สมัยที่คนมีอายุขัย ๑๐ ปี
ภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มีบุตรของมนุษย์เหล่านี้มีอายุขัย ๑๐ ปี ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี เด็กหญิงอายุ ๕ ปี ก็มีสามีได้ ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี รสเหล่านี้ คือ เนยใส เนยข้น นํ้ามัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และเกลือ จักอันตรธานไปสิ้น ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี หญ้ากับแก้จักเป็นอาหารอย่างดี ภิกษุทั้งหลาย ข้าวสาลี เนื้อ และข้าวสุก เป็นอาหารอย่างดีในบัดนี้ ฉันใด ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย๑๐ ปี หญ้ากับแก้ก็จักเป็นอาหารอย่างดี ฉันนั้น
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี กุศลกรรมบถ ๑๐ จักอันตรธานไปหมดสิ้น อกุศลกรรมบถ ๑๐ จักเจริญรุ่งเรืองเหลือเกิน ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี แม้แต่ชื่อว่ากุศลก็จักไม่มี และคนที่ทำกุศลจักมีแต่ที่ไหน ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่เกื้อกูลมารดา ไม่เกื้อกูลบิดา ไม่เกื้อกูลสมณะ ไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็จักได้รับการบูชาและได้รับการสรรเสริญ ภิกษุทั้งหลาย คนที่เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์ และประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ได้รับการบูชาและได้รับการสรรเสริญในบัดนี้ ฉันใด ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่เกื้อกูลมารดา ไม่เกื้อกูลบิดา ไม่เกื้อกูลสมณะ ไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็จักได้รับการบูชาและได้รับการสรรเสริญ ฉันนั้น
ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุขัย ๑๐ ปี พวกเขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า 'แม่' ว่า 'ป้า' น้า' ว่า 'ป้าสะใภ้ น้าสะใภ้' ว่า 'ภรรยาของอาจารย์' หรือว่า 'ภรรยาของครู' สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกันหมด เป็นเสมือน แพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์เหล่านั้นก็จัณคิดความอาฆาต1 อย่างแรงกล้า ความพยาบาท2 อย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายน้องชายกับพี่สาวน้องสาวก็ดี พี่สาวน้องสาวกับพี่ชายน้องชายก็ดี จักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ภิกษุทั้งหลาย นายพรานเนื้อเห็นเนื้อเข้า เกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ฉันใด ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์เหล่านั้นจักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายน้องชายกับพี่สาวน้องสาวก็ดี พี่สาวน้องสาวกับพี่ชายน้องชายก็ดี จักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ฉันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี จักมีสัตถันตรกัป3 ตลอด ๗ วัน มนุษย์เหล่านั้น จักเกิดความเข้าใจในกันและกันว่าเป็นเนื้อ ศัสตราทั้งหลายอันคมกริบจักปรากฏในมือของพวกเขา พวกเขาจักใช้ศัสตราอันคมกริบ ฆ่ากันเองด้วยเข้าใจว่า 'นี้เป็นเนื้อ นี้เป็นเนื้อ'
ครั้งนั้น มนุษย์เหล่านั้นบางพวก มีความคิดอย่างนี้ว่า 'พวกเราอย่าฆ่าใคร ๆ และใคร ๆ ก็อย่าฆ่าพวกเรา ทางที่ดี เราควรเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำ หรือซอกเขา ใช้รากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพ' พวกเขาจึงพากันเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำหรือซอกเขา ใช้รากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพอยู่ตลอด ๗ วัน เมื่อล่วงไป ๗ วัน พวกเขาพากันออกจากป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำ หรือซอกเขา แล้วต่างสวมกอดกันและกัน ขับร้องปลอบใจกันในที่ประชุมว่า 'ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่ เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่'
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้นจักปรึกษากันอย่างนี้ว่า 'พวกเราสูญสิ้นญาติ
มากมายเช่นนี้ เพราะยึดถืออกุศลธรรมเป็นเหตุ ทางที่ดี พวกเราควรทำกุศล ควรทำกุศลอย่างไรดี ทางที่ดี พวกเราควรงดเว้นจากปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้' แล้วจึงพากันงดเว้นจากปาณาติบาต สมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้ เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ พวกเขาจักเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง เมื่อพวกเขาเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ทั้งหลายที่มีอายุขัย ๑๐ ปี จักมีอายุขัยเพึ่มขึ้นเป็น ๒๐ปี
ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้นจักปรึกษากันอย่างนี้ว่า 'พวกเราเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ ทางที่ดี พวกเราควรทำกุศลธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป ควรทำกุศลอย่างไรบ้าง พวกเราควรงดเว้นจากอทินนาทาน (การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้) ควรงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร (การประพฤติผิดในกาม) ควรงดเว้นจากมุสาวาท (การพูดเท็จ) ควรงดเว้นจากปิสุณาวาจา (การพูดส่อเสียด) ควรงดเว้นจากผรุสวาจา (การพูดคำหยาบ) ควรงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ (การพูดเพ้อเจ้อ) ควรละอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา) ควรละพยาบาท (ความคิดร้ายผู้อื่น) ควรละมิจฉาทิฎเ (ความเห็นผิด) ควรละธรรม ๓ ประการ คือ อธัมมราคะ วิสมโลภะ และมิจฉาธรรม ทางที่ดี พวกเราควรเกื้อกูลมารดา ควรเกื้อกูลบิดา ควรเกื้อกูลสมณะ ควรเกื้อกูลพราหมณ์ และควรประพฤติอ่อนน้อมต่อใหญ่ในตระกูล ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้ ดังนี้ เขาเหล่านั้นจักเกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์ และประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล จักสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้
เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ พวกเขาจักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วยวรรณะบ้าง เมื่อพวกเขาเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๒๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๔๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๘๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๑๖๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๑๖๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๓๒๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๓๒๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๖๔๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๖๔๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๒,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๒,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๔,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๘,๐๐๐ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๘,๐๐๐ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๒๐,๐๐๐ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๔๐,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐,๐๐๐ ปี เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงจักสมควรมีสามีได้
ความอุบัติของพระราชาพระนามว่าสังขะ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี จักมีอาพาธ (๓ อย่าง คือ (๑) อิจฉา4 (๒)อนสนะ5 (๓) ชรา เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้จักมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ บ้าน นิคม และราชธานีมีทุกระยะชั่วไก่บินตก6 เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้ จักดูประหนึ่งอเวจีนรกที่แออัดยัดเยียดไปด้วยผู้คนทั้งหลาย เหมือนป่าไม้อ้อ หรือป่าไม้แก่น ฉะนั้น เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี กรุงพาราณสีนี้ จักเป็นราชธานีนามว่ากรุงเกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีพลเมืองมาก มีประชากรคับคั่ง และมีภักษาหารสมบูรณ์7 เมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ในชมพูทวีปนี้ จักมีเมือง ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุงเกตุมดีราชธานีเป็นเมืองเอก เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี จักมีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสังขะทรงอุบิติขึ้น ณ กรุงเกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ ได้แก่ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว
(๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต
การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรย
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี พระผู้พระภาคพระนามว่าเมตไตรย จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค8 เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นในโลกในบัดนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้น จักทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกและหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามเหมือนตถาคตในบัดนี้ รู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยตนเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามอยู่ พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้น จักทรงแสดงธรรมอันมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
เหมือนตถาคตในบัดนี้ แสดงธรรมอันมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน พระองค์จักทรงบริหารภิกษุสงฆ์หลายพันรูป เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลายร้อยรูปในบัดนี้ ฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าสังขะ จักรับสั่งให้ยกปราสาทที่พระเจ้ามหาปนาทะโปรดให้สร้างไว้ แล้วประทับอยู่ ทรงสละบำเพ็ญทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจกทั้งหลาย จักทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเมตไตรย ท้าวเธอผนวชแล้วไม่นานอย่างนี้ ทรงหลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาทมีความเพียรอุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งประโยชน์อันยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยพระปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พงอยู่ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑) พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก
๒) พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก
๓) พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด อภิชฌาและโทมนัสในโลก
๔) พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำ จัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พงอยู่ เป็นอย่างนี้แล
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น ของภิกษุ
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประพฤติธรรมอันเป็นโคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน เมื่อเธอทั้งหลายประพฤติธรรมอันเป็นโคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน จักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วยวรรณะบ้าง จักเจริญด้วยสุขะบ้าง จักเจริญด้วยโภคะบ้าง จักเจริญด้วยพละบ้าง
ในเรื่องอายุของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑) เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่ เกิดจากฉันทะและความเพียรสร้างสรรค์)
๒) เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่ เกิดจากวิริยะและความเพียรสร้างสรรค์)
๓) เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่ เกิดจากจิตตะและความเพียรสร้างสรรค์)
๔) เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่ เกิดจากวิมังสาและความเพียรสร้างสรรค์)
เพราะเจริญ ทำอิทธิบาท ๔ ประการนี้ให้มาก เมื่อมุ่งหวัง เธอจะพึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องอายุของภิกษุ
ในเรื่องวรรณะของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องวรรณะของภิกษุ
ในเรื่องความสุขของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑) สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
๒) เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน...
๓) บรรลุตติยฌาน...
