“คัมภีร์ใบลาน สืบสานพระธรรม” ตอนแรก

วันที่ 20 กค. พ.ศ.2563

สารคดีชุด “คัมภีร์ใบลาน สืบสานพระธรรม”

ตอนแรก : เตรียมแผ่นลาน จารพระธรรม

 

19802-1.jpg

                    ดูก่อน อานนท์ ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย

                    มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (๑๐/๑๔๑/๑๗๘)

                   ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับสั่งกับพระอานนท์พุทธอุปัฎฐากว่า ดูก่อน อานนท์ ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงตั้งสาวกองค์ใดให้เป็นพระศาสดาปกครองคณะสงฆ์สืบต่อจากพระองค์ แต่ทรงให้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอน เป็นศาสดาแทนพระองค์ต่อไปในกาลภายหน้า

                   เมื่อแรกเริ่มเหล่าพุทธสาวกสืบทอดพระธรรมด้วยการสวดทรงจำ เรียกว่า มุขปาฐะ จนกระทั่งราวพ.ศ. ๔๐๐ ปีเศษ เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๕ ณ อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท ประเทศศรีลังกา จึงได้มีการบันทึกพระธรรมวินัยเป็นลายลักษณ์อักษรลงในคัมภีร์ใบลานเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นการกำเนิดพระไตรปิฎกบาลีของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นบันทึกคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธองค์ที่เก่าแก่ สมบูรณ์ และถูกต้องแม่นยำที่สุด ที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

                    ข้อมูลการสำรวจโดยโครงการพระไตรปิฎกวิชาการ (DTP) ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งประเทศศรีลังกา เมียนมา และเขตสิบสองปันนา ในประเทศจีนพบว่า คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานหลายฉบับมีอายุหลายร้อยปี ฉบับเก่าแก่ที่กลุ่มเคยสำรวจพบมีอายุถึง ๑,๓๐๐ กว่าปี และเป็นที่น่าสังเกตว่า พุทธศาสนิกชนในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทต่างเลือกใช้ใบลานเป็นวัสดุบันทึกคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากใบลานมีคุณสมบัติที่เบาและบาง สามารถเก็บรักษาหรือเคลื่อนย้ายได้สะดวก และมีอายุการใช้งานนานหลายร้อยปี

19802-2.jpg

                   ทั้งนี้ขั้นตอนการเตรียมลานจากใบไม้ธรรมดาใบหนึ่ง ให้กลายเป็นธรรมเจดีย์ที่ทรงคุณค่าควรแก่การสักการะบูชานั้น ต้องผ่านขั้นตอนอันพิถีพิถัน และอาศัยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม กอปรกับความเพียรพยายามของผู้สรรสร้าง จึงจะได้คัมภีร์ที่มีความประณีตงดงามสมกับเป็นตัวแทนอันสูงค่าแห่งองค์พระศาสดา

                  ใบลานที่จะนำมาจารหนังสือนั้นนิยมเลือกใบลานก้านที่ ๒ หรือ ๓ จากยอด เพราะไม่อ่อนไม่แก่เกินไป นำมาเจียนออกจากก้าน แล้วม้วนเป็นก้อน นำไปต้มนานค่อนวันหรือเต็มวัน จากนั้นนำไปตากแดดและน้ำค้าง รอจนแห้งสนิท บางแห่งขณะต้มจะใส่มะขามดิบลงไปด้วยเพื่อช่วยกัดสีของใบลานให้ขาวขึ้น บางแห่งจะใส่สมุนไพรหลายชนิด ที่เชื่อว่าช่วยยืดอายุใบลานให้คงทนอยู่ได้หลายร้อยปี จากนั้นจึงนำใบลานมาเจาะรูซ้ายขวา ตัดให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ และเก็บขอบใบลานให้เรียบร้อย ขั้นตอนการเตรียมและเคล็ดลับเหล่านี้จะแตกต่างกันออกไปตามภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่น

 

 

19802-3.jpg

กรีดใบลานออกจากก้าน(บน),นำไปต้มแล้วตากให้แห้ง(ซ้าย), เจาะรูซ้ายขวา(ขวา)

 

19802-4.jpg

ตัดส่วนเกินให้เสมอขอบ ๔ ด้าน นาบด้วยเหล็กร้อนเพื่อเก็บขอบ

Cr: Wickramasinghe. P. (Producer). (n.d.). Carrier of the Dhamma. [Film]. Kandy: Video Maker’s.

