มหัศจรรย์สมาธิ

วันที่ 21 พค. พ.ศ.2563

มหัศจรรย์สมาธิ

 

น้ำค้างหยาดหยดย้อย

ปลายหญ้า

สูรย์ส่องพร่างพรายตา

ดั่งแก้ว

พิสุทธิ์ดุจธรรมา

ลอยเด่น

ลอยเด่น

ช่วงแพร้วมณีใส

 

                                                                                                    ตะวันธรรม

                      เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุก ๆคนนะ ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ

 

                      หลับตาของเราเบา ๆ ค่อนลูกพอสบาย ๆ ไม่ถึงกับปิดสนิท คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาพริ้ม ๆ ในระดับขนตาชนกันพริ้ม ๆ นั่งหน้ายิ้ม ๆ สบาย ๆ

 

                     แล้วก็ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย ทั้งเนื้อทั้งตัวให้มีความรู้สึกว่าผ่อนคลายจริง ๆ ตั้งแต่กล้ามเนื้อบนใบหน้า ศีรษะลำคอ บ่า ไหล่ แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือให้ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้า ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนว่าเลือดลมในตัวเดินได้สะดวก จะได้ไม่
ปวด ไม่เมื่อย ไม่ตึง ไม่เกร็ง

 

                    ต้องผ่อนคลายนะ ตรงนี้สำคัญ
                    หลับตาให้เป็น แล้วก็ผ่อนคลาย
                    เริ่มต้นต้องทำให้ถูกต้องนะ

 

                    แล้วก็ทำใจให้ใส ๆ ให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ปล่อยวาง ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ สบาย ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือจำง่าย ๆ ว่าอยู่ในบริเวณ
กลางท้อง

 

                         จำง่าย ๆ ให้รวมใจของเราไปหยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงที่เรามั่นใจว่าตรงนี้คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เอาใจไปหยุดนิ่ง ๆ อยู่ที่ตรงนั้น คือเอาความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ รวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน หรือจำง่าย ๆ ว่า เอาความรู้สึกทั้งหมดไปรวมอยู่ที่ตรงนั้น อย่างสบาย ๆ

 

                     แล้วก็กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ เป็นภาพทางใจนึกถึงเพชรสักเม็ด หรือก้อนน้ำแข็งใส ๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว แต่ว่าใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย โตขนาดไหนก็ได้ อย่างน้อยโตเท่ากับแก้วตาของเรานะ หรือขนาดดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวที่เรามองขึ้นไปบนท้องฟ้าในตอนกลางคืนขนาดไหนล่ะ ก็นึกเอาขนาดนั้นขนาดที่เราชอบ แต่ต้องกลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว แล้วก็ใสเย็น ใสอย่างน้อยก็เหมือนน้ำใส ๆ หรือเหมือนกระจกใส ๆถ้ายิ่งใสเหมือนกับเพชรได้ยิ่งดี

 

                    กำหนดเป็นบริกรรมนิมิตเป็นภาพทางใจ เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา ใจจะได้ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ให้นึกอย่างสบาย ๆ คล้าย ๆกับเรานึกถึงสิ่งที่เราชอบ ที่เราคุ้นเคย นึกง่าย ๆ สบาย ๆ พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบา ๆ

 

                   โดยให้เสียงของคำภาวนาเป็น เสียงที่ละเอียดอ่อดังออกมาจากในกลางท้องของเรา คล้าย ๆ เป็นเสียงที่ออกมาจากแหล่งแห่งความสุข แหล่งแห่งความบริสุทธิ์ แหล่งแห่งอานุภาพอันไม่มีประมาณ เพื่อขจัดความไม่บริสุทธิ์ที่เป็นมลทินของใจเราให้ใสสว่างและก็เยือกเย็น เราภาวนาว่า สัมมา อะระหัง

 

                    จะภาวนากี่ครั้งก็ได้ แต่ทุกครั้งที่ภาวนา สัมมา อะระหังเราก็จะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงใส ๆ ของบริกรรมนิมิตนั้น จนกว่าใจจะหยุดนิ่งจนทิ้งคำภาวนาไปเอง หรือเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากจะภาวนาอีกต่อไป อยากหยุดใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ ที่กลางดวงใส ๆ อย่างเดียว

 