๔) บรรลุจตุตถฌาน...
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องความสุขของภิกษุ ในเรื่องโภคะของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างใร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑) มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑... ทิศที่ ๒... ทิศที่ ๓... ทิศที่ ๔... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
๒) มีกรุณาจิต...
๓) มีมุทิตาจิต...
๔) มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑... ทิศที่ ๒... ทิศที่ ๓... ทิศที่ ๔... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้เเลเป็นคำอธิบายในเรื่องโภคะของภิกษุ ในเรื่องพละของภิกษุ มีคำ อธิบายอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ9 ปัญญาวิมุตติ10 อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เเลเป็นคำอธิบายในเรื่องพละของภิกษุ
เราไม่เล็งเห็นกำลังอื่นแม้อย่างหนี้ง ซึ่งข่มได้แสนยาก เหมือนกำลังของมาร11 นี้เลย บุญนี้จะเจริญขึ้นได้อย่างนี้ก็เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล
จักกวัตติสูตร จบ
ความเจริญและความเสื่อมของอายุมนุษย์นั้น ขึ้นอยู่กับกรรมที่มนุษย์กระทำนั้นเอง หากยุคใดมนุษย์มีคุณธรรมสูงประพฤติกุศลกรรมบถ มีการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น ยุคนั้นก็จะมีอายุยืน ในทางตรงกันข้าม หากยุคใดมนุษย์มีใจหยาบช้า ประพฤติแต่อกุศลกรรมบถ มุ่งแต่เบียดเบียนกัน มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นต้น อายุของมนุษย์ก็จะเสื่อมถอยลงไปเรื่อย ๆ
เชิงอรรถอ้างอิง
1 ความอาฆาต หมายถึงความโกรธที่ทำให้ผูกใจเจ็บ
2 ความพยาบาท หมายถึงความโกรธที่ทำให้ประโยชน์สุขทั้งของตนทั้งของคนอื่นพินาศ
3 สัตถันตรกัป แปลว่าอันตรกัปพินาศเพราะศัสตรา เป็นชื่ออันตรกัป (กัประหว่าง) ๑ ใน ๓ อันตรกัป ซึ่งเป็นกัปย่อยของสังวัฎฎกัป(กัปเสื่อม) มักเรียกกันสั้น ๆ ว่ากัปพินาศ อีก ๒ กัป คือ (๑) ทุพภิกขันตรกัป (กัปพินาศเพราะข้าวยากหมากแพง) (๒) โรคันขันตรกัป (กัปพินาศเพราะโรค) คำว่า กัป ในที่นี้เปีนคำย่อของคำว่า "กัปพินาศ"
4 อิจฉา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่ทำให้เกิดคำพูดอย่างนี้ว่า 'ท่านจงให้อาหารแก่เรา'
5 อนสนะ ในที่นี้หมายถึงความเฉื่อยชาทางกายของผู้กินอาหารอิ่มแล้วต้องการจะนอนเพราะเมาอาหาร
6 มีทุกระยะชั่วไก่บินตก ในที่นี้หมายถึงระยะห่างจากบ้านหนึ่งถึงบ้านหนึ่ง คำ นวณจากการบินของไก่ คือ ในเมืองนี้ ไก่สามารถบินจากหลังคาบ้านหลังหนึ่งไปลงหลังคาบ้านหลังหนึ่งได้ ซึ่งแสดงว่ามีบ้านเรือนหนาแน่น จนไก่บินถึงกันได้
7 มีภักษาหารสมบูรณ์ ในที่นี้หมายถึงสมบูรณ์ด้วยอาหารที่ควรเคี้ยวและอาหารที่ควรบริโภค
8 ชื่อว่าเป็นพระผู้มีพระภาคเพราะ (๑) ทรงมีโชค (๒) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (๓) ทรงประกอบด้วยภคธรรม ๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จประโยชน์ตามต้องการ และความเพียร) (๔)
ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคลายตัณหาในภพทั้ง ๓ (๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย ๔ เป็นต้น อนึ่ง พระพุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น ๑๐ ประการ โดยแยกข้อ ๖ เป็น ๒ ประการ คือ (๑) เป็นผู้ยอดเยี่ยม (๒) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้
9 เจโตวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นแห่งจิต ความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึก หรือด้วยกำลังสมาธิ เช่น สมาบัติ ๘ เป็นเจโตวิมุตติอันละเอียดประณีต
10 ปัญญาวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นด้วยปัญญา ความหลุดพ้นที่บรรลุด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ทำให้สำเร็จอรหัตตผล และทำให้เจโตวิมุตติ เป็นวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อไป
11 กำลังของมาร ในที่นี้หมายถึงกำลังของเทวปุตตมาร มัจจุมาร และกิเลสมาร