นบุญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสว่า การสั่งสมบุญนำสุขมาให้ บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า


                    วิชัยสามีของแตงไม่ถือเรื่องคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ยึดเอาเรื่องสมมติทางหน้าที่การงานทางโลกมาเป็นความหมายของชีวิต พอมีครูสตรีที่ไม่สนใจเรื่องบาปบุญคุณโทษมาทอดสนิทให้ความหวังโดยไม่ละอายใจ  เรื่องแย่งสามีคนอื่น วิชัยก็เริ่มมีจิตใจอ่อนไหวไขว้เขว ความแตกร้าวในครอบครัวเริ่มเกิดขึ้น


                   ในราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ แตงโทรศัพท์มาหาข้าพเจ้า


"พี่ใหญ่ หนูกลุ้มใจที่สุดเลย วิชัยเค้าคิดนอกใจ เค้าสนใจผู้หญิงที่เป็นครูด้วยกัน เงินทองก็ไม่ให้หนู แกล้งบอกว่าทำหาย แล้วก็หาเรื่องทุบตีหนูด้วย" พูดเล่าความไม่ทันจบ ก็มีแต่เสียงสะอึกสะอื้นตามมา


"พี่รู้จ้ะว่าแตงมีทุกข์มาก แต่หนูก็ต้องอดทน เพราะเรามีลูกด้วยกัน อดทนเลี้ยงลูกให้โต อย่าให้เด็กมีปัญหา แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ถึงกับลงมือลงไม้ทุบตีกัน ก็ขอให้แยกกันอยู่ เค้าจะไปอยู่กับผู้หญิงที่ไหนก็ช่างเค้า ขอร้องผู้บังคับบัญชาให้พูดกับวิชัย แบ่งเงินค่าเลี้ยงดูลูกให้แตงไปทุกเดือนอย่างนี้ก็ได้

 

หรือถ้าหนูไม่อยากทน สภาพทั้งหมด จะออกจากงานมาอยู่กับพี่เหมือนเดิม พี่ก็จะรับเลี้ยงทั้งหนูและลูกนั่นแหละ ทำใจให้สบายสู้ชีวิต ไม่ต้องท้อแท้ท้อถอย ชีวิตของพี่พบอุปสรรคหนักกว่าหนูแค่ไหน แตงก็รู้ดี พี่สู้ตลอดมาสู้ด้วยตัวคนเดียวแท้ๆส่วน
แตงมีพี่ช่วยอยู่ทั้งคน อ่อนแอทำไมสามีของหนูไม่ใช่คนดีมาแต่เดิมด้วยซ้ำไป เราจะไปหวังอะไรกับคนพรรค์อย่างนั้น คิดช่วยตนเองดีกว่า ไม่มีเค้าเราก็อยู่ได้


เรื่องสามี เรื่องภรรยาอะไรเนี่ย มันก็คนอื่น ลูกคนละพ่อละแม่กัน เพิ่งมาเจอกันตอนโตๆ นี่เอง ไปยึดถือให้กลุ้มใจไปทำไม เอาชีวิตเรามาสร้างคุณงามความดีดีกว่า นั่งเสียดายเค้า คนเลวๆ ก็เหมือนของบูด  ของเน่า ของเสียๆ หายๆ ทำไมจะต้องไปเสียดาย.."


                   ข้าพเจ้าปลอบไปเสียยืดยาว ให้กำลังใจ ให้ความหวังของชีวิต  เสียงเศร้าโศกของอีกฝ่ายคลายลง ตอบมาว่า


"ค่ะ พี่ใหญ่ หนูจะเชื่อพี่ หนูจะอดทนทำงานต่อ จะออกจากงานก็เสียดายเงินเดือนเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ได้เกือบ ๕ พันแล้ว"


"งั้นแตงก็ต้องอดทนให้มาก ไม่ต้องต่อว่าสามีในทุกๆ เรื่อง เค้าอาจจะแกล้งทำเลวสารพัดเพื่อหาเรื่องหย่าขาดกับหนู หนูต้องอดทนเฉยๆ เอาไว้ ถ้ามีอะไรจะต้องทะเลาะทุ่มเถียงกัน ให้ใช้วิธีหลีกเลี่ยงเสีย  เดี๋ยวนี้งานก็หาได้ไม่ง่ายนัก เรียนจบแค่ ป.๔ อย่างแตง ทำงานได้เดือนละเกือบห้าพัน ก็น่าเสียดาย"


