UG5 สู้ภัยโควิด-19

วันที่ 03 กค. พ.ศ.2563

 

เรื่อง UG5 สู้ภัยโควิด-19

โดย พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส

 

- องค์ประกอบ UG5 -


1.ความสะอาด หมายถึง ไม่สกปรก ไม่เลอะเทอะ มองดูสบายตา พาสบายใจ ซึ่งมี 3 ระดับ ได้เเก่ 
-สะอาดกาย คือ การไม่ฆ่า ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม
-สะอาดวาจา คือ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดให้เเตกเเยก ไม่พูดคำหยาบให้เจ็บใจ ไม่พูดเพ้อเจ้อ
-สะอาดใจ คือ การคิดดี ไม่คิดทำลาย จิตใจผ่องใส

 

2.ความมีระเบียบ หมายถึง ความเป็นระเบียบ เรียบร้อย หยิบก็ง่าย หายก็รู้ มีดังนี้
-ความมีระเบียบทางร่างกาย ไม่ไปทำร้ายใคร
-ความมีระเบียบทางความคิด คิดเรื่องดีๆ
-ความมีระเบียบทางคำพูด พูดเเต่สิ่งดี มีประโยชน์ไม่ว่าร้ายใคร

 

3.สุภาพนุ่มนวล หมายถึง การมีกิริยา วาจา การเเสดงออกต่างๆ สุภาพนุ่มนวล ไม่รุนเเรง หยาบคาย ไม่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกในทางที่ไม่ดี เป็นการจัดระเบียบทางการเเต่งกายเเละวาจา

 

4.การตรงต่อเวลา หมายถึง การทำงาน การทำกิจวัตร เเละกิจกรรมตรงตามเวลาอย่างเหมาะสม เป็นการจัดระเบียบทางเวลา (ตรงเวลารักษาสัจจะได้)

 

5.การมีสมาธิ หมายถึง การที่จิตใจจดจ่อ มีสติ ตั้งมั่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว เป็นการจัดระเบียบทางจิตใจ


- UG5 มาปรับใช้กับโควิด ได้อย่างไร -

1.สะอาด ปลอดเชื้อโรค เนื่องจากเชื้อโรคทุกชนิด เเพ้ความสะอาด ดังนั้น ต้องรักษาความสะอาดตั้งเเต่ระดับ บุคคล ครอบครัว ชุมชน ทั้งอาคารสถานที่ ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จนถึงความสะอาดของเนื้อตัว จะช่วยยับยั้งการระบาดของโรคได้อย่างมาก

ดังนั้น ต้องปรับจากการเริ่มสร้างพื้นฐานรักความสะอาดจึงจะได้ผลดีในระดับกายภาพ เพื่อเป็นพื้นฐานสู่จิตภาพ กระทั่งหมดกิเลสบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ดังพุทธที่ว่า "ผู้มีกายสะอาด มีวาจาสะอาด มีใจสะอาด ไม่มีอาสวะ เป็นผู้สะอาด ถึงพร้อมด้วยความสะอาด บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า เป็นผู้ล้างบาปได้ " (Thai Tipitaka, 25/422/66)


2.มีระเบียบ ทำตามมาตรการของสาธารณสุข เพราะอาวุธสำคัญในการสู้กับโควิด-19 เป็นระเบียบสังคมใหม่ รณรงค์ให้ทุกคนเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เช่น ยืนหรือนั่งต่อเเถวรับบริการสาธารณะ หรือซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคในร้านต่างๆ ต้องเว้นระยะ 1-2 เมตร ไม่เบียดเสียดยัดเยียดกัน

ดังนั้น คนที่คุ้นเคยกับความมีระเบียบ ข้าวของเครื่องใช้ดูเเลจัดวางอย่างเป็นระเบียบ จะง่ายในการรณรงค์ให้รักษาระเบียบสังคม เพื่อป้องกันโรค ซึ่งมีพุทธพจน์ที่ให้ความสำคัญของระเบียบไว้ว่า "ถ้าไม่มีพุทธิปัญญา เเลมิได้ศึกษาระเบียบวินัยคนทั้งหลายก็จะดำเนินชีวิต เหมือนดังกระบือบอดในกลางป่า" (27/1048) เเต่ถ้ารักษาระเบียบได้ย่อมประสบความสำเร็จในชีวิตได้ง่าย


