การตัดสินเเละการตัดสินใจ

วันที่ 12 สค. พ.ศ.2563

การตัดสินเเละการตัดสินใจ

                  หลวงพ่อพูดมาแต่ต้นแล้วว่า คนเราเมื่อยังไม่หมดกิเลสมันก็มีโอกาสทำผิดทำพลาดกันได้ทั้งนั้น ทีนี้ใครก็ตามที่อยากสกัดกั้นตัวเอง ให้หยุดอยู่แค่ผิดกับพลาด ไม่ให้ถลำไปถึงชั่วถึงเลว และสามารถลดความผิดพลาดให้น้อยลงตามลำดับได้นั้น เขาต้องทำอย่างไร

 

                 ตอบว่า เขาจำเป็นต้องฝึกนิสัยอย่างหนึ่งขึ้นมา นิสัยนี้ ถ้าไม่ฝึกไว้แต่ต้นต่อไปจะกลายเป็นคนเรื่อยเฉื่อย อะไรไม่ชอบมาพากลผ่านมาใกล้ตัว ก็จะคิดแต่ว่าช่างมัน ๆ คนอื่นผิดยังงี้ ชั่วยังงี้ก็มีถมไป แล้วความคิดที่จะแก้ไขตัวเองก็หมดไป ทำผิดแล้วยังทำซํ้ากลายเป็นคนเลว พระเลว เณรเลว ทำความเดือดร้อนให้แก่สังคมมากมาย นิสัยที่ว่านี้คือ "นิสัยกล้าตัดสินและตัดสินใจ"


                 ตัดสิน คือ ชี้ขาดได้ว่า อะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว  อะไรควร อะไรไม่ควร

                 ตัดสินใจ คือ ลงมือทำตามที่คิด

 

                กล้าตัดสิน คือ ไม่ว่าอะไรจะผ่านเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเรา เราต้องตัดสิน ส่วนจะตัดสินผิดหรือถูกยังไม่คำนึงถึง ซึ่งแน่นอนเนื่องจากเรายังไม่หมดกิเลส แรกๆ ก็อาจตัดสินผิดไปบ้าง ช้าไปบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ต้องตัดสิน เพราะถ้าไม่ตัดสินจะกลายเป็นคนเรื่อยเฉื่อย ทำงานกับคนอื่นไม่ได้ กล้าตัดสินทุกเรื่องบ่อยๆเข้าจะชำนาญไปเอง และตัดสินได้ถูกมากกว่าผิด

 

                 ที่หลวงพ่อประพฤติพรหมจรรย์ติดตามคุณยายและหลวงพ่อธัมมชโยมาจนถึงบัดนี้ได้ ก็เพราะได้รับการฝึกมาจากที่บ้านตั้งแต่เล็กแล้วว่า อะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวเองต้องตัดสินได้ แรก ๆ บางอย่างก็ตัดสินได้เร็ว บางอย่างก็ต้องคิดนานกว่าจะตัดสินได้ ตอนเด็ก ๆ เวลาถูกฝึกก็ไม่รู้ตัวหรอก มาคิดเหตุผลได้ก็ตอนแก่นี่ละ

 

                 วิธีการของที่บ้านดูเผิน ๆ ก็เป็นเรื่องตีลูกเพื่อลงโทษธรรมดา ๆ แต่ที่บ้านเทคนิควิธีตีลูกชายของโยมพ่อไม่เหมือนใคร ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาตีลูกให้รู้จักเข็ด แต่โยมพ่อของหลวงพ่อนี่ตีลูกให้รู้จักคิด ท่านทำยังไง ท่านให้คิดตั้งแต่แรกเลยคือให้ไปหาไม้เรียวมาเอง กว่าจะได้ไม้เรียวเหมาะ ๆ ไม่เจ็บมาก ไม่หักง่าย นี่ต้องเรียนรู้เรื่องชนิดของไม้นานเอาเรื่องเหมือนกัน ขณะที่ท่านลงมือเฆี่ยนหลวงพ่อจำความรู้สึกของตัวเองได้แม่นยำมาจนบัดนี้ว่า มันช่างนานแสนนานเหลือเกิน เพราะอะไรเพราะก่อนจะเฆี่ยนทุกขวับท่านจะถามว่า ที่พ่อเฆี่ยนนี่เพราะลูกทำความผิดอะไร 


