อโห พุทโธ

วันที่ 10 สค. พ.ศ.2563

อโห พุทโธ

ทะเลค่อยลาดลึก

ลงไป

ธรรมะพระบรมไตร

เช่นนั้น

เริ่มง่ายค่อยยากไซร้

ตามลำดับ

จากหยุดได้สู่ขั้น

ละเอียดชั้นต่อไป

ตะวันธรรม

 

            เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้ายให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตัก พอสบายๆ หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆคล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตาอย่ากดลูกนัยน์ตา

 

          แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลดให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ

 

          คราวนี้เราก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเราปราศจากอวัยวะ ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น สมมติเป็นที่โล่งๆ ว่างๆเป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้ายๆ ท่อแก้วท่อเพชรใสๆ

 

 นึกถึงบุญ     

 

          เราก็มานึกถึงบุญที่เราได้ทำผ่านมา ทำมาทุกบุญเลยจนกระทั่งบุญล่าสุดคือกฐินสามัคคีเป็นมหากาลทาน กับบุญใหม่ที่เรากำลังจะทำ เลี้ยงพระ ๓,๐๐๐ วัดทั่วประเทศ สร้างพระธรรมกายประจำตัว จารึกชื่อพระเถรานุเถระ และบุญลานธรรมรวมบุญทั้งหมดนี้กับบุญเก่า รวมมาเป็นจุดเดียวกันเลย ด้วยใจที่เบิกบาน แช่มชื่น ให้ใจเราใสๆ ปลื้มปีติในมหาทานบารมีที่เราได้ทำเอาไว้อย่างดีแล้วในพระพุทธศาสนา 

 

หยุดเป็นตัวสำเร็จ

 

          แล้วก็หมั่นนึกถึงคำสั่งสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ซึ่งท่านสรุปคำสอนธรรมะปฏิบัติสั้นๆ ๕ คำว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” หยุดเป็นตัวสำเร็จตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์

 

         เราก็เอาใจที่แวบไปแวบมา มาหยุดนิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ให้ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใส พร้อมประกอบบริกรรมภาวนาในใจ ไม่ช้า ไม่เร็วนักภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ภาวนาไปเรื่อยๆ ประคองใจให้หยุดให้นิ่ง

 

         สัมมา แปลว่า ชอบ ถูก

         อะระหัง แปลว่า ห่างไกลจากกิเลส จากสิ่งที่ไม่ดี จากความไม่บริสุทธิ์

         สัมมาอะระหัง คือ ทำให้ใจมันถูก มันบริสุทธิ์ ก็จะห่างไกลจากกิเลส จากความทุกข์ทรมาน

 

         เราภาวนา สัมมาอะระหัง เรื่อยไปเลย จะกี่ครั้งก็ได้ จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง พอใจหยุดนิ่งก็จะทิ้งคำภาวนาไปเอง จะมีอาการคล้ายๆ กับว่า เราลืมคำภาวนา สัมมาอะระหัง แต่ใจไม่ฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น หรือเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากจะรักษาใจหยุดนิ่งๆ อยู่ที่กลางดวงใสๆ ที่ใสเหมือนน้ำบ้างน้ำแข็งบ้าง ใสเหมือนกระจกคันฉ่องที่เราส่องเงาหน้าบ้างแต่ถ้าให้ดีต้องใสเหมือนกับเพชรที่ต้องแสง มีประกายเจิดจ้าแล้วก็ใสในใสอย่างนั้น ตรึกนึกถึงดวงใสเรื่อยไปเลย ไม่ช้าจะถูกส่วนเอง

 

        ถูกส่วน เราไปทำให้ถูกส่วนไม่ได้ นอกจากมันถูกส่วนเองคือเมื่อใจเราหยุดนิ่งอย่างสบายๆ ไปเรื่อยๆ มันจะมีจังหวะหนึ่งจะถูกส่วนเอง ใจจะตกศูนย์วูบลงไปเลยที่ ฐานที่ ๖ ซึ่งอยู่ในกลางท้องในระดับเดียวกับสะดือของเรา ห่างจากฐานที่ ๗ แค่ ๒ นิ้วมือ

 

       ดวงธรรมจะลอยขึ้นมาเป็นดวงใสๆ ใสเหมือนเพชร กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ เราก็หยุดในหยุดไปเรื่อยๆ ใจก็จะละเอียดลงไป จนกระทั่งเข้าไปถึงดวงธรรมภายใน คือ ดวงศีล ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ แล้วก็จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กระทั่งกายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอรหัต

 

       ดวงธรรมจะลอยขึ้นมาเป็นดวงใสๆ ใสเหมือนเพชร กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ เราก็หยุดในหยุดไปเรื่อยๆ ใจก็จะละเอียดลงไป จนกระทั่งเข้าไปถึงดวงธรรมภายใน คือ ดวงศีล ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ แล้วก็จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กระทั่งกายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามีกายธรรมพระอรหัต

 

        กายธรรม คือ กายที่สำคัญที่สุด ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูขนาดเล็กที่สุดเท่ากับปลายเข็ม ใหญ่ก็หย่อนกว่า ๕ วา นิดหน่อย

        กายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา
        กายธรรมพระสกิทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา
        กายธรรมพระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา
        กายธรรมพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา
        ใสบริสุทธิ์ สว่างไสว ใสเป็นแก้ว ใสเป็นเพชร หรือยิ่งกว่านั้นขึ้นไป

 

        กายธรรมนี่แหละฝันในฝันได้ เพราะว่าเป็นกายพระรัตนตรัยที่มีอานุภาพมากไม่มีประมาณ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเรา มีอยู่ในตัวของเรา และอยู่ในกลางกายมนุษย์ทุกคนในโลก ไม่ว่าจะมีความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม ล้วนมีกายธรรมทั้งสิ้น ซึ่งอยู่ตรงกลางกาย ฐานที่ ๗ มีหมด ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั่นมีกายธรรม

 

       กายธรรม คือ กายที่พ้นแล้วจากความหลากหลายและความแตกต่าง เป็นผู้รู้ ผู้ตื่นเบิกบานแล้ว

 

อโห พุทโธ

 

          คำว่า พุทโธ เป็นเนมิตกนามที่เกิดขึ้นของกายธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้วทรงเปล่งอุทานว่า อโห พุทโธ หรือ โอ้โห พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้เองผู้รู้เป็นอย่างนี้เอง

 

       ในกลางธรรมกายก็มีธรรมรัตนะ อโห ธัมโม เป็นดวงใสๆ

       ในกลางธรรมรัตนะ ก็มีสังฆรัตนะ อโห สังโฆ มีกายธรรม ละเอียด

       พุทโธ ธัมโม สังโฆ คือ ธรรมกายนั่นเอง อยู่ในกลางกายเรา

 

          ธรรมกาย ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายได้กล่าวไว้ว่า เข้าถึงแล้ว ได้ศึกษาวิชชาธรรมกายแล้ว ไปนรกก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้ ไปได้ทุกหนทุกแห่ง ไปนิพพานก็ได้ ไปจับมือถือแขนสัตว์นรก พูดจาโต้ตอบกันได้ ไปจับมือถือแขนเทวดาก็ได้ พูดจาโต้ตอบกันได้ นี่เป็นเรื่องเก่าตั้งแต่สมัยพุทธกาลโน่น แต่เอามาเป่าฝุ่นใหม่ ค้นคว้ากันขึ้นมาใหม่

 

         ถ้าจะให้หายสงสัยต้องลงมือปฏิบัติ จะมาคิดมาด้นเดาเอาไม่ได้ ต้องลงมือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ มีความเพียรให้กลั่นกล้าทำให้ถูกหลักวิชชา อย่างนี้เข้าถึงแน่นอน เพราะมีอยู่แล้วในตัวของทุกคน

 

         ธรรมกาย หน้าเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะอยู่ในกลางกายของใครก็ตาม จะมีพิมพ์เดียวกัน คือพิมพ์มหาบุรุษ ครบถ้วนทั้ง ๓๒ ประการ พร้อมทั้งอนุพยัญชนะน้อยใหญ่ครบถ้วนบริบูรณ์ใส บริสุทธิ์ อยู่ในกลางกายของเรา ใสเกินใส งามไม่มีที่ติ ซึ่งลูกทุกคนต้องฝึกฝนหยุดใจให้เข้าถึงให้ได้ ถ้ายังไม่ถึงท่าน ชีวิตยังไม่ปลอดภัย ถ้าถึงท่านแล้วจะปลอดภัยในชีวิต ปิดประตูอบายภูมิ เปิดประตูสวรรค์ จะไปอยู่วงบุญพิเศษได้ ต้องเข้าถึงธรรมกาย

 

         เข้าถึงเมื่อไรก็มีความสุขเมื่อนั้น เป็นความสุขที่แท้จริงที่มนุษย์ทุกคนปรารถนา สุขอย่างยิ่ง สุขที่ไม่มีขอบเขตจนกระทั่งพูดไม่ออก บอกไม่ถูก

 

         ดังนั้น ต้องพยายามฝึกฝนใจให้ได้ อย่าเกียจคร้าน อย่ามีข้ออ้าง ข้อแม้ หรือเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ต้องพยายามปฏิบัติให้เข้าถึงให้ได้ ถึงเมื่อไรก็นั่งเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข นอนเป็นสุข จะหกคะเมนตีลังกาตรงไหนก็เป็นสุข ถ้าใจใสแล้วจะไปที่ไหนก็ได้ หยุดใจได้ไปที่ไหนก็ได้ เข้าถึงธรรมกายได้ ไปที่ไหนก็ได้ ทุกหนทุกแห่งมีสุขทั้งนั้น 

 

        คืนนี้ก็เช่นเคย ใครเหนื่อย ใครง่วง ใครเพลีย ใครนั่งแล้วตั้งใจเกินไปแล้วมันตึง ก็ปล่อยให้หลับลงไปในกลางกายพอสดชื่นตื่นขึ้นมาแล้ว ก็ทำความเพียรต่อ ใครเมื่อยก็ขยับฟุ้งก็ลืมตา แล้วก็ว่ากันใหม่ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยคืนนี้ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ

หลวงพ่อธัมมชโย

วันพุธที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4

          โดยคุณครูไม่ใหญ่

        

        

        

          

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016985177993774 Mins