พระผู้เป็นเทพเนื้อแท้

วันที่ 01 เมย. พ.ศ.2547

 

 

งามจริวัตรถ้วน      ทบทวี
งามยิ่งพระบารมี      ผ่องแผ้ว
งามสมเอกกัลยาณี      ณ รัฐ สยามนา
งามพระงามยิ่งแล้ว      เลิศล้ำเลอสรวง
วันสมภพพระย้อน      เยือนมา
เหล่าราษฎร์ล้วนปรีดา      ทั่วถ้วน
ขอพระเทพรัตนสุดา      สิริสวัสดิ์
ทรงพระเจริญล้วน      ร่มแคว้นแดนไทย


.....ในความทรงจำร่วมกันของประชาชนชาวไทย มีภาพหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ชีวิต
คือ ภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามเสด็จเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชชนกไปทุกแห่งหน ในพระหัตถ์ทรงถือสมุดบันทึก เพื่อทรงบันทึก
ข้อมูลเรื่องราวที่น่าสนใจตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นราษฎรผู้ยากไร้ เป็นที่ชื่นตาชื่นใจแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก

.....ใครๆ ต่างประจักษ์ว่า “ เจ้าฟ้าหญิงชาวไทย ” พระองค์นี้ ทรงมีความสามารถเปรื่องปราดยิ่งนัก
ทรงเป็นเอกลักษณ์ของคำว่า กุลสตรี ที่แท้จริง คือมีพระสิริโฉมงดงาม มีน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยพระกรุณาธิคุณอันล้นเหลือ และมีพระสติปัญญาเปรื่องปราด สิ่งสำคัญคือ ทรงใช้ความสามารถเปรื่องปราดนั้นทรงงานหนักเพื่อแผ่นดิน

.....ความเป็นเทพเนื้อแท้ของพระองค์ ได้สะท้อนอยู่ในทุกอณูของพระราชจริวัตร พระราชกรณียกิจ พระราชดำรัส พระราชนิพนธ์และพระราชหฤทัย ดังขออัญเชิญบางส่วนมาเผยแพร่พระเกียรติคุณไว้ในวโรกาสมหามงคลสมัยมีพระชนมายุครบ ๔๙ พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๗ นี้

.....เมื่อทรงศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา เท่านั้น แต่แววกวีและความเป็นนักเขียนของพระองค์เริ่มฉายแสงแรงกล้า ทรงมีความนึกคิดลึกซึ้งเกินกว่าพระชนมายุมากมายนัก จะเห็นได้จากความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ ฉันชอบอ่านหนังสือ ” ดังนี้

…หนังสือเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ต่างๆ นักปราชญ์ในสมัยโบราณได้ใช้หนังสือบันทึกความรู้และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ไว้ เป็นสมบัติตกทอดมาถึงสมัยปัจจุบันเป็นอันมาก เช่น กฏเกณฑ์ทางวิทยาศาตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นต้น….

.....และในตอนท้ายของพระราชนิพนธ์บทนี้ ทรงแต่งเป็นกลอนสุภาพ บ่งถึงพระอุปนิสัยชอบอ่านหนังสือของพระองค์ว่า…ชั่วชีวันฉันอ่านได้ไม่เบื่อเลย

.....สมัยทรงพระเยาว์นั้น ได้ทรงศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่ต่อมาทรงเปลี่ยนพระทัย เพราะทรงดำริว่าควรศึกษาวิชาที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองให้มากที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงแนะนำให้พระราชธิดาทรงศึกษาวิชาภาษาไทย และภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

.....พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายว่า ภาษาอังกฤษนั้นเป็นภาษากลางของโลก เมื่อรู้ภาษาอังกฤษแล้วจะทำให้สามารถเผยแพร่วัฒนธรรมไทยได้ ตั้งแต่นั้นมาทรงตั้งพระราชปณิธานว่า จะค้นคว้าภาษาไทย วรรณคดี ศิลป และวัฒนธรรมไทย เพื่อเผยแพร่ความรู้อันทรงคุณค่าของไทย เชิดชูให้เป็นปิ่นนานาประเทศ และคงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ทรงตัดสินพระทัยศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

