โอวาท ๓ และ บุญกิริยาวัตถุ ๓

วันที่ 17 เมย. พ.ศ.2563

โอวาท ๓ และ บุญกิริยาวัตถุ ๓

โอวาท ๓ และ บุญกิริยาวัตถุ ๓

     พวกเราได้เรียนจากพุทธประวัติแล้วว่า ในวันมาฆบูชาพระพุทธองค์ได้ทรงสรุปหลักพระพุทธศาสนาให้แก่เหล่าพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ว่า

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต ทรงสั่งสอนเรื่องเดียวคือเรื่องกรรม ประกอบด้วยเรื่องของ กรรมดี กับ กรรมชั่ว หรือเรื่องของ บุญ กับ บาป

     หลักการสร้างกรรมดีนั้น มีอยู่ ๓ ประการ
     ๑. หมั่นหักห้ามใจไม่ให้คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ทุกๆ ชนิด
     ๒. หมั่นทำแต่ความดีทุกวันให้เต็มที่
     ๓. หมั่นรักษาใจให้มีความผ่องใสอยู่เป็นประจำ

     หลักการสร้างกรรมดีทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่า โอวาท ๓ ประการ

     ส่วนว่าเมื่อใครตั้งใจสร้างกรรมดีไปแล้ว สิ่งที่เกิดตามมา หรือผลของกรรมดี คือ บุญ และแน่นอนล้าใครสร้างกรรมชั่ว ผลของกรรมชั่ว คือ บาป

     พระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้ทำกรรมชั่ว หรือทำบาป เพราะทรงทราบดีว่า ผลของกรรมชั่ว คือ บาป แม้เพียงนิดเดียวก็ทำให้เป็นทุกข์ได้

     วิธีสร้างกรรมดีก็มีอยู่ ๓ ประการ ทรงเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๓ ได้แก่ การทำทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา ซึ่งชาวพุทธมักนิยมเรียกว่า การทำบุญ

     ในการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนานี้ เรื่องใหญ่ที่ชาวโลกมีความสงสัยกันมาก ก็คือ บุญคืออะไร

     บุญ คือ ธรรมชาติบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นในใจมนุษย์ทุกครั้งที่ลงมือสร้างกรรมดี คือ

     ๑. หักห้ามใจไม่ให้คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว
     ๒. ตั้งใจคิดดี พูดดี และทำดี
     ๓. หมั่นทำใจให้ผ่องใส

     เพราะฉะนั้น เมื่อเชื่อมโยงเรื่องโอวาท ๓ ประการ กับ บุญฺกิริยาวัตถุ ๓ นี้ เข้าด้วยกันได้แล้ว เราก็สามารถสรุปได้ชัดเจนว่า ทั้งสองเรื่องนี้คือเรื่องเดียวกัน คือ การละชั่ว ทำความดี และกลั่นใจให้ผ่องใสเป็นเรื่องหลักการทำบุญ ส่วนทาน ศีล ภาวนา เป็นวิธีทำบุญ

     นั่นก็หมายความว่า เรื่องใหญ่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ไม่ว่าจะมีกี่อสงไขยพระองค์ก็ตาม ทุกๆ พระองค์ทรงสั่งสอนแต่เรื่องการสั่งสมบุญ อย่างสุดชีวิตของพระองค์ซึ่งเรียกว่าอีกอย่างว่า กุศลกรรม

     และแน่นอนว่า ในทางตรงกันข้ามก็เท่ากับพระองค์สอนเรื่อง การไม่ทำบาป หรือ การไม่ทำอกุศลกรรม ไปด้วยในตัว

     คราวนี้เมื่อเราตั้งใจละชั่ว ทำความดี กลั่นใจให้ผ่องใส ผ่านบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ ทำทาน รักษาศีล ภาวนาอย่างเต็มที่เป็นประจำทุกวันๆ แล้ว ถามว่าสิ่งที่เราได้นอกเหนือจากบุญคืออะไร

     สิ่งที่เราได้ไปด้วยกันกับบุญ ก็คือ การถางกิเลสออกจากใจ

     แต่เนื่องจาก กิเลสไม่ได้เพิ่งมาเกิดในใจของเราเป็นชาตินี้ชาติแรกแต่กิเลสมันหมักดองเน่าเหม็นอยูในใจเรามานับภพนับชาติไม่ถ้วน

     เพราะฉะนั้น ถ้าจะอุปมาว่าใจของเราเหมือนกับอะไร ก็ต้องบอกว่า ใจของเราอุปมาก็เหมือนอย่างกับปลาร้าค้างปีที่หมักจนกระทั่งเหม็นเน่าหึ่ง

