ทำไมเด็กจึงเห็นธรรมะได้ง่าย

วันที่ 19 มิย. พ.ศ.2563

ทำไมเด็กจึงเห็นธรรมะได้ง่าย

 

                 นั่งยิ้มยิ้มสิจ๊ะหน้าแย้มยิ้ม

หลับตาพริ้มยิ้มละไมดั่งเพชรใส

ให้ใจจิตวิญญาณบานหทัย

แผ่ขยายจนครอบคลุมภพอนันต์

                   หากนั่งดีมีรางวัลให้นั่งต่อ

ใจของพ่ออยากให้ลูกนั้นสมฝัน

ทำวิชชาครานี้ได้อัศจรรย์

ได้ช่วยกันโรมรันเช่นชาติเดิม

                                                                         ตะวันธรรม

                     ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้มีความรู้สึกว่าสบาย ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาดบริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือจำง่าย ๆ ว่า อยู่ในบริเวณกลางท้อง

 

นึกถึงบุญ 

 

                      ให้นึกถึงบุญทุกบุญที่เราทำผ่านมาตั้งแต่ปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เราสร้างบารมีเรื่อยมานับภพนับชาติไม่ถ้วนมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันชาติ ให้บุญทุกบุญ บุญเล็ก บุญน้อย บุญใหญ่บุญปานกลาง บุญทุกชนิดใหม่มารวมเป็นดวงบุญใส ๆ ติดอยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีตำหนิเลย สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ       

          

                       ให้ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงใส ๆ อย่างเบาสบาย ๆ พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่ง ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบา ๆ ว่า สัมมา อะระหัง ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใส ๆ อย่างเบาสบาย แล้วก็ผ่อนคลาย พร้อมกับภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจจะหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 

                        พอใจหยุดนิ่งก็จะทิ้งคำภาวนา สัมมา อะระหัง ไปเองเหลือแต่ใจที่หยุดนิ่งอยู่ในกลางดวงใส ๆ อย่างเดียว แล้วก็นิ่งในนิ่งเข้าไปเรื่อย ๆ นิ่งอย่างเดียว คือดูไปตรงกลางจุดเล็ก ๆใส ๆ ที่อยู่ในกลางดวงใส ๆ อย่างเบา ๆ สบาย ๆ

 

ใจที่ถูกส่วน     

 

                        พอถูกส่วนดวงก็ขยายกว้างออกไปเอง ถ้ายังไม่ถูกส่วนก็นิ่งเฉยอยู่ตรงนั้นแหละ เห็นแต่ดวงใส ๆ แต่เข้าไปไม่ได้ 

 

                        ต้องถูกส่วน คือ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไปมันจะพอดี ๆ จะเบา ๆ สบาย ๆ ถ้าตึงเกินไป
ก็ไม่ถูกส่วน ใจจะอยู่ตรงนั้น ภาพจะนิ่ง ไม่มีความสุขและก็ไม่มีความทุกข์ มันจะเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ 

       

                         ที่ตึงเพราะว่า ตั้งใจเกินไป ไปเน้น ไปเค้นภาพ ถ้าหย่อนเกิน ไปก็หาย หย่อน คือเผลอ จนกระทั่งความคิดอื่นได้ช่อง ทำให้เราไปคิดโน่นคิดนี่ หรือไม่ก็เคลิ้ม ๆ ง่วงหลับไปอะไรอย่างนั้นเป็นต้น ก็ไม่ถูกส่วน     

 

                      ถูกส่วน ได้จากการทำถูกต้อง คือ ไม่ตึงไม่หย่อนไป ไม่ประมาท หมั่นตรึก หมั่นนึก หมั่นคิดให้ได้ตลอดเวลา ถูกส่วนนี่สำคัญนะ เกิดมาชาติหนึ่งถ้าเราสามารถครอบครองคำว่า“ถูกส่วน” ได้ ก็จะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา มาสร้างบารมี

 

คนเราเกิดมาทำไม       

   

                       ให้ความสำคัญกับการนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้ให้มาก ๆ เพราะนี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตเราเกิดมาก็เพื่อการนี้เป็นหลัก การทำมาหากิน ทำมาค้าขายการครองเรือนหรืออะไรต่าง ๆ เหล่านั้นยังเป็นเรื่องรองลงมาแต่เรื่องหลักคือนำใจกลับมาหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้ เพื่อเข้าสู่เส้นทางสายกลาง ซึ่งเป็นทางหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานของชีวิตจากกิเลสอาสวะ จากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร นี้เป็นเรื่องหลักของชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ในแต่ละครั้ง      

  

                      กายอื่นทำได้ไม่เร็วแรงเท่ากายมนุษย์หยาบ แม้เป็นชาวสวรรค์ เป็นกายละเอียดก็ยังไม่เร็วแรงเท่ากับกายมนุษย์หยาบ เราได้ครอบครองกายมนุษย์หยาบแล้วก็ต้องทำให้ถูกวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะได้มาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย เราก็จะต้องเดินตามรอยของผู้ประสบความ
สำเร็จในชีวิตอันสูงสุดที่ไม่มีใครเทียบเท่าได้ เป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายนั่นคือพระสัมมาสัมพทุธเจ้าตั้งใจเดินตามรอยท่าน ท่านสอนให้ทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น เมื่อท่านดับทุกข์ได้ พ้นทุกข์ได้ เราก็จะเป็นอย่างท่าน

 

