โหราศาสตร์ กับ ชีวิต
เวลาที่มนุษย์เกิดความรู้สึกทุกข์ใจหรือมีปัญหา บางคนจะพึ่งพาหมอดู ส่วนใหญ่คนที่ไปดูหมอมักจะเป็นผู้หญิง บางคนเพียงได้ยินข่าวเล่าลือว่าหมอดูคนไหนทำนายแม่น ไม่ว่าจะเดินทางลำบากเพียงใด เสียค่าใช้จ่ายเท่าไรก็ยอมดั้นด้นไป
ปัจจุบันโหราศาสตร์เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตมนุษย์เกือบทุกด้าน แม้กระทั่งเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง นักการเมืองบางคนยังไปดูดวงเพราะอยากรู้ว่าทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร
“โหราศาสตร์” เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล แต่ในยุคปัจจุบันเรามีความรู้กำกับความเชื่อมากขึ้น
ยกตัวอย่าง ในอดีตเมื่อเกิดปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์ ผู้คนก็จะตีเกราะเคาะกระป๋อง เพราะมีความเชื่อว่าจะได้ไล่ราหูให้คายดวงจันทร์แล้วหนีไป แต่ในปัจจุบันเรารู้แล้วว่า ราหูอมจันทร์เกิดจากเงาของโลกที่มาบดบังดวงจันทร์
สมัยนี้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น จนทำให้มนุษย์รู้ว่าดาวต่างๆ อยู่ตรงไหน เข้าใจจักรวาลอย่างดี ความรู้ในเรื่องเหตุและผลมีมากขึ้น อย่างนี้ความเชื่อเรื่องของดวงก็น่าจะลดลงตามไปด้วย แต่กลับตรงกันข้าม
บางท่านจบการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นนักธุรกิจใหญ่ เป็นนักการเมือง แต่ยังมีความเชื่อเรื่องดวง ทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รัฐมนตรี พอเจอปัญหาก็ยังไปหาหมอดู จึงมีคำถามตามมาว่า ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์ขัดแย้งกันอย่างนี้ขึ้น คนที่มีความรู้สูง มีหน้าที่การงานใหญ่โต มีอำนาจและความรับผิดชอบมากมาย ก็น่าจะเชื่อมั่นในตัวเองและตัดสินใจเองได้ แต่ทำไมเขาจึงยังต้องไปหาหมอดูด้วย
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์มี “ความไม่รู้” ซึ่งศัพท์ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “อวิชชา” หุ้มห่อใจอยู่ ทำให้ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง
บางท่านบอกว่าตนมีความรู้มากมาย อวิชชาน้อยลงไปแล้ว แต่ความจริงความรู้ที่มีเป็นแค่ความรู้ทางโลก ซึ่งความจริงแม้ความรู้เรื่องโลกของมนุษย์เราก็ยังไม่มากเลย มีสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย แล้วที่เราบอกว่ารู้มากแล้ว
ถ้าถามว่ารู้ไหมว่าก่อนจะมาเกิดเรามาจากไหน ตายแล้วเราจะไปไหน ด็อกเตอร์ทั้งหลายก็คงนั่งเงียบกันหมด ตรงนี้เองคือความไม่รู้ที่ห่อหุ้มใจอยู่ ทำให้มนุษย์เกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง
สมัยก่อน ชาวบ้านใช้ชีวิตอยู่แบบพึ่งพาตัวเอง พอได้เห็นฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้างลงมาบ้าง เกิดพายุพัดบ้าง น้ำท่วมใหญ่บ้าง เกิดความหวาดกลัว จึงสมมติให้มีพระแม่คงคา มีเทพเจ้าสายฟ้า มีวายุเทพ มีการสมมติเทพขึ้นมากมาย เห็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้าง เช่น ภูเขาใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ก็กราบไหว้ หวังเป็นที่พึ่งที่ระลึก หรือเห็นอะไรแปลกๆ ผิดธรรมชาติ เช่น วัวคลอดลูกออกมามี 2 หัว ก็ให้ความเคารพกราบไหว้ เป็นต้น เพราะความไม่รู้ ความยำเกรง และต้องการที่พึ่ง
