กฎแห่งกรรม
กฎแห่งกรรม เป็นหลักธรรมสำคัญที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้ เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดลุ่มลึกซับซ้อน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ว่า เรื่องของกรรมนี้เป็นอจินไตย1 เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด เนื่องจากเหนือวิสัยเกินกว่าที่ปุถุชนธรรมดา จะคิดค้นด้นเดาเอาได้ด้วยสมอง หรือสติปัญญาของตนเองได้
แม้กฎแห่งกรรม จะมีความสลับซับซ้อนเพียงใดก็ตาม ก็ยังคงเป็นไปตามหลักการของเหตุและผล ที่สามารถสืบค้นหรือทำความเข้าใจตามได้ เพียงแต่การจะทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ตรงไปตามความเป็นจริงได้นั้น จะต้องอาศัยญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา ซึ่งก็หมายความว่า กฎแห่งกรรมที่เป็นอจินไตย ไม่ใช่เรื่องที่เหลือวิสัยสำหรับผู้รู้แจ้งแทงตลอดในธรรม ดังเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น
กฎแห่งกรรม เป็นกฎที่ยังไม่มีใครจะหลีกพ้นไปได้ ถ้าจะกล่าวให้ง่ายก็คือ ทุกชีวิตที่ยังต้องเวียนว่ายในสังสารวัฏ ล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจของกฎแห่งกรรม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้มีแนวทางและดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย จนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน
ความหมายของกรรม
กรรม คือ อะไร
ในทางพระพุทธศาสนา กรรม แปลว่า "การกระทำโดยเจตนา" ซึ่งสามารถกระทำ ๓ ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ อาจแบ่งได้ ๒ ประการ2 คือ กรรมดี (กุศลกรรม) และกรรมชั่ว (อกุศลกรรม) เมื่อกระทำกรรมแล้วจะเกิดวิบาก
กรรมดี หมายถึงอะไร
กรรมดี หมายถึง การกระทำโดยสุจริต ทางกาย วาจา ใจ เรียกว่า "กุศลกรรม" หรือบุญ เช่นการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น บุคคลผู้ทำกรรมดี ใจย่อมผ่องใส เป็นสุขทั้งทางกาย ทางใจ เป็นทางมาแห่งบุญกุศล
กรรมชั่ว หมายถึงอะไร
กรรมชั่ว หมายถึง การกระทำโดยทุจริต ทางกาย วาจา ใจ เรียกว่า "อกุศลกรรม" หรือบาป เช่นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น บุคคลผู้ทำกรรมชั่ว ใจย่อมเศร้าหมอง เดือดร้อน เป็นทุกข์ทั้งทางกาย ทางใจ เป็นทางมาแห่งบาปอกุศล
วิบากกรรม คือ อะไร
วิบาก แปลว่า "ผล" ดังนั้น วิบากกรรม จึงหมายถึง "ผลของกรรมทั้งดีและชั่วที่เราได้กระทำลงไปแล้ว"
เกณฑ์การจำแนกกรรมดี กรรมชั่ว
เนื่องจากกรรม (การกระทำ) สามารถทำได้ ๓ ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ดังกล่าวข้างต้น ในพระพุทธศาสนา เราจำแนกกรรมดีทั้ง ๓ ทางด้วยหลักธรรม ที่มีชื่อว่า กุศลกรรมบถ3 ๑๐ และจำแนกกรรมชั่วทั้ง ๓ ทางด้วยหลักธรรมที่ชื่อว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐
วงจรของกิเลส กรรม วิบาก
เป็นกลไกที่น่าเรียนรู้ เพราะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ตั้งแต่กระบวนการเกิดกรรม และการให้ผลของกรรม (วิบาก) อันเป็น สาเหตุสำคัญที่ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดในแต่ละชาติ แล้วมาประสบกับความทุกข์