                  ถ้าตอบไม่ถูกไม่รู้ว่าอย่างไรผิด ท่านจะอธิบายแล้ว เราต้องพูดทบทวนให้ได้เหมือนที่ท่านบอกต้องตอบให้เสียงดังฟังชัดด้วย ถ้ามัวร้องไห้สะอึกสะอื้น ขบวนการก็ยิ่งยืดเยื้อ เพราะฉะนั้นหลวงพ่อ จึงรู้เพิ่มมาตามลำดับว่าควรทำอย่างไร และอย่างไรผิด อย่างไรถูก ติดนิสัยวิเคราะห์ว่าอะไรผิด อะไรถูก ในทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตตั้งแต่เด็ก เพราะวิธีของโยมพ่อนั่นแหละ 

 

                  เมื่อมาอยู่ในทางธรรม ได้เข้าใจความถูกต้องความแท้จริงของชีวิตแล้ว ก็ตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูกได้ถูกต้องรวดเร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้เองเมื่อได้รับมอบหมายงานอะไรมา หลวงพ่อจึงตัดสินใจได้เฉียบขาด รวดเร็วสมใจคุณยายและหลวงพ่อธัมมชโยเรื่อยมา พวกท่านคงเห็นนะว่าหลวงพ่อทำอะไรไม่เคยชักช้าลังเลเลย

 

                   คราวนี้ถามว่า ชีวิตคนเรานี้มีอะไรให้ต้องตัดสินใจกันมากนักหรือ ตอบว่ามีมากด้วย คนเราทุกคนมีเรื่องที่จะต้องให้ตัดสินใจทุกวัน ทุกลมหายใจก็ว่าได้ หลวงพ่อจะยกดัวอย่างให้ฟังว่ามีอะไรบ้าง ที่เราจะต้องตัดสินและตัดสินใจกัน

 

                   เอาง่ายๆ ทุกวันพอพลิกฟื้นตื่นขึ้นมา จะเพราะด้วยเหตุอะไรก็ตาม ถามว่าต้องตัดสินใจไหม ต้องซิใช่ไหม เราต้องตัดสินว่าลุกหรือไม่ลุกจากที่นอนดี ถ้าเสียงระฆังดังขึ้นแล้วยังไม่ลุก นอนคิดว่าลุกหรือไม่ลุกดีหนอ เมื่อคืนเราเข้านอนดึกถ้าลุกตอนนี้รวมเวลานอนก็ได้ไม่กี่ชั่วโมงจะเสียสุขภาพ ไปนั่งสมาธิถวายข้าวพระจะไปนั่งสัปหงกอายญาติโยม  คิดแล้วก็ตัดสินใจไม่ลุก นอนต่อไปดื้อ ๆ อย่างนี้ตัดสินผิด ลงมือปฏิบัติคือตัดสินใจก็ผิดด้วย ใช้ไม่ได้

 

                   แต่ว่าถ้าพอได้ยินระฆังลุกพรวดเลย ล้างหน้าล้างตา ไม่กังวล ว่าเพิ่งเข้านอนหรือไม่ ตัดสินว่าลุกจากที่นอนดี แล้วลุกขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่คิดลังเลเลย อย่างนี้ดี คนที่ทำได้ง่าย ๆ เพราะฝึกตัวแบบนี้มานาน จะตื่นนอนก็ต้องตัดสิน ถึงเวลากินจะเติมข้าวอีกหรือไม่เติมก็ต้องตัดสิน มันต้องตัดสินไปเสียทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นฝึกกันเถอะนะท่านนะ ฝึกจนชำนาญแล้วจะตัดสินใจทุกเรื่องได้เฉียบขาดและรวดเร็ว มีผลดีอยู่ทางโลกคนกล้าตัดสินและตัดสินใจจะทำงานได้ผลดีและเร็วกว่าคนอื่น

 

                    ถ้าอยู่ทางธรรม จะตัดสินได้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว แล้วก็ตัดสินใจได้ อย่างเฉียบขาด ทุกวันนี้สิ่งที่หลวงพ่อเห็น ซึ่งเป็นผลของการตัดสินและกล้าตัดสินใจ มีอยู่ ๒ อย่างคือ

                    (๑) เห็นตัวเองว่า ที่ก้าวหน้ามาถึงจุดนี้ มีวันมานั่งสร้างบารมีร่วมกับพวกท่านอย่างผาสุก ก็เพราะตัดสินได้ และตัดสินใจ ถูกมากกว่าผิด

                    (๒) เห็นพวกเราหลายรูปทั้งพระภิกษุและสามเณร ตัดสินใจได้เด็ดขาดและรวดเร็ว เหมือนหลวงพ่อ ซึ่งแต่ละรูปเหล่านั้นก็ได้มาเป็นกำลังสำคัญของวัด ได้มาเป็นหัวหน้างาน ท่านเหล่านี้พอมีอะไรผ่านมาก็ตัดสินใจได้ฉับ ๆ แม้อายุพรรษาจะน้อยก็มีความสามารถมาก