3.สุภาพ สำรวมหลีกเลี่ยงภาวะหรือกลุ่มเสี่ยงโรค ซึ่งมิใช่หมายถึง การพูดคุยกันด้วยคำไพเราะให้เกียรติเท่านั้น เเต่นัยยะ คือ ระวังคำพูดเเละการกระทำของตนเอง ไม่ให้ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อความรู้สึกของคนอื่น ข้าวของเครื่องใช้ รวมถึง สังคม ผู้ที่ปิดประตูหน้าต่างปึงปัง โครมคราม ไม่นุ่มนวลในการใช้วัสดุอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ ทำข้าวของเสียหายเนืองนิตย์ ก็จัดเป็นคนขาดความสุภาพ หรือผู้ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม ทำอะไรตามใจตนเอง สร้างความเสียหายต่อความผาสุกของสังคม ก็คือ คนไม่สุภาพ เช่นกัน

               ทั้งนี้ ปัญหาการระบาดในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ที่ทำตามความเห็นส่วนตน หรือชะล่าใจในเรื่องสุขอนามัย เพราะคิดว่าเชื้อโรคไม่มาถึงตนหรือกลุ่มของตนเอง โดยไม่สนใจมาตรการหรือคำท้วงติงของทางราชการ ทั้งกรณีสนามมวย บาร์ผับ หรือการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยไม่มีมาตรการที่รัดกุมเพียงพอ

               ดังนั้น การปลูกฝังนิสัย "สุภาพ" เกรงใจผู้อื่น คำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลอื่นเเละสังคมส่วนรวม จะช่วยยับยั้งการระบาดของโรคได้ เเละย่อมเป็นที่คบหาสมาคมของชนทั้งหลาย ดังพุทโธวาทที่ว่า "ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ เป็นนาบุญของโลก ย่อมคบหาบุคคลผู้มีศรัทธาซึ่งสมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง สุภาพ น่าชื่นชม อ่อนโยน มั่นคง ฉันนั้น" (Thai Tipitaka, 22/59-60/38)


4. เคารพกติกาเรื่องเวลา หากเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง เช่น กลับจากต่างประเทศ เมื่อรัฐวางกติกาให้กักตัวเอง 14 วัน ก็ทำตามอย่างเคร่งครัด หรือผู้ที่เคยอยู่ใกล้ชิดสัมผัสผู้ติดเชื้อ เมื่อเจ้าหน้าที่เเจ้งให้ทราบเเละขอให้กักตัว 14 วัน ก็ทำตาม หรือช่วงเคอร์ฟิว ระหว่าง 22.00-04.00 น. งดออกนอกสถานที่ยามวิกาล

               ดังนั้น หากเราอาศัยสถานการณ์การระบาดที่รุนเเรง คนส่วนใหญ่ในสังคมตื่นตัวนี้ ช่วยกันรณรงค์ให้สมาชิกในชุมชน รักษากติกาเรื่องเวลา เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว เเละสังคม ก็จะช่วยป้องกันการระบาดได้อย่างดีเยี่ยม เเละเป็นนิสัยที่ดีของทุกคนต่อไปภายหน้าด้วย ซึ่งความตรงต่อเวลา เป็นผลมาจากการฝึกการมีสัจจะ พูดจริง ทำจริง ไม่โกหก ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญ

              ดังเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสให้โอวาทกับพระราหุลไว้ว่า "ราหุล เพราะเหตุนั้นเเล เธอพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า 'เราจักไม่กล่าวเท็จ เเม้เพื่อให้หัวเราะกันเล่น' เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้เเล ราหุล" (Thai Tipitaka, 13/118-119/108) เพราะฉะนั้น ถ้ารักษาคำพูดได้ ก็จะรักษาเวลาได้ ทำตามกติกาของสังคมได้ เเละปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขได้เช่นกัน


