" สุข สำเร็จ " ชาตินี้ยันชาติหน้า

วันที่ 17 กค. พ.ศ.2563

" สุข สำเร็จ " ชาตินี้ยันชาติหน้า

             เป็นเรื่องน่าคิดให้กับตัวเราเองว่า

          ชีวิตเราควรจะมุ่งตรงไปที่ความสุขหรือที่ความสำเร็จ

19791-01.jpg

                  บางคนบอกว่ามุ่งไปที่ความสำเร็จ สำเร็จแล้วความสุขจะตามมาเอง แต่บางคนบอกว่า ยังไม่สำเร็จสักที หวังไว้ว่าอนาคตจะรวยให้ได้ แต่ทำงานมา 20 ปี แล้วก็ไม่รวยสักที อาจจะตายก่อนที่จะมีความสุขก็ได้ เราควรมุ่งไปที่ความสุขก่อนดีกว่าไหม...วิธีคิดแบบใดถูกต้องกันแน่

                 ต่างคนต่างมีเหตุผลของตนเอง คนที่มุ่งความสำเร็จกล่าวว่า ถ้ามุ่งแต่ความสุขก็จะไม่สำเร็จสักที เพราะถ้าทำงานหนักก็เหนื่อย ไม่อยากทำงานหนัก หรือเด็กนักเรียนอ่านหนังสือค้นคว้ามากๆ เครียดก็ไม่สุข ขอไปเล่นเกมไปพักผ่อนเที่ยวเตร็ดเตร่มีความสุขกว่า จึงไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน ไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานสักที สุดท้ายก็ไม่มีความสุข แล้วเราคิดว่าแนวคิดใดน่าจะเป็นแนวคิดที่ถูกต้องที่สุด

                พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

               “บุคคลใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน อดทนให้เหมือนหญ้า กระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข”

                หมายความว่า

                ไม่ว่าร้อนหรือหนาวก็สู้ ใครจะเหยียบยํ่าอย่างไรก็อดทนยืนอยู่ได้ ยังคงงอกงามเขียวขจีเหมือนหญ้าแพรก ไม่ใช่เจอใครต่อว่าก็น้อยเนื้อตํ่าใจ นํ้าตาร่วง เลิกล้มความตั้งใจง่ายๆ เพียงเพราะน้อยใจคำคน และสิ่งสำคัญคือกระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข

                เหล่านี้แสดงว่าพระองค์ให้มุ่งว่า อะไรคือสิ่งที่เราควรทำ ก็ให้ทำสิ่งนั้นเต็มที่ โดยไม่กลัวหนาวไม่กลัวร้อน ไม่กลัวความกระทบกระทั่งให้เจ็บใจ แล้วเดินหน้าทำสิ่งที่ควรทำ ด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลผู้นั้นย่อมประสบความสุขและความสำเร็จ

19791-02.jpg

                อีกบทหนึ่งพระองค์ตรัสไว้ว่า มนุษย์ควรจะต้องบำเพ็ญประโยชน์ ให้ครบ 3 ประการ คือ

                “ประโยชน์ชาตินี้”

                ได้แก่ ตั้งเนื้อตั้งตัวตั้งฐานะให้ได้ นกตัวเล็กๆ ยังอุตส่าห์สร้างรังอยู่ไว้คุ้มแดดคุ้มฝน หนูตัวเล็กๆ ก็ยังอุตส่าห์ขุดรูอยู่อาศัย เราเกิดมาเป็นคนทั้งทีก็ต้องเอาดีให้ได้ ต้องสร้างฐานะสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว มีอาชีพการงานที่มั่นคงเป็นหลักแหล่งอย่างนี้ เป็นต้น

               ประโยชน์ระดับสองคือ “ประโยชน์ชาติหน้า”

              ได้แก่ สร้างบุญสร้างกุศล พอละจากโลกนี้ไปแล้วเราจะได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ใครที่ชาตินี้ตั้งฐานะได้แต่ไม่สร้างบุญสร้างกุศลเลย ทำแต่บาป โกงกินเขา ทุจริตเขา เอาเปรียบเบียดเบียนเขา โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายบ้าง อาศัยความรู้ที่เหนือกว่า ตนเองได้แต่คนอื่นเดือดร้อน อย่างนี้ผิดหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ถึงแม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่จะเป็นบาปติดตัว พอละโลกแล้วตกนรกเลย สุขไหม...มันไม่สุข ไม่คุ้มกัน

19791-03.jpg

               ถ้าจะให้สุขจริงต้องทำ “ประโยชน์อย่างยิ่ง” ด้วย

               คือ กระทำประโยชน์ชาติหน้า ทำให้เรามั่นใจได้ว่าตายแล้วเราไปสุคติโลกสวรรค์แน่นอน แต่ควรบำเพ็ญประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ “ตั้งใจปฏิบัติธรรม” สวดมนต์ นั่งสมาธิเป็นประจำสมํ่าเสมอ จะทำให้กิเลสในตัวเราเบาบางลง ได้เข้าใกล้หนทางพระนิพพาน

              ถ้าเราจับหลักใหญ่ๆ นี้ได้ เราก็จะมองเห็นช่องชัดเจนเลยว่า การแสวงหาความสุขจากความสำเร็จในการงาน หรือในชีวิตของเรานั้นต้องปฏิบัติอย่างไร ที่แน่ๆ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราตามใจตนเอง คือตามใจกิเลส ออกไปเที่ยวเล่นกินเหล้า เสพยาก็บอกว่าสุขดี ความจริงเสพยาไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง แต่เป็นความสนุกเพลิดเพลินไปชั่วขณะ แล้วจะออกผลเป็นความทุกข์ในภายหลัง