 

                      ในเวลาเดียวกัน ก็เห็นบางรูปไม่ค่อยชอบตัดสินใจ อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ปล่อยไว้ก่อน แม้พรรษามากแต่ดูไปแล้ว อย่าว่าแต่จะทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมเลย แม้ประโยชน์ส่วนตนของท่านก็ดูจะทำให้สำเร็จได้น้อยเหลือเกิน

 

                       กว่าหลวงพ่อจะเห็นอย่างนี้ จะดูออกอย่างนี้ เวลาก็ผ่านมาจนถึงอายุ ๕๑ ปี ปีก่อนยังมองไม่เห็นได้เท่านี้ ปีที่แล้วจำได้ว่าหลวงพ่อบอกพวกเราว่า "นักสร้างบารมีต้องไม่มีข้อแม้" นั่นเป็นการมองที่ผล ยังไม่รู้สาเหตุว่าทำไมจึงไม่มีข้อแม้ เพิ่งมารู้สาเหตุในปีนี้เองว่า
 

                      สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่มีข้อแม้ ไม่ลังเล เพราะเราฝึกเรื่องการตัดสินใจ มาตั้งแต่ยังเด็กยังเล็กนั่นเอง นี่เรื่องง่ายๆ แท้ ๆ เพิ่งมารู้เหตุเมื่อเวลาผ่านไปตั้งปี ที่เป็นเช่นนี้เพราะบางอย่างเรามองไม่ออก บางอย่างมองออกแล้วยังไม่ทำ บางอย่างทำแล้วอธิบายไม่ได้ บางอย่างอธิบายได้แล้วก็ยังไม่รู้วิธีฝึกให้คนอื่น ยังถ่ายทอดให้ไม่เป็นก็มี

 

                        การที่หลวงพ่อคุ้นกับการตัดสินใจเร็วนี่เอง ทำให้ไม่ว่าจะย่างก้าวไปที่ไหน มันเห็นสิ่งที่ต้องแก้ไขทั้งตัวเองและสิ่งรอบข้างไปเสียทั้งนั้น ถามว่าแล้วไม่เหนื่อยหรือ เหนื่อยซิแต่มันไม่ท้อ เพราะยิ่งทำมากเข้า ฝึกมากเข้า ทั้งเนื้อทั้งตัวเรามันกลายเป็นเครื่องวัดไปโดยอัตโนมัติ เหมือนคนที่รู้ว่าตัวเองสูงเท่าไร เพราะฉะนั้นเวลาเดินผ่านอะไรก็รู้ว่าสิ่งนั้นสูงเท่าไร หรือคนที่รู้ว่าคืบของตัวเองยาวเท่าไร เห็นอะไรก็รู้ว่ายาวเท่าไรโดยไม่ต้องใช้ไม้บรรทัดไปวัด คนที่รู้จักตัวเอง ผ่านไปทางไหน ไม่ต้องไปอาศัยใช้เครื่องมือชั่งตวงวัดก็สามารถคาดคะเนได้อย่างใกล้เคียงว่า สิ่งของรอบตัวหนัก เบา ยาว สั้น กี่กิโล กี่นิ้ว กี่ฟุต

 

                         อยู่ในทางธรรม ทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องคิดก็รู้ทันทีว่าควรจะทำ หรือไม่ทำอะไร หลวงพ่ออยากให้ทุกท่านมีคุณสมบัติข้อนี้ ใครมีอยู่แล้วก็ให้มียิ่งๆ ขึ้นไป เวลานั่งสมาธิจะได้ตัดเครื่องกังวลใจได้ฉับๆ เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะ พอตัดสินใจบวชก็ไปเลย ไม่ต้องบอก..."ฉันนะไปหากลดให้หน่อยนะ" หรือ "ฉันนะ ไปห่อข้าวสารห่อโต ๆ มานะ" ท่านตัดใจไปเลย ลูกเมียก็ไม่ต้องลา คนที่ฝึกเรื่องการตัดสินใจมาตลอดชีวิต จะไม่ห่วงหน้า พะวงหลังอย่างนี้

 

จากหนังสือ มองอย่างนักคิด ทำอย่างนักสู้

คุณครูไม่เล็ก

โหลด หนังสือ ได้ที่ http://kalyanamitra.org/book/index_dhammabook_detail.php?id=885

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03906368414561 Mins