๔ ทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริง
เรื่องที่สี่นี้เจาะลึกเข้าไปอีก คือกรรมดีกรรมชั่วมีผล ไม่สูญเปล่า เรื่องนี้พระองค์ตรัสกับบัณฑิตในสมัยโน้น นักปกครองสมัยโน้น จึงตรัสสั้นๆ ถ้าพูดให้เต็มก็ต้องบอกว่า ทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริง ตรงนี้สำคัญ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามาทุกยุค ทุกสมัยในเรื่องของการบริหารปกครอง คือทำอย่างไร คนของเรา รวมทั้งตัวของเรานี้ด้วย คือ เมื่อมีโอกาสจะทำ ความชั่ว
แม้ไม่มีใครรู้ใครเห็นด้วย ก็สามารถเบรคตัวเองไม่ให้ทำ แล้วทำอย่างไร เมื่อมีโอกาสจะทำความดี แม้ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรับรู้ ก็พร้อมที่จะทำความดีนั้นให้ สุดชีวิตจิตใจ ถามว่าเรื่องนี้ง่ายไหม ? ค่อนข้างยาก ครั้นจะให้ มีใครตามดูก็ไม่มี มีอย่างเดียว ต้องให้ตัวเองตามดูตัวเอง แล้วการที่จะให้ใครตามดูตัวเองได้ ก็ต้องให้ซึ้งถึง หลักกฏแห่งกรรมเสียก่อน แล้วก็ความซาบซึ้งใจตรงนี้
นี่เองจะเป็นสัมมาทิฏฐิที่เป็นผู้กำกับติดตัวเราไปทุกย่างก้าว ไปเลยว่า ถ้าหากจะมีโอกาสทำความชั่วโดยไม่มีใครรู้เห็น ก็จะเบรคตัวเองโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้ามีโอกาสจะทำ ความดีก็จะทุ่มชีวิตจิตใจทำลงไป ใครจะรู้ใครจะเห็นหรือ ไม่ ก็ไม่สนใจ การทำความเข้าใจในเรื่องกฏแห่งกรรมนั้น ความจริงไม่ยากหรอก แต่ต้องจับเงื่อนให้ถูก ขอถามกันตรงๆ "ใครมั่นใจบ้างว่า " ทำดีต้องได้ ดีจริง ? " ส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่มั่นใจ พวกเราต้องดูตรงนี้ให้ดี เมื่อก่อนนี้ ก่อนจะเข้าวัด คือ หลวงพ่อเข้าวัดได้สี่ห้าปีถึงได้บวช ก่อนหน้าจะเข้าวัด ไม่มั่นใจเลยว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันมีความคลางแคลง เพราะมีความคลางแคลง จึงไม่มีเบรคติดตัว จึงอยากให้ พวกเราลองดูตรงนี้ คนเราจะทำดีให้ได้ดี มันมีข้อแม้ คือคนเราจะทำดีให้ได้ดี มีข้อแม้ คือ
๑) ต้องทำให้ถูกดี
๒) ต้องทำให้ถึงดี
๓) ต้องทำให้พอดี