.....สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษามาก พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ และเมื่อมีโอกาสเสด็จเยือนต่างประเทศคราวใด ในหมายกำหนดการจะต้องมีการเสด็จฯ ทอดพระเนตรงานทางด้าน ระบบการศึกษาของประเทศนั้นๆ แทบทุกครั้ง เพราะพระองค์มีพระราชดำริมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ว่า “ ประเทศทั้งหลายย่อมเจริญได้ด้วยการศึกษา ”

.....สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเห็นเวลาเป็นของมีค่า ดังความในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ” ความตอนหนึ่ง ว่า …ผู้ที่ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์นี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในอัปปมาทธรรมคือ มีความไม่ประมาท เพราะเมื่อไม่ประมาทแล้ว ย่อมระลึกอยู่เสมอว่า ในที่สุดตนก็จะต้องสิ้นชีวิตลง และต้องใช้เวลาที่ยังเหลืออยู่พิจารณาธรรมและกระทำกิจของตนด้วยความเพียร…จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทั้งๆ ที่ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย แต่ยังทรงแบ่งเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทความ สารคดีต่างๆ ตลอดจนบทกวี โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ตามพระราชอัธยาศัยได้อีกคณานับ ยังไม่รวมไปถึงการเป็นพระอาจารย์ของโรงเรียนนายร้อย จปร.

.....ตลอดถึงทรงศึกษาเพิ่มเติมนอกหลักสูตรต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ และทรงศึกษาได้ดีจนประสบความสำเร็จ มีความเชี่ยวชาญถึงขนาดทรงนำมาใช้ในพระราชภารกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้แก่อาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ได้ ตัวอย่างเช่น ทรงศึกษาทางด้านแผนที่ การถ่ายภาพจากดาวเทียม จนสามารถนำไปใช้วิจัยป่าไม้และสภาพดินที่มีปัญหาทางภาคใต้ จนทำให้พสกนิกรทั้งหลายต่างสงสัยและห่วงใยว่า ทูลกระหม่อมแก้ว เอาเวลาที่ไหนหนอ…เพื่อพักผ่อนพระวรกาย ในเมื่อทุกลมหายใจนั้นมีแต่ประชาชนและทรงงานเพื่อประชาชน

.....พระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดณ ที่สมควรกล่าวถึงคือ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์ และการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยทรงเพิ่มจิตสำนึก ศักดิ์ศรี และเอกลักษณ์ของความเป็นไทยลงไปในการพัฒนานั้นด้วย อาทิเช่น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อให้ประชากรรุ่นเยาว์ได้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ประชาชนรุ่นเยาว์ได้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการดังกล่าว อยู่กว่า ๒๐๐ โรงเรียน ขณะเดียวกันระหว่างเสด็จทรงงานภาคสนามเพื่อการวิจัยศึกษาค้นคว้า ทางทรัพยากรธรรมชาติอยู่นั้น ทรงให้ความสนพระทัยในการอนุรักษ์ดนตรีไทย ศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีกด้วย เรียกว่า ทรงสามารถรักษาของเก่าที่มีค่า ควรแก่การรักษา ขณะเดียวกันก็ทรงสามารถรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับใช้ให้กลมกลืนและเกิดประโยชน์สูงสุด

.....สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงทรงเปรียบเสมือนผู้ทรงประสานความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตของศิลปวัฒนธรรมไทย ให้กลมกลืนผสมประสานกับเทคโนโลยีความเจริญในสมัยใหม่ เพื่อการพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าไม่หยุดยั้ง แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ไทยไว้ครบถ้วนสมบูรณ์

.....สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เทพผู้ทรงจุติมาเพื่อความศิวิไลซ์ของชนชาติไทยโดยแท้ ในความทรงเป็น “สมเด็จพระเทพฯ” นั้น ทรงเป็นทั้งเจ้าฟ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ ทรงเป็นนักบริหาร นักพัฒนายอดเยี่ยม นักการศึกษาซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับสูงสุด คือ ปริญญาเอก นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่ดีเด่น ทรงเป็นนักเขียนนักกวีร่วมสมัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเปิดหน้าต่างโลกให้ทุกคนได้ทึ่งและฉงน ยอมรับความเป็นอัจฉริยะของสตรีไทย ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน …

 

 

 

อุบลเขียว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014967322349548 Mins