                    ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องภาวนา สัมมา อะระหังอีก แต่ว่าเมื่อใดใจเริ่มหลุดคิดฟุ้งไปเรื่องอื่น เราจึงย้อนกลับมาภาวนาใหม่ ประคับประคองใจกันไปอย่างนี้จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง

 

มหัศจรรย์สมาธิ     

 

                    วัตถุประสงค์ที่เราต้องเจริญสมาธิภาวนา ก็เพื่อต้องการกลั่นกายวาจาใจของเราให้ใสบริสุทธิ์ ให้หยุดนิ่ง ไม่ให้วิ่งไปตามความทะยานอยากแบบโลก ๆ อย่างที่ผ่าน ๆ มา   

         

                     ใจจะบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ ที่นอกเหนือจากความรู้สึกว่าบริสุทธิ์ จะต้องเห็นความบริสุทธิ์เป็นดวงใส ๆ จะเกิดขึ้นได้มีเพียงประการเดียว คือ ต้องเจริญสมาธิภาวนาจนใจหยุดนิ่ง เราเจริญสมาธิภาวนาอย่างน้อยก็เพื่ออย่างนี้

 

                     ในลำดับถัดไป ความบริสุทธิ์นี้จะทำให้เราเข้าถึงความสุขที่แท้จริงภายใน ซึ่งเป็นความสุขที่แตกต่างจากที่เราเคยเจอ เป็นความสุขที่เราไม่อาจจะบรรยายได้ว่ามันเหมือนกับอะไร เพราะเป็นความสุขที่จะหาภาษาใด ๆ ในโลก แม้เอามารวมกันหลายพันหลายหมื่นภาษาก็ไม่อาจจะบรรยายได้

 

                     ความสุขและความบริสุทธิ์นี้เป็นสุดยอดแห่งความปรารถนาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่อยากเจอ

 

                    ความสุขอย่างนี้ โดยเฉพาะมนุษย์เกิดมานี่สิ่งที่ปรารถนาก็คือความสุข

 

                    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สุขะกามานิ ภูตานิ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่เป็นยอดปรารถนา คือความสุข ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราแสวงหาความสุขไปตามรสนิยม ไปตามความเข้าใจของเรา หรือเห็นคนอื่นเขาทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น เพราะเข้าใจว่าสิ่งนี้คือความสุข

 

                     เช่น ถ้าคิดว่าความสุขอยู่ที่คน ก็จะไปหาคน ความสุขอยู่ที่สิ่งของ ก็จะไปหาสิ่งของ ความสุขอยู่ที่สัตว์ ก็ไปหาสัตว์ความสุขอยู่ที่ธรรมชาติ ก็จะไปหาธรรมชาติ ถ้าเข้าใจว่าความสุขอยู่ที่น้ำเมา ก็จะไปหาน้ำเมา ถ้าเข้าใจว่าความสุขอยู่ที่สิ่งเสพติด ก็จะไปหาสิ่งนั้น คิดว่าอยู่ที่การพนันก็จะไปหาที่การพนัน ก็วิ่งไปตามความเข้าใจ ตามรสนิยม แต่ไปแล้วก็ไม่เคยเจอเลย เจอแต่ความเพลิน ๆ กับเพลีย ไม่ได้เกิดประโยชน์อันใด

 

                    แต่เมื่อใดที่เราเจริญสมาธิภาวนา กระทั่งใจหยุดนิ่งจนเห็นความบริสุทธิ์ปรากฏเกิดขึ้น เราจึงจะรู้จักความสุข เพราะฉะนั้น เจริญสมาธิภาวนาก็เพื่อให้เข้าถึงความสุขและความบริสุทธิ์

 

             นอกจากนั้น เรายังเข้าถึงความสว่างของชีวิต ซึ่งเป็นแสงสว่างจริง ๆ ไม่ใช่แค่เป็นการอุปมาของคำวา่ “แสงสว่างส่องทางชีวิต” เราจะเริ่มรู้จักชีวิตอีกหลาย ๆ ระดับที่ซับซ้อนอยู่ภายในตัวของเรา จากการที่เราเจริญสมาธิภาวนาจนใจหยุดนิ่ง เมื่อแสงสว่างภายในบังเกิดขึ้น ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐาน
ที่ ๗ เป็นความสว่างภายในที่เนียนตาละมุนใจ ไม่แสบตา ไม่จ้าตา ที่สว่างกว่าแสงสว่างภายนอก สว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน สว่างกว่าดวงจันทร ์ หรือดวงดาวบนท้องฟ้า สว่างกว่าแสงที่มนุษย์ประดิษฐ์