๑) ต้องทำให้ถูกดี พูดง่ายๆ จะทำงานอะไรสักอย่าง ศึกษาวัตถุประสงค์ ให้ดีว่าจริงๆ แล้ว งานนี้ต้องการอะไร ทำให้มันเข้าเป้า ถ้าไม่เข้าเป้าไม่ได้ ศึกษาวัตถุประสงค์แต่ละเรื่องๆ ให้ได้ ชัดแล้วค่อยทำ ในทางศาสนา มีเรื่องยกตัวอย่างเอาไว้เรื่องหนึ่งเป็น ที่รู้กันเลย ท่านมักจะเปรียบเทียบเอาไว้กับการซักเสื้อผ้า ของเราที่ใส่อยู่นี้ โดยทั่วไป ถ้าเสื้อผ้าจะเปื้อนก็เปื้อนที่คอ ที่ปกเป็นส่วนมาก จากนั้นก็อาจมีปลายแขน ปลายขาอีกหน่อย แม้ว่าจะขยี้ให้ทั่วตัว แต่ถ้าไม่ได้ขยี้ที่ปกกับที่ปลาย แขนมันจะเกลี้ยงไหม? ไม่เกลี้ยง เพราะมันไม่ถูกดี เพราะฉะนั้น ชนิดที่ขยันแล้วโง่ อย่ามาพูดเลย ไม่ได้ดีหรอกเพราะขยันให้ตาย แต่มันทำโง่ๆ ด้วยไม่มีทางได้ดี เพราะว่ามันไม่ถูกดี เหมือนอย่างกับขยี้เสื้อทั้งตัว แต่ว่าไม่ได้ขยี้รอยเปื้อนที่คอ ที่แขน ซักไม่เกลี้ยงหรอก เพราะมันไม่ถูกดี มันไม่ถูกเป้า มันไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ตรงนี้ชัดเจนไหม? นั่นเพราะมันทำไม่ถูกดี เพราะฉะนั้น ศึกษาให้ดีก่อนลงมือทำ
๒) ต้องทำให้ถึงดี ถูกดีแล้วจะได้ดีไหม? บอกว่าไม่แน่ ถ้าอย่างนั้น วันหลังคว้าเสื้อมาซักปก ก็ขยี้ที่คอ แล้วที่แขนก็ขยี้ ถาม ว่าถูกดีไหม? ถูก แล้วจะได้ดีไหม? บอกว่าไม่แน่ เพราะ ต้องถึงดีด้วย คือมีปริมาณงานที่มากพอ นั่นเอง เช่น ผ้าชิ้น นี้ควรจะขยี้ตรงรอยเปื้อนสัก ๓๐ ครั้ง จึงจะสะอาดก็ต้อง ขยี้ให้ครบ แต่ขยี้ไปเสีย ๑๐ ที เหลืออีกตั้ง ๒๐ ที ไม่ขยี้ต่อ มันจะเกลี้ยงได้อย่างไร เพราะมันเปื้อนขนาดนั้น มันก็เพียงแต่เปื้อนน้อยลงไปหน่อย เพราะฉะนั้น มันต้อง ถึงดีด้วย คือ ปริมาณงานมันมากพอที่จะให้เกิดดี
๓) ต้องทำให้พอดี ? ถามว่าถ้าทำได้ถูกดี ถึงดีแล้วจะได้ดีไหม ? ต้องบอกว่ายังไม่แน่ ต้องพอดีด้วย ยกตัวอย่าง ผ้าที่เอามา ซัก เราควรจะขยี้สัก ๓๐ ที แต่เราเผื่อเหนียวมากไปหน่อย ไปขยี้ตั้ง ๑๐๐ ที ผ้าเลยขาดเสีย ไม่ได้ใส่กัน มันไม่พอดี การทำงานต้องพิจารณาถึงสามขั้นตอนอย่างนี้ ถูกดี คือ ถูกวัตถุประสงค์ของงาน พูดง่ายๆ อย่าทำตัวเป็นคนขยันแต่ว่าโง่ ถึงดี คือ ทำให้ได้คุณภาพตามเป้าหมาย ไม่ขี้เกียจ พูดง่ายๆ ต้องไม่ทำตัวเป็นพวกฉลาดแต่ขี้เกียจ คือรู้ว่า มันดีอยู่ตรงไหนก็รู้ สู้งานนี้ทำอย่างไรก็แต่ทำไปหน่อยเดียว ทำงานเหมือนผักชีโรยหน้าเสียแล้ว คือมันถูกดีแต่ว่ามัน ไม่ถึงดี ก็ไปไม่รอด มันจะหลอกได้ก็เฉพาะผู้บังคับบัญชา โง่ๆ ก็ต้องถามว่าทั้งบ้านทั้งเมืองจะมีแต่ผู้บังคับบัญชาโง่ ๆ กันทั้งนั้นหรือ ? วันหนึ่งถูกจับได้ไล่ทันเองว่า เจ้านี่มัน ฉลาดแต่ขี้เกียจ เอาไว้ไม่ได้ พอดี คือ ไม่มากไป ไม่น้อยไป
