" ข้อคิด " จากความสูญเสีย
ประเด็นสำคัญใกล้ตัวที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เกี่ยวกับความสูญเสีย
นั่นก็คือเรื่องของ “ความตาย” นั่นเอง
ทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญในโลก หรือคนที่ท่านรักได้ตายจากไป ก็จะเกิดกระแสแห่งความโศกเศร้าเสียใจ แล้วเราจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนที่จะลืมความสูญเสีย หรือเลือกเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ อยู่ที่ตัวคุณ
เรื่องราวของความตายเป็นสิ่งที่ใครๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเป็นเรื่องราวที่ผู้คนสงสัยและตั้งคำถามขึ้นมากมายว่า “หลังความตายนั้นเราไปไหนกัน” “จะไปสวรรค์ ตกนรก” หรือ “ตายแล้วสูญ” และที่น่าสงสัยอีกประเด็นหนึ่งก็คือ อะไรคือตัวตัดสินว่าเราตายจริงหรือไม่จริง
คนตายแล้วฟื้นได้จริงหรือ แล้วการทำพิธีกงเต๊ก เผาบ้านกระดาษ รถกระดาษ กับการทำบุญกรวดน้ำให้ผู้ตาย พิธีกรรมรูปแบบใดได้บุญมากกว่ากัน ความจริงแล้วบุญจะส่งถึงผู้ตายได้อย่างไร...?
เรื่องของความตายซึ่งเป็นการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ หลายท่านรู้สึกกลัวเมื่อได้ยินได้ฟังคำว่า “ความตาย” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น...
คนเรามักจะกลัวในเรื่องที่ตนเองไม่รู้ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง เช่น ตายแล้วไปไหน สูญไปหมดหรือไม่ กลัวกันไปต่างๆ นานาว่า การที่ตัวเองสู้อุตส่าห์ทำงานเก็บเงินเก็บทอง สะสมเกียรติยศ ชื่อเสียงมาตลอดชีวิต เมื่อเราตายแล้วมันจะหายวับไปหมดเลยหรือ
แต่ถ้าตอบว่า คนเราตายแล้ว “ไม่สูญ” ยังมีการเวียนว่ายตายเกิด แล้วเราจะไปเกิดที่ไหนกันล่ะ ก็ไม่มั่นใจอีก เพราะคนเราที่ทำดีไว้ก็มาก ทำไม่ดีก็มีไม่น้อย มันชักรู้สึกหวาดเสียวว่าตกลงเราจะกำไรหรือขาดทุน จะไปดีหรือไม่ดีกันแน่ หลายท่านเคยได้ยินได้ฟังมาว่าถ้าเกิดไปนรกก็น่ากลัวเหมือนกัน
สรุปก็คือคนเราไม่รู้ว่าชีวิตหลังความตายจะเป็นอย่างไร ก็เลยทำให้เกิดความกลัว แต่ถ้ารู้แล้ว เราก็จะไม่กลัว
ยกตัวอย่างผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งได้ฌานสมาบัติ ได้ญาณทัสสนะ รู้ว่าตัวเองจะตายเมื่อไร ตายแล้วจะไปไหน ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร พอรู้ว่าตายแล้วไม่สูญเราก็ยังอยู่ ซึ่งจะไปเกิดตรงไหนขึ้นอยู่กับความดี บุญบาปที่เคยทำเอาไว้ แล้วก็มั่นใจในความดีที่ตัวเองทำเอาไว้ว่าเพียงพอ ตายแล้วได้ไปดีแน่ๆ อย่างนี้จะไม่ค่อยกลัวความตาย ไปดูเถอะ พระอรหันต์ ท่านไม่ได้กลัวเลย พระอริยบุคคลทั้งหลายไม่กลัวความตาย คนที่สร้างบุญสร้างกุศลมากๆ ไม่มีกลัว เพราะรู้ว่าตนเองจะไปดี สรุปได้ว่าคนเรานั้นกลัว “ความไม่รู้” นั่นเอง
มีหลายทัศนะเกี่ยวกับเรื่องของการตัดสินว่าแบบไหนเรียกว่าตาย บางท่านก็บอกว่าให้ตรวจดูคลื่นสมอง บางท่านก็บอกต้องดูที่หัวใจหยุดเต้น แล้วอย่างไรล่ะถึงจะเรียกได้ว่าบุคคลนั้นตายแน่ๆ