 

                   ความสว่างที่มาพร้อมกับความสุขและความบริสุทธิ์ จะเปิดเผยความลับของชีวิต ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย เมื่อเรามองผ่านแสงสว่างนั้น เราจะพบชีวิตอีกหลายระดับอยู่ภายใน

 

                   เช่น พบตัวของเราเองอยู่ในตัวของเราเอง ซึ่งเราไม่เคยคิดมาก่อน ไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย เห็นแต่ตัวเราเองอยู่ในกระจกที่เราส่องเงาหน้า หรือเห็นตอนที่เรานอนหลับแล้วฝันไปว่าตัวของเราออกไปทำหน้าที่ฝันไปเจอสิ่งนั้นสิ่งนี้ จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง

 

                  แต่พอเราเจริญสมาธิภาวนาใจหยุดนิ่ง แสงสว่างเกิดขึ้นภายในเจิดจ้า เมื่อใจหลุดพ้นจากความรู้สึกที่เป็นตัวตน ไม่มีร่างกายของเรา เราจะพบอีกชีวิตหนึ่งซึ่งเป็นตัวของเราเองหน้าตาเหมือนตัวเรา แต่อยู่ในอิริยาบถนั่งสมาธิ จึงเป็นสิ่ง

 

                  อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับเรา อย่างที่เราไม่รู้จักมาก่อนว่า ทำไมเราเห็นตัวเองได้ทั้ง ๆ ที่เราหลับตาเจริญสมาธิภาวนา เห็นตัวเองที่สดใสกว่ากายข้างนอก เป็นความรู้ใหม่ที่เรารู้จัก ที่เรามีประสบการณ์ภายใน กายนี้เขาเรียกว่า “กายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝัน”

 

                  เวลาตาย กายนี้จะหลุดออกไปจากกายมนุษย์หยาบผ่านตามฐานต่าง ๆ จนกระทั่งออกไปจากฐานที่ ๗ ออกไปที่ปากช่องจมูก แต่เวลาเรายังมีชีวิตอยู่จะปรากฏให้เห็นตอนเราหลับแล้วฝันไป นี่ก็เป็นผลจากการเจริญสมาธิภาวนาที่ทำให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้น ความลับของชีวิตได้ถูกทำลายออกไปในระดับหนึ่ง

 

                  เมื่อใจของเราหยุดนิ่งสนิทอยู่ในกลางของกายมนุษย์ละเอียด จนกระทั่งเราเป็นกายมนุษย์ละเอียด มีความรู้สึกเป็นกายมนุษย์ละเอียด เหมือนที่เรามีความรู้สึกเป็นกายมนุษย์หยาบอย่างนั้นแหละ ความรู้ก็จะเกิดขึ้นอีกระดับหนึ่ง

 

                  แต่เดิมเราเข้าใจว่า กายมนุษย์หยาบนี้เป็นตัวเรา เป็นของของเรา แต่เมื่อเรามาถึงกาย
มนุษย์ละเอียดภายใน เราได้ความรู้เพิ่มเติมว่ากายภายนอกแค่เป็นประดุจบ้านเรือน เหมือนเป็นเรือนของใจ เป็นเรือนให้กายมนุษย์ละเอียดอาศัยชั่วคราว เมื่อหมดอายุขัยก็ต้องแตกสลาย

 

                หายไป เพราะฉะนั้นความผูกพันในกายมนุษย์หยาบ หรือสิ่งที่เนื่องด้วยกายมนุษย์หยาบก็จะ
ค่อย ๆ บรรเทาลงไปเรื่อย ๆ เพราะความเข้าใจของเรามีเพิ่มขึ้น ความเข้าใจนี้นี่แหละเขาเรียก
ว่า “ปัญญา” แต่เป็นปัญญาที่สูงกว่าปกติ สูงกว่ามนุษย์ทั่วไป

 

                เพราะฉะนั้น สมาธิเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา แต่ปัญญาในที่นี้เป็นปัญญาที่เกิดจากการเห็นแจ้ง เห็นว่าตัวเราอยู่ในตัวของเรา

 