               เพราะฉะนั้น ใครจะมาอ้างว่าตนกำลังแสวงหาความสุข สุขนิยมเป็นฮิปปี ปล่อยเนื้อปล่อยตัวดีกว่า นั่นสุขผิดหลัก เราต้องสำรวจว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรทำ และสิ่งที่ควรทำนั้นเป็นประโยชน์ต่ออาชีพการงาน การตั้งฐานะอย่างสุจริตชอบธรรมในชาตินี้ แล้วมีนํ้าใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือคนอื่น ช่วยงานสาธารณะกุศล การสงเคราะห์โลก ก็เป็นบุญกุศลอย่างหนึ่ง แล้วสวดมนต์นั่งสมาธิแบ่งเวลาปฏิบัติธรรมโดยทำอย่างถูกหลัก อะไรที่ผิดศีลธรรมเราไม่ทำ แม้ไม่ผิดกฎหมายก็ไม่ทำ

19791-04.jpg

               มาถึงตรงนี้อยากจะฝากข้อคิดเป็นหลักการ “ทฤษฎีกระปุกทราย” ไว้ว่า ถ้าเรามีหินก้อนโตเท่ากำปั้นสักสามสี่ก้อน มีก้อนกรวดขนาดเล็กเท่านิ้วโป้งสักสามสิบก้อน และมีทรายอีกหนึ่งถุงนำมาใส่กระปุก ถ้าเรานำทรายใส่ลงไปก่อน ทรายเหล่านั้นก็จะไปกองอยู่ก้นกระปุก แล้วนำก้อนกรวดขนาดเท่านิ้วโป้งใส่ตามลงไป กรวดก็จะไปกองอยู่บนทราย แล้วพอเราจะนำหินก้อนใหญ่อีกสามสี่ก้อนใส่ตามลงไป ปรากฏว่าใส่ไม่ได้แล้ว มันเต็มล้นกระปุกแล้ว

               แต่ถ้าเปลี่ยนลำดับใหม่ด้วยการนำหินก้อนโตๆ ใส่ลงไปก่อน แล้วจึงใส่ตามลงไปด้วยก้อนกรวด ก้อนกรวดก็จะลงไปแทรกตามช่องว่างของหิน พอเราเททรายลงไปอีก ทรายก็จะเข้าไปแทรกตามช่องว่างที่เหลือเล็กลงจนเต็ม

              ดังนั้น วิธีนี้ทำให้เราสามารถนำหินก้อนโต ก้อนกรวด และทรายทั้งหมดใส่ลงไปในกระปุกได้หมดอย่างสบายๆ เปรียบเทียบกับชีวิตจริงของคน ถ้าเรารู้จักจัดลำดับความสำคัญว่างานอะไรคืองานที่สำคัญที่สุดต่อชีวิตเรา 3 อย่าง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ สำคัญต่อประโยชน์ในชาตินี้ ได้แก่ การแสวงหาความรู้ต่างๆ ฝึกพัฒนาทักษะต่างๆ ลำดับต่อมาคือ สำคัญต่อประโยชน์ชาติหน้าด้วยการหมั่นสร้างบุญกุศล และสำคัญต่อประโยชน์อย่างยิ่งด้วยสวดมนต์ภาวนา

                พอเราเอางานสำคัญๆ ใส่ลงไปก่อนในชีวิตแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน เสร็จแล้วงานที่สำคัญรองลงมาเราก็จับแทรก ลงไปในช่องว่างที่ยังพอใส่ได้ ส่วนงานเล็กๆ น้อยๆ กระจุกกระจิกที่ไม่ได้เป็นสาระอะไรมากเท่าใด แต่เราอยากทำ ก็ไม่จำเป็นต้อง ปฏิเสธทั้งหมด เราสามารถทำได้ โดยใส่ลงไปเป็นลำดับสุดท้าย

19791-05.jpg

               หากเราอยากจะไปดูหนังฟังเพลงหรือไปท่องเที่ยวบ้างก็ทำได้ ก็จับแทรกลงไปอีกตามช่องว่างในชีวิตที่พอมีอยู่ ทำอย่างนี้จะพบว่า เราสามารถทำประโยชน์หลักเหมือนหินก้อนโตๆ ได้ครบหมด แล้วงานย่อยที่เป็นประโยชน์รองลงมาก็สามารถทำได้ครบหมด ส่วนงานเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

                คนที่ยังจัดลำดับความสำคัญผิด มุ่งให้ความสำคัญกับงานเล็กๆ น้อยๆ ก่อนตามความอยากของตนเอง เลือกที่จะใส่งานที่พึงพอใจลงไปก่อน อย่างเล่นเกมคอมพิวเตอร์ก่อน อ่านหนังสือ นิยายก่อน ดูละครก่อน ไปเที่ยวเล่นก่อน ปรากฏว่าเวลาที่จะทำกิจหลักๆ ไม่พอใส่ ประโยชน์ในชีวิตไม่ลงตัวเพราะมันเต็มไปหมด

               การจัดลำดับความสำคัญของงานในชีวิตจึงสำคัญมาก อะไรสำคัญใส่ก่อน แล้วตามด้วยงานที่สำคัญรองลงมา ลดหลั่นกันไปตามลำดับ แล้วเราจะพบว่าตนเองเป็นคนหนึ่งที่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ทั้งชาตินี้ชาติหน้า แล้วใกล้ต่อหนทางพระนิพพานด้วย รวมทั้งยังมีความสุข ความสบาย ความอิ่มใจในทุกวัน แม้งานจะหนักก็ยังยิ้มได้ตลอด

                เรียกว่าเหนื่อยอย่างมีความสุข  ทำงานหนักอย่างมีความสุข และเป็นความสุขที่แท้จริง.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.038383416334788 Mins