บางประเทศถือว่า คนเราตายเมื่อหัวใจหยุดเต้น บางประเทศถือว่าตายเมื่อคลื่นสมองราบ สมองหยุดทำงาน เพราะเขาไม่รับรู้แล้ว อย่างเช่น เจ้าหญิงนิทรา เจ้าชายนิทรา ซึ่งหลับไม่รู้เรื่องก็ถือว่าตายแล้ว แต่บางประเทศยังไม่ถือว่าในกรณีนี้คือตายแล้ว ดังนั้นแต่ละประเทศจึงมีเกณฑ์ไม่เหมือนกัน ซึ่งเหล่านี้ คือ เกณฑ์การตัดสินทางโลก
หลักทางธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ความคิด หรือความเชื่อ แต่เป็นเรื่องความจริง หากถามว่า เมื่อใดถึงเรียกว่าตาย คำตอบก็คือเมื่อ “ลมหยุด” อย่างคำว่า “สิ้นลม” ลมหายใจหยุดเมื่อใดก็คือตายนั่นเอง
บางท่านบอกว่าจมน้ำไป หยุดหายใจไปชั่วคราว เราผายปอดสักพักแล้วเขาก็หายใจได้ใหม่ อย่างนี้ถือว่าตายไปแล้วหรือไม่ จริงๆ คือลมหายใจหยุดชั่วขณะเท่านั้นยังไม่ตาย เหมือนคนเรากลั้นลมหายใจจึงถือว่ายังไม่ตายเพราะลมหายใจยังไม่ขาดจริง
ส่วนบางคน ได้ข่าวว่าเขาตายไปแล้ว จัดงานพิธีนำศพใส่โลงเรียบร้อยแล้ว จู่ๆ เขาฟื้นขึ้นมาเคาะโลงเฉยเลย ญาติพี่น้องวิ่งเผ่นกันคนละทางเพราะนึกว่าถูกผีหลอก แต่พอมาเปิดโลงเข้าก็พบว่าเขายังไม่ตายจริง กลับฟื้นขึ้นมา ลักษณะนี้ก็มีข่าวให้ได้ยินอยู่เป็นระยะๆ
ในกรณีนี้ บางจังหวะอาจเป็นลักษณะว่าเหมือนกึ่งๆ หยุดหายใจ แต่จริงๆ แล้วลมละเอียดยังเดินอยู่
หากมาดูคำตอบในเชิงปฏิบัติว่าจริงๆ เมื่อไรที่เรียกว่าตาย ตอบในเชิงปฏิบัติก็คือ เมื่อกายละเอียดหลุดจากกายหยาบ พอหลุดขึ้นมาปุ๊บ อาการที่เราเห็นก็ คือ คนใกล้ตายมักจะมีอาการคล้ายๆ กับสะอึกลมขึ้นมา 3 เฮือก เหมือนกับหายใจเข้าไปลึกๆ 3 เฮือก แล้วก็หายใจออกพร้อมกับตัวราบแน่นิ่งไป อย่างนี้คือตายแล้ว เนื่องจากจังหวะนั้นกายละเอียดถอดจากขั้วที่ศูนย์ กลางกาย คือ สิ้นชีวิตแล้ว กายละเอียดทิ้งกายหยาบไป แล้วก็ไปเกิดใหม่ตามแรงบุญแรงบาปของตัวเองต่อไป
หากเรารู้ว่าไม่ช้าไม่นานตัวเองต้องจากโลกนี้ไปแล้ว เราจะเตรียมตัวรับมือกับความตายอย่างไร... มีหลักง่ายๆ คือ “หมั่นทำความดีให้มากๆ”
มีคราวหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระอานนท์ว่า
“อานนท์ เธอ เจริญมรณานุสติ นึกถึงความตายบ่อยไหม”
พระอานนท์ตอบว่า
“นึกบ่อย นึกทุกวันพระเจ้าข้า”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
ยังไม่พอ จะถือว่าเป็นผู้ไม่ประมาทจริงต้องระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก”
หายใจเข้าแล้วไม่ออกก็ตาย หายใจออกแล้วไม่เข้าก็ตายอีกเหมือนกัน บางท่านบอกว่า ถ้ามัวแต่นั่งนึกว่า “ตายแน่ ๆ” ก็ไม่ต้องทำงานอื่นกัน จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่มัวแต่นั่งคิดว่า “ตายๆ ๆ” แต่ให้ระลึกอยู่ในใจลึกๆ ว่า อย่างไรเราก็ต้องตาย แต่ละวินาทีที่ผ่านไป แต่ละช่วงลมหายใจที่เข้าออก ชีวิตเราเหลือน้อยลงไปทุกทีๆ แล้ว หากรู้อย่างนี้แล้วจะได้ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้พระภิกษุทบทวนอยู่เรื่อย ๆ ว่า
“บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่” เวลาผ่านไปตลอดทุกเวลาทุกนาที เราทำอะไรอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่าเราต้องตายแน่แล้ว จะได้ไม่ประมาทรีบขวนขวายทำความดี
