การทำสมาธิไม่ยาก

วันที่ 22 มิย. พ.ศ.2563

การทำสมาธิไม่ยาก

 

ทุกทุกสิ่งมีอยู่แล้วในกลางกาย

แม้อารมณ์สบายที่กำลังแสวงหา

แค่ทำใจหยุดนิ่งนิ่งเดี๋ยวก็มา

เชื่อเถิดหนามันเหลือเชื่อแต่เป็นจริง

                                                                  ตะวันธรรม

 

                      ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ อากาศกำลังดี เดี๋ยวตั้งใจนั่งกันให้ดีทุกคนเลย หลับตาเบา ๆ สบาย ๆ แล้วก็เอาใจหยุดไปนิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กลางท้องของเรา เหนือสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ ให้วางเบา ๆ สบาย ๆ

 

วิธีแก้กดลูกนัยน์ตา   

 

                      บางท่านเริ่มต้นยังไม่คุ้นเคยกับการวางใจไว้ตรงกลางกายฐานที่ ๗ เราจะเริ่มต้นตรงไหนก่อนก็ได้ ตรงที่เรามีความรู้สึกว่าสบาย ที่เราจะไม่ต้องกดลูกนัยน์ตาลงไปดู เพราะบางคนเป็นอย่างนั้น เราอาจจะทำใจนิ่งเฉย ๆ โดยไม่คำนึงถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างนี้ไปก่อนก็ได้ แต่เรารู้ว่าเป้าหมายตอนสุดท้ายจะต้องมาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะพระรัตนตรัยอยู่ตรงนั้น นี่สำหรับบางท่านที่ชอบกดลูกนัยน์ตาไปดูก็ต้องแก้ด้วยวิธีอย่างนี้ เช่น อาจจะเริ่มต้นที่ ฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก หญิงซ้ายชายขวา ตรงนั้นไปก่อนก็ได้   

    

                     หรือฐานที่ ๒ ตรงหัวตา หญิงซ้าย ชายขวา รู้สึกตรงนี้จะง่ายกับหลาย ๆ ท่าน เราจะนิ่งตรงนี้ไปก่อนก็ได้

 

                     หรือใครถนัดฐานที่ ๓ ที่กลางกั๊กศีรษะ เราก็ช้อนตาเหลือกค้างขึ้นไป แล้วก็ปล่อยตาเป็นปกติ ตรงนี้จะยากสักนิดหนึ่ง สำหรับผู้ไม่คุ้นเคยนะ

 

                     หรือจะเลื่อนลงมาที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก(ฐานที่ ๔) หรือมาที่ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก (ฐานที่ ๕) หรืออยู่กลางท้องระดับสะดือ คือ ฐานที่ ๖หรือยกสูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ฐานที่ ๗

 

                      เราก็ลองสำรวจทบทวนดูสักฐานหนึ่งใน ๗ ฐานว่า เราถนัดอย่างไหน เอาอย่างนั้นไปก่อน ไม่ได้ผิดหลักวิชชา เพราะเรารู้เป้าหมายแล้วว่า เราจะไปที่ตรงไหน เหมือนเราอยู่กันคนละทิศละทาง ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ภาคกลาง แต่เราอยากจะมาวัดพระธรรมกาย จะเริ่มตรงไหนก่อน
ก็ได้ แต่เป้าหมายสุดท้ายเราก็มาวัดพระธรรมกาย

 

                      หรือจะวางใจนิ่ง ๆ โดยไม่คำนึงถึงฐานก่อนก็ได้ ให้รู้สึกว่าสบาย เบิกบาน จะนึกนิมิตเป็นภาพ หรือไม่นึกก็ได้ เราก็เลือกเอา

 

                      ในเบื้องต้นให้ทำอย่างนี้นะ เพื่อให้มีความรู้สึกว่า การทำสมาธิไม่ใช่ของยาก อยู่ในวิสัยที่เราทำได้ ให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ไปก่อน พอใจมันนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม สบ๊าย สบายอาจจะมีสักแวบหนึ่ง ไม่ถึงนาที รู้สึกตัวมันโล่ง ขยาย หรือตัวหายไป หรือตัวเบา ๆ ลอย ๆ อ้ะ อย่างนี้ใช้ได้แล้ว แม้ครั้งนั้นได้ไม่ถึงนาที หรือได้แค่นาทีเดียวก็คุ้มแล้วกับที่เราได้ลงทุนนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนา

 

                       แล้วก็ทบทวนดูว่า เราทำอย่างไรถึงได้อย่างนั้น เราก็ทำอย่างนั้นอีก มันก็จะไปเป็นอย่างนั้นอีก แล้วจาก ๑ นาที ก็ขยายมาเป็น ๒ นาที ๓ นาที ขยายไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราคุ้นเคยชำนาญขึ้น คล่องขึ้น ก็จะไปสู่จุดนั้นได้เร็วขึ้น ซึ่งบางครั้งเรานั่งชั่วโมงหนึ่งกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ ฟุ้งไปตั้ง ๕๐ กว่านาที มา

 

                       ได้ตอนท้าย ๆ ชั่วโมง แต่พอเราทำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ก็จะไปถึงจุดนั้นได้เร็วเข้า จาก ๕๐ นาที ก็เหลือ ๔๐ นาที ๓๐ นาที ๒๐นาที ๑๐ นาที กระทั่งไม่ถึง ๑๐ นาที ก็จะถึงตรงนั้น ขึ้นอยู่กับเราทบทวนดูว่า เราทำอย่างไร ก็ให้ทำอย่างนั้นบ่อย ๆ

 

                       ข้อสำคัญ อย่าไปลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง ไปกำกับ ไปบังคับ ให้หมั่นศึกษา ฝึกฝน และทำความเข้าใจในการทำสมาธิให้ดี แล้วเราจะรู้สึกว่า การทำสมาธิไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่อยู่ในวิสัยที่เราทำได้ แต่เราไม่ได้ทำ แล้วก็คิดกังวลไปก่อนล่วงหน้าทั้งนั้น

 

                        การทำสมาธิไม่ใช่เรื่องยากคล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไรที่สนุก ๆ และเราเพลิน ๆ ไปในเรื่องนั้น แต่นั่นเพลินไปเรื่อยเปื่อย แต่การทำสมาธิเราต้องการเพลินในอารมณ์เดียว ซึ่งอารมณ์ตรงนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักว่าต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม ก็จะเข้าถึงปฐมฌาน ที่ประกอบไปด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อถึงตรงนี้แล้วปีติจะซาบซ่านไปทั่วทั้งเนื้อทั้งตัว ทุกขุมทุกขน ไม่มีส่วนใดของ
ร่างกายที่ความปีติจะแผ่ไปไม่ถึง นั่นเป็นหลักวิชชา

 

                       เพราะฉะนั้น ต้องสงัดจากกาม และสงัดจากอกุศลธรรมคือ ใจต้องหยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ ดังกล่าว ลองดูนะ

 

                       ลองนิ่ง ๆ เฉย ๆ เบา ๆ หลับตาก็แค่ปรือ ๆ ตา ไม่ถึง กับปิดสนิท และก็ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย ใจนิ่ง ๆ เย็น ๆไม่มีความคิดอะไร นิ่งเฉย ๆ เหมือนไม่ได้ทำอะไร แล้วเดี๋ยวมันจะถูกปรับของมันไปเอง ปรับให้นิ่ง แล้วจะดิ่งเข้าไปเอง

 

                       ในกรณีที่นิ่งได้ระดับหนึ่งแล้วภาพเกิดขึ้น เราก็ต้องเฉย ๆอย่างเดิม อย่าไปตื่นเต้นดีใจจนเกินขนาด ให้ระงับความตื่นเต้นเอาไว้ แต่ถ้าระงับไม่อยู่ก็ช่างมัน ยอมให้ตื่นเต้นสักพักหนึ่งเพราะมันก็น่าตื่นเต้นเนื่องจากเราไม่นึกว่า คนอย่างเราจะเห็นแสงสว่างภายใน เห็นดวงใส องค์พระใส ๆ มันก็น่าตื่นเต้น
แต่ความตื่นเต้นก็มีข้อเสียทำให้ภาพที่เราเห็นมันหายไป

 