วงจรของกิเลส กรรม วิบากนี้ มีจุดเริ่มต้นที่กิเลสที่มีอยู่แล้วในใจ โดยที่กิเลสจะเข้าไปบังคับให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทำกรรมชั่ว เมื่อทำไปแล้ว ก็จะเกิดเป็น
ผลแห่งการกระทำ ที่เรียกกันว่าวิบาก ที่จะคอยติดตามให้ผลต่อใปในอนาคต ดังนั้น ตราบใดที่สรรพสัตว์ยังไม่สามารถกำจัดกิเลสให้หมดจากใจได้ ก็ยังคงต้องเวียนเกิดเวียนตาย และรับผลแห่งวิบากที่ตัวเองเคยทำไว้ จึงต้องประสบกับความทุกข์เรื่อยไป ดังพุทธพจน์ที่ตรัสว่า4
"บาปกรรมนี้ ย่อมตามผู้ทำไปเหมือนล้ออันหมุนตามรอยเท้าโค"
ยิ่งกว่านั้น เมื่อมาเกิดใหม่ในแต่ละชาติแล้ว กิเลสก็จะบังคับให้ทำกรรมใหม่ต่อ ๆ ไป จึงเกิดเป็นวิบากกรรมใหม่ วนเวียนเช่นนี้ไม่จบสิ้น ยกตัวอย่าง เช่น หากวิบากกรรมชั่วมาส่งผลให้มาเกิดเป็นเสือ เมื่อถึงเวลาที่ออกหากิน ย่อมต้องฆ่าสัตว์อื่น เพื่อมาเป็นอาหารของตน นั่นหมายถึง เพราะวิบาก คือ การได้เกิดมาเป็นเสือ ทำให้กระตุ้นกิเลสในตัวเอง คือ โทสะให้เพิ่มขึ้นจนบังคับให้ใช้กำลังฆ่าสัตว์อื่น เพื่ออาหารได้ เป็นต้น
กิเลสที่อยู่ในใจนั้น สามารถแบ่งได้ ๓ ตระกูล5 คือ
๑) โลภะ (ความโลภอยากได้)
๒) โทสะ (ความโกรธ คิดเบียดเบียนทำร้าย)
๓) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้)
กิเลสทั้ง ๓ ตระกูลนี้ จะบังคับให้สัตว์สร้างกรรมชั่วขึ้นมาใน ๓ ทาง คือ ทางกาย วาจา และใจ ตรงข้ามกับฝ่ายกุศลหรือฝ่ายบุญ ที่จะคอยบังคับให้เราสร้างกรรมดี มี ๓ ตระกูลเช่นกัน คือ
๑) อโลภะ (ความไม่โลภ)
๒) อโทสะ (ความไม่โกรธ)
๓) อโมหะ (ความไม่หลง)
เมื่อสัตว์ทำกรรมลงไปแล้ว ผลที่ได้จากการทำ ก็คือ วิบาก แบ่งได้ ๒ ลักษณะ คือ
๑) วิบากที่เป็นกุศล หมายถึงผลที่เกิดขึ้นจากการทำกรรมดี และวิบากนี้ก็จะให้ผลเป็นความสุข ความสบายทั้งในโลกนี้ คือ มีชีวิตที่ดี มีความสุข และทั้งในโลกหน้า คือสุคติภูมิ เช่น การได้ไปเกิดบนสวรรค์และพรหมโลก เป็นต้น
๒) วิบากที่เป็นอกุศล หมายถึงผลที่เกิดขึ้นจากการทำกรรมชั่ว และวิบากนี้ก็จะให้ผลเป็นความทุกข์ยาก ลำบากทั้งในโลกนี้ คือ มีชีวิตที่ตกต่ำ ลำบาก และทั้งในโลกหน้า คือ ประสบความทุกข์ทรมานในทุคติภูมิ เช่น การไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น
ดังนั้น เราจึงขวนขวาย เร่งทำลายกิเลสให้หมดไปจากใจ เพราะเมื่อไม่มีกิเลสเสียแล้ว ก็จะไม่มีกำลังใดมาบังคับเราให้ทำกรรมชั่ว และเมื่อไม่ได้ทำกรรมชั่ว ก็ไม่มีวิบากกรรมอันเผ็ดร้อนใด ๆ ตามมา การทำลายกิเลสจึงเท่าคับว่า เป็นการเข้าไปตัดวงจรของกิเลส กรรม วิบาก หรือ ที่เรียกว่า กฎแห่งกรรมได้สำเร็จ มีผลที่ได้คือ ความสุข ความโปร่งใจ เพราะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสเครื่องร้อยรัด ก้าวไปสู่อมตสุข คือพระนิพพานได้ในที่สุด
ผลของวิบากกรรม
ชนิดของวิบากกรรมทั้งที่เป็นทางฝ่ายกุศลธรรม (เรียกว่า ฝ่ายบุญ) และวิบากกรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลธรรม (เรียกว่า ฝ่ายบาป) นั้นสามารถส่งผลทั้งในโลกนี้ คือปัจจุบันและโลกหน้า คือ ชีวิตหลังความตาย
วิบากกรรมปัจจุบัน
จะขอยกตัวอย่างของวิบากกรรม หรือผลของบุญและบาปที่บุคคล เมื่อทำกรรมลงไปแล้ว จะได้รับผลในปัจจุบันนั้น พอแบ่งลักษณะออกได้ ๔ ระดับ คือ
