" ความเคารพไม่ใช่เเค่กราบไหว้
เเต่หมายถึง การค้นหาความดี
ในตัวท่านเเล้วเอามาปฎิบัติตาม
เพราะฉะนั้น เมื่อเคารพท่านเเล้ว
ความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ
ของท่านเราต้องตัดทิ้งได้ "
ความอดทน
หลวงพ่อฝึกเรื่องการตัดสินมาแต่เด็ก ๆ คนอื่นเขาก็คงฝึกมาเหมือนกัน แต่เขาตัดสินใจไปจากวัด ขณะที่หลวงพ่อตัดสินใจอยู่ ทำไมหลวงพ่อจึงตัดสินใจอยู่และอยู่ได้เพราะอะไร เมื่อมานึกตรึกตราดูก็ตอบตัวเองว่า เพราะขันติ ความอดทนที่เรามีอยู่ แต่ขันติที่รู้จักปีที่แล้วกับปีนี้ไม่เหมือนกัน
ปีที่แล้วดีใจว่ารู้จักขันติ แต่ปีนี้ดีใจว่ารู้จักขันติดีกว่าปีที่แล้วมากมาย ที่รู้เมื่อปีที่แล้วเป็นแค่อนุบาล ไม่รู้เหมือนกันว่าปีหน้าจะเห็นขันติของปีนี้กระจอกงอกง่อยไปหรือเปล่า แต่หลวงพ่อก็คิดว่า คนเราถ้าตั้งแต่เล็กมีพ่อแม่อบรมมาบ้าง ความอดทนต่อดินฟ้าอากาศความลำบาก ตรากตรำ คงต้องมีกันอยู่บ้าง ถ้าไม่มีคงมาไม่ถึงวัดพระธรรมกายและอยู่ไปได้เกิน ๗ วันเพราะเราใช้กลดใช้ศีล ๘ กลั่นกรองคนมาแล้ว ถ้าไม่ยอมทนต่อความลำบากก็คงไม่ยอมมุดเข้ากลด คงหนีกลับไปนอนบ้านแล้ว แต่คนที่ทนอยู่ได้นี่ก็ยังถือว่า อดทนในระดับอนุบาลนะ พวกเราที่นั่งอยู่นี่มีความอดทนมากกว่านั้น เลยชั้นประถมไปอีก
ความอดทนระดับประถม คือ ทนต่อทุกขเวทนาความเจ็บไข้ได้ป่วย พวกเราทุกคนที่ได้บวชล้วนเป็นพวกแม้เจ็บไข้ได้ป่วยก็ยังโงหัวขึ้นมาทำงาน มีธาตุทรหดอยู่ในตัวกันคนละมาก ๆ ไม่เช่นนั้น คงทนนอนกลดอยู่ไม่ได้เป็นปี ๆ แต่สำหรับหลาย ๆ รูปที่เข้ามาบวชแล้วสึกไป ทั้ง ๆ ที่ตั้งใจมาแต่ต้นว่าจะไม่สึกนั้น ที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ เขาไม่อดทนต่อความกระทบกระทั่งของเพื่อนฝูง ของหมู่คณะ บางรูปไม่อดทนต่อหมู่คณะใหญ่ ๆ ของวัดพระธรรมกาย ไม่ชอบอยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก ๆ ก็ขอออกไปอยู่ที่วัดอื่นที่มีพระน้อยๆ ที่ๆ เขาไม่เข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย บางรูปไปแล้วไม่นานก็สึกเพราะไม่มีที่ไหนที่จะไม่มีการกระทบกระทั่งกันเลย ความอดทนต่อการกระทบกระทั่งเปรียบเป็น ความอดทนระดับ ๓ คือระดับมัธยม
แต่มีเหมือนกันนะ บางรูปอดทนต่อการกระทบกระทั่งดี แต่ไป ๆ ก็อยู่ไม่ได้ ทำไมล่ะ มารมันมาล่อ ชวนสึกไปจนได้ ว่าก็ว่าเถอะ อยากไปมีเมีย หรือจริง ๆ แล้วไม่อยากจะไปมีเมียหรอก แต่อยากอยู่ให้สบายกว่านี้
