หยุดเป็นตัวสำเร็จ

วันที่ 18 เมย. พ.ศ.2563

หยุดเป็นตัวสำเร็จ

 

 

หยุด คือสุดยอดแท้

ศาสตร์ศิลป์

หยุด พระธรรมหลั่งริน

ธารแก้ว

หยุด อาจเผด็จสิ้น

มารพ่าย

หยุด นิ่งดิ่งได้แล้ว

สุขล้ำปริยาย

 

                                                                               ตะวันธรรม

 

                     เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ สำคัญอยู่ที่หยุดกับนิ่ง หยุดกับนิ่งสำคัญกว่าอื่นใดทั้งหมดภาพที่เราเห็นนั้น ต้องสักแต่ว่าเห็น หรือสักแต่ว่าดู สักแต่ว่ามอง จะเป็นภาพอะไรก็แล้วแต่ ให้ดูไปอย่างนั้นเอง อย่าลืมคำนี้ แล้วก็ต้องให้ได้อย่างนี้ด้วย คือดูไปอย่างนั้นเอง

 

                    การดูไปอย่างนั้นเอง โดยไม่ได้คิดอะไร มันจะทำให้ใจหยุดนิ่งได้ดียิ่งขึ้น เพราะเรามุ่งไปที่การหยุดของใจไม่ได้มุ่งไปที่ภาพ ไม่ได้มุ่งไปที่แสงสว่างที่เราได้เห็น เรามุ่งในการหยุดใจเป็นหลัก

 

                    การหยุดใจนี้เป็นตัวสำคัญทีเดียว ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากนํ้าท่านยํ้าเสมอว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” ท่านไม่ได้พูดถึงเรื่องอื่นเลย ท่านบอกหยุดสำคัญ ต้องหยุดใจให้ได้ ไม่ว่าจะหยุดในกลางความมืด หรือหยุดในกลางความสว่าง หยุดในกลางดวงหยุดในกลางกายภายใน หรือหยุดในกลางองค์พระ ท่านมุ่ง
เรื่องหยุดอย่างเดียว “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” จำตรงนี้นะลูกนะ ซึ่งมักจะฟังผ่านกัน

 

มโนปณิธานของหลวงพ่อ

                 หลวงพ่อ เมื่อบวชแล้วได้ตั้งมโนปณิธานว่า จะพูดเรื่องหยุดอย่างเดียว ๓๐ กว่าปี พูดเรื่องหยุดเป็นหลัก เรื่องอื่นเป็นรอง พยายามหาวิธีการให้ทุกคนให้ความสำคัญกับการหยุดนิ่ง เพราะ “หยุดเป็น
ตัวสำเร็จ” เพราะฉะนั้นจะได้ยินได้ฟังหลวงพ่อพูดบ่อย ๆ เรื่องหยุดกับนิ่ง ๓๐ กว่าปีมา พูดซํ้า ๆ ซาก ๆ ทุกวันอาทิตย์ หรือทุกครั้งที่เจอ พูดแต่หยุดกับนิ่งอย่างเดียว เพราะหยุดนิ่งเป็นสิ่งสำคัญ

 

              ก่อนหน้าที่จะมาเจอคุณยายอาจารย์ฯ ตั้งแต่อายุ ๑๖-๑๙ อ่านพระไตรปิฎกมา มีกี่เล่มก็อ่านหมดนั่น ตำรับตำราเล่มไหนว่าดีก็อ่านกันไป แล้วในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าเราต้องหาครูบาอาจารย์ที่จะสอนการปฏิบัติ จะอ่านทางด้านทฤษฎีด้านปริยัติอย่างเดียว มันเหมือนอ่านแผนที่ เราก็จะยังไม่ได้รับรสแห่งธรรม ไม่รู้ว่ามีรส
มีชาติอร่อยอย่างไร ฉะนั้นจึงได้แสวงหาครูบาอาจารย์ ฝึกมันทุกแบบที่มีอยู่ในสมัยนั้นเท่าที่ เวลาจะอำนวยให้ และตอนสุดท้ายก็มาเจอคุณยายอาจารย์ฯ จึงได้รู้ว่า หยุดสำราญเป็นตัวสำเร็จ

 

              และมันก็สำคัญจริง ๆ เพราะการเข้าถึงปฏิเวธ หรือการเข้าถึงประสบการณ์ภายใน จะมัวแต่อ่านแต่ฟังอย่างเดียวมันเข้าไม่ถึงต้องปฏิบัติด้วย ต้องหยุดกับนิ่ง

 

                เพราะฉะนั้นจึงจับหลักตรงนี้ หยุดนิ่งเรื่อยมา ได้เรียนรู้จากคุณยายอาจารย์ฯ ท่านก็สอนแต่เรื่องหยุดกับนิ่ง พอใจยิ่งหยุดยิ่งนิ่งมันก็ยิ่งดิ่งไม่หยุด มันขยายกว้างขวางไปเรื่อย ๆ ใหญ่โตโอฬารเลย
ความรู้เราก็กว้างขวาง แต่เป็นความรู้ที่แตกต่างจากที่ได้อ่านได้ฟังมามันมีรสมีชาติมากกว่ากัน ในระดับของปฏิเวธ ที่เกิดจากการหยุดการนิ่ง จึงเห็นว่าหยุดมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