 

                    เมื่อได้แผ่นลานพร้อมจารแล้ว ผู้จารจะต้องตีเส้นบรรทัดเป็นแนวก่อน เพื่อให้สามารถจารได้อย่างเป็นแถวเป็นระเบียบ โดยขึงเส้นด้ายเหนียวกับกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างยาวกว่าหน้าลานเล็กน้อย ใช้ลูกประคบชุบด้วยเขม่าจากควันไฟผสมน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันยางลูบไปบนด้าย เมื่อดีดด้ายจะปรากฏรอยเส้นบรรทัดบนใบลานตามต้องการ

 

19802-5.jpg

Cr: https://bit.ly/3cydP1P

จากใบไม้ธรรมดาจนกลายเป็น "คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน"

 

BLOCKDIT.COM   พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

กว่าจะเป็นคัมภีร์ใบลาน | จากใบไม้ธรรมดาจนกลายเป็น ‘คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน’ www.mps-center.in.th

                     การเขียนหนังสือบนใบลานตามแบบโบราณจะใช้เหล็กจาร เขียนตัวอักษรโดยทำเป็นร่องลึกในเนื้อลาน ให้อยู่ใต้เส้นบรรทัดที่ขีดไว้ จารทั้งด้านหน้าและหลังใบลาน แล้วนำเขม่าจากควันไฟผสมน้ำมันยางลูบผ่านรอยจาร ให้สีดำของเขม่าควันไฟจมลงไปตามร่องลายเส้นอักษร แล้วใช้แกลบหยาบหรือทรายร้อนโรยลงบนใบลานนั้น ขัดเพื่อให้สีดำที่อยู่นอกรอยจารหลุดหายไป ตัวอักษรก็จะปรากฏชัดขึ้นและติดแน่นอยู่ได้นานนับร้อยปี

19802-6.jpg

ผ้าชุบน้ำมันยางผสมเขม่าควันไฟลูบไปตามร่องอักษรไปทางเดียวกัน

 

19802-r.png

19802-r1.jpg

ภาพเปรียบเทียบเส้นจารก่อนและหลังลูบด้วยน้ำมันยางผสมเขม่าควันไฟ

 

                    เมื่อใบลานปรากฏเป็นอักษรชัดเจนเรียบร้อยดีแล้ว ผู้จารจะนำสายสนองร้อยแผ่นใบลานเข้าเป็นผูก ประกบหน้าหลังด้วยไม้ประกับ เก็บในผ้าห่อคัมภีร์เพื่อป้องกันแมลง มัดด้วยเชือก และเสียบป้ายฉลากกำกับ พร้อมให้ผู้จารหรือเจ้าภาพจารใบลานนำถวายวัดวาอาราม ให้พระภิกษุสงฆ์นำไปศึกษาเล่าเรียน และเทศน์สอนสาธุชนในโอกาสต่างๆ เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนต่อไป

19802-7.jpg

                   การสร้างคัมภีร์ใบลานเป็นการสืบทอดพระธรรมคำสอนให้คงอยู่ยาวนานตลอดอายุกาลของพระพุทธศาสนา ผลานิสงส์ผลบุญที่เกิดจากความพิถีพิถันสรรสร้างตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเตรียมมีอานิสงส์มากมายเกินกว่าจะนับจะประมาณได้ แม้ความสวยงามของคัมภีร์ใบลานจะแตกต่างกันไปตามเอกลักษณ์และภูมิปัญญาแต่ละท้องถิ่น แต่หากมองให้ลึกลงไป สิ่งที่เสมอเหมือนกัน คือ ความรักของบรรพชนที่มุ่งรักษาพระธรรมคำสอนไว้ให้ลูกหลาน และแรงศรัทธาที่เปลี่ยนใบลานธรรมดาให้กลับกลายเป็นสิ่งสูงค่าดั่งตัวแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว แต่พระธรรมคำสอนยังอยู่เป็นหลักชัยประหนึ่งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพไปตราบนานเท่านาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011722485224406 Mins