ปัดโธ่เอ๋ย จะเอาอะไรอีก พระเราทุกวันนี้บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องหุง ถึงเวลาเขาก็เอามาประเคนให้ จะให้สบายยิ่งกว่านี้อีกหรือพระที่วัดอื่นเช้าพรุ่งนี้ออกบิณฑบาต จะมีใครมาตักบาตรหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่พระวัดพระธรรมกายถึงไม่บิณฑบาตก็มีฉัน ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่า หลวงพ่ออนุญาตให้ท่านงดบิณฑบาต การบิณฑบาตมีประโยชน์เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง
บ้านก็ไม่ต้องเช่า มีกุฏิอยู่ฟรี ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ จีวรห่มยังไม่ทันเก่าโยมเอามาถวายให้เปลี่ยนใหม่แล้ว เจ็บป่วยก็มีโรงพยาบาล มีหมอมารักษาให้ ถ้ายังอยู่ไม่ได้ก็แสดงว่าไม่อดทนต่อความยั่วยวนซึ่งเป็นความอดทนระดับ ๔ เทียบได้กับระดับมหาวิทยาลัย สิ่งที่มายั่วยวนนั้นไม่ได้เอาเฉพาะสตรี พวกความสุขสบายทางโลกก็เป็นสิ่งยั่วยวนสำหรับพระด้วย
แต่หลาย ๆ รูปเขาก็มีความอดทนทั้ง ๔ ระดับนี้แล้ว ทนต่อความลำบากตรากตรำมาไม่น้อยกว่าหลวงพ่อ ทนต่อทุกขเวทนามาเคียงบ่าไหล่กัน ความอดทนต่อการกระทบกระทั่ง ความยั่วเย้า เย้ายวนก็มีไม่น้อยกว่าหลวงพ่อ แต่เขาก็ไปแล้ว ก็มาคิดว่าทำไม ทำไมเขาจึงไป แต่เรายังอยู่ ก็คิดได้ว่า ความอดทนทั้ง ๔ อย่างนี้ ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการหรือการใคร่ครวญไตร่ตรองแล้ว เขาจะยกระดับของความอดทนทั้ง ๔ อย่างนี้ให้สูงขึ้นไม่ได้เลย
หลวงพ่อก็มานึกถามตัวเองต่อว่า ทำไมเรายกขึ้น แต่เพื่อนที่ไปแล้วเขายกไม่ขึ้นก็ได้คำตอบว่า มันมีขั้นตอนที่ต้องปรับ จะเอาอะไรมาเป็นตัวปรับตัวหนุนให้ระดับเพดานความอดทนสูงขึ้นได้นั้น ข้อนี้ต้องไตร่ตรองเป็น หลวงพ่อก็มานึกย้อนอดีตเริ่มตั้งแต่เมื่อคิดจะสร้างวัดตอนนั้นเรามีเงินกันอยู่เพียง ๓,๒๐๐ บาท คุณยายอาจารย์บอกว่า เราจะสร้างวัดกันนะ วัดใหญ่ขนาดนี้ ถามว่านึกออกไหม นึกไม่ออก แล้วทำไม เราจึงสร้างวัดเต็มพื้นที่ ๑๙๖ ไร่มาได้ ตอนนั้นเราคิดยังไง
ดู ๆ ไปแล้วความหวังอย่างอื่นเราก็ไม่มี นอกจากความเคารพครูบาอาจารย์ หลวงพ่อเคารพหลวงพ่อธัมมชโยมาก ตอนนั้นภูมิธรรมท่านสูงแค่ไหนเราก็ไม่มีปัญญาไปหยั่งรู้ แต่เคารพในภูมิปัญญาของท่าน การเล่นเกมส์ที่อาศัยภูมิปัญญา สมัยที่เรายังเป็นนิสิตกันอยู่ ก็มีเพียงหมากรุก หมากฮอส ท่านเล่นชนะหมด ก็ชื่นชมท่าน