๑) ระดับจิตใจ ผลเกิดขึ้นในใจทันทีทุกครั้งที่ทำกรรมดี หรือกรรมชั่ว ยกตัวอย่าง เช่นทุกครั้ง หน้าที่เราด่าหรือนินทาคนอื่นเราได้สร้างเชื้อแห่งความไม่ดี (กิเลส) ขึ้นในใจ ทำให้สภาพจิตใจตกต่ำ มัวหมอง หากทำเช่นนี้บ่อย ๆ จิตจะหยาบกระด้างขึ้น สมรรถภาพของใจย่อมขาดประสิทธิภาพลง ตรงกันข้าม ถ้าเราทำแต่สิ่งที่ดีงาม เช่น คิดเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือคนอื่น ทำบุญทำทานอยู่เสมอ ย่อมส่งผลให้สภาพจิตใจดีขึ้น มีใจเยือกเย็น ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว สามารถใช้คิดเรื่องราวต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ลึกซึ้ง รอบคอบ เป็นระเบียบ และตัดสินใจ ได้ฉับพลันถูกต้อง เพราะเหตุที่บุญชำระใจให้สะอาดผ่องใส
๒) ระดับบุคลิกภาพ ผู้ที่หมั่นสั่งสมกรรมดีอยู่เสมอ เช่น ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น ย่อมมีใจที่สงบ เบิกบาน ชุ่มเย็น ไม่มีความกังวลหม่นหมอง เมื่อใจผ่องใส ไม่คิดโลภอยากได้ของใคร ไม่คิดสร้างความเดือดร้อนให้ใคร มีแต่คิดช่วยเหลือ ย่อมส่งผลถึงหน้าตา ผิวพรรณ ให้พลอยผ่องใสไปด้วย ทั้งยังมีความมั่นใจ มีความสง่างามอยู่ในตัวเอง สมดังที่พระสัมมาสัมทุทธเจ้าตรัสอานิสงส์ของบุคคลผู้ทำทานอยู่เป็นประจำว่า
"ทายกผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปอยู่ที่ประชุมใด ๆ ย่อมเป็นผู้องอาจไม่เก้อเขิน6 "
ตรงกันข้าม หากใครทำกรรมชั่ว ย่อมมีสีหน้าที่หมองคลํ้า เป็นคนหวาดระแวง ใจไม่สงบ เพราะความกังวลในสิ่งไม่ดีที่ตนทำลงไป เหล่านี้เป็นตัวอย่างผลบุญ และบาป ส่งผลไปถึงบุคลิกภาพของตัวเองตามลำดับ
๓) ระดับวิถีชีวิต แท้จริงวิถีชีวิตของคนเราจะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว ก็เพราะเกิดจากการให้ผลของบุญและบาปที่เราได้ทำมาตั้งแต่ภพชาติในอดีตจนถึงภพชาติปัจจุบันที่ต่างผลัดกัน ชิงช่วงโอกาสในการส่งผล ทำให้เราได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุขบ้าง หรือได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา มีการเสื่อมลาภ เสื่อมยศบ้าง เป็นต้น ในเรื่องของการชิงช่วงส่งผลบุญและผลบาปนี้เอง มีความสลับซับซ้อน ยากแก่การเข้าใจ ทำให้หลาย ๆ ท่านเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี เพราะบางครั้งขณะที่เราตั้งใจทำความดีอยู่ กลับถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือประสบเรื่องเลวร้ายในชีวิต ทำให้หมดกำลังใจในการทำความดีแท้จริงแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในขณะนั้น ผลบาปที่เราเคยทำในอดีตกำลังส่งผลอยู่ แต่บุญที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็ใช่ว่าจะไร้ผล หากเราตั้งใจทำบุญ ทำความดีโดยไม่ย่อท้อ ผลบุญนั้น ย่อมจะส่งผลตัดรอนวิบากกรรมชั่วให้หมดสิ้นไปได้จนได้รับความสุขความสำเร็จในที่สุด
๔) ระดับสังคม การทำกรรมดี กรรมชั่ว ไม่ได้ส่งผลแต่ตัวเองเท่านั้น หากแต่ส่งผลถึงบุคคลรอบข้าง รวมทั้งสังคมอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อเราทำความดีอย่างเต็มที่ต่อเนื่อง เมื่อเข้าไปอยู่ในสังคมใด นอกจากบุญก็จะส่งผลให้เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับ ได้เป็นผู้นำของสังคมนั้นแล้ว ยังจะเป็นผู้ชักนำสมาชิกในสังคมนั้นให้ทำความดีตามอย่างเราไปด้วยได้ ส่งผลเป็นความสงบร่มเย็น และความเจริญก้าวหน้าขึ้นในสังคมนั้น ๆ โดยลำดับ ตรงกันข้าม หากเราทำกรรมชั่ว ก็ย่อมส่งผลชั่วถึงบุคคลรอบข้าง สังคมให้ทำกรรมชั่วตามแล้วพลอยเดือดร้อนกัน