                 ข้าพเจ้าพูดคล้อยตาม เพราะถ้าแตงมาอยู่กับข้าพเจ้าจริงๆ  ข้าพเจ้าก็คงให้รายได้ไม่มากเท่านั้น และโดยความจริง ชีวิตของข้าพเจ้าเวลานี้มีอิสระเต็มที่อยู่แล้ว ลูกๆ มีงานมีการทำกันหมดทุกคน มีค่าเช่าบ้าน
และเงินบำนาญใช้อยู่แต่ละเดือนก็พอสบาย ยังมีเงินได้รับจากลูกสาว จากน้องสาว รวมทั้งค่าเช่านา ก็ได้อาศัยใช้เลี้ยงชีวิตและทำทานไปโดยสะดวก ถ้าจะต้องรับภาระลูกของแตงที่ยังเล็กๆ อีก ๒ คน ก็ยังนึกไม่ออก
ว่าจะช่วยได้อย่างใด แต่ก็ต้องพูดให้กำลังใจแตงเต็มที่ ให้สมกับคนที่เคยอยู่ร่วมกันมา ได้อุปถัมภ์ช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ต่ำกว่า ๑๕ ปี  เวลาข้าพเจ้ามีทุกข์ แตงไม่เคยทอดทิ้ง เมื่อแตงมีทุกข์บ้าง ข้าพเจ้าจะทิ้งเธอได้อย่างไร


                "ผู้มีปรีชาใด เป็นคนกตัญญูกตเวที มีกัลยาณมิตร สนิทสนมกัน  และช่วยทำกิจของมิตรผู้ตกยากโดยเต็มใจ ท่านเรียกคนอย่างนั้นว่าสัตบุรุษ"   พระบรมศาสดาของเราตรัสอนไว้อย่างนี้

 

                 ภาพชีวิตของแตงดังที่ข้าพเจ้านำมาเล่าเป็นตัวอย่าง เป็นใครก็ไม่ต้องการพบ แต่เมื่อเลี่ยงไม่ได้ และทำให้ทุกข์เกิด ก็ควรใช้ธรรมโอสถเยียวยารักษา  ภาพที่ไม่ถูกใจทั้งปวงหลายสิ่งหลายอย่างคนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่พ้น เพราะเป็นวิบากของกรรมในอดีตตามมาทัน เราต้องเผชิญแน่นอน แต่ขอให้เราต่อสู้ด้วยการมีสติ มีปัญญา รู้จักคิดให้ได้ ปลงให้ตกชีวิตก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีสุข มีกำไรชีวิต
 

                 สถานการณ์บางอย่างที่ไม่ต้องการพบ บางทีสามารถหลีกเลี่ยงได้ เราควรพยายามหลีกเลี่ยงให้เต็มความสามารถส่วนที่เป็นเรื่องของกรรมตามมาทัน ทำให้ต้องพบ ก็ต้องยอมรับสภาพอย่างกล้าหาญ
 

                  ปี ๒๕๓๑ เดือนพฤศจิกายน เกิดอุทกภัยใหญ่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านเรือนหลายร้อยหลังคาถูกท่อนซุง น้ำ และโคลน  พัดจมหาย ผู้คนตายหลายร้อยคน สมาชิกในครอบครัวพลัดพรากจากกัน
ตายให้เห็นต่อหน้าต่อตา คนที่ตายแล้วก็ไปตามแต่กรรมของตน  ส่วนคนที่อยู่ใครสามารถปรับสภาพใจให้เห็นเป็นเรื่องของกรรมเวรก็พออดทนต่อสู้ชีวิตอยู่ต่อไป ใครปรับใจไม่ได้ ก็ทุกข์เสียจนเสียสติ เป็นบ้าไป


                ปี ๒๕๓๒ เดือนเดียวกัน เกิดวาตภัยที่ชุมพร คราวนี้บ้านเรือน  ถูกลมพัดพังระเนระนาด แหลกลาญนับไม่ถ้วน ต้นหมากรากไม้ที่อุตส่าห์ปลูกไว้ถูกพัดเหมือนมีมือยักษ์จับหักเป็นแสนๆ ต้น คนตายร่วมพันคน
คนที่เหลือก็เป็นบ้าไปอีกไม่น้อย เพราะทุกข์จากการต้องพบกับสิ่งไม่ชอบใจ

 

                  ถ้าเราทุกคนยอมรับ สภาพความจริงว่า ในโลกนี้ เรื่องได้มาและเรื่องเสียไป เป็นของมีอยู่ประจำโลก เราต้องยอมรับทั้ง ๒ สภาพ  ไม่ใช่จะเลือกเอาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียว ไม่ว่าจะได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ ได้สรรเสริญ ถูกนินทา ได้สุขได้ทุกข์ ต้องทนให้ได้ ต้องให้เห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

 

                เหมือนที่เห็นว่า ร่างกายของเราต้องมีหิว ต้องหาอาหารรับประทาน ต้องมีปวดท้องเพื่อถ่ายออก ความจริงการรับประทานเข้าไปและการถ่ายออกมานั้นเป็น  ความทุกข์ไม่น้อย แต่เมื่อเห็นเป็นของธรรมดา เราก็พออดทนกระทำได้อย่างไม่ทุกข์  การเห็นอะไรๆ เป็นเรื่องธรรมดาๆ เป็นวิธีลดความทุกข์ได้ดี อีกวิธีหนึ่ง

 

 

ชื่อเรื่องเดิม ทุกข์ของเเตง

Cr.อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล

จากความทรงจำ เล่ม๔

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.02354523340861 Mins