5. มีสติสมาธิลดความกังวลและความเครียด ในช่วงการระบาดของโรค คนจำนวนมากมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น  บางคนใช้เวลาไปกับการดูภาพยนตร์ เล่นเกมส์ออนไลน์ อ่านข่าวจากโซเชียลมีเดียต่างๆ ฯลฯ คนจำนวนไม่น้อยมีความรู้สึกเครียดลึกๆ จากการห่วงสุขภาพและปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สิ่งที่จะช่วยได้มากคือ การทำสมาธิ หากเราได้จัดเวลานั่งสมาธิทุกวัน ใจจะสบาย มีความสุข

              ดังพุทธพจน์ที่ว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี" (Thai Tipitaka, 25/25/42) ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง ภูมิต้านทานดีด้วย แม้ในยุโรปและอเมริกา ซึ่งไม่ใช่เมืองพุทธ สถิติการ search หาคำว่า "meditation” เพราะอยากนั่งสมาธิ เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าตัว มีข่าวระบุว่า มีอาจารย์ชาวจีนท่านหนึ่ง ที่เดินทางไปสอนภาษาจีนที่สถาบันขงจื้อ ที่อียิปต์ และต้องติดกักตัวที่บ้านเช่นกัน นั่งสมาธิถึงวันละ 3-5 ชั่วโมง กล่าวว่านั่งแล้วรู้สึกมีความสุข สบายใจมาก รู้สึกสุขภาพดีขึ้น สอนหนังสือทางออนไลน์ให้นักศึกษาได้ดีขึ้น

              ดังนั้น ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ซึ่งคุ้นเคยกับการนั่งสมาธิอยู่แล้ว ควรลดเวลาที่อยู่กับสื่อโซเชียล หรือความวิตกกังวล แล้วแบ่งเวลามานั่งสมาธิทุกวันเราจะชนะภัยโควิดไปได้อย่างดี

 

- UG5 กับมาตรการที่วัดพระธรรมกาย -

1.ด้านการป้องกัน ด้วยหลักสะอาดและเป็นระเบียบ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาแพร่ระบาดในวัด ด้วยการประกาศ Lock Down งดจัดกิจกรรม และจัดโซนนิ่ง (จำกัดพื้นที่สาธุชน เพียง 3 โซน หอฉัน สภา เเละวิหารคต) ดังนี้


- 25 ก.พ. 2563 ตั้ง กก.เฉพาะกิจป้องกันโควิด-19 โดยมี เจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ตัวแทนพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ฝ่ายโภชนาการ และบุคลากรทางการแพทย์


- งานวันมาฆบูชา (8ก.พ.63) ประกาศงดมาร่วมงานของ ชาวพุทธจากประเทศจีนกว่า 1,000 คน และผู้มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และออกมาตรการ คนป่วย ไข้ ไอ จาม งดมา ส่วนผู้ที่มาร่วมงาน มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดงาน


- Lock Down ภายในวัด (16มี.ค.63) พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา งดออกนอกวัด ยกเว้น บุพการีเสียชีวิต, ติดต่อราชการ ฯลฯ


- งดสมาชิกภายในเดินทางไปต่างประเทศ และสมาชิกในต่างประเทศงดกลับประเทศไทย ยกเว้นมีเหตุจำเป็น เช่น ทำเอกสารต่อวีซ่า เป็นต้น


- งดโครงการอบรมเยาวชน และงดรับชาวต่างชาติมาวัด


- แนะนำให้วัด ศูนย์ส่งเสริมศีลธรรม ศูนย์สอนสมาธิ ทั่วโลก งดจัดปฏิบัติธรรม ให้จัดกิจกรรมออนไลน์


- ออกมาตรการผู้มาวัด เช่น งดผู้ป่วย ไอ จาม มีไข้ มาวัด, ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา, รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร เป็นต้น


- ประกาศ Social Distancing & Physical Distancing ภายในวัด ให้มีระยะห่าง 2-3 เมตร นั่งสมาธิ ยืนรับอาหาร และเวียนประทักษิณ


- จัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่ นั่งสมาธิออนไลน์ บูชาข้าวพระออนไลน์ ผ่านเครือข่าย GBN ทาง Youtube Live, FB Live


