จักกวัตติสูตร ตอน ความเสื่อมเเห่งอายุเเละวรรณะ

วันที่ 04 สค. พ.ศ.2563

เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ เป็นต้น

                ภิกษุทั้งหลาย แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ ฯลฯ

                แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๓ ฯลฯ

                แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๔ ฯลฯ

                แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๕ ฯลฯ

               แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๖ ฯลฯ

               แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๗ เมื่อเวลาล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ได้รับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า 'บุรุษผู้เจริญ ในขณะที่ท่านเห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง พึงบอกแก่เราทันที' ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ราชบุรุษนั้นได้เห็นจักรแล้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิดังนี้ว่า 'ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว'

 

                  ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอรับสั่งเรียกพระกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่มา ตรัสว่า 'ลูกเอ๋ย ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว ก็พ่อได้ยินมาว่า

 

                'จักรแล้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง ณ บัดนี้พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน' กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะแสวงหากามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ มาเถิด ลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองแผ่นดิน อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตนี้ ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต

 

                 ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทรงสั่งสอนพระกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในเรื่องการครองราชย์เรียบร้อยแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อพระราชฤๅษีผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์ได้อันตรธานไป

 

                  ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้ากษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า 'ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์ทรงทราบเถิด จักรเเก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว' ขณะนั้น เมื่อจักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอทรงเสียพระทัย ทรงแสดงความเสียพระทัยให้ปรากฎ แต่ไม่ได้เสด็จเข้าไปหาพระราชฤๅษีทูลถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ นัยว่า ท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เอง เมื่อท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เองอยู่ ประชาราษฎร์ก็ไม่เจริญต่อไปเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่

 

                 ครั้งนั้น ข้าราชการ ข้าราชบริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพ นายกองราชองครักษ์ องคมนตรี ได้ประชุมกันกราบทูลท้าวเธอดังนี้ว่า 'ขอเดชะ ทราบว่าเมื่อพระองค์ทรงปกครองชนบท1 ตามพระมติของพระองค์เอง ประชาราษฎร์ก็ไม่เจริญต่อไปเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่ พระเจ้าข้า ในแว่นแคว้นของพระองค์มีข้าราชการ ข้าราชบริพาร โหราจารย์ มหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกองราชองครักษ์ องคมนตรีอยู่พร้อมทีเดียว ข้าพระองค์ทั้งหลายและประชาราษฎร์เหล่าอื่น จดจำจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐได้อยู่ ขอพระองค์โปรดตรัสถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐเถิด พระองค์ตรัสถามแล้ว พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกราบทูลจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐถวาย'

 

เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

                 ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอโปรดให้ประชุมข้าราชการ ข้าราชบริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ องคมนตรี ตรัสถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ  พวกเขาจึงกราบพูลจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐแก่ท้าวเธอ ท้าวเธอได้ฟังคำทูลตอบของพวกเขาแล้ว จึงทรงจัดการรักษา ป้องกันและคุ้มครองโดยชอบธรรม แต่ไม่ได้พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ เมื่อไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนจึงแพร่หลาย เมื่อความขัดสนแพร่หลาย บุรุษคนหนึ่งจึงถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย ประชาชนช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้วนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า 'ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษคนนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย' เมื่อพวกเขากราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า 'ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ'

'จริง พระเจ้าข้า'

'เพราะเหตุไร'

'เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ'

               ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขาแล้วรับสั่งว่า 'พ่อคุณ เธอจงเลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา เลี้ยงบุตรภรรยา ประกอบการงานทั้งหลาย จงตั้งทักษิณาในสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่ทำให้มีผลสูงขึ้นไป2 ที่เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์3 ด้วยทรัพย์นี้เกิด'

           

              เขาได้ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว

               

               แม้บุรุษอีกคนหนึ่ง ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย คนทั้งหลายช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้วจึงนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า 'ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย' เมื่อพวกเขากราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า 'พ่อคุณ ได้ยินว่า เธอถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ'

'จริง พระเจ้าข้า'

'เพราะเหตุไร'

'เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ'

               ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขาแล้วรับสั่งว่า 'พ่อคุณ เธอจงเลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา จงเลี้ยงบุตรภรรยา จงประกอบการงานทั้งหลาย จงตั้งทักษิณาในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ทำให้มีผลสูงขึ้นไป เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ด้วยทรัพย์นี้เกิด'

                เขาทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว

 

               ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายได้ฟังมาว่า 'ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ทราบว่า คนถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย พระเจ้าแผ่นดินยังพระราชทานทรัพย์ให้อีก' จึงพากันคิดเห็นอย่างนี้ว่า 'ทางที่ดี แม้พวกเราก็ควรถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยบ้าง'

 

                 ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย คนทั้งหลายช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า 'ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย' เมื่อพวกเขากราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า 'พ่อคุณ ได้ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ'

'จริง พระเจ้าข้า'

'เพราะเหตุไร'

'เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ'

 

                ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงทรงพระดำริอย่างนี้ว่า 'ถ้าเราจักให้ทรัพย์แก่คนที่ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย อทินนาทาน (การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้) นี้ จักแพร่หลายขึ้นด้วยประการอย่างนี้ ทางที่ดี เราควรให้คุมตัวบุรุษผู้นี้อย่างแข็งขัน แล้วตัดต้นคอ ตัดศรีษะของบุรุษนั้นเสีย' จากนั้น ท้าวเธอทรงสั่งบังคับราชบุรุษทั้งหลายว่า 'แน่ะพนาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงใช้เชือกเหนียว ๆ มัดบุรุษนี้ไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้ว โกนผมนำตระเวนไปตามถนนและตรอก พร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์4 เสียงดังน่ากลัวนำออกทางประตูด้านทิศใต้ จงคุมตัวอย่างแข็งขัน ทำการประหารชีวิต ตัดศีรษะบุรุษนั้นเสียทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร' ราชบุรุษทั้งหลายทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จึงใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนั้นเอาแขนไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้ว โกนผมนำตระเวนไปตามถนนและตรอกพร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดังน่ากลัวนำออกทางประตูด้านทิศใต้ คุมตัวอย่างแข็งขัน ทำการประหารชีวิต ตัดศีรษะบุรุษนั้นทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร

 

                   ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายได้ฟังว่า 'ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินได้คุมตัวคนผู้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยอย่างแข็งขัน ตัดต้นคอ ตัดศีรษะพวกเขาเสีย' ครั้นได้ฟังแล้วจึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า 

 

                    'ทางที่ดี แม้พวกเราก็ควรให้ช่างทำศัสตรา อย่างคม ๆ แล้วจับคนที่ไม่ให้สิ่งของที่พวกเราถือเอาโดยอาการขโมยคุมตัวไว้อย่างแข็งขัน จักประหารชีวิต ตัดศีรษะของพวกมันเสีย' พวกเขาจึงให้ช่างทำศัสตราคม แล้วจึงเริ่มทำการปล้นบ้าน นิคม พระนคร ปล้นตามถนนหนทาง จับคนที่ไม่ให้สิ่งของที่พวกตนถือเอาโดยอาการขโมย คุมตัวอย่างแข็งขัน ประหารชีวิต ตัดศีรษะของบุคคลเหล่านั้นเสีย

 

                   ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) ก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมษุษย์ที่มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๔๐,๐๐๐ ปี

 

                   ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย พวกเขาช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงนำไปถวายแก่กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว กราบทูลว่า 'ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย' เมื่อพวกเขากราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า 'พ่อคุณ ได้ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย จริงหรือ' บุรุษนั้นได้กราบทูลคำเท็จทั้งที่รู้อยู่ว่า  'ไม่จริงเลย พระเจ้าข้า'

 

                   ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาท (การพูดเท็จ) ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้างมีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒๐,๐๐๐ ปี

 

                   ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย บุรุษอีกคนหนึ่งจึงกราบทูลกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วว่า 'ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษชื่อนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย' ชื่อว่าได้กระทำการส่อเสียด

 

                  ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาทก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย ปิสุณาวาจา (การพูดส่อเสียด) ก็แพร่หลาย เมื่อปิสุณาวาจาแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑๐,๐๐๐ ปี

 