คนที่ไม่เข้าใจก็จะคิดว่า ถ้านึกถึงความตายบ่อยๆ จะทำให้เกิดความเศร้า กลายเป็นคนอมทุกข์ไปเปล่าๆ คนศาสนาอื่นที่ไม่รู้มองพุทธศาสนิกชนว่า เป็นคนอมทุกข์ทั้งหมด แต่พอได้มาเห็นชาวพุทธจริงๆ กลับบอกว่าทำไมหน้าตาเบิกบานสดใสกว่าชาวตะวันตกเสียอีก
ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นสยามเมืองยิ้มด้วยซ้ำไป ครั้นเขาสงสัยว่าเรานึกถึงความตายบ่อยๆ ทำไมไม่ทุกข์ ทำไมหน้าตายังยิ้มแย้มแจ่มใส นั่นก็เพราะเรามีทางออก ถ้ารู้สึกว่าตายแน่ๆ แต่ไม่รู้ทำอย่างไรมันก็เซ็ง แต่พอรู้ว่าตายแน่แล้วทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล อย่างนี้เรียกว่ามีทางออกให้ตัวเอง หัวใจก็เบิกบาน กลายเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต
สำหรับผู้ที่รู้ล่วงหน้าว่าตนเองจะต้องตายแน่ๆ อาจเพราะกำลังป่วยขั้นร้ายแรง ก็พอมีเวลาทำใจ แต่สำหรับการตายแบบปัจจุบันทันด่วนไม่รู้ตัวมาก่อนนั้น เราก็มีวิธีเตรียมใจ คือ ถ้ามีใครมาชวนให้เราทำความดี ชวนเข้าวัด ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ให้เราเร่งปฏิบัติธรรม สร้างบุญสร้างกุศลให้มาก จนกระทั่งใจของเราเกาะเกี่ยวกับเรื่องบุญกุศลได้ตลอดเวลาจึงจะเป็นวิธีการเตรียมใจที่ดีที่สุด แล้วเราจะเป็นผู้ที่ไม่กลัวความตาย
ใครที่มักบอกว่างานยุ่ง ไม่มีเวลา รอแก่เกษียณอายุก่อน แล้วค่อยเข้าวัด คิดอย่างนี้ถือว่ายังประมาท ถามว่าคนอายุน้อยกว่าเรา แล้วตายก่อนเรามีไหม...ก็มี ขึ้นเครื่องบินปุ๊บปั๊บเครื่องบินตกก็ตาย นอนอยู่ในบ้านดีๆ จู่ๆ รถวิ่งเข้ามาชนในบ้านตายก็มี นอนอยู่ในบ้านน้ำเข้ามาท่วมบ้าน สึนามิมาตายไปเลยก็มี มีทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ประมาท
การทำความดีนั้นอย่าผลัดวันประกันพรุ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “การผลัดเพี้ยนต่อพญามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมไม่มีแก่เรา” ถึงคราวพญามัจจุราชมาทวงเอาชีวิต เราจะขอผลัดไปก่อนว่า เรายังมีธุระอยู่ ยังทำบุญไม่พอ ขอมีชีวิตอยู่ต่ออีก 7 วัน หรือ 1 เดือน นั้นไม่ได้
เพราะฉะนั้น หากมีใครมาชวนทำความดี ให้เราทำเลยอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เรามีกำลังเท่าไรให้ทำเท่านั้น ทั้งทำทาน รักษาศีล แล้วก็ตั้งใจสวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา อย่างนี้บุญกุศลเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา และจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต
มัจจุมารจะมาทวงชีวิตเมื่อใด เราก็พร้อมเสมอ ไม่มีปัญหา ถ้าเราทำความดีจนถึงที่สุดแล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่มัจจุมารมองไม่เห็น นั่นหมายถึง บุญเราเต็มเปี่ยมจนสามารถขจัดกิเลสมารไปจากใจทั้งหมดได้ เราจึงจะก้าวพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไปสู่ พระนิพพานนั่นเอง
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