คืออย่าเผื่อเหนียว มากไป ประเภททำหามรุ่งหามค่ำ กู้หนี้ยืมสินมาทำด้วย มัน ก็ไม่ไหวหรอก มันไม่ได้ดีทั้งนั้น ปรับให้มันพอดี เพราะจะให้ได้ดี ต้องถูกดีถึงดี และพอดี แต่ถึงจะทำได้ถูกดี ถึงดี และพอดีอย่างนั้นก็ตามจะ ยังต้องมีปัจจัยอีก ๒ อย่างด้วยกันที่ต้องคำนึงถึง
๑ เวลา เวลาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ยกตัวอย่าง เราคิด จะปลูกกล้วยในวันนี้ แต่เอาหน่อสูงแค่ศอกหนึ่ง ขุดหลุม อย่างดีเลย ปลูกกล้วยลงไป แล้วรดน้ำพรวนดินอย่างดี ถามว่าพรุ่งนี้ได้กินกล้วยไหม? ไม่ได้กิน ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ ดีใช่ไหม มันก็ไม่ใช่ มันก็ได้ ได้ตามส่วน เพราะเมื่อตั้งใจ ปลูก จะเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งว่า มันคงไม่ตาย เป็น ได้แค่นั้น แต่จะได้กินกล้วยไหม? ยัง ตั้งใจรดน้ำพรวนดินผ่านไปอีก ๓-๔ เดือน แล้ว จะได้กินกล้วยไหม? ยัง ได้แค่ใบตอง ตั้งใจรดน้ำพรวนดินต่อไปอีก ๘ เดือน ได้กิน กล้วยหรือยัง ? ยังอีก ได้แค่หัวปลี ต้องทำต่อไปอีกจนครบปี นั่นแหละถึงได้กินกล้วยนี่ ขนาดของกล้วยๆ ยังต้องใช้เวลาปีหนึ่งจึงจะได้กินการบริหารงาน การปกครองคน การฝึกคน มันไม่ใช่ของ กล้วยๆ มันก็ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้น ใครที่บอกว่าทำดี ไม่ได้ดี ทั้งๆ ที่ถูกดีถึงดี พอดีแล้ว ก็บอกว่าใจร้อน มากไป
๒ สถานที่ มีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งนอกจากเวลาแล้ว เรายังต้อง พิจารณาประกอบกับการทำความดี ยกตัวอย่าง มีกล้วย ประเภทหนึ่งเป็นพวกกล้วยข้างโอ่งน้ำ ไม่เหมือนกล้วยดอน กล้วยข้างโอ่งน้ำนี้คือตั้งแต่ตอนเช้า พอเจ้าของตื่นนอนขึ้นมา เขาล้างหน้าล้างตา มันก็ได้น้ำแต่เช้าเลย พอเขากินข้าวเสร็จ ล้างถ้วยล้างชาม มันก็ได้น้ำอีก พอเขาอาบน้ำไปทำงาน มัน ก็ได้น้ำอีก บางวันคนใช้อยู่บ้านซักผ้า มันก็ได้น้ำอีก ตกเย็นเขากลับมาอาบน้ำกัน มันก็ได้น้ำอีก พอช่วงไหนอากาศ ร้อนๆ เจ้าของบ้าน เขาลุกขึ้นมาตอนดึก มาอาบน้ำ อีก เจ้ากล้วยประเภทนี้จะโตวันโตคืน ก็ต้องยกเว้นให้มันเหมือนกัน เพราะมันเป็นกล้วยข้างโอ่งน้ำ เพราะฉะนั้น ก็ต้องไปหาโอ่งเอาเองก็แล้วกัน แต่ช่วยดูโอ่งด้วย ประเภทโอ่งบูดๆ เบี้ยวๆ อย่าเข้าไปใกล้ เพราะว่ามันมีข้อคิดอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่ามันโตเร็วจัดไปนั้น ถามว่ากล้วยต้นหนึ่งให้ลูกกี่หน? หนเดียว เพราะฉะนั้น โตเร็วก็ตายเร็ว ระวังด้วยก็แล้วกัน อย่าว่าไม่เตือน มันก็มาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น บางวาระ การเป็นกล้วยใกล้โอ่งน้ำ นี้ก็เข้าท่าอยู่ แต่ถ้าไม่เลือกเจ้าของโอ่ง ไปอยู่ใกล้เจ้าของ โอ่งเบี้ยวๆ สู้การอยู่เป็นเหมือนกล้วยดอนสักพักก็จะดีกว่า ก็ต้องดู ต้องปรับเอาเองแล้วกัน ขอให้มองตามความเป็นจริงของชีวิตแล้วมันก็จะเจอ ในทางดี คนเราทำถูกดี ถึงดี พอดี แล้วก็ได้ดี แต่ ถ้าในทางกลับกัน ถ้าไปทำให้ถูกชั่ว ถึงชั่ว พอชั่วเท่านั้น รับรองเป็นไอ้ชั่วแน่ๆ ไม่มีแผ่นดินอยู่หรอก มนุษย์พรรค์นี้ เราก็เห็นๆ กันมาพอสมควรแล้ว
แต่ว่ามันมีความลำบากในปัจจัยเรื่องเวลานี้ ทำให้ หลายคนข้องใจว่าทำดีได้ดีจริงหรือไม่ เพราะบางทีกำลัง ทำความดีอยู่นี้ กำลังรอให้ความดีออกผลนี้ แต่ว่าความชั่ว ในอดีตตามมาให้ผลเสียก่อน งวดนี้โดนหัวหน้าสอบสวน แทบตาย ก็เพราะเมื่อครั้งในอดีต เราแสบๆ เอาไว้ ไม่มี ใครว่าเลย แต่พอตั้งใจทำดีเข้าหน่อย ทำมาได้พักเดียว โดนสอบเสียได้ ดูซิ อย่างนี้ทำดีไม่ได้ดี งวดหน้าพ่อจะ แสบให้หนักเข้าไปอีก แล้วพอบางทีไปเห็นบางคนกำลังทำชั่วอยู่ มันก็ต้องแสบน่าดู แต่ว่ามันกลับได้เลื่อนสองขั้น เหตุใหญ่ก็ มิใช่อะไร เพราะบังเอิญไปได้หัวหน้าโง่ๆ เข้า โดนลูกน้องแสบๆ มันหลอกเอา ก็เป็นไปได้เหมือนกัน แต่เจ้าแสบนั่น ก็ไปไม่ยืด เดี๋ยวก็ดับเพราะความชั่วของมัน การที่เราลังเลว่า ทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริงหรือ ไม่ มันก็มีสาเหตุมาจากความสลับซับซ้อนเรื่องเวลาและ สถานที่นี่เอง
ก็ขอฝากเอาไว้ว่าเวลา เป็นปัจจัย (Factor) ตัวหนึ่งแล้วก็ สถานที่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง แม้ที่สุด สำหรับนักบริหารหรือการปกครอง ไม่ว่า จะอยู่ในบ้านหรือที่ทำงาน ในการพิจารณาความดีความชอบของ ลูกน้องต้องพิจารณาให้ดี มีอยู่คราวหนึ่ง ในวงการธนาคาร นายธนาคารท่าน หนึ่งถูกลูกน้องเขียนบัตรสนเท่ห์ สาเหตุก็คือ ให้ลูกน้อง บางคนได้เลื่อนตำแหน่งหนึ่งขั้น บางคนได้เลื่อนสองขั้น บางคนได้เลื่อนสามขั้น คนเรานี้ก็แปลก ไม่ได้ด้วยกันไม่เป็นไร