ต่อมาจึงเคารพในความบริสุทธิ์ใจที่ท่านมีต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่อพระศาสนา ทั้ง ๆ ที่ท่านยังมีภาระเรื่องการเรียนวิชาทางโลกอยู่ แต่เมื่อสอบภูมิรู้ในพระไตรปิฎกกันแล้ว ขนาดหลวงพ่อเปิดตำราถามต้อน ยังต้อนท่านไม่จน แล้วยังไม่โกรธด้วยทั้งๆ รู้ว่าถูกต้อน หลวงพ่อก็เลยเคารพท่านเป็นอาจารย์ ให้นอนที่สูงกว่าตั้งแต่ครั้งนั้น
นอกจากเคารพบูชาหลวงพ่อธัมมชโยแล้ว หลวงพ่อยังเคารพคุณยายอาจารย์ เคารพหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ (พระมงคลเทพมุนี ; สด จันทสโร) อาจารย์ของท่าน โดยเฉพาะคุณยายอาจารย์นั้น หลวงพ่อเห็นคุณธรรมของท่านมามากจนเลิกคิดจับผิดท่าน
ขอให้ระวังการใช้คำว่าความเคารพให้ดี ความเคารพไม่ใช่แค่กราบไหว้ แต่หมายถึงการค้นหาความดีในตัวท่านแล้วเอามาปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นเมื่อเคารพท่านแล้ว ความบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของท่านเราต้องตัดทิ้งได้ ข้อนี้ขอให้ระวังให้จงหนัก เนื่องจากคนเราทุกคนเมื่อยังไม่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ ก็ต้องมีความผิดความพลาดด้วยกันทั้งนั้น ถามว่า หลวงพ่อธัมมชโยมีข้อบกพร่องไหม มี คุณยายอาจารย์มีข้อบกพร่องไหม มี แต่ว่าเมื่อมีความเคารพท่านเสียแล้ว ก็ขี้เกียจจะไปสนใจความบกพร่องของท่าน
หลวงพ่อเคารพในตัวจริงเนื้อแท้ของหลวงพ่อธัมมชโยและคุณยายอาจารย์ จึงตะเกียกตะกายสร้างวัดจนเสร็จ ลุยมาทุกรูปแบบตั้งแต่วันที่ท่านบอกว่าจะสร้างวัด ไม่เคยคิดโต้แย้งเลย ทั้ง ๆ ที่ยังมองไม่เห็นทางสำเร็จ ความสำเร็จในการสร้างวัดพระธรรมกายครั้งนั้น ต้องเรียกว่าสำเร็จเพราะอานุภาพของความเคารพแท้ ๆ
ทีนี้ พอจะสร้างธุดงคสถาน ก็ไม่เคยคิดตั้งแง่ว่าเสร็จ แล้วจะชื่ออะไร หรือเปลี่ยนชื่อกี่ครั้ง ท่านว่าที่ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษขึ้นมานั้น นอกจากมีเจตนารมณ์ให้วิชชาธรรมกายขยายไปทั่วโลกให้เป็นสากลแล้ว เหตุผลอีกข้อหนึ่งคือ ตั้งชื่อเป็น ธุดงคสถาน ตั้งมาได้ไม่นานก็มีคนตั้งชื่อเอาอย่างบ้าง ทั้ง ๆที่วัตถุประสงค์และวิธีบริหารองค์กรไม่เหมือนกัน เหมือนตอนตั้งชื่อศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมก็มีคนตั้งชื่อสำนักของเขาเอาอย่างบ้าง พอไปขอร้องเขาว่าอย่ามาตั้งชื่อชํ้ากันเลย เขาก็เปลี่ยนเป็นศูนย์ธรรมจักรปฏิบัติธรรม แล้วชื่อธรรมทายาทก็เหมือนกัน มีการเลียนแบบเป็นพุทธทายาทก็มี จุดประสงค์เพื่ออะไรก็รู้ ๆ กันอยู่...จะชื่อเสียงเรียงนามอะไร หลวงพ่อไม่เคยขัดคอท่าน ถ้าไม่ค่อยชอบก็เลียบเคียงถาม ท่านวันหลัง
ตอนท่านมาหารือจะสร้างธุดงคสถาน ๒,๐๐๐ ไร่ ถามตรงๆ ว่าตอนแรกนั้นในใจคิดอยากสร้างไหม ไม่อยากเลย โธ๋เอย สร้างแค่ ๑๙๖ ไร่ก็เหนื่อยจะแย่แล้ว ท่านมาพูดก็ปล่อยให้พูดไป ในใจเราก็คิดไม่เอาด้วย สำหรับคุณยายอาจารย์ ท่านไม่ได้มาพูดเรื่องนี้ด้วย เพราะท่านก็ชักแก่แล้ว
แต่หลวงพ่อธัมมชโยท่านมีวิธีพูดสร้างกำลังใจที่ได้ผลชะงัด ทำไปทำมาหลวงพ่อเองกลับหลวมตัวไปอาสาสร้างให้ท่านเสียนี่ ท่านพูดว่า ยังไง ท่านก็คุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ของท่านไปเรื่อย ๆ สักครู่ท่านก็หยั่งเสียง
"หลวงพ่อทัตตะ คิดว่าวัดเนื้อที่ ๑๙๖ ไร่นี่ ถ้าดีขึ้นแล้วจะเป็นยังไง"
หลวงพ่อก็ตอบท่านไปเนือย ๆ เพราะพอรู้เลา ๆ ว่าท่านจะพูดเรื่องอะไร
"จะเป็นยังไง ก็มีคนมาปฎิบัติธรรมมากขึ้น มีคนมาบวชมากขึ้น" ท่านก็ถามต่อ
"คิดว่าวัดเรา ๑๙๖ ไร่นี่ จะรับพระได้สักเท่าไหร่"
"โธ่หลวงพ่อ วัดในกรุงเทพฯ เขามีที่กันนิดเดียว วัดปากนํ้า มีที่แค่ ๑๐ ไร่ ยังรับพระได้ตั้ง ๔๐๐-๕๐๐ รูป"
"หลวงพ่อทัตตะ จะเอาพระตั้ง ๔๐๐-๕๐๐ รูปมาไว้ในวัดเราเชียวหรือ"
"มันก็แน่นไปหน่อย ก็มีที่แค่นี้จะทำยังไง"
"แล้วถ้ามีโอกาสมีได้มากกว่านี้ล่ะ จะเอาไหม"
นั่นประไรค่อย ๆ แหย่เข้ามาแล้ว เรามันก็เลือดนักสู้เหมือนกัน โดนท้าโดนแหย่ไม่ค่อยได้เหมือนจิ้งหรีด เหมือนไอ้โต้ง พอได้ยินเสียงขันท้าขึ้นมามันชักจะอยู่นิ่งไม่ได้ ก็ตอบท่านไป
"ก็ถ้ามันมีโอกาสก็เอา" นั่นตอบว่าเอาเข้าไปแล้ว แค่เสียงมันยังอ่อย ๆ ก็มันยังไม่หายเหนื่อย
ท่านทำยังไงต่อ ท่านก็ขยายด้านข้างวัดออกมาอีกหน่อย เราก็ไปช่วยท่านทำ พอลงมือทำมันก็เริ่มติด พอติดเราก็บ่น เพราะจะปลูกจะสร้างอะไรมันรี ๆ ขวาง ๆ ไปหมด ไม่ได้สัดไม่ได้ส่วน
"เฮ้อมีที่มากกว่านี้อีกสักหน่อยก็จะดี" ท่านยิ้มเฉยปล่อยให้เรางุ่นง่านสักพักจึงพูดขึ้น
"ถ้ามันมีได้ถึง ๒,๐๐๐ ไร่ล่ะจะเอาไหม" แหม ตั้ง ๒,๐๐๐ ไร่ แค่ ๑๙๖ ไร่ ยังเหนื่อยแทบตาย เราจึงเฉยเสียไม่พูดต่อความยาว ท่านเห็นเราเฉยท่านก็พูดไปเรื่องอื่น แต่มันเป็นลักษณะอุปมาอุปมัย