ไปด้วย สมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
"เมื่อพระราชาทั้งหลายประพฤติไม่เป็นธรรม ในสมัยนั้น แม้ข้าราชการทั้งหลาย
ก็พลอยประพฤติไม่เป็นธรรม เมื่อข้าราชการประพฤติไม่เป็นธรรม พราหมณ์และ
คฤหบดีทั้งหลายก็ประพฤติไม่เป็นธรรมบ้าง เมื่อพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย
ประพฤติไม่เป็นธรรม ชาวบ้านชาวเมืองก็ประพฤติไม่เป็นธรรมไปตามกัน7 "
วิบากกรรมในโลกหน้า
โลกหน้า คือ วิถีชีวิตหลังความตาย หากบุคคลนั้นประกอบกุศลกรรมไว้ดี ย่อมประสบความสุขในสุคติ โลกสวรรค์หากมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมได้รับความสุข ประสบกับความสำเร็จ ดังตัวอย่างกุศลกรรมของพระพากุลเถระ8 ผู้เป็นเลิศของภิกษุทั้งหลายในด้านมีโรคน้อย เพราะเหตุที่ปรุงยาถวายพระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้พระเถระ แม้เกิดในชาติใด ก็ไม่เคยเจ็บป่วยไข้แม้เพียงเล็กน้อย
ตรงกันข้าม หากบุคคลนั้นประกอบอกุศลกรรมไว้ ก่อนตายมีจิตเศร้าหมอง ย่อมไปสู่
ทุคติ มีนรก เปรต อสุรกาย เป็นต้น เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ หากวิบากของอกุศลกรรมยังมีอยู่ ย่อมได้รูปร่างที่ไม่สมบูรณ์ น่าเกลียด เหมือนอย่างอานนท์เศรษฐี9 มีความตระหนี่ทรัพย์ ทั้งยังห้ามมิให้ครอบครัวของตนทำบุญ หลังจากที่ตนละโลกแล้วได้ไปเกิดในตระกูลจัณฑาลเพราะความตระหนี่ทรัพย์
เชิงอรรถอ้างอิง
1 อจินไตย หมายถึงเรื่องที่ใคร ๆ ไม่ควรคิด มี ๔ ประการ คือ ๑. พุทธวิสัยแห่งพระทุทธเจ้าทั้งหลาย ๒. ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌาน ๓. วิบากแห่งกรรม ๔. โลกจินดา (ความคิดในเรื่องของโลก)
2 อกุสลสูตร : พระสูตรและอรรถกถาแปล อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๓๔ หน้า ๑๔
3 ทางแห่งกุศลกรรม มี ๑๐ประการคือ ๑.เว้นจากการปลงชีวิต ๒.เว้นจากการลักขโมย ๓.เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๔.เว้นจากการพูดเท็จ ๕.เว้นจากการพูดส่อเสียด ๖.เว้นจากการพูดคำหยาบ ๗.เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๘.เว้นจากการเพ่งเล็งอยากได้ (อนภิชฌา) ๙.เว้นจากการคิดร้าย (อพยาบาท) ๑๐.มีความเห็นชอบ (สัมมาทิฐิ) ;อกุศลกรรมบถ ๑๐ มีความหมายตรงข้ามกัน
4 พระจักขุปาลเถระ : พระสูตรและอรรถกถาแปล อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๔๐ หน้า ๓๓
5 พระสูตรและอรรถกถาแปล ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค เล่ม ๑๖ หน้า ๔๐๘
6 สีหสูตร : พระสูตรและอรรถกถาแปล อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓๖ หน้า ๘๐
7 ธัมมิกสูตร : พระสูตรและอรรถกถาแปล อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๓๕ หน้า ๒๒๑
8 พากุลเถรคาถา : พระสูตรและอรรถกถาแปล อรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๕๑ หน้า ๒๔๑
9 เรื่องอานนทเศรษฐี : พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๔๑ หน้า ๑๘๒