อดด้วยกันไม่เป็นไร แต่ถ้าได้ไม่เท่ากันยุ่งทุกที เพราะฉะนั้นต้อง มีกฏมีเกณฑ์ให้ดี เมื่อแกโดนสอบสวน หลวงพ่อก็ให้คำแนะนำไปว่า มันไม่ยาก ก็ตีตารางให้ดูก็แล้วกัน ให้เอาถูกดี ถึงดี และ พอดีเป็นตัวตั้ง ในการพิจารณาว่าคนนี้มันทำไม่ถูกดี มันขยันแต่ว่ามันโง่ คนพวกนี้มันจะเอาความเหนื่อยมาเป็น ความดีให้มันเลื่อนขั้นไม่ได้หรอก เพราะทำโง่ๆ อย่างนี้จะ ไปได้ดีอย่างไร ความสำเร็จของงาน เอาเหงื่อมาวัดกันมันไม่ได้ นอกจากเจ้าทำไม่ถูกดีแล้ว ยังทำเสียๆ หายๆ ด้วย
การที่เราลังเลว่า ทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริงหรือไม่ มันก็มีสาเหตุมาจาก ความสลับซับซ้อนจาก เรื่องเวลาและสถานที่นี่เอง ไม่ไล่ออกก็ดีแล้ว จะมาเอาขั้นอะไรกัน ชี้เหตุชี้ผลให้ชัดไปเลย ว่านี่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเพราะทำไม่ถูกดี คนนี้แม้ว่า จะถูกดี แต่ว่าไม่ถึงดี มันพวกผักชีโรยหน้า เป็นพวก ความชั่วไม่มี แต่ความดีไม่ปรากฏ เพราะจริงอยู่ ถึงแม้ว่า เจ้าจะฉลาด แต่มนุษย์พวกถูกดีแล้วไม่ถึงดีนี้น่ากลัว เพราะ พวกนี้มันทำงานไปคืบเดียว แล้วมันเอาปากไปโพนทะนา ให้ยาวไปอีกวาหนึ่งว่า ใครก็ว่ามันดีทั้งนั้น แล้วเราจะโดน ผู้บังคับบัญชาด่าก็ตรงนี้ เพราะฉะนั้น เจอลูกน้องคนไหนผักชีโรยหน้า ทำคืบหนึ่งแล้วเอาปากไปโพนทะนาไว้วาหนึ่ง เตรียมหลักฐาน ของเรากันไว้ได้เลย ไม่อย่างนั้นมันก็จัดการเราได้ พวกมนษุย์ พรรค์นี้ แม้เป็นพระยังโดนเลย หลวงพ่อก็โดนมาแล้ว ก็ขอฝากไว้ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าใครทำทั้งถูกดี ถึงดี และพอดี ก็ให้ไปเลื่อนตำแหน่งไปเลยสองขั้น แค่ถูกดี แต่ไม่ถึงดี ให้เลื่อนตำแหน่งได้ขั้นหนึ่ง พวกที่ทำไม่ถูกดี แต่ว่าขยัน ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็ให้ได้อยู่แค่นั้น ยังไม่ไล่ออกเพราะยัง ขยันอยู่ แต่พวกที่ขยันแล้วทำเสียหายเรื่อยๆ นั้น ก็ทำเอา ลูกพี่แย่เหมือนกัน วันดีคืนดีต้องไปตบไหล่ "ไอ้น้องเอ๊ย ขยัน ให้น้อยกว่านี้เถอะ เอ็งยิ่งขยัน พี่ยิ่งโดนสอบ" อย่างนี้ก็มี พวกเราก็นำหลักตรงนี้ไปปรับดูให้ดี เรื่องกฏแห่ง กรรมจริงๆ ก็ไม่ใช่ยากอะไร ถ้าจับแง่มุมถูกอย่างนี้ เป็นเรื่องสำคัญเรื่องที่สี่ที่ควรเข้าใจ
จากหนังสือ สัมมาทิฏฐิ รากฐานการพัฒนาชีวิต
โดยคุณครูไม่เล็ก