"หลวงพ่อทัตตะ ถ้านํ้ามันท่วมจนพวกเราต้องไปลอยคออยู่ แล้วมีคนเอาเรือใหญ่มารับเรา และพรรคพวกเราขึ้นเรือแล้วเขายังตามเก็บคนที่ลอยคออยู่ว่ายนํ้าต่อไปอีก เราก็ช่วยเขาพายเรือไป พอไปสักระยะหนึ่งเราชักเหนื่อย ถ้าเราจะโวยวายกับคนที่อยู่ในเรือว่าเฮ้ย ไอ้เรือลำนี้ เมื่อไรมันจะหยุดซักทีวะ เรามีสิทธิ์โวยวายไหม ในเมื่อเรือลำนี้คนอยู่มาก่อนเขาถ่อเขาพายกันมาแล้วเป็นปี ๆ ช่วยคนมาตลอดทาง เรามาช่วยเขาพายได้กระจี้ดเดียวก็โวยวายว่าเหนื่อย จะหยุดพายหยุดไม่หยุดคนเดียว ชวนคนอื่นหยุดด้วยเรามีสิทธิ์ไหม"
"ไม่มีครับ"
"แล้วคนที่หยุดพายเป็นยังไง"
"ก็ใช้ไม่ได้ซิครับ แย่มาก"
"ถ้าเป็นผม ผมไม่หยุดพายหรอก"
ท่านบอกว่าท่านไม่หยุดพาย เอ๊ะ แล้วเราจะปล่อยให้ท่านพายเหนื่อยไปคนเดียวหรือไง ท่านพายเรือไปหิ้วเราขึ้นมาจากนํ้า กว่าเราจะรอดตายท่านเหนื่อยแทบขาดใจ เอาก็เอา หลวมตัวเข้าไปแล้ว ๒,๐๐๐ ไร่ สร้างธุดงคสถานนี้หลวมตัวเพราะความกตัญญูรู้คุณท่านนี่เอง ไม่ได้ท่าน เราจะไปอยู่นรกขุมไหนก็ไม่รู้ ก่อนเข้าวัดนี่เราลุยมาเสียโชก บาร์ คลับ ในกรุงเทพฯ กี่แห่ง ๆ ไม่มีเลยที่จะไม่รู้จัก อะไรที่ท่านผู้ใหญ่ห้ามไว้พ่อไปลองมาเรียบ เมืองไทยเมืองเทศไปลองมาหมด นี่ถ้าไม่ได้ท่านหิ้วเราขึ้นมาจะเจอนรกกี่ขุมไม่รู้
มาบัดนี้ท่านตั้งใจจะสร้างบุญบารมีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เราจะทิ้งท่านให้เหนื่อยอยู่ลำพังๆ ยังไง เอาก็เอา พอตัดสินใจว่าเอา มันลืมเรื่องความเหนื่อยความยากหมดทุกอย่าง ลุยเลย คว้ากระดาษ ดินสอ เขียนแผนฉับ ๆ ถ้าจะเอา ๒,๐๐๐ ไร่ ไอ้โน่นมันควรจะต้องทำอย่างงี้ ไอ้นี่มันควรจะต้องทำยังงั้น มองเห็นเป็นทางไปเลย
พอท่านเห็นเราลงมือทำ ท่านยิ้ม "หลวงพ่อทัตตะคิดให้ดีก็แล้วกัน" แล้วท่านก็ลุกไป หน้าที่เราต้องคิดต่อซิทีนี้ ท่านให้ไอเดียแล้วท่านก็ไป วันดีคืนดีก็เอาไอเดียมาป้อนให้อีก มันน่าจะยังงั้น ๆ เอ้า... เราก็ทำไป ก็ความคิดท่านเข้าท่ามันน่าทำไปเสียทั้งนั้น
"ลูกเอ๋ย หลวงพ่อนั้นถ้าจะว่าไป มาถึงวันนี้ ยกเพดานความอดทนมาได้สูงถึงระดับนี้ เพราะความเคารพครูบาอาจารย์แท้ๆ ยังมองไม่เห็นอะไรข้างหน้าเลยยังทำมาได้ขนาดนี้ แต่มาครั้งที่ ๒ นี้ เจองานช้าง สร้างธุดงคสถาน ๒,๐๐๐ ไร่ นี่งานช้าง รู้เลยว่างวดนี้เสี่ยงตาย แต่หลวงพ่อก็ทำ คราวนี้ไม่ได้ทำเพราะความเคารพครูบาอาจารย์อย่างเดียว ทำด้วยอำนาจแห่งความกตัญญูด้วย นึกถึงพระคุณของท่านที่เหนื่อยยากปั้นเราขึ้นมา"
จากหนังสือ มองอย่างนักคิด ทำอย่างนักสู้
คุณครูไม่เล็ก
โหลด หนังสือ ได้ที่ http://kalyanamitra.org/book/index_dhammabook_detail.php?id=885