                  ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐,๐๐๐ ปี มนุษย์บางพวกมีวรรณะดี บางพวกมีวรรณะไม่ดี พวกที่มีวรรณะไม่ดี ก็เพ่งเล็งพวกที่มีวรรณะดี ประพฤติล่วงละเมิดในภรรยาของคนอื่น

 

                  ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ฯลฯ กาเมสุมิจฉาจาร (การประพฤติผิดในกาม) ก็แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้างมีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๑๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๕,๐๐๐ปี

 

                  ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๕,๐๐๐ ปี ธรรม ๒ ประการ คือ ผรุสวาจา (การพูดคำหยาบ) และสัมผัปปลาปะ (การพูดเพ้อเจ้อ) ก็แพร่หลายเมื่อธรรม ๒ ประการแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๕,๐๐๐ ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒,๕๐๐ ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒,๐๐๐ ปี


                  ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒,๕๐๐ ปี อภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา) และพยาบาท (ความคิดร้าย) ก็แพร่หลาย เมื่ออภิชฌา และพยาบาทแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๒,๕๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑,๐๐๐ ปี

 

                  ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑,๐๐๐ ปี มิจฉาทิฎฐิ (ความเห็นผิด) ก็แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฎฐิแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้างบุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๑,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๕๐๐ ปี


                  ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๕๐๐ ปี ธรรม ๓ ประการ คือ อธัมมราคะ5  วิสมโลภะ6  และมิจฉาธรรม7  ก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๓ ประการแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๕๐๐ ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒๕๐ ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒๐๐ ปี


                 ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๕๐ ปี ธรรมเหล่านี้ คือ ความไม่เกื้อกูลมารดา ความไม่เกื้อกูลบิดา ความไม่เกื้อกูลสมณะ ความไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และการไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ก็แพร่หลาย


                 ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาทก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย ปิสุณาวาจาก็แพร่หลาย เมื่อปิสุณาวาจาแพร่หลาย กาเมสุมิจฉาจารก็แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารแพร่หลาย ธรรม ๒ ประการ คือ ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปะก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๒ ประการแพร่หลาย อภิชฌาและพยาบาทก็แพร่หลาย เมื่ออภิชฌาและพยาบาทแพร่หลาย มิจฉาทิฏฐิก็แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฎฐิแพร่หลาย ธรรม ๓ ประการ คือ อธัมมราคะ วิสมโลภะ และมิจฉาธรรมก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๓ ประการแพร่หลาย ธรรมเหล่านี้ คือ ความไม่เกื้อกูลมารดา ความไม่เกื้อกูลบิดา ความไม่เกื้อกูลสมณะ ความไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และการไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลก็แพร่หลาย เมื่อธรรมเหล่านี้แพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๒๕๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑๐๐ ปี

 

1 ชนบท ในที่นี้หมายถึงเขตปกครองที่ประกอบด้วยเมือง(นคร)หลายเมือง ตรงกับคำว่า เเคว้นหรือรัฐในปัจจุบัน

2 มีผลสูงขึ้นไป ในที่นี้หมายถึงส่งผลให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ คือ  ๑)จาตุมหาราช  ๒)ดาวดึงส์  ๓)ยามา ๔)ดุสิต  ๕)นิมมานรดี  ๖)ปรนิมมิตวสวัตดี

3 ให้เกิดในสวรรค์ในที่นี้หมายถึงให้ได้คุณวิเศษที่ล้ำเลิศ ๑๐ อย่าง มีผิวพรรณทิพย์ เป็นต้น

4 บัณเฑาะว์ ในที่นี้หมายถึงกลองที่ใช้ตีให้สัญญาณเมื่อจะประหารนักโทษ

5 อธัมมราคะ เเปลว่า ความกำหนัดที่ผิดธรรม หมายถึงความกำหนัดในบุคคลที่ไม่สมควรกำหนัด เช่น เเม่ พ่อ 

6 วิสมโลภะ เเปลว่า ความโลภจัด หมายถึงความโลภที่รุนเเรงในฐานะเเม้ที่ควรจะได้

7 มิจฉาธรรม เเปลว่า ความกำหนัดผิดธรรมชาติ หมายถึงความกำหนัดที่ชายมีต่อชาย เเละที่ผู้หญิงมีต่อผู้หญิง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.053136364618937 Mins