              ถ้าทำตรงนี้ไม่ได้ อย่างอื่นก็แทบไม่ต้องพูดถึงเลย จะอ่านตำรับ ตำรากี่เล่มกี่ตู้ก็ตาม ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี มันดูเหมือนจะเข้าใจ มันทราบแต่มันไม่ซึ้งถึงขั้นที่เราจะเอามาเป็นที่พึ่งแก่เราทั้งในโลกนี้และใน
สัมปรายภพ เพราะฉะนั้นหยุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

 

                การเริ่มต้นที่ถูกต้องสำคัญมากหลวงพ่ออยากให้ลูกทุกคนทั้งภายในและต่างประเทศ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องฝึกใจหยุดกับนิ่ง แม้ว่าการหยุดนิ่งนี้จะยังไม่ถึงกับส่งผลให้เราได้ไปเห็นภาพ เห็นดวง เห็นกาย เห็นองค์พระได้แค่ความเบาสบาย ตัวขยาย นาน ๆ ก็จะเห็นดวงหรือองค์พระรัว ๆ ราง ๆ สักทีหนึ่ง

 

               หลวงพ่อว่า การเริ่มต้นที่ถูกต้องแม้จะยังไม่ทันใจเราในตอนนี้ แต่ต่อไปในระยะยาวจะให้ผลที่ถูกต้องและจะเป็นที่พึ่งกับเราได้ เมื่อเราทำได้ถูกต้อง เราจะมีความสุขต่อการปฏิบัติธรรม แล้วการเห็นภาพจะตามมาเองเป็นผลพลอยได้ ซึ่งต้องเห็นอยู่แล้ว เพราะแสงสว่างจะเกิดเมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน ที่ใจหยุดนิ่ง
ได้ถูกส่วนเพราะทำถูกวิธี ดูเหมือนช้าไม่ค่อยทันใจพวกเรา แต่ความจริงนั้นเร็วมาก

 

               เรามองมุมกลับ เราตรึกองค์พระได้ ดวงแก้วได้ แต่มันแข็งกระด้างแล้วก็ปวดหัว หน้านิ่วคิ้วขมวดทุกที แล้วก็ไม่มีประสบการณ์อะไรใหม่ ๆ เห็นกระด้าง ๆ อย่างนี้มาเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี แล้วมันก็ไม่ไปไหน ทำให้เราเบื่อหน่าย เห็นไหมจ๊ะว่า การเริ่มต้นที่ยังถูกไม่สมบูรณ์นั้น มันดีตอนแรก แต่ระยะไกล ๆ มันไม่ไปไหน มันจะทำให้เราเบื่อการนั่ง แล้วพลอยไม่ค่อยเชื่อว่าคนอื่นเขาเข้าถึงกันยังไง เขาไปเห็นกันยังไง มันจะไม่เชื่อนะ ดูเหมือนเร็วแต่ช้า

 

              แต่ถ้าหากว่าเริ่มต้นถูกต้อง ดูเหมือนช้าแต่มันจะเร็ว แม้ว่าไม่มีทางลัดอื่นใดก็ตาม แต่ถ้าเราทำถูกต้องถูกวิธีการแล้ว มันก็จะลัดของมันไปเอง คือย่นระยะเวลาไปเอง

 

              เพราะฉะนั้นให้มามุ่งฝึกเรื่องหยุดนิ่ง แล้วก็ให้ได้รับความสุขทุกครั้งที่เราปฏิบัติไม่มากก็น้อย หรืออย่างน้อยก็ไม่ทุกข์ ไม่มึน ไม่ซึมไม่เกร็ง ไม่เครียดในระบบประสาทกล้ามเนื้อ ไม่เบื่อหน่ายในการนั่ง
อย่างน้อยก็ต้องให้ได้อย่างนี้

 

             อย่างดีก็คือให้ได้รับความสุขทุกครั้งแม้เพียงแวบเดียว การที่ได้รับความสุขทุกครั้งที่เรานั่งแม้ไม่นาน นั่นก็เป็นเครื่องยืนยันว่าเราปฏิบัติถูกต้อง การปฏิบัติถูกต้องก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เราไปถูกทาง และจะมีประสบการณ์ภายในที่ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ มายํ้ากันตรงนี้ให้เยอะๆ นะลูกนะ

 

              เรานั่งวันนี้ เหมือนนักเรียนอนุบาล คือ นั่งอย่างง่าย ๆ ทำตามที่แนะนำ แล้วก็จะมีผล คือ เข้าไปสู่ความโล่ง ความว่าง ความนิ่งนิ่งจนกระทั่งได้สัมผัสแหล่งแห่งความสุข เหมือนเราเดินเฉียด ๆนํ้าตก ได้ยินเสียงนํ้าตก ได้รับละอองกระเซ็นกระสายของนํ้านิด ๆก็ชื่นใจ หรือเหมือนเราเดินในนํ้าตื้น ๆ ยังชื่นใจ การที่เราได้รับกระแสแห่งความสุขแม้เพียงเล็กน้อย แล้วนำความชื่นใจมาให้กับเราในการปฏิบัติในแต่ละครั้ง นั่นคือการเริ่มต้นที่ถูกต้อง