     เรามาบวชหนึ่งพรรษานี่ ความเหม็นเน่าในใจ เพิ่งลดลงไปได้นิดหน่อยเท่านั้นเอง อย่าคิดว่าได้อะไรไปมาก เพิ่งถางทางไปพระนิพพานได้ไม่เท่าไหร่ เพราะกิเลสมันหมักหมมอยูในใจมานาน ก็ต้องตั้งใจแก้ไขตนเองฝึกฝนตนเองผ่านการสั่งสมบุญให้เต็มที่กันต่อไปนะ

     กิเลสที่หมักดองอยู่ในใจมานานเวลามันแสดงความเน่าเหม็นออกมานั้น มันจะแสดงออกให้ชาวโลกเห็นทางนิสัยไม่ดีต่างๆ ของเรา

     เราจำเป็นต้องก็แกัไขกำจัดความเน่าเหม็นของมันด้วยการฝึกมรรคมีองค์ ๘ เข้าไปให้เต็มที่ เพราะมรรคมีองค์ ๘ แต่ละข้อก็คือการละชั่ว ท่าความดี กลั่นใจให้ผ่องใส นั่นเอง

     ดังนั้น มรรคมีองค์ ๘ ก็คือ กุศลกรรม ซึ่งโดยย่อก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

     สัมมาวาจา สัมมากัมมันตา สัมมาอาชีวะ ก็คือ ศีล
     สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็คือ สมาธิ
     สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ก็คือ ปัญญา

     เมื่อเราฝึกมรรคมีองค์ ๘ ได้มากเท่าไหร่ นอกเหนือจากบุญที่ได้รับแล้ว ผลที่ได้จากการถางกิเลสออกจากใจอีกอย่างก็คือ นิสัยดีๆ โดยเฉพาะนิสัยขันติ คือ นิสัยทรหดอดทนต่อการต่อสู้และกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป

     เมื่อเรามีความทรหดอดทนในการถางกิเลสออกจากใจอย่างนี้ การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ย่อมก้าวหน้าขึ้นไปทุกวันๆ ความเน่าเหม็นของกิเลสที่ส่งกลิ่นออกมาภายนอกผ่านทางนิสัย ก็จะลดน้อยถอยลงไปทุกวันๆ บุญย่อมเกิดเป็นสายต่อเนื่องกันไปทุกวันเช่นกัน

     เมื่อบุญเกิดต่อเนื่องได้มาก ใจย่อมมีความผ่องใสได้มาก
     เมื่อถึงคราวลงมือปฏิบัติธรรม ใจที่มีความผ่องใสอยู่มาก ย่อมหยุดนิ่งเป็นสมาธิได้เร็ว ความสว่างภายในย่อมเกิดขึ้นมาตามลำดับๆในที่สุดแล้ว ย่อมมองเห็นใจของตัวเอง

     ปกติแล้ว ใจที่อาศัยอยู่ในกายของเรานี้ มันชอบคิดเที่ยวไปพระพุทธองค์ตรัสว่า การมองเห็นใจได้เป็นเรื่องยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถมองเห็น

     ผู้ที่สามารถมองเห็นใจได้ คือ ผู้ที่มีกิเลสน้อย และผู้ที่มีกิเลสน้อย บุญย่อมเกิดเป็นสายได้มาก ใจย่อมมีความผ่องใสอยู่มาก เมื่อลงมือทำภาวนา ใจก็หยุดนิ่งเป็นสมาธิได้เร็ว

     ในที่สุดแล้ว ความสว่างภายในที่สะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนที่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ มาตามลำดับจนกระทั่งถึงตอนที่ใจเป็นสมาธิเต็มที่นี้เอง ความสว่างนั้นย่อมสว่างในระดับที่ทำให้มองเห็น ‘‘ใจ” ของตนเอง

     เมื่อความสว่างภายในมากขึ้นไปอีก ก็สามารถมองเห็นธรรมะที่อยู่ในใจได้ชัดเจน แล้วเราก็จะพบว่า ธรรมะที่อยู่ในใจนี้เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เมื่อเข้าถึงแล้วย่อมทำให้ใจเกิดความบริสุทธิ์ผ่องใสตามไปด้วย

     เมื่อเอาใจหยุดนิ่งจรดลงไปในกลางธรรมะที่เห็นนั้นความสว่างภายในก็เพิ่มมากขึ้นไปอีก ทำให้สามารถเห็นดวงธรรมที่ซ้อนๆ อยู่ในดวงธรรมได้อย่างชัดเจนเพิ่มขึ้นไปอีกตรงนี้เองที่ทำให้เราเริ่มเกิดความเข้าใจคำที่พระองค์ตรัสว่า การเห็นธรรมในธรรม