เมื่อธรรมชาติมนุษย์เป็นอย่างนี้ ก็มีคนบางกลุ่มตอบสนองต่อ ความวิตกกังวล และความไม่รู้ของมนุษย์ โดยการสร้างศาสนาแบบเทวนิยมขึ้นมา สมมติให้มีเทพเจ้า มีพระเจ้าเกิดขึ้น ชาวป่าชาวเขา นับถือผีสางนางไม้ แต่เมื่อผู้ปกครองแผ่นดินนับถือบ้าง ผีสางนางไม้ก็ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเทพเจ้าหรือพระเจ้า
ซึ่งความจริงก็คือ “ผี” นั่นเอง แต่เป็นผีที่ถูกยกระดับขึ้นมา สร้างเครื่องบูชาที่อลังการขึ้น จากเดิมเป็นศาลเพียงตา ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ ก็กลายเป็นมหาวิหารใหญ่ มีการประกอบพิธีกรรมที่อลังการ สุดท้ายก็ก่อรูปจนกระทั่งกลายเป็น “ศาสนา” เหล่านี้เป็นที่มาของศาสนาที่เรียกว่า “เทวนิยม”
“เทวนิยม” แตกต่างจาก “พระพุทธศาสนา” ตรงที่เทวนิยม เกิดขึ้นจากความไม่รู้ของมนุษย์ ก็เลยสมมติเอาความเชื่อหนึ่งขึ้นมา แล้วมาบอกต่อเพื่อให้ผู้คนรู้สึกว่ามีที่พึ่งพา แต่ในทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงของโลกและชีวิตด้วยพระองค์เอง แล้วจึงนำมาสอนมนุษย์ เป็นเรื่องของความจริงไม่ใช่ความเชื่อ
หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านขยายความเอาไว้ว่า พื้นฐานความ จริง คือ “มนุษย์ทุกคนกำลังติดคุก” เป็นนักโทษประหาร คุก นี้คือ “โลก” ซึ่งเป็นคุกที่ใหญ่มาก ใหญ่จนกระทั่งนักโทษไม่รู้ ว่าตัวเองกำลังติดคุกอยู่ และไม่รู้ด้วยว่าคุกนี้มีกฎอย่างไรบ้าง
เมื่อกระทำสิ่งใดลงไปแล้วจะต้องได้รับโทษอย่างไร ไม่บอกกฎ ให้รู้ ซํ้าร้ายยังเป็นคุกที่ไม่ให้อาหาร แต่ให้หากินเอง ระหว่างที่ หาอาหาร หากผู้ใดเผลอไปใช้วิธีการที่ผิดกฎของคุก เช่น ไป ปล้น ฆ่า ลักขโมยเขา ก็ต้องรับโทษเพิ่มอีก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เห็นความจริงทั้งหมดนี้ แล้วมาสอนเรา ให้เรารู้ตัวว่ากำลังติดคุกอยู่ พระองค์เปรียบ ตัวเองเป็นเหมือนลูกไก่ตัวพี่ คือ สามารถเจาะเปลือกไข่ออก มารู้มาเห็นได้ก่อนตัวอื่น
Cr : dmc.tv
กล่าวง่ายๆ คือ เป็นนักโทษที่แหกคุกสำเร็จ กำจัดกิเลสได้หมดแล้วเข้าพระนิพพานได้ พระองค์ จึงมาสอนให้ผู้อื่นรู้ว่า เราทุกคนกำลังติดคุกอยู่ คุกนี้มีกฎแห่งคุก คือ “กฎแห่งกรรม” ทำอย่างไรแล้วผิด เป็นบาป และปรับโทษหนักขึ้น ทำอย่างไรจึงจะเป็นบุญกุศลให้กิเลสเบาบางลง คือ ปฏิบัติ “มรรคมีองค์ 8” สุดท้ายพอกิเลสหมดจากใจ เราก็จะสามารถพ้นจากคุก หรือ “วัฏสงสาร” นี้ไปได้ทุกคน
ความแตกต่างของพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น คือ ในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน “ความจริง” แต่ว่าศาสนาอื่นนั้น สอน “ความเชื่อ”
ดังนั้น “หมอดู” จึงเหมือนกับศาสนาที่สอนเรื่องความเชื่อนั่นเอง แต่เป็นความเชื่อขนาดย่อม ไม่ได้พัฒนาจนถึงขั้นที่เป็นศาสนา หมอดูบางท่านเกิดถูกยุค สามารถพัฒนาตัวเองเป็นศาสดาก็มี สรุปได้ ว่าทั้งหมดเกิดจาก “ความไม่รู้” คือ “อวิชชาที่ห่อหุ้มใจ” ทำให้มนุษย์ไม่มั่นใจในอนาคตของตัวเอง จึงพยายามโหยหาที่พึ่งภายนอกตัว
เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