                และถ้าหากเรานำใจของกายมนุษย์ละเอียดหยุดนิ่งต่อไปอีกในกลางกาย ความลับของชีวิตก็ถูกทำลายไปเรื่อย ๆ สิ่งที่บดบังก็ถูกทำลายให้ล่มสลายไป ความสว่างก็เกิดขึ้น การเห็นแจ้งก็เพิ่มขึ้น กว้างขึ้น ความรู้แจ้งก็กว้างขึ้นไปตามการเห็น เห็นถึงไหนก็รู้ถึงนั่น จนกระทั่งเข้าไปถึงกายที่สำคัญคือกายองค์พระมีองค์พระผุดผ่านเกิดขึ้นมาในกลางกาย

 

                สำหรับอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน ก็คงจะได้ยินประสบการณ์ของเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่เข้ามาอบรมในรุ่นนี้ ตามศูนย์ตามไซด์ต่าง ๆ ที่เขามีประสบการณ์ภายในว่า เห็นองค์พระ

 

               ผุดผ่านขึ้น หลาย ๆ ท่านก็เปิดเผยในประสบการณ์ที่เล่าสู่กันฟังว่าไม่เคยคิดว่าจะมีสิ่งนี้มาก่อน อีกทั้งไม่เคยเชื่อและก็ไม่เคยลงมือปฏิบัติ แต่บัดนี้ได้ทำลายความสงสัยนั้นไปแล้วด้วยตัวของตัวเองเมื่อใจหยุดนิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ผ่านความไม่เชื่อมาก่อน แล้วก็ลงมือปฏิบัติโดยที่ไม่รู้อะไรเลย แค่หยุดนิ่งเฉย ๆ
ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ แค่ต้องการให้ใจสงบแล้วเกิดความสุขภายในเท่านั้น

 

               แต่แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ที่บุญเก่าได้ช่อง ส่งผลทำให้ใจหยุดนิ่งเข้าถึงดวงธรรมภายใน และก็เห็นองค์พระภายในปรากฏเกิดขึ้นเป็นองค์พระแก้วที่ใสบริสุทธิ์ ใสเหมือนน้ำแข็งบ้าง ใสเหมือนกระจกเงาบ้าง ใสเหมือนกับเพชรบ้าง และก็ใสเกินใสเกินความใสใด ๆ ในโลก ใสที่ทะลุได้และก็มีแสงสว่างที่เนียนตา
ละมุนใจ

 

               อีกทั้งรูปกายขององค์พระก็แตกต่างจากพระพุทธรูปที่เคยเห็น เคยเจอ มีเกตุดอกบัวตูมตั้งอยู่บนจอมกระหม่อม ซึ่งมีเส้นพระศกหรือเส้นผมขดเวียนเป็นทักษิณาวรรต หมุนขวาตามเข็มนาฬิกาเรียงรายอย่างสวยงามบนพระเศียรท่าน ที่ตั้งอยู่บนพระวรกายที่งดงามแตกต่างจากพระพุทธรูปภายนอกที่เคยเห็น
เคยกราบไหว้บูชา

 

                ตรงนี้แหละ เราจะเริ่มเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ทำไมปู่ย่าตายายหรือบรรพบุรุษของเราที่เป็นชาวพุทธต้องสร้างพุทธปฏิมากรหรือพระพุทธรูปเอาไว้เป็นที่เคารพกราบไหว้บูชา เป็นเครื่องระลึกนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเข้าใจนี้จะเพิ่มขึ้นว่าที่เขาสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาก็เพราะเขาถอดแบบออกมาจากภายในนี่แหละ แต่ก็มีข้อสงสัยว่า พระพุทธรูปที่เขาสร้างกันภายนอกกับภายในนี้มันแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ต่างตรงที่
ความสวยงาม ความใส ความสว่าง และก็ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะช่างยังเข้าไม่ถึง แต่ก็สืบทอดความคิด สืบสานกันมาเป็นวัฒนธรรมของการสร้างพุทธปฏิมากรเพื่อระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี

 