- วันคุ้มครองโลก 22 เมษายน จัดทอดผ้าป่าบำรุงวัดออนไลน์, วันวิสาขบูชา ทำบุญออนไลน์

 

2. ด้านการรักษา (รักษาไม่ให้ป่วย) ด้วยหลักสุภาพและตรงเวลา สำรวมในการอยู่รวมหรือติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำตามกำหนดเวลา ที่ตั้งไว้  เพื่อรักษาให้บุคลากรในวัดที่ยังไม่ปวย ให้ยังคงมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ออกไปติดเชื้อจากภายนอกเข้ามา โดยมีมาตรการต่างๆ ดังนี้


- จัดโซนนิ่งบุคลากรประจำที่ชัดเจนสามประเภท เช่น พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา


- ใช้มาตรการด้านเวลา ได้แก่ บุคคลที่กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือไปร่วมงานด้านนอกวัด เช่น ร่วมงานศพบุพการี ต้องกักตัว 14 วัน ในสถานที่ที่ทางวัดกำหนดไว้ให้เคอร์ฟิว เป็นต้น


- งดบิณฑบาต รอบวัด, งดรับกิจนิมนต์นอกวัดทุกประเภท


- ประกาศงดสมาชิกเขตในเดินทางออกไปจัดกิจกรรมสวดมนต์ นั่งสมาธิ ภายนอกวัด


- ประกาศให้หอฉันฯของวัด ทำอาหารมังสวิรัติ และให้งดรับภัตตาหารที่โยมมาถวายจากนอกวัด


- มีการจัดโซนนิ่ง คนในไม่ออก สาธุชนจากภายนอกเข้ามาได้เฉพาะพื้นที่โซน 3 จุดพื้นที่เปิดโล่ง ได้เเก่ หอฉันคุณยายอาจารย์ฯ , สภาธรรมกายสากล (ศาลาปฎิบัติธรรม) , ลานธรรมพระมหาธรรมกายเจดีย์


-ประกาศให้เจ้าภาพและสาธุชนทั้งหลายสนับสนุนวัดในรูปแบบ "ทำบุญออนไลน์''


- มีการผลิตหน้ากากอนามัยชนิดผ้า จากผ้าที่ผลิตจีวรพระ ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อโรค และทำความสะอาดง่าย โดยผลิตได้ 10,000 กว่าชิ้น สำหรับวายพระภิกษุสามเณรภายในวัด และถวายไปยังเจ้าคณะปกครองและวัดต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งวัดในเขตปริมณฑล ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี เป็นต้น และถวายหน้ากากอนามัย แด่พระนิสิตนานาชาติ มจร. ด้วย


3.ด้านฟื้นฟูกายใจ ด้วยหลักสมาธิ เจริญสติ ทำจิตให้ผ่องใส โดยให้ความรู้กับสมาชิกในองค์กร ให้ตระหนักแต่ไม่ตระหนก มีสติ ผ่อนคลาย ไม่เครียด เเต่ไม่ประมาท ตามหลัก "อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย"  (ขุ.ธ. 25/18, ขุ.ชา.ตึส. 27/524) ด้วยการมีสติประกอบทุกเมื่อ โดยมีมาตรการต่างๆ ทั้งนี้


- รณรงค์สาธุชนปฏิบัติธรรมที่บ้าน สวดมนต์นั่งสมาธิ สวดธรรมจักร 24 น.


- นั่งสมาธิออนไลน์ พร้อมกันทั่วโลกในเวลา 19.30 น.(ประเทศไทย) ผ่านช่องทาง Youtube, Facebook, Twitter, Instragram โครงการ "หยุดใจ ชนะภัยโควิด "  หรือ "Meditate Againt Covid-19 " มีจำนวน 20 กว่า ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ โปรตุเกส เวียดนาม ลาว เบงการี อิตาลี เยอรมัน สเปน ฝรั่งเศส อารบิก รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน เมียนมาร์ สวีดิช บาฮาซา(อินโดนีเซีย) ฮินดี ดัช มองโกเลีย นอร์เวย์ เพื่อฟื้นฟูจิตใจสาธุชน