                       เราก็ต้องเลือกดูว่า ระหว่างเรายอมไม่ตื่นเต้นกับยอมตื่นเต้น เราควรจะเลือกอันไหน ซึ่งนั่งในคราวถัด ๆ ไป เราจะเลือกได้ว่าเราเลือกขอไมตื่นเต้น ดีกว่า เพราะจะทำให้แสงสว่างก็ยังอยู่ดวงใส ๆ ก็ยังอยู่ หรือองค์พระใส ๆ ก็ยังอยู่ หรือบางทีเห็นตัวเอง ตัวเราเองก็ยังอยู่

 

                      ทันทีที่เรานั่งหลับตาเบา ๆ ขัดสมาธิ คู่บัลลังก์ กายตั้งตรงเท่ากับเรากำความสำเร็จที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขอให้เราเพียงได้นั่งหลับตานิ่ง สบาย ผ่อนคลาย ไม่ต้องคิดอะไร ทำเฉย ๆ แล้วเดี๋ยวมันก็จะเข้าไปสู่ตรงนั้น

 

                      ในกรณีที่เราจะพูดถึงสิ่งที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน ประณีตเหนือธรรมชาติ เรามักจะเข้าใจว่า มันเอื้อมไม่ถึง มือมันสั้นแต่ความจริงมันเหมือนเส้นผมบังภูเขา เส้นผมบังลูกนัยน์ตาเราทำให้มองไม่เห็นภูเขาลูกโต ๆ เช่นเดียวกัน “หยุด” อย่างเดียวนี่แหละที่จะทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ภายใน บางทีเราไม่
ค่อยจะเชื่อว่า เอ๊ะ ! มันจะเป็นไปได้อย่างไร แต่ความจริงเป็นอย่างนั้น

 

                     ธรรมะเป็นของลึกซึ้ง จะเข้าถึงได้อย่างง่าย ๆถ้าทำถูกหลักวิชชา คือทำให้ง่าย ๆ มันก็จะ
ง่าย ถ้าทำของง่ายให้ยาก มันก็ยาก ยากง่ายก็อยู่ที่เรานี่แหละ จะทำให้ยากก็ได้ ทำให้ง่ายก็ได้ เราจะไม่พูดถึงเลยว่าบุญเราถึงหรือไม่ถึงถ้าบุญไม่ถึงเราก็มาไม่ถึงตรงนี้ เหลือแต่ว่าทำถูกวิธีหรือเปล่า สติ สบาย สม่ำเสมอ ต่อเนื่องกันไหม ถ้าต่อเนื่องก็ได้

 

                    บ่ายนี้อากาศกำลังดี กำลังสบาย เราลองวางใจนิ่ง ๆ ดูสำหรับผู้ที่ถนัดในการนึกภาพก็นึกไป ถ้านึกแล้วสบาย จะเป็นองค์พระแก้วใส ๆ หรือองค์พระองค์ใดองค์หนึ่งที่เราคุ้นเคยก็ได้ องค์ใหญ่ องค์เล็ก รูปร่างลักษณะหลากหลายอย่างไร

 

                 ก็เอาเถอะ นึกเอา ไม่ชัดไม่เป็นไร เราต้องการความนิ่ง ให้ใจมีพระเป็นอารมณ์ ไม่เกี่ยวกับชัดหรือไม่ชัด แต่ว่าเป็นความรู้สึกว่า มีพระในตัว หรือพระครอบตัวเรา หรือเราเป็นพระก็ได้เพื่อใจจะได้นิ่ง

 

                 หรือจะเป็นดวงใส ๆ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวเพชรสักเม็ด ดวงแก้วกลมเหมือนลูกปิงปองอย่างนั้นนะ นึกเอาอย่างเดียว แล้วบางทีนึกดวงแก้วแต่ว่าเห็นองค์พระขึ้นมา หรือนึกองค์พระกลับเห็นดวงแก้ว หรือเป็นอย่างอื่น ภาพอะไรเกิดขึ้นก็ช่าง เราก็ดูเฉย ๆ ดูอย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้นต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะ

 

                  พระเทพญาณมหามุนี

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 2
                                                                                                โดยคุณครูไม่ใหญ่

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013492699464162 Mins