     เมื่อเอาใจหยุดนิ่งลงไปในกลางดวงธรรมที่ซ้อนอยู่ข้างในได้มากเท่าไหร่ กิเลสก็ถูกกำจัดออกไปได้มากเท่านั้น ยิ่งกิเลสถูกกำจัดออกไปได้มากเท่าไหร่ ใจก็สามารถหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมได้มากเท่านั้น

     ในที่สุด เมื่อใจกับธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้สมบูรณ์กิเลสก็ถูกปราบจนหมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ

     เพราะฉะนั้น คนที่จะปราบกิเลสได้ ต้องสามารถมองเห็นใจตัวเองก่อน จึงจะสามารถมองเห็นธรรมะในธรรม แล้วจึงสามารถหลอมใจกับธรรมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ กิเลสจึงถูกขุดรากถอนโคนออกไปได้หมดสิ้น

     ขอให้เราตั้งใจฝึกมรรคมีองค์ ๘ เข้าไป เราฝึกมากเท่าไหร่ นิสัยรังเกียจความชั่ว รักความดี รักการทำใจให้ผ่องใส ย่อมเพิ่มพูนมากขึ้นเท่านั้น

     คนมีนิสัยรังเกียจความชั่ว ก็เหมือนกับคนที่รังเกียจอุจจาระ ซึ่งไม่ว่าอุจจาระจะก้อนเล็กก้อนใหญ่ ก็ไม่ยอมเข้าใกล้ เพราะทำให้มีกลิ่นเหม็นติดตัวได้ทั้งนั้น

     คนมีนิสัยรักความดี คือ คนที่เมื่อเห็นว่าอะไรเป็นความดี มีโอกาสเป็นต้องทำเต็มที่ เพราะรู้ว่าได้บุญ

     คมมีนิสัยรักการทำใจให้ผ่องใส คือ คนที่หมั่นทำภาวนาให้ใจใสเป็นประจำ จนกระทั้งสามารถเห็นความใสของใจ ผ่านออกมาเป็นความผ่องใสภายนอก คือ ใสจากข้างในจนกระทั้งแผ่ขยายออกมาทางหน้าตาผิวพรรณภายนอก

     ใครมีนิสัยรังเกียจความชั่ว นิสัยรักความดี นิสัยรักการทำใจให้ผ่องใสมากเท่าไหร่ ย่อมสามารถฝึกมรรคมีองค์ ๘ ได้ตรงเป้ามากเท่านั้น โอกาสที่จะบรรลุธรรมย่อมมากขึ้นเท่านั้น

     เพราะฉะนั้น งานที่แท้จริงของทุกคนที่เกิดมาในชาตินี้ ก็คือเราเกิดมาละชั่ว ทำดี กลั่นใจให้ผ่องใส เราเกิดมาสร้างบุญ เราเกิดมาสร้างกรรมดี

     พูดง่ายๆ ก็คือ เราเกิดมาเพื่อชุดรากถอนโคนกิเลสให้หมดสิ้นไปจากใจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงสอนเหมือนก้นอย่างนี้

     แต่ในชีวิตประจำวัน เราไม่ค่อยได้ทำก้น ก็คือ การนั่งสมาธิ

     ถ้านั่งสมาธิถูกส่วนเมื่อไหร่ มรรคมีองค์ ๘ ก็ครบถ้วนเมื่อนั้นปฏิบัติต่อไปจนกระทั่งวางใจได้ถูกส่วนเมื่อไหร่ ก็มองเห็นใจของตัวเองเมื่อนั้น เมื่อเห็นใจแล้ว ก็เห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมแล้ว จึงเห็นกิเลสเมื่อเห็นกิเลสแล้ว การถอนรากถอนโคนกิเลส จึงกลายเป็นเรื่องง่ายไป

     โดยสรุป ก็คือ การทำสมาธิ ย่อมทำให้มรรคมีองค์ ๘ ครบถ้วนได้สมบูรณ์ แล้วใจก็เริ่มเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมมากขึ้นตามลำดับๆ จนกระทั่ง ในที่สุด ใจกับธรรมก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสนิท กิเลสก็ถูกขุดรากถอนโคนอย่างเด็ดขาด ไม่สามารถงอกคืนมาใหม่ได้

     ใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมตลอดเวลาอย่างนี้ ก็อุปมาเหมือน ดวงอาทิตย์ที่สว่างไสวค้างฟ้าที่ฆ่าความมืดให้หมดไปจากโลกได้ตลอดกาล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017258485158285 Mins