 

                ต่อไปก็ทำบ่อย ๆ ซํ้า ๆ ให้เข้าไปสู่ตรงนี้ให้เร็วขึ้น มันจะเร็วของมันเอง ถ้าเราทำถูกต้อง เช่น วันนี้เราใช้เวลาครึ่งชั่วโมง นั่งไปถึง ณจุดที่พึงพอใจที่ได้สัมผัสแหล่งกำเนิดแห่งความสุข แม้ยังไม่เห็นอะไร
ก็ตามเราก็หมั่นไปถึงจุดนี้บ่อย ๆ ในวันถัด ๆ มา

 

               แล้วเดี๋ยวเราจะพบว่า เมื่อเราเริ่มต้นได้ถูกต้อง การไปสู่จุดที่เราพึงพอใจ มันก็เร็วขึ้น จากครึ่งชั่วโมง ก็ลดมาเหลือ ๑๕ นาที๑๕ นาที ลดมาเหลือ ๕ นาที ๑ นาที จนกระทั่งพอเราหลับตาก็
แวบไปถึงตรงนั้นเลย และเมื่อถึงตรงนี้มันจะก้าวหน้าไปเอง ใจก็จะค่อย ๆ ละเอียดลงไป ละเอียดลงไป แล้วระยะยาวมันจะดี การเห็นก็จะชัดเจน จะค่อย ๆ เห็น ค่อย ๆ ดื่มดํ่าไป เป็นความสุขที่ดื่มดํ่าไปคู่กับการเห็นภาพที่จะมาในภายหลัง เห็นแสงสว่าง เห็นภาพ

 

              เห็นดวงธรรม เห็นกายภายใน เห็นองค์พระ การเห็นก็จะค่อย ๆเพิ่มขึ้น มากเข้า ๆ แล้วก็ไปสู่จุดนั้นได้เร็วเข้า ให้ทำความพึงพอใจอย่างนี้นะลูกนะ

 

            แล้วการนั่งทุกครั้งเราจะไม่กลุ้ม ไม่เบื่อ ไม่กระสับกระส่ายไม่ทุรนทุราย เราจะรักในการนั่ง เป็นสุขใจที่ได้นั่ง ไม่ต้องฝืนนั่งหรือพยายามที่จะนั่งสมาธิ ถ้าเกิดความรู้สึกว่าฝืนหรือพยายามนั่นผิดวิธีแล้ว รีบลุกขึ้นไปล้างหน้าล้างตาแล้วมาเริ่มต้นใหม่ นึกทบทวนคำสอนที่ได้รับฟังว่าเราจะเริ่มต้นอย่างไรถึงจะถูกต้อง แล้ว
ก็ค่อย ๆ ทำไป อย่างนักเรียนอนุบาล

 

                หลวงพ่อยํ้าเสมอว่า จบอนุบาลแล้วจะได้ด็อกเตอร์เลย ถ้าเราทำถูกวิธี คือ หยุดใจ ซึ่งจะนำไปใช้ทุกขั้นตอนเลย ยํ้าอีกทีเมื่อเราได้เห็นแสงสว่างแล้วเห็นดวงธรรมแล้ว เห็นกายภายในแล้ว เห็นองค์พระแล้ว เพราะความที่เราไม่ได้มุ่งต่อภาพ คือ เห็นสักแต่ว่าเห็น หรือมองไปงั้น ๆ เอง มันก็จะมีอะไรใหม่ ๆ มาให้เราดูได้เรื่อย ๆ

 

             การดูเฉย ๆ ก็คือใจที่หยุดนิ่งนั่นเอง ใจก็จะหยุดนิ่ง ละเอียดลุ่มลึกลงไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะมีองค์พระในองค์พระมาให้ดู แล้วก็จะเป็นสุขทุกครั้งที่องค์พระผุดผ่านใจเราอย่างสบาย ๆ ต้องอย่างนี้นะ

 

            เพราะฉะนั้นหยุดกับนิ่งสำคัญ ภาพมาทีหลัง อย่าไปกังวลกับเรื่องการเห็นให้มากเกินไปว่า เราต้องเห็น ต้องได้ ต้องมีต้องเป็น ลืมไปก่อนชั่วคราว ค่อย ๆ ทำไป อย่างใจเย็น ๆ อย่าไปคำนึงถึงวันเวลาที่ผ่านไป และที่กำลังจะผ่านต่อไปในอนาคต

 

             ทำปัจจุบันนี้ แล้วจะเร็วอย่างที่เราคาดไม่ถึงเลย ขอให้นั่งอย่างมีความสุข แล้วจะสนุกกับการนั่ง จะมีรสอร่อยทีเดียว สบายเบิกบานอย่างนี้นะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ

 

                                                                                         พฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
                                                                                                              โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0083196481068929 Mins