                     เพราะชีวิตที่เรากำลังเป็นอยู่นี้ ท่านก็เคยเป็นมาก่อนแล้วชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ท่านก็เกิดมาในหลายลักษณะ เป็นชนชั้นล่างบ้าง ชั้นกลางบ้าง ชั้นสูงบ้าง ซึ่งท่านสรุปว่าชีวิตทุกระดับมีความทุกข์ทั้งนั้น แม้ว่าจะสมบูรณ์ไปด้วยโลกียสุขโลกียทรัพย์ ทรัพย์ที่เป็นเครื่องปลื้มใจสำหรับชาวโลก ก็ไม่ได้ให้ความเต็มเปี่ยมของชีวิต ยังดับทุกข์ไม่ได้ ยังสุขน้อยทุกข์มากนอยู่กับเหตุปัจจัยของชีวิตแต่ละช่วง ท่านจึงถึงจุดอิ่มตัวในเพศของคฤหัสถ์ แล้วก็ปลีกตัวออกจากเรือนเหมือนนกที่จากคอนมาสู่เพศนักบวช เพื่อจะได้ให้โอกาสตัวเองในการแสวงหาชีวิตที่ประเสริฐ

 

                    แล้วในที่สุดพระองค์ก็พบหนทางไปสู่ความพ้นทุกข์และดับทุกข์ได้ ด้วยการนำใจกลับมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว ซึ่งจะมีทางเอกสายเดียว เป็นแนวดิ่งเข้าไปสู่ภายใน ที่ปลายทางนั้นเป็นอายตนนิพพาน

 

ทำไมเด็กจึงเห็นธรรมะง่าย   

 

                    เส้นทางสายนี้ ทางเอกสายเดียวที่จะดับทุกข์ได้ และเป็นเส้นทางแห่งความสุขที่ไม่มีประมาณ ความหมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย จะต้องผ่านเส้นทางเอกสายเดียวนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางสายกลางภายใน ด้วยการนำใจกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ให้ใจมารวมเป็นจุดเดียวกัน คือ เอาความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ๔ อย่าง มารวมเป็นจุดเดียวกัน     

         

                   ตอนเป็นเด็ก ๆ ใจยังรวมกันอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นเด็กจึงเห็นธรรมะง่าย เพราะ
ใจยังไม่แตกแยกเป็นเสี่ยง ๆ แตกแยก คือ เห็นไปทาง จำไปทาง คิดไปทาง รู้ไปทาง

 

                    ที่แตกแยกเพราะมีสิ่งเร้าทางโลกดึงเอาไปคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่
ได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส นึกคิดอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ใจก็กระเจิง จากการรวมเป็นหนึ่งก็แตกออกไปเป็นเสี่ยง

 

                  เพราะฉะนั้น เด็ก ๆ ใจถึงนิ่งง่าย คนที่ใจนิ่งจะ innocent คือใจจะใส ๆ มีความสุขระดับหนึ่ง ยิ่งโตก็ยิ่งแตก ยิ่งมีอะไรเยอะ ๆ ก็ยิ่งแตกแยกไปเรื่อย ๆ แตกไปจนกระทั่งตาย ตายพร้อมกับกายแตก คือร่างกายก็แตก ใจก็แตก     

       

                  เมื่อมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงสอนให้เราเอาใจมารวมกัน มาติดกันใหม่ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ พระผู้ปราบมาร ท่านก็สอนให้ใจมาติดกันอย่างนี้ เห็น จำ คิด รู้ รวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน

 

                   พอใจติด ดวงก็เกิดสว่างใส แล้วพอใจติดก็ติดใจเข้าไปสู่ภายในไปเรื่อย ๆ ยิ่งติดยิ่งนิ่งแน่นเข้าไปเรื่อย ๆ จากนิ่งหลวม ๆก็นิ่งแน่นขึ้น จนกระทั่งความคิดอื่นไม่ได้ช่องที่จะระเบิดใจให้แตกแยก ใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ผ่านดวง ผ่านกาย ผ่านฌานใส ๆ ใสทั้งดวง ทั้งกาย ทั้งฌาน ความสุข อันไม่มีประมาณก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับความบริสุทธิ์ ความนิ่งแน่น มาพร้อมกับความสว่างที่ทำให้เห็นแจ้ง เห็นภาพภายใน แล้วก็รู้แจ้งไปตามลำดับ

 

                   จนกระทั่งไปถึงกายที่พญามารเอากิเลสอาสวะบังคับไม่ได้ก็หลุดล่อนไป คือกายธรรมอรหัตตผล หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วาใสบริสุทธิ์ นั่นแหละกายแท้จริงของเราจะต้องมีสภาพอย่างนั้นต้องสวยงาม สมบูรณ์ไปด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ

 

                   รูปสมบัติ คือ กายงามใส เกตุดอกบัวตูม  ทรัพย์สมบัติ คือ นิพพานสมบัติ 

                   คุณสมบัติ คือ วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิโมกข์ ๘ จรณะ ๑๕

                   นั่นแหละตัวจริงของเราจริง ๆ จะเป็นอย่างนั้น จะใสสะอาด บริสุทธิ์

 

                   ผู้ที่ไปถึงตัวจริงของจริงและนำมาถ่ายทอดให้กับมนุษย์และเทวดาผู้มีบุญได้บรรลุตามได้ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งไม่มีใครสอนได้อย่างนี้ เพราะเขาไม่ได้บรรลุอย่างนี้ เมื่อทำไม่ได้ ก็สอนไม่ได้

 

                   ดังนั้น เรามีบุญมากที่ได้เกิดในบุญเขต ร่มเงาของพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย ที่อาศัยพระธรรมกายภายในนี่แหละศึกษาวิชชาธรรมกาย จากพระธรรมกายที่ละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆตามลำดับ เรามีบุญตรงนี้จึงได้มาศึกษาเรียนรู้กัน

 

                   เพราะฉะนั้น ช่วงนี้ให้ทุกคนรวมใจหยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเบาๆ สบาย ๆ กันนะ

                         พระเทพญาณมหามุนี

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 2
                                                                                                โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023363383611043 Mins