                 แล้วก็จะเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า เขาสร้างขึ้นเพื่อให้รู้ว่าในตัวของเรานี้มีพระธรรมกายซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเรา สิ่งอื่นไม่ใช่สรณะ เมื่อเข้าถึงแล้วอบอุ่น ปลอดภัย มีความสุข สุขกายสบายใจในทุกหน     ทุกแห่ง แม้อยู่ตามลำพัง แม้สังขารจะเจ็บจะป่วย แม้จะอยู่ในที่คับขันเกิดวิกฤติของชีวิตก็ไม่หวั่นไหว ใจจะ
อยู่เหนือความรู้สึกสะดุ้งพรั่นพรึงหวาดหวั่น หรือหวาดกลัวแบบมนุษย์ทั่ว ๆ ไป

 

                  แล้วก็จะเข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้น ที่พระองค์เคยตรัสกับพระวักกลิในทำนองว่า “วักกลิเธอจะมัวมาดูร่างกายของพระตถาคตที่เปื่อยเน่านี้ทำไม แม้ประกอบไปด้วย

 

                  ลักษณะมหาบุรุษงามยิ่งกว่าเทวดา พรหมหรืออรูปพรหม แต่ก็มีการเปื่อยเน่า เป็นธรรมดา        เหมือนสังขารร่างกายของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป” ท่านบอกอย่ามองตรงนี้ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระตถาคตตัวจริง” เพราะพระตถาคตคือธรรมกาย ธรรมกายคือพระตถาคตเจ้า ท่านกล่าวให้พระวักกลิผู้ที่ติดใจหลงใหลใน
รูปกายหยาบลักษณะมหาบุรุษของพระองค์ได้ทราบ

 

                  ก็แปลว่า พระองค์ตรัสในสิ่งที่ลึกซึ้งถึงความเป็นพระพุทธเจ้าจริง ๆ นั้น คือพระธรรมกายในตัวของพระองค์เอง ไม่ใช่กายหยาบภายนอก เพราะกายหยาบภายนอกพระองค์ได้มาตั้งแต่ประสูติ ประสูติมาก็ได้ลักษณะมหาบุรุษแล้ว ในระดับอสิตดาบส ฤๅษีที่เขาเคารพนับถือกันทั้งแผ่นดินของกรุงกบิลพัสดุ์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ยังมากราบไหว้ตอนที่ท่านยังเป็นทารกอยู่ ก็แปลว่าลักษณะภายนอกไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่ความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ภายใน คือ พระธรรมกาย

 

                 และเนื่องจากพระองค์ได้เข้าถึงพระธรรมกายในตัวแล้วก็ไม่เก็บความรู้ไว้เฉพาะพระองค์ท่าน ได้ถ่ายทอดให้กับผู้มีบุญทั้งหลายทั้งมนุษย์และเทวดาได้ทำตามและก็ได้บรรลุตามพระองค์ ด้วยพระมหากรุณานี้มนุษย์และเทวดาทั้งหลายจึงเคารพกราบไหว้บูชาทั้งกายหยาบและกายธรรมของท่าน ในฐานะเป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระบรมครูที่ถ่ายทอดความรู้อันบริสุทธิ์นี้ให้กับทุก ๆ คน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์ เพราะในสมัยพุทธกาลก็มีความเชื่อที่หลากหลายเช่นเดียวกับในยุคนี้นี่แหละ ใครมีบุญได้ยินได้ฟังท่าน ได้ปฏิบัติตามคำสอนท่าน ก็จะบรรลุธรรมเช่นเดียวกับท่านเพราะฉะนั้นก็มีพยานในการตรัสรู้ธรรมเกิดขึ้นมากมาย

 

                 ลูก ๆ ทุกคนเป็นผู้มีบุญที่ให้โอกาสตัวเองปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย นี่คือช่วงจังหวะชีวิตที่ดีที่สุด แม้เวลาจะเหลืออยู่อีกเพียง ๑ วัน ๑ คืนเท่านั้นก็ตามจะต้องประกอบความเพียรให้กลั่นกล้า เพราะว่าบุญเก่าของเรามีมากเพียงพอแล้วเหลือ แต่การประกอบความเพียรและทำให้ถูกหลักวิชชาเท่านั้น คือ ง่าย ๆ สบาย ๆ และก็ใจเย็น ๆ หยุดใจนิ่งอย่างเดียวก็จะบรรลุวัตถุประสงค์เข้าถึงพระธรรมกายในตัวได้

 