- ตั้งโรงทาน ตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก


- มอบอุปกรณ์ทางการเเพทย์กับโรงพยาบาลกว่า 30,000 ชิ้น ได้แก่ ร.พ.ธรรมศาตร์เฉลิมพระเกียรติ, โรงพยาบาลในเขตอำเภอคลองหลวง, โรงพยาบาลในจังหวัดกาฬสินธุ์ พระนครศรียุธยา เป็นต้น รวมทั้งในต่างประเทศ เช่น จีน กัมพูชา  เป็นต้น


- จัดเทศนาออนไลน์


- ทำบุญออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ donate.dkcmain.org , จัดทอดผ้าป่าบำรุงวัดออนไลน์ วันคุ้มครองโลก22 เม.ย. 2563 ฟื้นฟูจิตใจสาธุชน


- ปลูกผักอินทรีย์ เพื่อให้ญาติโยมเปลี่ยนอิริยาบถ


- ตามหลักภาวนา 4 พัฒนาคุณลักษณะ 4 ดี คือ ร่างกายดี พฤติกรรมดี จิตใจดี เเละปัญญาดี เเละด้วยฝึกความดีสากลที่เป็น "นิสัยดีๆ" คือ สะอาด เป็นระเบียบ สุภาพ ตรงเวลา สมาธิ

 


วิถีชีวิตใหม่ New normal โดย พระมหาโพธิวงศาจารย์


“ปธาน 4 สู่ New Normal"

ปธาน 4 หมายถึง ความเพียร 4 ประการ คือ ธรรมะที่เป็นหลักประพฤติปฏิบัติทั่วไป

 

1. สังวรปธาน เพียรป้องกัน การป้องกันในแบบ New Normal เช่น รัฐบาลออกกฏออกระเบียบ มีเคอร์ฟิว สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างกันไม่คลุกคลี หรือการห้ามไม่ให้เปิดบาร์เปิดคลับ สนามมวย แหล่งมั่วสุม

 

2. ปหานปธาน เพียรละเลิก ทิ้งอะไรต่างๆ ที่ไม่ดี เช่น เที่ยวเตร่กลางคืน มวย คลับบาร์ เหล้ายา มั่วสุม ถ้าละทิ้งได้ เราก็จะปลอดภัย ไม่มี ไม่เป็นโรค แต่ถ้าเราไม่เลิก ไม่ละ ไม่ทิ้ง ก็จะทำให้โรคระบาด แล้วก็จะล้มตายกันมาก

 

3. ภาวนาปธาน เพียรภาวนา (ภาวนา แปลว่า ทำให้มี ทำให้เป็น) ในวิถีชีวิตแบบใหม่ไม่เคยทำก็ทำ ทำไม่เป็นก็ทำเป็น เช่น ฝึกทำกับข้าว, ฝึกใช้เทคโนโลยีในการประชุม, อยู่บ้านมากขึ้น ไม่เที่ยวใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

 

4. อนุรักขปธาน เพียรรักษา เคยทำอะไรมาดี ปฏิบัติอะไรอย่างไรดี ที่ทำไปปฏิบัติต่อไป เคยทำวัตร สวดมนต์ อ่านหนังสือธรรมะ ก็อ่าน ฟังธรรมะก็ฟัง รักษาไว้ไม่ทิ้ง ไม่ใช่อ้างว่ามีโควิดก็ทิ้ง เมื่อมีเวลามากขึ้น อ่านหนังสือธรรมะมากขึ้น ศึกษาธรรมะ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รักษาไว้ ไม่ทิ้ง

 

สรุป ถ้าปฏิบัติตาม หลักปธาน 4 ได้แก่ สังวร เพียรป้องกัน, ปหาน เพียรละทิ้ง, ภาวนา เพียรทำให้มีให้เป็น, อนุรักข เพียรดูแลรักษาไว้ เราทำอย่างนี้ประเทศเราก็ปลอดภัยจากโรคระบาด

 

ที่มา :ส่วนหนึ่งของรายการ โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ถ่ายทอดออกอากาศ 2 กรกฎาคม 2563 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.061412449677785 Mins