                เพราะฉะนั้นเวลาที่เหลืออยู่นี้ ทำวันนี้ให้ดีที่สุดด้วยการเจริญสมาธิภาวนา ให้กายวาจาใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ที่สุดด้วยการหยุดนิ่งอย่างเบา ๆ สบาย ๆ ใจเย็น ๆ ประคับประคองใจไปเรื่อย ๆ ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบา ๆ ว่า สัมมา อะระหังตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใส ๆ

 

                ส่วนผู้ที่ได้ดวงใส ๆ แล้ว และเข้าถึงองค์พระภายในแล้ว ก็หยุดใจต่อไปอีก หยุดอยู่ในกลางดวงใส ในกลางองค์พระใส หรือหยุดในกลางกายตัวเองที่เราเห็นอยู่นั้น อย่างเบา ๆ สบาย ๆ

 

                เรื่อย ๆ ไป ทำซ้ำ ๆ ทำให้ชำนาญ ให้ติดเป็นจริตอุปนิสัย ให้ชำนาญทั้งหลับตาก็เห็น ลืมตาก็ต้องให้เห็น นั่ง นอน ยืน เดินก็ต้องให้เห็นชัดใสแจ่มกระจ่าง นั่นแหละจะเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของลูกทุก ๆ คน

 

                 แล้วก็จะได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้วิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นได้ ถ้าลูกปรารถนา เขาเรียกว่า “วิชชาธรรมกาย”ตั้งแต่วิชชา ๓ วิชชา ๘ ประการ อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นต้นจะศึกษาได้ต่อเมื่อเข้าถึงพระธรรมกายในตัว เพราะว่าเป็นวิชชาของพระธรรมกายที่จะต้องศึกษาด้วยพระธรรมกาย สั่งสอนด้วย
พระธรรมกาย เรียนได้เฉพาะพระธรรมกายในตัวเท่านั้น กายอื่นเรียนไม่ได้

 

                ถ้าเราเข้าถึงท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท่าน นั่นแหละเวลาที่จะศึกษาเรียนรู้วิชชาธรรมกายได้บังเกิดขึ้นแล้ว ภพชาติทั้งหลายจะอยู่ในสายตาของเรา เหมือนเราลืมตาของกายมนุษย์หยาบเห็นต้นหมากรากไม้ ภูเขาเลากา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ดวงดาว อย่างนั้นแหละ มันจะอยู่ในสายตา แต่เป็นสายตาของ
พระธรรมกาย เขาเรียกว่า “ธรรมจักษุ” คือ ดวงตาธรรมของพระธรรมกายที่มีความเห็นแจ้งที่แตกต่างจากการเห็นทั่ว ๆ ไปแตกต่างจากการเห็นด้วยตามนุษย์ แตกต่างจากการเห็นด้วยตาของเทวดา แตกต่างจากการเห็นด้วยตาของกายรูปพรหม หรือ แตกต่างจากการเห็นของอรูปพรหมทั้งหลาย

 

               เห็นแตกต่างอย่างนี้ภาษาธรรมะเรียกว่า “วิปัสสนา”เป็นการเห็นที่วิเศษ แจ่มแจ้ง และแตกต่างจากการเห็นทั่ว ๆ ไปเพราะเห็นด้วยพระธรรมกายนั้น จะเห็นไปทุกทิศทุกทาง ณจุดเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกัน

 

             วันใดที่ลูกทุกคนได้เข้าถึงพระธรรมกายได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย ได้ใช้ศูนย์กลางกายร่วมกัน ตำแหน่งเดียวกัน ความรู้ ความเข้าใจการเห็นแจ้ง ก็จะเห็นเหมือนกัน รู้แจ้งเหมือนกันเมื่อ เห็นเเจ้งเหมือนกัน   รู้แจ้งเหมือนกัน ก็จะคิดเหมือนกัน พูดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน เมื่อคิดเหมือนกัน พูดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน สิ่งดี ๆก็จะบังเกิดขึ้นกับโลกใบนี้อย่างอัศจรรย์

 

            เช้านี้อากาศกำลังสดชื่นแจ่มใสเย็นสบาย ให้ลูกทุกคนผู้มีบุญประกอบความเพียรให้ถูกหลักวิชชาเรื่อยไป ขอให้ ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกคนต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ

 

         พระเทพญาณมหามุนี

 วันอาทิตย์ที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 2
                                                                                                โดยคุณครูไม่ใหญ่

            

                 

                 

                         

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.054467817147573 Mins